พี่...อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอมเพราะรักพยอม ยามยาก ออกทะเลจะหาปลามาฝาก แม่คุณขวัญใจคนยาก รับของฝากจากพี่ได้ไหม....(ท่าฉลอม - ชรินทร์ นันทนาคร)
วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก วันไหนสำนึกแล้วเธอจะเสียใจ มีแก้วงามอยู่ในมือเธอมิเคยห่วงอาลัย ต่อวันหลุดไป จึงค่อยคร่ำครวญ...(ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก - ธานินทร์ อินทรเทพ)
ฉัน รัก เธอ แม้เทียบเสมอกับดวงชีวิต รัก เธอ ชั่ว นิจ นิรัน-ดร แม้ เธอห่างไกล ใจก็หวง ห่วง นิวรณ์ ถึง แม้ ม้วย มรณ์ ไม่ ถอน รักที่มี...(ชั่วนิจนิรันดร - สุเทพ วงศ์กำแหง)
หากแว่วยินเสียงสำเนียงของบทเพลงเหล่านี้ เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับยุคของบทเพลงที่ว่า หลายคนคงจะจินตนาการไปถึงใบหน้านักร้องเจ้าของเสียงเพลง พร้อมกับหวนระลึกไปถึงบรรยากาศเก่าๆ ของวันวานในอดีต ขณะที่เด็กรุ่นใหม่เองก็คงจะจินตนาการไปถึงความเก่า ความแก่ ความโบราณ อันเป็นห้วงเวลาที่บทเพลงนี้กำลังเป็นที่นิยม
สักกี่คนกันที่จะนึกถึงใบหน้าใสๆ ของเด็กหนุ่ม-เด็กสาวรุ่นใหม่ๆ เฉกเช่นกับแขกรับเชิญคอลัมน์ “นัดคุย” ของเราในครั้งนี้
“การ์ตูน สุกุลตา มิตรศรัทธา”
สำหรับคนที่ไม่รู้จักเธอรวมถึงคนที่พอจะรู้อยู่บ้างแล้ว บทสัมภาษณ์จากนี้จะทำให้คุณได้รู้จักผู้หญิงคนนี้มากขึ้น รวมไปถึงการคลายข้อสงสัยที่ว่าหญิงสาวคนนี้ไปเกี่ยวข้องกับบทเพลงเก่ายุคที่พ่อ-แม่จีบกันได้อย่างไร?
“ธุรกิจนี้มันเริ่มจากการรักเพลงของคุณพ่อ (กิตติชัย มิตรศรัทธา) คือแรกเริ่มเดิมทีเรายังไม่ได้มีบริษัทแบบนี้นะคะ พ่อเป็นแค่คนขายแผ่นเสียงในตลาดพาหุรัด เป็นแค่แผงเล็กๆ แล้วเค้าก็เริ่มเอาแผ่นเสียงมาขาย มีเพลงไทยบ้าง เพลงฝรั่งบ้าง พอเค้าขายแล้วเค้าก็รู้สึกว่าดีเหมือนกันนะ เปิดเพลงให้ลูกค้าฟังตัวเองก็ได้ฟังเพลงฟรีไปด้วย เค้าก็รู้สึกว่าดีจังเลย เค้าฟังแล้วเค้าก็ชอบ พอเค้าชอบปุ๊บเค้าก็เริ่มรู้แล้วว่าเป็นเพลงอะไรที่ขายดีบ้าง หลังจากนั้นเค้าก็เริ่มติดต่อที่จะทำเป็นลิขสิทธิ์เอามาทำ พอมันเป็นยุคของเทปก็มาทำเป็นเทปแล้วก็เริ่มติดต่อมาเรื่อยๆ จนกว่าจะได้มาทำเป็นซีดีแล้วก็สร้างเป็นบริษัทที่อนุรักษ์เพลงเก่าขึ้นมา”
การ์ตูนเล่าให้ฟังถึงธุรกิจของครอบครัวก่อนจะกลายมาเป็น “บริษัทแม่ไม้เพลงไทย” ในปัจจุบัน ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอเองจะซึมซับกับบทเพลงเก่าๆ มาตั้งแต่เด็ก
“คุณพ่อจะมีวิธีปลูกฝังให้เราฟัง อย่างตอนเด็กๆ ไปโรงเรียนคุณพ่อก็จะขับรถไปส่ง ก็จะเปิดเพลงเก่าเพราะเขาขับรถ เราก็นั่งฟังไม่ได้ว่าอะไร ก็จะเริ่มมีมุกมา เช่น เนี่ยตูนลองฟังเพลงปรารถนานะ เพลงนี้ผู้ชายคนนึงรักผู้หญิงคนนึงมากเลย เขาอยากจะไปอยู่ใกล้ผู้หญิงคนนี้ ลองฟังดูดิว่าเค้าอยากจะเป็นอะไรกี่อย่างเพื่อที่จะมาใกล้ผู้หญิงคนนี้”
“เด็กๆ เราก็นั่งนับไปว่าอยากจะเป็นแก้ม อยากจะเป็นกำไล เราก็นับไปว่ามีกี่อย่าง มันก็เลยกลายเป็นว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่คุณพ่อเค้าอยากจะเล่นกับเรา เป็นเพลงฟังไว้ในใจของเรา อย่างปิดเทอมตอนเด็กๆ คุณแม่ (เยาวลักษณ์ มิตรศรัทธา) ก็จะเริ่ม เนี่ยที่ร้านตอนนี้คนเค้าไม่พอเลย ไปช่วยเป็นแคชเชียร์หน่อย เค้าก็จะหลอกล่อเราไป พอเราไปนั่งในร้านก็เหมือนกับว่าเราฟังเพลงพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยคุ้นเคย เคยชินแล้วก็รู้สึกว่ามันชอบค่ะ เพราะว่ามันเป็นเพลงที่เป็นเพลงไทยจริงๆ คือฟังแล้วมันได้อารมณ์มากกว่าเพลงสมัยใหม่”
“แล้วตูนฟังได้ทุกแนวเลยนะ ลูกทุ่งก็ชอบ ลูกกรุงก็ชอบ มันแล้วแต่อารมณ์ของวันนั้นมากกว่า วันนั้นแบบอยากจะฟังเพลงหวานๆ อยากจะฟังเสียงคุณสุเทพ หยิบเพลงคุณสุเทพมาฟัง...แต่ถ้าจะเอาแบบโปรดจริงๆ เนี่ยตูนว่าเพลงคุณทูล ทองใจ ตูนรู้สึกว่ามันเป็นเพลงที่ฟังได้เรื่อยๆ ค่ะ ฟังแล้วเสียงเค้ามีพลังจริงๆ ตูนจะชอบฟังเวลาขับรถ อย่างเวลารถติดเนี่ย โอ๊ย! เครียด ฟังเพลงสมัยใหม่ก็ โอ๊ย! เหนื่อย ลองมาฟังเพลงเก่าดู ก็คืออย่างเพลงคุณทูล ทองใจ มันฟังแล้วใจเย็นลงจริงๆ ฟังแล้วมันรู้สึกว่านี่แหละมันคือการพักผ่อนด้วยการฟังเพลง มันเป็นเพลงที่ทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ”
“แต่จริงๆ แล้วตูนขอบอกเลยว่าตูนไม่ได้ฟังแต่เพลงเก่าอย่างเดียวนะ แต่ตูนเป็นคนรุ่นใหม่เพลงรุ่นใหม่ตูนก็เปิดฟังเหมือนกันเพลงฝรั่งก็ฟัง เพลงญี่ปุ่นก็ฟัง คือจริงๆ แล้วฟังทุกแนว...บางอารมณ์อยากจะฟังเพลงเก่าก็คิดว่าเพลงเก่าๆ มันก็เพราะจริงๆ เป็นเพลงอีกแนวหนึ่งที่ชอบมากๆ มากกว่า ไม่ใช่แบบว่าตูนฟังแต่ทูล ทองใจรึเปล่า คงไม่ใช่แบบนั้นน่ะค่ะ”
เป็นคนรุ่นใหม่แต่ต้องมาฟังมาคลุกคลีกับเพลงเก่าๆ แบบนี้เพื่อนๆ ไม่แซวบ้างหรือ?
