“ฮิโตชิ อิวาอากิ” กลายเป็นเจ้าของรางวัล “เท็ตสึกะ โอซามุ” ที่มอบให้กับการ์ตูนยอดเยี่ยมแห่งปี คนล่าสุดด้วยผลงานแนวอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Historie ของเขา กับการประกาศรางวัลเมื่อปลายเดือน เม.ย.และจะมีการมอบรางวัลกันในเดือนนี้ (พ.ค.) ต่อไป
รางวัล “เท็ตสึกะ โอซามุ” ที่ตั้งชื่อตามนักเขียนการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของผลงานดังอย่าง “แบล็คแจ็ค” และ “อตอม” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวัฒนธรรม “มังงะ” อันยิ่งใหญ่ของแดนอาทิตย์อุทัย เป็นรางวัลที่มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ “อาซาฮี ชิมบุน” เป็นผู้สนับสนุน มีจุดประสงค์เพื่อเชิดชูผู้สร้างผลงานอันโดดเด่น และค้นหาผู้มีพรสวรรค์หน้าใหม่ๆ ให้กับวงการ
รางวัล “เท็ตสึกะ โอซามุ” ประจำปี 2012
สำหรับในปีนี้ ยู อิโตะ เจ้าของผลงาน Shut Hell คว้ารางวัลนักเขียนหน้าใหม่ไป, ส่วนรางวัลการ์ตูนสั้นเป็นของ รอสเวล โฮโซกิ กับผลงานที่มีชื่อว่า Sake no Hosomichi and Other Titles
นอกจากนั้น ยังมีรางวัลพิเศษมอบให้กับนิตยสาร Weekly Shonen Jump ที่ระหว่างเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือร่วมใจกัน เมื่อหนังสือ Weekly Shonen Jump เพียงเล่มเดียว ได้กลายเป็นความบันเทิงของเหล่าเด็กๆ ผู้ประสบภัยที่แบ่งปันหนังสือการ์ตูนเล่มนั้นกันอ่าน และส่งต่อกันไปเป็นร้อยๆ คน กลายเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้อย่างดีเยี่ยม
และสำหรับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปีตกเป็นของผลงานที่ชื่อว่า Historie ของนักเขียนชื่อดัง ฮิโตชิ อิวาอากิ ผู้โด่งดังกับงานสไตล์ภาพเรียบง่าย แต่รุนแรง และแฝงเนื้อหาอันลึกซึ้ง ที่เคยโด่งดังกับผลงานเรื่อง Parasyte ในอดีต
โดยจะมีการมอบรางวัลกันในวันที่ 25 พ.ค.ที่ หอฮามาริเคียวอาซาฮี ในกรุงโตเกียว ซึ่งนอกจากรางวัลเป็นรูปหล่อทองแดงแล้ว ผู้ได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปียังได้รับเงินรางวัล 2 ล้านเยนด้วย ส่วนรางวัลในสาขาอื่น ๆ จะได้รับเงินไปคนละ 1 ล้านเยน
สำหรับในปีนี้นอกจาก Historie ยังมีผลงานที่ได้ชิงรางวัลใหญ่ที่สุดอีก 5 เรื่อง ได้แก่ I ของ มิกิโอะ อิการาชิ, อาโนะ ฮิ คาระ โนะ มังงะ โดย โคโตะบุกิ ชิราอางาริ, March comes in like a lion ของ จิกะ อุมิโนะ, Attack on Titan ของ ฮาจิเมะ อิซายามะ และ จิฮะยะซึงุ ของ ยูกิ ซุเอะทะสึกุ
โดยมีเหล่าคณะกรรมการเป็นทั้งผู้คนในแวดวงการ์ตูน และนักวิชาการ อาทิ นักเขียนชื่อดังอย่าง อัตซึโกะ อาซาโนะ, โก นากาอิ, บรรณาธิการหนังสือการ์ตูน ฮาโรยูกิ นากาโนะ, คอลัมนิสต์ชื่อดัง บุรุบอน โคบายาชิ ส่วนเหล่านักวิชาการผู้เชี่ยวชาญก็ประกอบไปด้วย เคย์โกะ ทาเคะมิยะ และ แจ็คเกอร์ลีน เบิร์นต์ท จากมหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ, โชเฮ ชูโจ จากมหาวิทยาลัยกาคุชูอิน และ โทโมโกะ ยามาดะ นักวิจัยมังงะ
Historie: นักเขียนญี่ปุ่นเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตะวันตก
สำหรับผลงานที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดจากรางวัล เท็ตซึกะ โอซามุ ประจำปีนี้ ที่ชื่อ Historie เป็นงานเรื่องล่าสุดของ อิวาอากิ ที่ติดตามชีวิตของ “ยูมิเนส” บุคคลผู้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ในยุคสมัยกรีกโบราณ
เขาเป็นทั้งที่ปรึกษา และคนสนิทของ “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช” หนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณของโลกตะวันตก ซึ่งผู้เขียนให้เหตุผลที่เขาได้เลือกชีวิตและเรื่องราว ของบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก มาเป็นผลงานล่าสุดของตนเองว่า “มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ที่ผมเลือกจะเล่าเรื่องของ ยูมิเนส ก็เพราะสนใจในบทบาทของเขาในยุคนั้นนั่นเองครับ”
