xs
xsm
sm
md
lg

โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ “อุ๊ยคำ-สาวมอเตอร์ไซค์-พี่สาวครับ” เพลงดังอมตะ ของ “จรัล มโนเพ็ชร”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
จรัล มโนเพ็ชร ในวัยหนุ่ม
“...อุ๊ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี ลูกผัวบ่มี อยู่ตัวคนเดียว
มะแลงแดดออก อุ๊ยคำกำเคียว เกี่ยวผักบุ้ง ใส่บุงกลางหนอง...”

เพลง “อุ๊ยคำ” คำร้อง/ทำนอง : จรัล มโนเพ็ชร

.........................................................

การแหกขนบของ“จรัล มโนเพ็ชร” อันนำมาสู่ดนตรีในสไตล์เฉพาะตัวที่เป็นลายเซ็นติดตัวของเขาไปจนตราบวันสิ้นลมหายใจ

ด้านหนึ่งนี่เป็นดังของแสลงสำหรับนักอนุรักษ์นิยม จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จรัลไปในทางลบ ซึ่งจรัลก็ได้ให้เหตุผลกลับมาในภายหลังว่า “...บทเพลงแบบเก่าๆนั้น มีคนทำอยู่มากแล้ว และก็ไม่สนุกสำหรับผม ที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง...”

แต่ด้านหนึ่งนี่ถือเป็นการเปิดโลกดนตรีในมิติใหม่ที่เรียกว่า “โฟล์คซองคำเมือง” ที่เป็นการผสมผสานดนตรีโฟล์คซองของฝรั่งกับบทเพลงคำเมืองล้านนาได้อย่างลงตัว จนจรัลได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”ในเวลาต่อมา ซึ่งนับจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครสามารถขึ้นมาแทนที่เขาได้

สำหรับจรัล มโนเพ็ชร เขาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวกับผลงาน “โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ” ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2521 ในรูปแบบเทปคลาสเซ็ทปกสีซีเปีย มีทั้งหมดรวม 9 เพลง ซึ่งผมขอไล่เรียงไปตามลำดับ(อ้างอิงจากเทปคลาสเซ็ท) เริ่มกันที่เพลงแรกในหน้าแรก

สาวมอเตอร์ไซค์”(คำร้อง/ทำนอง : ขจร วงศ์ชัยพาณิชย์)เพลงนี้มีเมโลดี้ง่ายๆ โซโลง่าย แต่ติดหูดีเป็นบ้า ว่าด้วยไอ้หนุ่ม อ้ายคนจนที่มีแค่รถถีบหรือจักรยาน แต่ดันไปหลงรักผู้สาวขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งอ้ายหนุ่มคนนี้เคยคิดทุ่มถึงขนาดจะขายที่นามาซื้อมอเตอร์ไซค์กันเลยทีเดียว

เนื้อเพลงสาวมอเตอร์ไซค์แม้จะฟังสนุก แต่ว่าก็สะท้อนวิถีแห่งยุคสมัยได้ดีทีเดียว เพราะสมัยนั้นตามต่างจังหวัดใครมีมอเตอร์ไซค์ก็ถือว่าเท่มากแล้ว โดยเฉพาะกับหนุ่มๆที่หากมีรถเครื่องหรือมอเตอไซค์ก็สามารถมัดใจสาวหลายๆคนได้ ผิดกับสมัยนี้ที่มอเตอร์ไซค์เทียบไม่ได้เลยกับรถเก๋งรถสปอร์ต สาวหลายคนเมินยกเว้นพวกสก๊อย นมติดหลัง นั่งติดเบาะ

ต่อกันด้วย “ลืมอ้ายแล้วกา”(คำร้อง/ทำนอง : สุริยา ยศถาวร) แม้เป็นเพลงรักคุด ถูกเธอทิ้ง แต่เนื้อเพลงความสนุก แม้จะนำภาษาคำเมืองมาใช้เยอะพอตัว แต่ว่าฟังไม่ยาก คนภาคกลางหรือภาคอื่นสามารถฟังเข้าใจได้ง่าย

ส่วน “คนสึ่งตึง” (คำร้อง/ทำนอง : สุริยา ยศถาวร)มาในอารมณ์คล้ายสาวมอเตอร์ไซค์ อ้ายหนุ่มไปแอบหลงรักหญิงสาวที่ดูร่ำรวยสูงศักดิ์กว่า เพียงแต่ว่าเพลงนี้มีกิมมิคอยู่ตรงที่ อ้ายหนุ่มนอกจากจะเกิดมาเป็นคนยากไร้บ่เคยฮักไผเลยในชาตินี้แล้ว ยังดูเป็นคนสึ่งตึง หรือคนประเภท โง่ ทึม ทึบ ไม่เต็มบาท บ๊องๆ บวมๆ อีกด้วย

เพลงนี้เป็นโฟล์คอารมณ์ดี มีเสน่ห์ตรงการหยิบวิถีล้านนามาเปรียบเทียบ เปรียบเปรย ได้อย่างน่าฟัง

“...ขอน้องจ้วยเตื่อมฮื้ออ้ายเต็มบาท เหมือนยูสะลาดคู่กับแผ่นดิน เหมือนน้ำพริกอ่องคู่ผักกระถิน เหมือนตั๋วยุพิน คู่กับตั๋วอ้าย...”