“เค้าก็จะมีแอบแซวบ้าง ว่า อ้าว ที่บ้านฟังเพลงเก่าหรอ เฮ้ย! ทูล ทองใจ มาเอง เค้าก็จะแซวๆ นิดๆ ก็ไม่ได้ถืออะไรว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอายที่เราทำเพลงเก่า เราก็รู้สึกว่ามันก็ป็นเพลงอีกแนวนึงนะ ลองมาฟังดูดิ มันเพราะดีนะเธอ รับรองพ่อแม่เธอนี่ชอบของฉันแน่นอน เค้าก็จะแบบ เออ! ใช่ เวลาไปไหนนะพ่อแม่ชอบฟังเพลงเก่าอย่างเดียวเลย ต้องแย่งวิทยุกันว่าใครจะได้ฟัง”
แน่นอนว่าการเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้เหตุผลหลักอาจจะเป็นเพราะนี่คือธุรกิจของครอบครัว แต่กระนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้สาวการ์ตูนมายืนอยู่ตรงนี้
“จริงๆ ตอนที่เรียนอยู่ก็ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี (คณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เอกโฆษณา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) คิดว่าคงกลับมาช่วยที่บ้าน แต่ว่าก็ไม่ได้ปักใจว่าจะต้องกลับมาทำเพลงเก่าก็ยังคิดว่าต้องดูไปเรื่อยๆ ด้วยว่าเราชอบเพลงอะไร พอไปเรียนปริญญาโท (มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ เอกการจัดการและการตลาด) คุณพ่อคุณแม่อุตส่าห์ส่งเสียให้ไปเรียนถึงเมืองนอก ก็เลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาความรู้ความสามารถมาช่วยทำธุรกิจเพลงเก่า”
“จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ได้กำไรมาหาศาล แต่ว่าตูนว่ามันเป็นธุรกิจที่ให้อะไรดีๆ แก่สังคมมากกว่า ถ้าใครที่อยากจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ลองมาฟังเพลงเก่าดูก็ได้ มันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่เราสามารถได้รับความบันเทิงด้วย และเราก็สามารถรู้ได้ด้วยว่าคนสมัยก่อนเค้าเป็นยังไงคือคิดว่ามันเป็นอะไรที่ต้องมีใครสักคนหนึ่งมาทำหน้าที่อนุรักษ์ให้สิ่งดีๆ มันคงอยู่ในสังคมไทย เพราะว่าถ้าสมมติรุ่นตูนไม่มีใครลงมาทำ ตูนเชื่อว่าอีกหน่อยเพลงเก่าพวกนี้มันก็คงจะค่อยๆ ตายไปตามกาลเวลา คงไม่มีใครลุกขึ้นมาทำธุรกิจตรงนี้อีก”
“เพราะว่าอย่างที่บอกว่าเป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูงมาก อย่างค่าเช่าลิขสิทธิ์แต่ละตัวที่เราเอามา ขอบอกเป็นสิบๆ ล้าน”
สมัยก่อนเขาไม่ได้ซื้อขาดหรือ?
“นายห้างก็ซื้อขาดค่ะ แต่ว่าตัวแม่ไม้เพลงไทยเนี่ยบางทีเราก็ไปเช่าซื้อหรือว่าลิขสิทธิ์บางตัวเราก็ไปซื้อมาเลย คือเรามีลิขสิทธิ์หลายตัวกว่าจะรวบรวมมาได้ครบถ้วนถึงสมัยนี้น่ะค่ะ เพราะฉะนั้น บางทีตัวเราก็ยังเป็นเช่าซื้อ ซึ่งขอบอกเลยว่าบางตัวลงทุนไปเกือบสิบๆ ล้านบาทเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าจะเป็นธุรกิจที่สบายเลย ทำเพลงเก่าจริงๆ แล้วมันเป็นธุรกิจที่เหนื่อยเหมือนกัน”
“อย่างเพลงแม่ไม้เพลงไทยมีเพลงที่อยู่ในมือกว่า 30,000 เพลง แต่ว่าใช้ได้จริงๆ เพียงแค่ 3,000 เพลง เหมือนเวลาเราไปเช่าซื้อลิขสิทธิ์มาเนี่ย เราเลือกไม่ได้ว่าเราจะเอาเพลงอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเหมือนกับเราต้องเหมามาทั้งเข่งเลยว่าเราจะเอาของห้างแผ่นเสียงนี้ เราก็ขอเช่าสิทธิ์ทั้งหมด คราวนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของคุณพ่อหนูที่จะต้องมานั่งดูอีกทีนึงว่าเพลงไหนที่คิดว่าค่อนข้างจะดังค่อนข้างที่จะติดหูกัน ก็จะเลือกขึ้นมาทำ เพราะว่าถ้าเราทำทั้งหมด 30,000 เพลง เราคงรับสต๊อกไม่ไหว เพราะฉะนั้นเชื่อมั่นได้เลยว่าซีดีทุกแผ่นทุกเพลงคัดมาแล้วแต่เพลงดัง”
งานเพลงของศิลปินคนไหนที่ได้รับความนิยมสูงสุด?
“จริงๆ แล้วศิลปินหลายท่านนะคะที่ยังยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นคุณสุรพล สมบัติเจริญ, แม่ผ่องศรี วรนุช, คุณวงจันทร์ ไพโรจน์ หรือว่าจะเป็นทางลูกกรุง ก็แน่นอน อาสุเทพ อาชรินทร์ แต่ว่าจริงๆ แล้วศิลปินท่านนึงที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักชื่อกัน หมายความว่าคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ว่าเป็นศิลปินที่ขายดีมาตลอดก็คือคุณทูล ทองใจ คือจริงๆ แล้วท่านยิ่งใหญ่มากจริงๆ ค่ะ”
“เมื่อวันก่อนไปแวะที่หน้าร้านมา ก็คุยกับพี่ที่เค้าเป็นคนขาย เค้าก็บอกว่านี่เชื่อมั้ยเธอ ไปคุยที่สาขามาบุญครองมาน่ะค่ะ ก็จะมีฝรั่งเข้ามาเยอะ บอกว่าบางทีนะฝรั่งเดินเข้ามาในร้านจะมาเลือกดนตรีไทย ก็มาเลือกพวกเดี่ยวไวโอลินพวกเพลงไทยเดิม ค้างคาวกินกล้วย พอเจอเพลงคุณทูล ทองใจเข้าไป เจอโปรดเถอะดวงใจเข้าไป เค้าบอกว่าเค้าวางซีดีที่เค้าเลือกอยู่บอกว่าไม่เอาแล้วจะเอาเพลงนี้”
“กลายเป็นว่าไม่ซื้อแล้วดนตรีไทยมันกลายเป็นฟังเพลงของคุณทูลแทน มันเหมือนกับเพลงของทูล ทองใจเนี่ยมันเป็นเพลงที่ข้ามรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ฟังลูกทุ่งหรือชอบลูกกรุงเนี่ยเพลงทูล ทองใจเป็นเพลงกลางๆ ที่ทั้งแฟนเพลงลูกทุ่งก็ชอบ แฟนเพลงลูกกรุงก็ชอบ เหมือนยังเป็นเพลงที่ยังติดอยู่ในใจของคนไทย อย่างสมัยก่อนเค้าก็จะบอกว่าเพลงทูล ต้องฟังตอนตี 4-5 เพราะว่าจะเป็นเพลงที่ส่วนใหญ่เหมือนกับในวิทยุเค้าชอบเปิด เพลงจะเพราะเป็นพิเศษ ก็เลยยังเป็นเพลงที่คนยังประทับใจและชอบอยู่เสมอค่ะ”
สำหรับหน้าที่หลักๆ ของสาวการ์ตูนก็คือ การดูแลการตลาด-การประชาสัมพันธ์บริษัทที่มีสาขากว่า 20 สาขา โดยพยายามที่จะทำให้เพลงเก่าเหล่านี้เข้าถึงคนฟังเพลงในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการประกวดร้องเพลง รวมถึงการใช้ช่องทางสื่อสารผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ ทั้งเว็บไซต์, เฟซบุ๊ก ฯ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นโดยไม่จำกัดเฉพาะว่าจะต้องเป็นคนรุ่นเก่าๆ วัย 45-50 ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักเท่านั้น