อิวาอากิ แต่งเรื่องให้ ยูมิเนส มีเชื้อสายพื้นเพเดิมเป็นชาว “ไซเธียน” ชนเผ่าเร่ร่อนป่าเถื่อน ที่ได้ใช้ชีวิตในฐานะบุตรชายของครอบครัวชาวกรีกผู้มั่งคั่ง ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่ทราบถึงความจริงเรื่องชาติกำหนดของตนเอง อันเป็นเรื่องราวในช่วงที่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ อิวาอากิ สามารถหยิบใช้ข้อมูลอันหลากหลาย รวมถึงประวัติส่วนตัวของ ยูมิเนส จากบทบันทึกที่มีชื่อว่า “จดหมายเหตุราชวังหลวง” มาเล่าเรื่องในช่วงครึ่งแรกในชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้นี้ได้อย่างน่าเชื่อถือ
เรื่องราวที่เต็มไปด้วยการหักมุม และแปรผันของตัวละคร ยังแทรกไว้ด้วยการแจกแจงภาพชีวิต และสังคมของเมดิเตอร์เรเนียนยุคโบราณ ที่ผู้เขียนสามารถเขียนบรรยายได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการให้ภาพที่วัฒนธรรมอันหลากหลายได้ปะทะเข้าหากัน
ในแต่ละเล่ม ยูมิเนส ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันหลากหลาย จากชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขสบาย สู่การตกต่ำไปอยู่ในฐานะทาส แต่กลับเป็นโอกาสให้เขาได้ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ “เขาค่อยๆ สร้างสถานะให้ตนเองในอาณาจักรมาเซโดเนียขึ้นมา ในอีกด้านเขายังมีเสน่ห์ด้วยบุคลิกที่เป็นคนสงบเสงี่ยมสงวนท่าที ที่ทำให้เรื่องราวของเขามีช่วงเวลาที่เบาๆ อยู่ด้วย” ผู้เขียนกล่าว
“ผมเขียนมังงะเรื่องนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น กับชีวิตที่อยู่ระหว่างกลางของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อตอบคำถามที่ว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ไปสู่ทิศทางที่ดีกว่าได้อย่างไร” อิวาอากิ กล่าว “แต่ ยูมิเนส เองก็ไม่ใช่บุคคลประเภทที่อยู่เพื่อค้ำจุนความยุติธรรม หรือปรารถนาให้ผู้คนทั้งโลกมีความสุขอะไรทำนองนั้นหรอก เขาเพียงหาวิธีว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ให้จบลงในเวลารวดเร็วที่สุดมากกว่า”
จากผลงานเรื่องเก่าที่โด่งดังมากอย่าง Parasyte ทำให้ อิวาอากิ มีชื่ออยู่พอสมควรในฐานะเจ้าของผลงานที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง อย่างไม่มีการปิดบังอำพราง ทั้งการวาดภาพ ซากศพ, เลือด และชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ที่หลุดออกเป็นชิ้นๆ กับภาพที่วาดออกมาเรียบ ๆ แตกต่างเหลือเกินกับยุค 90s ที่เขาเริ่มมีชื่อเสียง ที่นักเขียนส่วนใหญ่มักจะโด่งดังด้วยลายเส้นอันหวือหวา เต็มไปด้วยความสวยงาม
ความโหดเหี้ยมอันเย็นชาจึงกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาไปโดยปริยาย ซึ่งงานภาพลักษณะนั้นก็ยังคงติดตามมาใน Historie ที่มีฉากโหดเหี้ยมทารุณออกมาเป็นระยะ จึงอาจไม่ใช่งานที่ทุกคนจะสามารถรับได้
โดยขณะนี้หลังตีพิมพ์ในนิตยสาร Afternoon มาตั้งแต่ปี 2003 Historie ฉบับภาษาญี่ปุ่นได้วางตลาดถึงในเล่มที่ 7 แล้ว เป็นเนื้อเรื่องช่วงที่ตัวละคร อเล็กซานเดอร์มหาราช ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้วาดให้กษัตริย์แห่งมาเซโดเนียนออกมาในรูปแบบของเด็กหนุ่มผู้มีสองบุคลิก
เขายังเผยว่าขณะนี้เรื่องราวได้เดินทางมาถึงประมาณ 40% ของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ อิวาอากิ ยืนยันว่า ผู้อ่านจะได้พบกับเรื่องราวน่าเซอร์ไพร์ซอีกมากมาย
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |