“ท้าฟัน” น่าจะเป็นหนังจีนกำลังภายใน ที่ยังอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คนนะครับ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นงานซึ่งเข้าฉายในต้นยุค 80 อันเป็นช่วงเวลาแห่งความตกต่ำของหนังกำลังภายในโดยแท้ … จะเรียกว่าเป็นหนังระดับมาสเตอร์พีสที่มาก่อนเวลาก็คงไม่ผิดนัก
ต้นยุค 80s นั้นจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความ “ตกต่ำ” ของหนังจีนกำลังภายในก็คงจะได้นะครับ ที่พูดนี่หมายถึงหนังสำหรับฉายโรงโดยเฉพาะ เหตุผลหลักก็คือ ความรุ่งเรืองของวงการโทรทัศน์ ที่ทำให้เรื่องราวแนวยุทธจักรบู๊ลิ้มย้ายวิกไปสิงสถิตในจอแก้ว กับรูปแบบ “หนังจีนชุด” กันเสียหมด
ส่วนหนังโรงก็ถูกหนังแอ็กชั่นตลกแบบ เฉินหลง, หงจินเป่า ยึดหัวหาดจนแทบไม่เหลือช่องวางให้กับแชมป์เก่าอย่างหนังจีนกำลังภายในกันเลย
อย่างไรก็ตามยังมีคนทำหนังบางส่วน ที่ขอลองดีส่งหนังกำลังภายในลงจอเงินดูอีกซักครั้ง … หนึ่งในนั้นก็คือ Duel to the Death หรือในชื่อไทยที่เรียกว่าตั้งได้ สั้น, กระชับ ได้ใจความเหลือเกินว่า "ท้าฟัน" นั่นเอง
นี่คือผลงานของ เฉินเสี่ยวตง ผู้กำกับคิวบู๊คนดังที่ทุ่มสุดตัวกับการทำหนังของตัวเองเป็นเรื่องแรก นอกจากการกำกับภาพยนตร์, ดูแลคิวบู๊ เขายังมีส่วนร่วมในด้านเขียนบทแต่งเรื่องด้วย โดยได้บริษัท โกลเดนต์ ฮาเวสต์ อันโด่งดังมาออกทุนสร้างให้
แจ้งเกิด "เฉินเสี่ยวตง" : ผู้กำกับที่มีดีกว่า “คิวบู๊”
เฉินเสี่ยวตง นับว่าเป็นคนทำหนังในสายบู๊ที่โดดเด่นอยู่แถวหน้ามากว่า 25 ปีแล้ว ถ้าจะให้ไล่รายชื่อผลงานที่เขามีส่วนร่วม ก็คงเรียกว่าเยอะแบบไม่หวาดไม่ไหว เอาแค่ว่ามีชื่อเป็นผู้กำกับหนังคลาสสิคตลอดกาลอย่าง “โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า” และ “เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 2” ก็เพียงพอที่จะเป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีแล้วใช่ไหมครับ
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 1982 เฉินเสี่ยวตง ยังเป็นเพียงคนทำหนังหน้าใหม่ ที่ก้าวขึ้นมาจากการเป็นนักแสดง และทำงานเบื้องหลัง เรียกว่าโลดแล่นในวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่มีอายุไม่ถึง 10 ขวบ ในฐานะทายาทของ เฉินกัง ผู้กำกับชื่อดังในยุค 60s ที่ทำให้เขาได้ทำงานหลาย ๆ แขนงในวงการตั้งแต่ยังเด็ก จนกลายมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ขณะที่มีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นหนุ่มอายุ 29 ที่อยู่ในวงการบันเทิงมาเกินกว่าครึ่งชีวิตแล้ว
แม้จะเติบโตมาในสายงานบู๊ เฉินเสี่ยวตง ยังแสดงออกอย่างแรงกล้าว่าเขา “ต้องการทำหนังจริง ๆ” ไม่ได้ใส่ใจเพียงการโชวค์คิวบู๊สุดพิสดาร สร้างหนังที่เป็นเหมือนกับ “สตั้นโชว์บนแผ่นฟิล์ม” เท่านั้นเหมือนกับนักบู๊หลาย ๆ คน ผลงานแจ้งเกิดของเขาจึงให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง, พล็อต เท่าเทียมกับต่อสู้ฟาดฟันกันของตัวละคร