“จริงๆ เราก็อยากให้คนรุ่นใหม่มาฟังหมดน่ะค่ะ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นรุ่นไหนแล้วก็พยายามจัดกิจกรรมจัดเฟคบุ๊คมีอะไรอย่างนี้ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนมากขึ้น...ถ้าสมมติว่าอยากจะฟังเพลงถ้ามีอินเทอร์เน็ตก็มาที่เว็บไซต์ของเราแม่ไม้เพลงไทยดอตคอม อันนี้ก็จะมีให้ฟังเพลงเลือกเป็นอัลบั้มได้เลยว่าอัลบั้มนี้ไหนอยากลองฟังตัวอย่างซิว่าเป็นยังไง หรืออย่างแบบปกแผ่นเสียงสมัยก่อนเนี่ยคิดว่าวัยรุ่นเห็นแล้วก็น่าจะชอบ เราก็สนับสนุนคุณพ่อว่าเรามาทำชุดนี้กันเถอะ ก็พยายามจะทำให้ลุคของแม่ไม้เพลงไทยมันเป็นเพลงเก่าก็จริงแต่ว่ามันยังมีความที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงอยู่ได้”
รวมไปถึงการจัดรายการเพลง(สด)ผ่านทางทีวีดาวเทียมช่อง “ซูเปอร์เช็ง” ทุกวันศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 6 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าไม่ง่ายเลยกับการกับการทำรายการที่แฟนส่วนใหญ่นั้นเป็นคนรุ่นเก่าซึ่งเติบโตมากับเพลงเหล่านั้นอยู่แล้ว
“เหมือนกับคนที่ดูรายการของเราอยู่เค้าก็จะเป็นคนเก่า เค้าก็จะรู้จักนักร้องนักแต่งเพลง จะรู้ประวัติเพลงมากกว่าเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะคุยกับเค้าให้ได้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าด้วยเราก็ต้องพยายามไม่หยุดอยู่กับที่ค่ะ ต้องไปคอยหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ เพลงนี้มีประวัติมายังไง หรือว่าห้องอัดเสียงนี่รู้มั้ยว่าเค้าอัดกันตอนตี 4 นะ เพราะเรือวิ่งผ่านกัน ก็พยายามดูข้อมูลพวกเนี้ยค่ะเพื่อที่จะให้คลอบคลุมมากขึ้น”
“อีกอย่างคือ ตูนรู้สึกว่าข้อมูลที่เป็นเพลงเก่าหรือว่าข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ในวงการเพลงในสมัยก่อน ถ้าไม่มีใครที่จะไปตามหาคนเก่าๆ มาสัมภาษณ์หรือพูดคุย ประวัติพวกเนี้ยจริงๆ มันน่าเสียดายมาก มันน่าสนใจและมันก็สนุกมาก จริงๆ จากรายการที่ตูนจัดอยู่ช่องซูเปอร์เช็งเนี่ย ฟีตแบกดีนะคะ หมายความว่าวัยรุ่นก็มาดูรายการของเราเยอะนะดูจากเอสเอ็มเอสเค้าก็จะขอเพลงกันเข้ามา วัยรุ่นหลายๆ คนเลยที่มาดูรายการ บางคนก็จะเป็นน้อง ม.ปลาย...”
เค้ามาเริ่มดูคนจัดหรือดูเพลง?
“ก็คงจะทั้ง 2 อย่าง (หัวเราะ) บางคนเค้าจะดูคุณพ่อคุณแม่ หรือดูกับคุณตาคุณยาย จะมีตั้งแต่ 6-7 ขวบ เรียกว่าน้าตูนอะไรอย่างเนี้ย น้าตูนวันนี้ขอเพลงจับปูนะ ก็เลยแซวเค้าไป โอ้โห เรียกน้าเลยหรอ เค้าเลยบอกว่าหนูอายุ 8 ขวบ กลายเป็นว่าพอคุณปู่คุณย่าดูทีวีอยู่แล้วก็เด็กๆ ที่อยู่ในบ้านอาจจะวัยไม่ถึง10 ขวบ ก็แบบคุณย่าจะเรียกมาช่วยพิมพ์เอสเอ็มเอสหน่อย จะส่งไปในรายการขอเพลง”