น้อยไจยา” เพลงเก่าแก่พื้นบ้านล้านนา มาจากทำนอง เพลงล่องน่าน คำร้อง โดยท้าวสุนทรพจนกิจ เพลงนี้เป็นเพลงที่ทำให้จรัลได้พบกับ "มานิด อัชวงศ์" ในงานวันเกิดเพื่อนของเขาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2520 ซึ่งหลังจากนั้นทั้งคู่ได้ตัดสินใจทำงานร่วมกัน และสร้างตำนานโฟล์คซองคำเมืองขึ้นมา

เพลงน้อยไจยา นอกจากจะเป็นเพลงชักนำจรัลเข้าสู่วงการแล้ว ยังเป็นเพลงแจ้งเกิดของ “สุนทรี เวชานนท์” ที่ต่อมากลายเป็นสองนักร้องคู่ขวัญแห่งล้านนา

มาฟังเพลงในหน้าที่สองกันบ้าง เริ่มด้วย “เสเลเมา” นำทำนองมาจากเพลงพื้นบ้านล้านนา เนื้อเพลงว่าด้วยวิถีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวล้านนา เสเลเมาเป็นบทเพลงที่คุ้นทำนองกันดี โดยเฉพาะทำนองท่อนที่ถูกนำมาร้องเป็นทำนองคุ้นหูว่า “มงแซะ มงแซะ แซะมง ตะลุ่มตุ้มมง”
ปกเทป โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ
จากนั้นเป็นเพลงดัง “อุ๊ยคำ”(คำร้อง/ทำนอง : จรัล มโนเพ็ชร) ที่ในปกพิมพ์ว่า “อุ้ยคำ” แต่ร้องออกเสียง อุ๊ยคำ

ที่มาของเพลงอุ๊ยคำ มานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวตลอดชีพของจรัล ได้เขียนเป็นบันทึกเล่าไว้ในหนังสือ “ซึงสุดท้าย : จรัล มโนเพ็ชร” สรุปความว่า เพลงนี้เกิดขึ้นบนรถไฟในขณะที่เขากับจรัลนั่งรถไฟกลับเชียงใหม่ ระหว่างที่นั่งผ่านทุ่งรังสิต ช่วงตะวันกำลังตกดิน พวกเขามองเห็นที่หนองน้ำมีผู้เฒ่าคนหนึ่งกำลังพายเรือเก็บผักบุ้ง แล้วในบัดดลจรัลก็ขอกระดาษจากมานิดซึ่งเขาฉีกมาจากหนังสือพิมพ์ พร้อมจรดปากกา เล่นกีตาร์ ลงมือเขียนเพลงอุ๊ยคำในทันที

เมื่อเกิดไอเดียแบบปัจจุบันทันด่วนขึ้น จรัลได้หวนนึกถึงอุ๊ยคำตัวจริงที่อยู่ใกล้ๆบ้านของเขาที่เชียงใหม่ ซึ่งมีวิถีคล้ายๆผู้เฒ่าคนนั้น คือ อุ๊ยคำจะเก็บยอดผักบุ้งจากหนองน้ำข้างบ้านไปขาย อุ๊ยคำตัวจริงแม้จะลูกผัวไม่มีอยู่ตัวคนเดียว แต่ชีวิตจริงไม่ได้รันทดเหมือนในเนื้อเพลงของจรัล

อุ๊ยคำถือเป็นต้นแบบในการเขียนเพลง “บัลลาด” ที่ไม่ใช่บทเพลงรักหวาน ช้า ซึ้ง อย่างพวกบัลลาดร็อก ป็อบ แจ๊ซ หากแต่เป็นบทเพลงเล่าเรื่องราวในลักษณะลำนำ โดยเฉพาะกับการเล่าเรื่องราวของบุคคลมาเป็นเพลง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และแนวทางอันโดดเด่นของจรัลในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น มิดะ, แม่ค้าปลาจ่อม, ลุงต๋าคำ, ตากับหลาน,สาวโรงบ่ม,สามล้อ เป็นต้น

เพลงนี้จรัลสามารถเล่าเรื่องของผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีอาชีพเก็บผักบุ้งขายได้อย่างเห็นภาพ ภาษาที่ใช้แม้จะอย่างเรียบง่าย แต่ว่าสามารถสื่อสานออกมาได้เห็นภาพชัดเจน วางลำดับความในแต่ละท่อนได้ดีมาก แถมตอนท้ายยังจบแบบแซดเอ็นดิ้งอีกต่างหาก

“...อุ๊ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี ลูกผัวบ่มี เป็นตี้เอ็นดูล้ำ
แล้งนี้แดดอ่อน บ่หันอุ๊ยคำ เกยมาประจำ อุ๊ยคำไปไหน
หมู่ผักบุ้งยอดซมเซาซบบ่ไหว เป็นจะใดไปแล้วอุ๊ยคำ...”