ท้าฟัน เล่าเรื่องด้วยลีลาของหนังสืบสวนสอบสวน, เรื่องราวสมคบคิด ที่ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยความจริงทีละน้อย สอดแทรกคิวบู๊มันส์ ๆ มาเป็นระยะ ก่อนจะปิดท้ายด้วยฉากต่อสู้สุดท้ายที่เรียกถึงขีดสุดทั้งในลีลาการฟันดาบ และความเข้มข้นทางอารมณ์ของหนัง
การออกแบบฉากต่าง ๆ ยังแสดงออกถึงความตั้งใจของผู้สร้าง หนังถ่ายทำฉากอินดอร์กันในฮ่องกง ส่วนฉากเอาต์ดอร์ก็เดินทางไปถ่ายทำกันที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถูกใช้เป็นโลเกชั่นหลักของหนังจีนในยุคนั้น
สำหรับผมคิดว่าว่าน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยนะครับ สำหรับผู้กำกับที่เคยมี “แวว” อย่าง เฉินเสี่ยวตง ซึ่งกลับไปประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กับการเป็นผู้กำกับคิวบู๊เสียมากกว่า ส่วนการกำกับภาพยนตร์ก็เหมือนว่าหลังจากนั้นเขาจะดู “มือตก” ลงมาเรื่อย ๆ
ในหนังดังอย่าง โปเยฯ หรือ เดชคัมภีร์ฯ เครดิตคำชื่นชมก็ดูจะไปตกอยู่กับผู้อำนวยการสร้างอย่าง “ฉีเคอะ” เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนงานในยุคหลัง ๆ อาทิ An Empress and the Warriors, Conman in Tokyo ก็ไม่น่าจดจำเอาเสียเลย ซึ่งถ้าจะพูดถึงงานชิ้นเอก ผมก็ขอยกให้หนังเรื่องแรกของเขานี่แหละ ที่เป็นผลงานยอดเยี่ยมหมายเลข 1 อย่างแท้จริง ... ไม่ใช่เฉพาะตัวของผู้กำกับเอง แต่ยังเป็นงานชั้นยอดของวงการหนังฮ่องกงด้วย
คู้แค้นตลอดกาล : ญี่ปุ่น VS จีน
ท้าฟัน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับศึกการประลองยุทธ์ระหว่างยอดมือกระบี่ชาวจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเทียบกับการปะทะกันของสองชาติในหนังหลาย ๆ เรื่องแล้ว ท้าฟัน ยังนับว่าเป็นหนังที่ดู "มีเหตุมีผล" อยู่พอสมควร ไม่ได้ยัดเยียดความชั่วช้าให้กับชาวญี่ปุ่นเหมือนกับหนัง “ชาตินิยม” บางเรื่อง ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้ให้บทสรุปเรื่อง “การสมานฉันท์” หรือ “การคลี่คลายความขัดแย้ง” อย่างง่ายดายไร้เดียงสา แต่วาดภาพความขัดแย้งระหว่างจอมยุทธ์สองชนชาติ ได้น่าเชื่อถือ และน่าอึดอัดดีทีเดียว
หนังเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวละคร เป่าชิงเหวิน (หลิวสงเหยิน) จอมยุทธ์หนุ่มผู้ได้รับการฝึกฝนจากวัดเส้าหลิน จนถูกยกย่องให้เป็น "เทพกระบี่" แห่งยุทธจักรจีน กับซามูไรหนุ่มฝีมือฉกาจแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ฮาชิโมโตะ (ฉีเส้าเฉียน)
ทั้งสองกลายเป็นตัวแทนในศึกประลองยุทธ์ เพื่อตัดสินว่าระหว่างจีนและญี่ปุ่นใครจะเป็นผู้มีวิชาเหนือกว่ากันแน่ … โดยหมู่บ้านที่ห่างไกลแห่งหนึ่งถูกเลือกให้เป็นสถานที่ประลอง โดยมีจอมยุทธ์อาวุโส และลูกสาว (ฟลอร่า เฉิน) คอยดูแลความเรียบร้อยให้ศึกครั้งนี้
