xs
xsm
sm
md
lg

ท่องยุทธจักรกับ “ฉีเคอะ” จาก “วังผีเสื้อ” สู่ “คัมภีร์เทวดา” ถึง “7 กระบี่”

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


ถือเป็นผู้กำกับฮ่องกงที่มีชื่อติดหูอยู่ในความทรงจำของคนไทยมากที่สุดรายหนึ่ง “ฉีเคอะ” ผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง กับฉายาระดับ “สปีลเบิร์ก” แห่งเอเชีย ในเวลาเดียวกันก็ยังมีช่วงตกต่ำอยู่เป็นระยะ แต่ที่แน่ ๆ พูดได้ว่าเขาคนนี้คือตำนานหน้าหนึ่งแห่งหนังฮ่องกงแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังแนวกำลังภายใน ที่แทบจะสำรวจตรวจสอบมาแล้วทุกแนวทางของหนังตระกูลนี้

หากเปรียบเทียบกันในแนวทางของนิยายกำลังภายใน ความสำเร็จความยิ่งใหญ่ของ “ฉีเคอะ" ก็คงพอจะเทียบเคียงได้กับระดับ “เจ้ายุทธ์จักร” หรือ “ผู้ครองยุทธภพ” อะไรทำนองนั้นกันเลยทีเดียว

แต่หากว่าด้วยตัวงานกันแบบล้วน ๆ “กระบวนท่า, พลังวัตร, ฝีไม้ลายมือ” ของคนทำหนังรายนี้ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม งานของเขาเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งช่องโหว่, จุดบอด, จุดที่สร้างความตะขิดตะขวงใจแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือบางครั้งก็เป็นงานที่มีรอยแผลโหว่ เข้าขั้นห่างไกลจากความสมบูรณ์พร้อม แต่ก็เรียกว่าเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ส่วนตัว ทั้งลูกบ้า ความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้เข้าได้ทำหนังมาจนถึงอายุเหยียบ 60 แบบนี้ (นอกจากนั้นการมีภรรยาเป็นผู้อำนวยการสร้างใหญ่ ก็คงมีส่วนด้วยนิดหน่อย)



จุดเริ่มต้นที่ "วังผีเสื้อ"

เส้นทางอันยาวนานในวงการหนังของเขามีจุดเริ่มต้นกับงานที่ไม่ได้โด่งดังอะไรนัก ถึงกระนั้นก็ยังเปี่ยมไปด้วยความน่าสนใจ และมีรสชาติที่แตกต่างจากหนังแนวเดียวกันในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง เป็นหนังกำลังภายในยุค “นิวเวฟ” ที่ออกฉายปลาย 70s – ต้น 80s มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “เฉินเสี่ยวตง” หรือ “ตู้ฉีฟง” ในยุคนั้น

The Butterfly Murders หรือ “ศึกวังผีเสื้อ” เป็นผลงานเรื่องแรกของ ฉีเคอะ กับงานแนวกำลังภายในประเภทที่เรียกได้ว่า แปลกประหลาดอีกเรื่อง เป็นงานที่รวมความเป็นหนังสยองขวัญ, กำลังภายใน และไซไฟเข้าไว้ด้วยกัน

หนังเล่าเรื่องราวเริ่มต้นเหตุสยองขวัญขวัญสั่นประสาทที่ทำให้ยุทธจักรอยู่ในความไม่สงบ กับเหตุประหลาดการเสียชีวิตของเหล่าจอมยุทธ์จำนวนหนึ่งด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ผีเสื้อสังหาร”

หนังเรื่องนี้มีทั้งเรื่องราวของปริศนาฆาตกรรม, ฉากต่อสู้อันหวือหวาเหนือจริงแบบหนังกำลังภายใน และบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัวไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะการโจมตีของเหล่าผีเสื้อสยองขวัญ ที่เห็นได้ชัดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังฮอลลีวูดคลาสสิกอย่าง The Bird นอกจากนั้น

ฉีเคอะยังนำเสนอฉากต่อสู้และคิวบู๊ที่เรียกว่า ก่ำกึ่งระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “ไอเดียกระฉูด” และ “เลอะเทอะ” กันเลยทีเดียว กับช่วงประมาณ 40 นาทีท้ายของหนังนั้น ที่เป็นการต่อสู้ด้วยวิทยาทยุทธสุดหลุดโลก โจมตีกันด้วยอาวุธพิสดารทั้ง ดาบคีมตัดหัว, ฝ่ามือไฟ, อีการะเบิด แถมท้ายด้วยชุดเกราะประหลาดเหมือนหลุดมาจาก Star Wars และวิชาตัวเบาที่ใช้ลวดระโยงรยางค์เหมือนสไปเดอร์แมนยังไงอย่างงั้น

The Butterfly Murders เต็มไปด้วยความอีลักอีเหลื่อไม่ลงตัว แบบหนังของผู้กำกับหน้าใหม่ แต่หนังก็ยังดูสนุกน่าติดตาม เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวอันบ้าคลั่ง ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะมีเส้นทางในวงการภาพยนตร์อันยิ่งใหญ่ และยาวไกลอย่างที่พวกเรารับรู้กัน แต่สำหรับในเวลานั้นความแปลกแตกต่างเกินเหตุทำให้หนังไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จนักเมื่อออกฉาย จนเขาต้องรอคอยไปอีกถึง 4 ปี จึงจะได้ทำหนังกำลังภายในเรื่องต่อไป



ส่อแววรุ่งกับ "ซูซัน"

ในปี 1984 ฉีเคอะ ย้ายไปร่วมงานกับ Golden Harvest ของ เรย์มอนด์ เชา และ เลนเนิร์ด โห สร้างหนังเรื่อง Zu: Warriors from the Magic Mountain (ศึกเทพยุทธเขาซูซัน) ออกมา มอบบททหารหนุ่มให้กับ หยวนเปียว เข้าไปผจญภัยในการต่อสู้ของเหล่าจอมยุทธแห่งเขาซูซัน ที่ฝึกวิชาและบำเพ็ญตะบะกันจนก้าวเข้าไปสู่ความเป็นเซียน มีดาราดังทั้ง หงจินเป่า, หลินชิงเสีย, หลิวสงเหยิน, ฉีเส้าเฉียน มาเช่นเป็นจอมยุทธที่ฝึกวิชากันจนเข้าขั้นเซียนเหยียบฟ้า

หนังเป็นการนำแนวทางกำลังภายในแฟนตาซีที่เคยรุ่งเรืองอยู่สั้น ๆ ในยุคหนังขาวดำราวต้น ๆ ปี 60s กับเทคนิคพิเศษประเภท เหาะเหินเดินอาการ, กระบี่วิเศษ และปล่อยพลังแสง อย่างหนังประเภท ผ่ามือยูไลอะไรทำนองนั้น

ด้วยความที่พอจะมีเส้นสายคอนเน็คชั่นอยู่ในวงการหนังสหรัฐฯ อย่างบ้าง ฉีเคอะ จึงมีโอกาสดึงตัวเอามือเอฟเฟคฮอลลีวูดที่เคยทำงานในกองถ่ายหนังดัง Star Wars มาช่วยเนรมิตภาพในจิตนาการให้กับหนังเรื่องนี้ ผลที่ออกมาก็นับว่าน่าพอใจ หนังมีงานภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจ เทคนิคพิเศษแบบฮอลลีวูดผสม กับคิวบู๊แนวฮ่องกงสร้างรสชาติใหม่ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่เนื้อหายังดู “งง ๆ” จับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก

บทสรุปของ Zu Warriors from the Magic Mountain ค่อนข้างจะก่ำกึ่งนะครับ หนังขึ้นหิ้งคลาสสิก ถูกพูดถึงจนเดี๋ยวนี้ ถ้านับเฉพาะเรื่องทางธุรกิจ ก็ทำเงินไปได้ไม่น้อยกับตัวเลขราว 15 ล้านเหรียญฮ่องกง แต่การทำงานที่ไม่ค่อยราบรื่น ก็ทำให้ ฉีเคอะ ไม่ได้ร่วมงานกับยักษ์ใหญ่วงการหนังอย่าง โกลด์เดน ฮาร์เวสต์ อีก เขายังเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกง และหันไปสอนหนังสืออยู่พักใหญ่



รุ่งเรืองสุดขีดด้วย "คัมภีร์เทวดา"

หลังพักงานไปสอนหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง กลางยุค 80s “ฉีเคอะ” ตั้งบริษัทผลิตหนังของตัวเองชื่อ Film Workshop และร่วมทำงานกับเพื่อน ๆ หลายคนในวงการกับบริษัทจัดจำหน่าย Cinema City ที่มีส่วนในหนังดังมากมาย เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการ สร้างหนังประสบความสำเร็จเรื่องแล้วเรื่องเล่า จนประตูสู่โลกกำลังภายในของเขาก็เปิดขึ้นอีกครั้ง