อุ๊ยคำไม่เพียงมีเนื้อหาจับใจ+สะเทือนใจเท่านั้น เพลงนี้อุ๊ยคำยังมีจุดเด่นตรงลูกเกากีตาร์ ที่ถือเป็นลายเซ็นในแบบจรัล ซึ่งสมัยหัดเล่นปิ๊กกิ้งใหม่ๆ ผมก็ใช้เพลงนี้เป็นต้นแบบ ฝึกเกาเขบ็จ 2 ชั้นกันอยู่ตั้งนานกว่าจะคุ้นชิน

อุ๊ยคำ นอกจากจะเป็นบทเพลงที่โดดเด่นที่สุดในอัลบั้มชุดนี้แล้วยังเป็นเพลงดังอมตะในอันดับต้นๆของจรัลอีกด้วย

ส่วนเพลงต่อมาเป็น “ผักกาดจอ”(คำร้อง/ทำนอง : นิคม คันธรส) เป็นการนำเรื่องราวของของกินพื้นเมืองอย่างผักกาดจอมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของหนุ่มสาว ดำเนินเรื่องโดยไอ้หนุ่มบ้านเป็นตูบติดดินที่ใช้ผักกาดจอมาเป็นสื่อในการเล่าเรื่อง

พี่สาวครับ” เนื้อเพลงมีความแตกต่างจากเพลงรักทั่วไปตรงที่หนุ่มอายุน้อยกว่าดันไปแอบหลงรักผู้สาวรุ่นพี่ จรัลแต่งขึ้นมากจากเพื่อนๆในวิทยาลัย ซึ่งเป็นเพลงในกลุ่มกองเชียร์วิทยาลัย ก่อนมาดัดแปลงทำนองให้ติดหูน่าฟังยิ่งขึ้น

พี่สาวครับ เป็นเพลงที่จรัลบอกว่าแต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานไม่มีเนื้อหาอะไร แต่สุดท้ายแล้วเพลงนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในเพลงดังของเขา และดังเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

ปิดท้ายกันด้วย “ของกิ๋นคนเมือง” (คำร้อง/ทำนอง : จรัล มโนเพ็ชร)เพลงนี้จรัลร้องคู่กับสุนทรี เนื้อร้องเป็นการใส่วิถีวัฒนธรรมแบบล้านนาเข้าไปในบทเพลง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวของอาหารพื้นเมืองล้านนาออกมาได้น่าฟังและน่ากิน ชนิดฟังแล้วน้ำลายไหล

“...แก๋งเห็ดแก๋งหอย ก้อยปลาดุกอุย แก๋งบ่าค้อนก้อม แก๋งอ่อมเครื่องใน
แก๋งผักเฮือดลอ อ๋อยำหน่อไม้ น้ำเหมี้ยงน้ำตับ กับน้ำพริกอ่อง คั่วผักกุ่มดอง หนังปองน้ำปู๋...”

ของกิ๋นคนเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงที่จรัลได้ใส่วิถีวัฒนธรรมของชาวล้านนาเข้าไปในเพลง

และนั่นก็เป็นบทเพลงทั้งหมดจากอัลบั้ม “โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ” ที่งานเพลงชุดนี้นอกจากจะสร้างชื่อให้กับจรัลแล้ว

ทุกเพลงในงานเพลงชุดยังถือได้ว่าเป็นบทเพลงอมตะสมชื่ออัลบั้ม
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : Timeless

Timeless เป็นอัลบั้มรวมเพลงอมตะจากค่าย Warner Music ที่มาในแพ็คเกจซีดี 5 แผ่น อัดแน่นไปด้วย 77 เพลงฮิตอมตะจากผลงานต้นฉบับตัวจริงเสียงจริง ไม่ว่าจะเป็น “Can’t Take My Eyes Off You” ของ แฟรงกี้ วัลลี่ แอนด์ เดอะ โฟร์ ซีซั่นส์,“When a Man Loves a Woman” โดย เพอร์ซ่ สเลดจ์, “My Girls” จาก เดอะ เทพ์ เทชั่นส์, “Love is All Around” ของ เดอะ ทร็อกก์ส

นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินระดับตำนานอีกมากมาย อาทิ เอลวิส เพรสลีย์,คลิฟฟ์ ริชาร์ด, แน็ท คิง โคล,เดอะ บีชบอยส์ ฯลฯ นับเป็นอัลบั้มที่คนรักเพลงเก่าหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจเพลงเก่าควรมีไว้ในคอลเลคชั่น เพราะนี่คือเพลงบทเพลงอมตะไม่มีวันตาย
กำลังโหลดความคิดเห็น