นักแสดงหนุ่มสองคนที่โด่งดังมากับบทบาทในจอโทรทัศน์ ถูกเลือกให้มารับบทนำในเรื่อง ฉีเส้าเฉียน นั้นแทบจะมีชื่อที่สองว่า “ฮุ้นปวยเอี๋ยง” ตัวเอกจาก “กระบี่ไร้เทียมทาน” ไปแล้ว ส่วน หลิวสงเหยิน ก็เคยสร้างความประทับใจให้กับแฟน ๆ กำลังภายในประจำจอตู้จากผลงานอย่าง “เล็กเซี่ยวหงส์ หงส์ผงาดฟ้า” หรือ “ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์”
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแม้ความสำคัญต่อตัวเรื่องของนักแสดงทั้งสองจะทัดเทียมกัน แต่จะว่ากันถึงความ “โดดเด่น” แล้วก็ต้องยกให้กับ ฉีเส้าเฉียน ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการสวมบทบาทเป็นนักดาบหนุ่มที่ถูกกดดันให้แบกรับศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ของชนชาติ, ต้องต่อสู้กับความรู้สึกถูกผิดในจิตใจ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็แสดงความเด็ดเดี่ยว ที่จะไม่ยินยอมต่อชัยชนะที่ได้มาด้วยการเอาเปรียบอย่างเด็ดขาด
หนังเปิดเผยให้เห็นถึง ฉากหลังของศึกประลองยุทธ์ ที่แท้จริงเป็นแผนการชั่วร้ายของญี่ปุ่นในการจับจอมยุทธ์ทั่วจีน โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนผู้ขายชาติ หวังนำวิชาสุดยอดของแต่ละสำนักไปสู่แดนอาทิตย์อุทัย
ซึ่งสุดท้าย เป่าชิงเหวิน ได้ร่วมมือกับ ฮาชิโมโตะ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ยุติแผนการทั้งหมดลงได้ แต่แม้ทุกอย่างจะคลี่คลาย การต่อสู้ระหว่างทั้งสองก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายของ ฮาชิโมโตะ ที่ไม่สามารถจะละทิ้งหน้าที่กับศักดิ์ศรีของชาติไปได้ เป็นการตัดสินใจที่ผู้ชมสัมผัสได้ว่า ผ่านความกล้ำกลืนฝืนทนมามากมาย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวละครของ ฉีเส้าเฉียน ซึ่งเต็มไปด้วย “มิติความลึกซึ้ง” จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชมมากกว่า ตัวละครจอมยุทธ์หนุ่มผู้มีคุณธรรมสูงส่งของ หลิวสงเหยิน
สุดยอดคิวบู๊ : จอมยุทธ์ลวดสลิง
แม้ว่าองค์ประกอบส่วนอื่น ๆ จะถือว่าโดดเด่นอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับ ท้าฟัน คิวบู๊ยังคงเป็นจุดขายหมายเลข 1 อย่างแน่นอน
ในการนั่งเก้าอี้ผู้กำกับหนังเรื่องแรก เฉินเสี่ยวตง ได้โอกาสโชว์วิสัยทัศน์ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้นำในศิลปะว่าด้วยการออกแบบรังสรรค์การต่อสู้ในภาพยนตร์ไปอีกหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโชว์เหนือ กับการใช้ “ลวดสลิง” ที่เรียกว่าทำได้โดดเด่นเหนือใคร ๆ ในเวลานั้นอย่างแท้จริง