“หรือว่าอย่างวัยรุ่นเลยเพลงเก่าก็มีนะ จะมีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เค้าชอบเพลงเก่าจริงๆ เป็นกลุ่มที่อาจจะคุณพ่อคุณแม่หรือว่าอาจจะเป็นตัวเค้าเองชื่นชอบก็ตาม แต่ว่ามันเป็นกลุ่มที่เราดีใจ ว่าเออ มีเพลงเก่ามีคนที่มารักเพลงเก่าที่ยังเป็นวัยรุ่น หรือว่าอย่างในรายการของเราก็จะมีช่วงให้ท่านผู้ชมมาร้องเพลงในรายการ มีวัยรุ่นเข้ามาร้องด้วย ก็ดีใจ”
ฟังเพลงเก่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวลก็คือคุณภาพของเสียง แต่สำหรับงานในนามของแม่ไม้เพลงไทย สาวการ์ตูนยืนยันว่าดีที่สุดเท่าที่จะดีได้แน่นอน
“อย่างที่บอกค่ะว่าคุณพ่อเค้าเป็นคนชอบเพลงมาก เค้าจะบอกเสมอว่าถ้าทำเพลงทำให้มันดีๆ ครั้งหนึ่ง คนทั้งประเทศก็จะได้มีโอกาสฟังเพลงดีๆ เหมือนกับเค้า เพราะฉะนั้นทุกบทเพลงที่เค้าทำคือพิถีพิถันจริงๆ อย่างบางบริษัทเขาก็จะเอาแค่ตัวแผ่นเสียงมาทำเป็นต้นฉบับ แล้วก็มาทำเป็นดิจิตอล แต่สำหรับคุณพ่อเวลาไปขอลิขสิทธ์คุณพ่อจะบอกเสมอว่าขอเป็นตัวต้นฉบับนะ ที่เป็นเทปรีล ที่เป็นต้นฉบับจริงๆ”
“คือนอกจากที่เราเอาเทปรีลมาแล้วก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา คุณพ่อเค้าก็จะไปตามหามาเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เทคโนโลยีมันไปถึงไหนแล้ว พอเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มา ซึ่งขจัดเสียงรบกวนไม่ว่าจะเป็นเสียงซู่ซ่าหรือว่าที่มันฟังแล้วเสียงมันไม่ใสอย่างที่ควรจะเป็น ก็เอาเทคโนโลยีตัวนี้ที่ไปซื้อมาจากเมืองนอกเอามาทำใช้ เพลงของเราทุกวันนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะขึ้นเรื่อยๆ มันฟังแล้วเหมือนกับฟังจากแผ่นเสียงต้นฉบับมากขึ้น”
“จริงๆ แล้วขอบอกเลยว่าของแม่ไม้เพลงไทย 95% จะเป็นจากตัวต้นฉบับจริงๆ นอกจากที่เราหาตัวรีลนั้นไม่ได้หรือตัวรีลนั้นเสียหายไป แล้วถึงจะเป็นจากแผ่นเสียงก็ต้องเป็นแผ่นเสียงที่คุณพ่อฟังแล้วผ่านจริงๆ เพราะฉะนั้นเพลงที่ไม่ผ่านจริงๆ มีหลายเพลงนะคะ อย่างน้ำตาในสายฝน ซึ่งเป็นเพลงดังมากของคุณสุวารี เอี่ยมไอ เป็นเพลงที่มาสเตอร์มันไม่ได้แล้ว ก็จะเป็นเพลงที่คุณพ่อตัดใจ เราก็ไม่ทำ”
ไม่ใช่เพียงธุรกิจเพลงขนาดใหญ่ๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องของการดาวน์โหลดและแผ่นผีเอ็มพี 3 เพราะของแม่ไม้เพลงไทยก็โดนเช่นกัน
“กระทบค่ะ พวกเอ็มพี 3 พวกของละเมิดลิขสิทธิ์ พวกดาวน์โหลดก็เป็นปัญหาหนักเหมือนกัน ตูนว่าไม่ใช่แค่แม่ไม้เพลงไทยแต่ว่าวงการเพลงทั้งประเทศทั้งโลกเลยมั้งมันสั่นสะเทือนไปด้วยของผิดกฎหมายพวกนี้ ซึ่งตูนว่าอยากจะให้คนไทยมีความคิดนิดนึงนะคะว่าจริงๆ แล้วเราชอบเพลงของเค้านะเราก็ควรจะให้กำลังใจคนที่ทำเพลง”
“ไม่ว่าจะเป็นเพลงใหม่หรือว่าเพลงเก่ามันก็มีคนลงทุนในการที่จะไปจ้างนักร้อง ตัวนักร้องเองก็ต้องพยายามในการที่จะร้องเพลง แต่การที่เราไปซื้อ MP3 หรือดาวน์โหลดอะไรที่มันผิดกฎหมาย มันเป็นการบั่นทอนกำลังใจของคนทำงานจริงๆ ค่ะ อย่างเพลงเก่านี่ไม่ใช่ไม่โดนนะ บางทีอย่างเราเห็นรวมฮิตแม่ไม้เพลงไทย บางทีมีปกเราด้วย เราก็โอ้โห! ทำกันอย่างนี้เลยเนอะ เพลงเก่ายังไม่เว้น เสียใจมาก”
“ส่วนที่ยูทิวบ์ จริงๆ แล้วถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นะคะที่เอาเพลงของเราไปไว้บนยูทิวบ์ แต่ว่าเราจะไปจัดการมันก็รู้สึกว่าเขาก็คงชอบเพลงเก่าๆ เหมือนเราเนอะ หมายความว่าการที่เค้าเอาขึ้นเขาคงชอบคงอยากให้คนมาฟัง มันก็ถือว่าเค้าก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เราในระดับนึง เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาทำมันอาจจะไม่ถูกต้อง แต่ว่าคงต้องวิงวอนคนที่ไปฟังในยูทิวบ์มากกว่า”
“หากฟังแล้วชอบอยากจะเก็บไว้ ยังไงรบกวนเถอะนะคะ มาอุดหนุนบทเพลงที่มันมีลิขสิทธิ์เถอะ แผ่นหนึ่งไม่กี่บาท เราเก็บมาไว้เป็นของที่ระลึกของสะสมได้เลยว่าเพลงพวกนี้ซีดีของเราก็ทนทาน ฟังได้เป็นสิบยี่สิบปี แค่คุณเสียเงิน 100 กว่าบาทมาซื้อเป็นแผ่นซีดีเก็บไว้มันก็กับคุณต่อลมหายใจให้กับเพลงเก่าแล้ว แต่ถ้าคุณเน้นของฟรีฟังในยูทิวบ์อย่างเดียว อีกหน่อยก็คงไม่มีเพลงดีๆ แบบนี้ ไม่มีใครมาทำหน้าที่ทำให้เพลงพวกนี้มันคงอยู่ในสังคมต่อไป เพลงก็คงจะตายไปในที่สุด”
ไม่คิดจะทำเป็นเอ็มพี 3 ออกมาบ้าง?
“มีหลายบริษัทก็บอกมาทำเป็นเอ็มพี 3 กันมั้ย สำหรับตัวคุณพ่อเองบอกว่าไม่ได้ คุณภาพลดลงนี่รับไม่ได้ เพราะว่าคนที่เค้ามาเสพเพลงเก่าคือเขาต้องการดนตรีแบบเดิมๆ แบบเต็มๆ ไม่ใช่เอ็มพี 3 ฟังแล้วมันง้องแง้งๆ เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าอะไรไม่คุณภาพไม่ทำ เพราะฉะนั้นหาคุณภาพที่เป็นต้นฉบับฟังดีกว่าค่ะ อย่าไปเสียเงินกับพวกเอ็มพี 3 เลย ฟังไม่กี่ครั้งก็เจ๊ง”
เห็นว่ามีแฟนเพลงเรียกร้องให้ทำเป็นแผ่นเสียงออกมาด้วย แต่คุณพ่อไม่ทำ?
“ใช่ คุณพ่อเค้าบอกว่าถ้าจะทำจริงๆ เนี่ยคือไม่สามารถจะเอาต้นฉบับที่เป็นดิจิตอลในปัจจุบันแล้วก็เอามาเทให้มันเป็นแผ่นเสียง เค้าบอกว่าแบบนั้นน่ะทำไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วโดยหลักการแผ่นเสียงจะเป็นอะไรที่เสียงดีกว่าซีดีและแผ่นเสียงที่ฟังแล้วเพราะที่สุดก็คือฟังในครั้งแรก หมายความว่าแผ่นเสียงต้องยังใหม่อยู่ ตัวเข็มแผ่นเสียงก็ต้องเป็นเข็มที่ใหม่เหมือนกัน สองอย่างนี้รวมกันมันถึงจะเป็นเสียงครั้งที่ดีที่สุด แล้วพอฟังไปเรื่อยๆ มันก็จะเกิดการสึกหรอ แผ่นเสียงแผ่นนั้นมันก็จะไม่ได้เหมือนครั้งแรกแล้ว”
“เพราะฉะนั้นคุณพ่อบอกว่าแผ่นเสียงมันก็จะมีข้อด้อยตรงที่มันดร็อปลง ซึ่งถ้าคุณพ่อเอาจากซีดีไปทำเป็นแผ่นเสียงเลยเนี่ย มันจะเสียงไม่ดีเท่าที่เป็นซีดีเพราะว่าเหมือนกับมันมีการสึกหรอตรงนี้ด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งคือซีดีเสียงมันยังนุ่มเท่าแผ่นเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะกลับไปทำแผ่นเสียงจริงๆ คุณพ่อบอกว่าต้องจะไปเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด คือเริ่มจากการเอาริวมาใหม่ เอามาเล่นใหม่ เอามาทำทุกสิ่งอย่างใหม่เพื่อที่จะกลับมาเป็นแผ่นเสียง เพราะว่าเค้าบอกว่ายอมไม่ได้ถ้าเกิดสมมติเค้าทำเป็นแผ่นเสียงออกมาใต้แบรนด์แม่ไม้เพลงไทยแล้วแผ่นเสียงจะดร็อปกว่าซีดี ก็เลยแผ่นเสียงยังไม่คลอดค่ะ”
นอกจากจะได้ความสามารถในเรื่องการฟังเพลงมาจากผู้เป็นบิดาแล้ว สาวหน้าหวานคนนี้ยังถูกปลูกฝังในเรื่องของศาสนามาจากคุณแม่อีกด้วย โดยเธอบอกว่าเธอเข้าวัดปฏิบัติธรรมและนับถือศีล 5 มาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงปัจจุบันก็จะไปทำบุญนั่งสมาธิกันทุกๆ ต้นเดือน ซึ่งในช่วงท้ายของการสนทนาสาวการ์ตูนเผยว่าแม้ระยะหลังๆ ตนอาจจะต้องให้เวลาไปกับงานอื่นๆ อาทิ งานละคร “โหมโรง” ในบท "รำพึง" ทางช่องไทยพีบีเอสที่เพิ่งจบไป รวมไปถึงรับหน้าที่พิธีกรในรายการช่องเดียวกันอย่างรายการ “สารคดีท่องโลกกว้าง” แต่อย่างไรเสียความมุ่งมั่นในความต้องการที่จะอนุรักษ์เพลงเก่าผ่านธุรกิจของตนเองก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปแน่นอน
“ตูนอยากจะให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมไทย หรือว่าอะไรที่มันเป็นไทยๆ มากขึ้น อย่างดนตรีไทย วัฒนธรรมการพูด ประเพณีต่างๆ เนี่ย เหมือนกับสมัยนี้มันกลายเป็นมิกซ์แอนด์แมตช์กับวัฒนธรรมต่างชาติไปหมดแล้ว อะไรที่มันเป็นไทยจริงๆ แทบหาไม่ได้แล้ว ตูนอยากจะให้คนไทยจริงๆ ถ้าเกิดบอกว่ารักประเทศไทยเป็นคนไทย ก็หันมาให้อะไรกับพวกนี้บ้าง อย่างเพลงเก่าที่ตูนบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่ไม่อยากจะให้คนไทยทิ้ง”
“เหมือนกับถ้าเราทิ้งรากเหง้าของตัวเอง อีกหน่อยเราก็คงไม่รู้ว่าเราเป็นคนไทยต่างจากชาติอื่นยังไง เราต่างจากตะวันตกยังไง ต่างจากเกาหลีญี่ปุ่นยังไงที่ตอนนี้เราไปปลาบปลื้มเขาเนี่ย คือชื่นชอบได้นะคะ เพียงแต่ว่าตูนว่าเราควรกลับมามองตัวเองว่ารากเหง้าของเราเป็นใคร เราควรจะทำยังไงให้ความเป็นเอกลักษณ์ของเราคงอยู่มากกว่า”
หมายเหตุ : เนื้อหาเรียบเรียงจากช่วง “Talkative” ในรายการ “เขย่าจอ” ทางช่อง Super บันเทิง (ทรู วิชั่นส์ ช่อง 70)