หลังความสำเร็จของงานแนวแฟนตาซีเล่าเรื่องภูตผีปีศาจ A Chinese Ghost Story (โปเยโปโลโย) ที่ ฉีเคอะ นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้าง เขาได้ตัดสินใจคืนชีพให้กันหนังกำลังภายในอีกครั้ง คราวนี้ไม่ขอทำอะไรหลุดโลกอีกแล้ว แต่เลือกที่จะกลับไปหารากเหง้าของงานแนวนี้ ด้วยการดึงตัวเอา หูจวินฉวน หรือ คิง ฮู คนทำหนังที่เหมาะสมกับฉายา “ปรมาจารย์” แห่งหนังกำลังภายในมากกว่าใคร กลับมาสู่วงการหนังฮ่องกงอีกครั้ง

การร่วมมือกันของสองคนทำหนังต่างรุ่น เป็นเรื่องน่ายินดีมากสำหรับแฟนของหนังแนวนี้ แต่สุดท้ายบทสรุปออกมาค่อนข้างจะก่ำกึ่งมีทั้งด้านบวกและลบ

The Swordsman หรือ เดชคัมภีร์เทวดา เป็นงานที่หยิบเอานิยายดัง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ของ กิมย้ง มาสร้างเป็นภาพยนตร์กับเรื่องราวชิงดีชิงเด่นในยุทธจักร โดยมีสุดยอดคัมภีร์วิทยายุทธ์เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว ฝ่าย ฉีเคอะ นั้นรับหน้าที่อำนวยการสร้าง ส่วน คิง ฮู กำกับภาพยนตร์ แต่แล้วหลังเปิดกล้องไปได้ซักระยะ ผู้กำกับรุ่นใหญ่กลับประกาศขอถอนตัวออกจากหนังเรื่องนี้ มีข่าวลือเรื่องความขัดแย้งออกมา แต่ฉีเคอะอธิบายว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสุขภาพอันย่ำแย่ของ คิง ฮู ต่างหาก

สุดท้ายหนังจึงลงเอยด้วยการมีรายชื่อผู้กำกับอย่างไม่เป็นทาการเพิ่มมาอีกถึง 4 คน ทั้ง แอน ฮุย, เฉินเสี่ยวตง, อลัน กัม และตัวของ ฉีเคอะ เอง ที่ยืนยันว่าทุกคนกำกับหนังด้วยการจินตนาการในหัวอยู่ตลอดว่า ถ้าเป็นของ คิง ฮู จะทำงานในทิศทางใด

The Swordsman ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม แม้จะทำเงินในฮ่องกงไปได้แค่ 16 ล้านเหรียญฮ่องกงฯ แต่ก็ขายลิขสิทธิ์ไปฉายยังทั่วโลก ตัวหนังเองได้รับคำชมว่าผสานทั้งองค์ประกอบแบบหนังกำลังภายในยุคเก่า และยุคใหม่ได้อย่างลงตัว

ที่เห็นจะไม่ค่อยพอใจนักคงหนีไม่พ้น แฟน ๆ ของนิยายต้นฉบับ ที่ถูกดัดแปลงเสียจนเละ แต่เมื่อหนังประสบความสำเร็จก็คงไม่มีอะไรหยุดยั้ง ฉีเคอะ ได้อีกแล้ว The Swordsman 2 จึงตามออกมา พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงผู้แสดงไปเกือบทั้งเรื่อง เนื้อหาก็ออกทะเลไปไกล หยิบเอาตัวละคร “ตงฟังปุ๊ป้าย” บูรพาไม่แพ้ประมุขพรรคสุริยันจันทรา แห่งผาไม้ดำ ผู้ยอมสูญเสียความเป็นชาย เพื่อบรรลุยอดวิชาทานตะวันถึงขั้นไร้เทียมทาน ที่มีรายละเอียดในหนังสือเพียงไม่กี่หน้า มาขยายเป็นนำในหนังภาคสอง พร้อมมอบหมายให้นักแสดงสาวสวย หลินชิงเสีย รับบทนำ เป็นการพลิกโฉมตัวละครที่เดิมที เป็นเพียงจอมยุทธ์ลักเพศผู้น่าสังเวช ให้งามสง่า และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งความคลุมเครือทางเพศ จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในหนังของฉีเคอะไปเลย



ยุคทองของ "ฉีเคอะ" ยุคทองของหนังกำลังภายในแห่ง 90s

ความรุ่งเรืองของของหนังกำลังภายในยุคใหม่ที่ดำเนินอยู่ประมาณ 4 – 5 ปี ในต้นยุค 90s ที่มีหนังแนวนี้ออกมาให้ดูกันเยอะแยะไปหมด ส่วนใหญ่ถ้าจะการันตีความสนุกแปลกใหม่ก็ต้องมีเครื่องหมายการค้า “ฉีเคอะ” แปะเอาไว้ด้วย

ในปี 1992 ฉีเคอะสร้าง New Dragon Inn (คัมภีร์แดนพยัคฆ์) ให้ เรย์มอนด์ ลี กำกับ ส่วนเขาก็ดูแลด้านบทเอง เป็นงานที่หยิบเอาหนังเก่าของ คิง ฮู กลับมาสร้างใหม่ มี เหลียงเจียฮุย, จางม่านอวี้ และ หลินชิงเสีย แสดงนำ ร่วมด้วยราชานักบู๊คนปัจจุบัน ดอนนี่ เยน หรือ เจินจื่อตัน ที่สวมบทเป็นขันทีจอมโหดตัวร้ายของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เป็นหนังที่เข้าข่ายหนังกำลังภายในยุคโบราณอย่างแท้จริง ด้วยเนื้อเรื่องประเภทจอมยุทธ์คู่คุณธรรม แต่ก็โดดเด่นได้ด้วยบทตัวละครที่มีสีสัน โดยเฉพาะตัวละครหญิงทั้ง 2 รวม ถึงตัวร้ายของเรื่อง ที่ทำให้บทบาทของพระเอก เหลียงเจียฮุย ต้องจืดจางไปโดยปริยาย

ปีต่อมา ฉีเคอะ หยิบเอาเดชคัมภีร์เทวดากลับมาสร้างอีกครั้ง คราวนี้ยิ่งไปกันใหญ่ด้วยการมอบบท “พระเอก” ให้ตัวละคร ตงฟังปุ๊ป้าย ของหลินชิงเสียไปเลย โดยกล่าวถึงความรักของ บูรพาไม่แพ้และหญิงคนรักที่นำแสดงโดย หวังจู่เสียน ซึ่งแม้สองสาวจะมีอยู่คนหนึ่งที่เล่นบทเป็นผู้ชาย แต่ด้วยเสน่ห์เพศหญิงอันรุนแรงของทั้งคู่ก็ทำให้ หนังที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The East is Red ถูกมองเป็น “หนังกำลังภายในเลสเบี้ยน” อย่างช่วยไม่ได้



ปีเดียวกันนั้นเอง ฉีเคอะ ยังสร้าง The Magic Crane หรือ “คัมภีร์กระเรียน เซียนเหยียบฟ้า” หนังกำลังภายในผสมแฟนตาซีที่ชื่อไทยยังคงวนเวียนอยู่กับคำว่า “คัมภีร์” อยู่ไม่จบไม่สิ้น โดยได้ ราชินีเพลงกวางตุ้ง เหมยเยี่ยฟาง ประชันบทบาทกับ เหลียงเฉาเหว่ย, กวนจื่อหลิน, ฉีเส้าเฉียน และ หลิวสงเหยิน ตัวหนังดูสนุกแบบที่เนื้อเรื่องไม่ได้มีอะไรพิเศษมาก แต่เทคนิคพิเศษ นกกระเรียนยักษ์ที่ออกไปในทางตลกขบขันมากกว่าจะสวยงาม ก็คงทำให้หลาย ๆ คนลืมหนังเรื่องนี้ได้ยากเต็มทน

ปิดฉากความยิ่งใหญ่กับ “เดชไอ้ด้วน”

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปี 1995 ที่ตลาดหนังกำลังภายในเริ่มวาย ฉีเคอะ ผู้เปิดประตูบานนี้ออกมา ได้สร้างงานที่เป็นเหมือนกับบทสรุปแห่งยุคสมัย ซึ่งหลังจากส่วนใหญ่เขาดูจะสร้างงานที่อิงไปทาง คิง ฮู มาตลอด การปิดฉากครั้งนี้จึงขอคาวระปรมาจารย์ จางเชอะ บ้าง

The Blade (เดชไอ้ด้วน แขนหลุดไม่หยุดแค้น) เป็นงานที่หยิบเอาหนังกำลังภายในสุดยอดคลาสสิกตลอดกาลเรื่องหนึ่งของจางเชอะ ผู้ที่โดดเด่นด้วยการสร้างหนังกำลังภายในขายความรุนแรง และบูชายเพศชายอย่าง “เดชไอ้ด้วน” กลับมาสร้างใหม่ ภาพรวมมีเนื้อหาใกล้เคียงของเก่า จ้าวเหวินจั๋ว รับบทเป็นเด็กหนุ่มผู้เติบโตมาในโรงตีดาบ ก่อนจะต้องเสียแขนพร้อม ๆ กับความหวังที่จะล้างแค้นให้กับบิดา จนค้นพบสุดยอดวิชาเพลงดาบแขนเดียว ด้วยตำราครึ่งเล่ม และกระบี่หักด้ามหนึ่ง



เดชไอ้ด้วนฉบับนี้ได้รับคำชมค่อนข้างมาก เป็นงานฉายภาพโลกแห่งความยุทธ์เป็นดินแดนแห่งความถ่อยเถื่อน ไม่มีใครดีและเลวอย่างสุดขั้ว เป็นงานที่แตกต่างจากที่เขาเคยทำมาโดยสิ้นเชิง โปรดักชั่นที่ออกแนวเถื่อน ๆ ก็ทำได้ถึง ส่วนคิวบู๊แม้จะดูงง ๆ ไปบ้างแต่ก็ออกมาแปลกใหม่มันส์สะใจดี

อย่างไรก็ตามเพียงไม่กี่ปีหลัง The Blade ออกฉาย วงการหนังกำลังภายในก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยงานทุนสูงลิ้วและทีมงานระดับโลก กับผู้กำกับยอดฝีมือที่โด่งดังขึ้นมาจากงานในแนวทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลี่อัน กับ Crouching Tiger, Hidden Dragon (พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก) หรือ จางอวี้โหมว ก็สร้างหนังกำลังภายในออกมาถึง 3 เรื่องแล้ว แน่นอนว่า ฉีเคอะ ก็กลับคืนสู่โลกกำลังภายในด้วยเช่นเดียวกัน

ตกต่ำและฟื้นตัว

น่าเสียดายที่ในระยะแรกของกระแสหนังกำลังภายในบูมครั้งใหม่ ฉีเคอะ ไม่สามารถตักตวงอะไรจากขาขั้นครั้งนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น The Legend Of Zu (ซูซันศึกเทพยุทธถล่มฟ้า) ที่ออกฉายเมื่อการนำเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ไม่ได้ของใหม่อีกต่อไปแล้ว ส่วนหนังที่ตัดแปลงจากนิยายเรื่องดัง Seven Swords (7 กระบี่เทวดา) ก็แค่พอไปได้ โครงการสร้างภาคต่อหลายตอนก็ต้องหยุดเพียงภาคเดียว หลังได้รับเสียงตอบรับไปแบบกลาง ๆ กับงานที่มีความยาวร่วม 153 นาที แต่มีคิวบู๊อยู่ไม่มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเห็นฉบับความยาว 3 – 4 ชั่วโมงที่ ฉีเคอะ เคยเปรยเอาไว้ก็หมดสิทธิ์ไปด้วย

ชีวิตการเป็นผู้กำกับในรอบ 10 กว่าปีหลังของ ฉีเคอะ ต้องเรียกว่าถึงขั้น "ถูลู่ถูกัง" มีทั้งงานประเภทเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ อย่าง All About Women จนถึงขั้นล้มเหลวกับหนังพูดภาษาอังกฤษ Black Mask 2 ก่อนจะกลับมาสู่ทิศทางขาขึ้นอีกครั้งกับหนังสองเรื่องหลังซึ่งก็วนเวียนอยู่กับแนวกำลังภายในเช่นเดิมไม่ว่าจะเป็น Detective Dee ที่ผสมกำลังภายในกับเรื่องราวสืบสวนสอบสวนได้สนุกมีสีสันดี และล่าสุดกับ Flying Swords Of Dragon Gate 3D ที่คุยกันเอาไว้ว่าเป็นหนังกำลังภายในสามมิติเรื่องแรกของโลก



ในชีวิตการทำงานยาวนานกว่า 30 ปีเข้าให้แล้วของ “ฉีเคอะ” มีทั้งช่วงเวลาที่เรียกว่ารุ่งเรืองสุดขีด ยืนอยู่แถวหน้าสุดของวงการ เป็นเหมือนจ้ายุทธจักรแห่งวงการ ขณะที่บางช่วงก็ดูอ่อนแรงแบบธาตุไฟเข้าแทรก แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดงานของเขาคนนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่เสมอ แม้ว่าความน่าสนใจที่ว่าในบางครั้งจะพร่องความสนุกและลงตัวไปบ้างก็ตาม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น