การใช้ลวดสลิงกับฉากแอ็กชั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ฉากต่อสู้ที่เห็นใน ท้าฟัน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ เคยเห็นมากันก่อน (ในยุคนั้น) การเคลื่อนที่ไปบนอากาศของเหล่านักแสดงนั้นเกิดขึ้นในทิศทางที่แปลกแตกต่าง และดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งนอกจากการออกแบบฉากต่อสู้แนวเหินเวหาได้แปลกพิสดารเหนือใคร ๆ แล้ว เฉินเสี่ยวตง ก็ยังใช้การเคลื่อนกล้องอันหวือหวาประสานกันไปด้วย
พูดถึงการใช้สลิงในคิวบู๊แล้ว สังเกตกันบ้างรึเปล่าครับ ว่าปกติแล้วผู้สร้างหนังชาวฮ่องกงมักจะเลือกถ่ายทำคิวบู๊แบบนี้ กันในฉากกลางคืน, ในโรงถ่าย หรือไม่ก็ในฉากป่าทึบ ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายทำ และเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับการพรางไม่ให้กล้องถ่ายติดลวดสลิงเข้ามาให้เป็นเรื่องขายขี้หน้าด้วย
แต่ในหนังของตัวเอง เฉินเสี่ยวตง กลับเลือกทำคิวบู๊เหินเวหาในฉากกลางแจ้งแดดเปรี้ยง ๆ กันเลย ซึ่งแน่นอนว่าต้องพึงทั้ง เม็ดเงิน, เวลา, ความทุ่มเท และความเชี่ยวชาญพิเศษเท่านั้น !!!
และที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ฉากต่อสู้ไครแม็กซ์ของเรื่อง ที่สองตัวเอกต้องมาพิสูจน์ฝีมือกันในที่สุด เป่าชิงเหวิน และฮาชิโมโต้ เลือกเอาบริเวณเนินหินริมทะเลเป็นสถานที่ตัดสินชะตากรรมครั้งสุดท้าย เป็นศึกที่เต็มไปด้วยความดุเดือดเลือดพล่านอย่างแท้จริง และยิ่งยากเป็นสองเท่าสำหรับทีมงานเบื้องหลัง แต่งานที่ออกมาก็เรียกว่าคงจะดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ซึ่งก็ต้องขอเตือนกันไว้ซักหน่อยนะครับว่า ท้าฟัน เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และภาพอันโหดเหี้ยม ที่ระดมทั้งเลือด (ปลอม), ภาพอวัยวะชิ้นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกเฉือนด้วยของมีคมจนหลุดเป็นชิ้น ๆ เป็นการประลองที่ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับเด็ก และสตรีมีครรภ์กันเท่าไหร่
โดยเฉพาะฉากสู้อันเป็นบทสรุปของหนัง ที่ชุดสีขาวสะอาดของตัวละครช่างตัดกับสีเลือดแดงสดดีเหลือเกิน … และถ้าใครรำคาญหนังแนวต่อสู้ด้วยของมีคม ที่มักจะฟัน,แทง กันแบบวืดไปวืดมา เฉียดไปเฉียดมา ก็ไม่ต้องห่วง เพราะเรื่องแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับ ท้าฟัน อย่างแน่นอน … หนังเรื่องนี้เขาฟันแทงกันโดนแบบเต็ม ๆ !!!
สำหรับผม Duel to the Death หรือ ท้าฟัน คือหนังกำลังภายในที่ดีที่สุดในยุค 80s อย่างแน่นอนครับ หนังใส่องค์ประกอบเจ๋ง ๆ เข้ามากมาย นอกจากที่สาธยายไปแล้วยังมี กองทัพนินจา และวิชาพิสดาร อย่าง จอมยุทธ์พิการผู้ไร้ขา กับนักฆ่าสาวผู้มาในร่างเปลือย
บางคนบอกว่าผู้กำกับใส่สิ่งต่าง ๆ เข้ามามากจนเลอะเทอะสำหรับหนังความยาวประมาณ 80 นาทีกว่าเรื่องนี้ แต่สำหรับผม อยากจะเรียกว่าเป็นความ “เยอะ” และ “ทรงพลัง” เป็นผลผลิตของความบ้าพลังแบบคนทำหนังหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรงอย่างแท้จริง
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |