xs
xsm
sm
md
lg

ส.ค.ส.สวีทตี้ : สภาวะแก่ตัว/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ยอร์ช ฤกษ์ชัย อาจจะทำหนังสไตล์ซ้ำๆ แบบนี้ต่อไปอีกหลายปี แต่ข้อดีก็คือว่า อย่างน้อยที่สุด คนดูผู้ชมก็จะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจถูก ว่า ถ้าพวกเขาจะตีตั๋วเข้าไปดูผลงานของผู้กำกับคนนี้ พวกเขาจะได้ดูหนังอารมณ์ประมาณไหน หรือจะได้รับอะไรจากหนัง และถ้าถึงวันที่คนดูรู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว ซ้ำซากเกินไปแล้ว ถึงจุดนั้น ก็คงเป็นวันที่ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ จะต้องเปลี่ยนแปลงเอง

แต่ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า ณ เวลานี้ ดูเหมือนดวงของผู้กำกับอารมณ์ดีคนนี้จะยังคง “ขึ้น” ชนิดที่มองหาทางลงยังไม่เห็น เพราะเท่าที่สังเกต แม้ ส.ค.ส. สวีทตี้ จะเข้าฉายไปนานร่วมสัปดาห์แล้ว แต่จำนวนคนดูก็ยังหนาแน่น สังเกตจากรอบที่ผมไปดูเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คนยังคงแน่นโรง
ผมคิดว่า เหตุผลสำคัญเหนืออื่นใดที่ทำให้หนังของยอร์ช-ฤกษ์ชัย ยุคหลังๆ เรียกคนดูได้อุ่นหนาฝาคั่งเสมอมา ก็คือความเป็นหนังอารมณ์ดี ดูแล้วได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้สุขสำราญหรรษาในเวลาประมาณสองชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานยุคหลังๆ ตั้งแต่ “32 ธันวา” และ “สุดเขต สเลดเป็ด” เป็นต้นมา

จะว่าไป ยอร์ช-ฤกษ์ชัย นั้นเก่งกาจในด้านการทำหนังตลกต่อมุก มุกใช้ได้และจังหวะดี มีความแม่นยำสูง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุคหนัง “ส่ายหน้า” อันมี “พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า” เป็นหัวขบวน แน่นอนว่า การต่อมุกแบบนี้ก็ยังคงมีให้เห็นในงานยุคหลังๆ เพียงแต่หนังมีการปรับเปลี่ยนจากการเล่นมุกที่กระจัดกระจายหลากหลายแนวทาง (ตั้งแต่มีมารยาทไปจนถึงหยาบๆ คายๆ) มาสู่สไตล์หนึ่งเดียวที่เด่นชัด คือ การเน้นมุกที่ดูน่ารักน่าชัง คนได้ยินได้ฟังก็เพลิดเพลินเจริญใจ

ขณะเดียวกัน จากที่เคยใช้สอยบรรดาตลกอาชีพเป็นตัวยืน ก็หันมาใช้ดาราขวัญใจวัยรุ่นหน้าตาน่ารักเป็นแม่งานหลักในการปล่อยมุกตลกแทน ซึ่งก็ให้อารมณ์ไปอีกแบบ เพราะระหว่างตลกอาชีพ กับดาราหน้าตาจิ้มลิ้ม เล่นมุกตลกนั้น ความรู้สึกมันต่างกันอยู่นะครับ ผมอธิบายความรู้สึกนี้ได้ไม่ชัดนัก แต่ลองนึกภาพน้าค่อม ชวนชื่น กับน้องยิปโซ ปล่อยมุกดูครับ อาจจะเห็นความต่างได้ดีกว่า

ส.ค.ส.สวีทตี้ เล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวหลายคู่ต่างสไตล์ เริ่มจากเรื่องรักสี่เศร้าของ “ง้อ”(ยิปซี) ที่เพื่อนสนิทของเธอ “มาแตร์” (แพทตี้) เพิ่งบอกเลิกกับ “พี่ตั๊ด” (แดน-วรเวช) แฟนหนุ่มผู้รักฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ง้อตัดสินใจเข้าจีบพี่ตั๊ดทันที แต่มาร์แตร์เองก็ไม่ได้โสดสนิท เพราะไปพบรักกับ “แทน” (เป้ เสลอ) หลังจากสลัดรักได้ไม่กี่ชั่วโมง

นอกไปจากนั้น ก็ยังมีคู่ของ “หลังอาน” (โก๊ะตี๋) หนุ่มหน้าตาไม่ดีแต่มีออร่าให้สาวน่ารักอย่าง “นางฟ้า” (สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข) มาหลงใหล ส่วนผู้ป่วยผ่าตัดโรคหัวใจอย่าง “ฟิน” (บีม) ก็ไปปิ๊งกับหมอสาวจอมกวนอย่างคุณหมอดี้ (วีเจจ๋า) แล้วยังมี “เง็ก” (ยิปโซ) สาวโก๊ะกังซึ่งต้องคอยรับขนมจีบจาก “พี่หมี” อยู่เรื่อยๆ โดยมี “อุ่น” (โทนี่) หนุ่มหล่อเจ้าสำอาง และเจ็ท (ว่าน) ดีเจหนุ่มสุดกวนจอมเจ้าชู้ มองดูอยู่ข้างๆ

ฟังๆ ดูก็ชวนงงดีนะครับ เพราะมันหลายคู่หลายคนเหลือเกิน ราวกับ Love Actually แต่แค่คิดก็พอครับ อย่าไปเทียบเขาเลย เพราะนี่แค่เพียงหนังคอมิดี้เลิฟเลิฟ เหมือนอย่างที่คุณยอร์ชขนานนามให้กับ “32 ธันวา”

ความขำ ความฮา ความน่ารัก ไม่ต้องพูดถึง หนังใช้สอยนักแสดงเกือบทุกคู่-ทุกคนได้อย่างคุ้มค่า ติดอยู่คู่เดียว คือคู่ของฟินกับคุณหมอดี้ที่เกือบจะทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนเกินของหนัง เพราะบทน้อยเหลือเกิน ซึ่งคิดว่า ภาคสอง (วาเลนไทน์ สวีทตี้) หนังน่าจะมี “พื้นที่” ให้กับพวกเขามากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับคู่ที่หนังต้องการจะเน้น เราก็ได้เห็นความสำเร็จตามสมควร

ผมอาจจะคิดแตกต่างจากใครหลายคนที่บอกว่า หนังเรื่องนี้ดูจบกลับบ้านแล้วหัวโล่งๆ มีความสุขราวๆ ชั่วโมงแล้วก็เลยผ่าน เพราะถึงแม้สิ่งที่หนังนำเสนอจะดูลอยๆ เหมือนเรื่องรักหวานๆ ไร้แก่นสารให้จับต้อง แต่ทว่าถ้าใครคิดจะมองให้เห็นสาระ คุณก็จะได้สิทธิ์นั้นทันที

อันที่จริง ถ้าให้เทียบงานยุค “สดใสวัยรุ่น” ของยอร์ช-ฤกษ์ชัย ผมรู้สึกว่าชอบ “สุดเขต เสลดเป็ด” เพราะมันดูลงตัวมากที่สุด อย่างน้อยก็มีตัวละครอย่าง “สุดเขต” ที่แข็งแรงและมีมิติเชิงลึกระดับหนึ่ง ธีมของหนังก็จับต้องได้จะแจ้งด้วยการพูดถึงความรักของคนสองคนที่มีอะไรๆ แตกต่างอย่างฟ้ากับเหว

ถ้าความรักของชายหนุ่มกับหญิงสาวใน “สุดเขต เสลดเป็ด” เหมือนกับทางสองสายที่มาพบกันโดยบังเอิญ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนถนนชีวิต เรื่องรักในหนัง ส.ค.ส.สวีทตี้ ก็คงคล้ายๆ กับดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน และในช่วงเวลาเหล่านั้น ก็อาจต้องพบผ่านแดดร้อนลมแรงและหมู่แมลงกับหนอนที่ชอนไช

ผมชอบหลายๆ อย่างในหนัง ไม่เว้นแม้กระทั่งคู่ระหว่างฟินกับหมอดี้ที่แม้บทจะน้อย แต่เรื่องระหว่างพวกเขาก็พูดคำถามที่น่าคิดอยู่หนึ่งคำถาม คือ จำเป็นไหมที่หมอจะต้องดูเคร่งเครียด เชยๆ ไม่เทรนด์ และปั้นหน้าเคร่งเครียดตลอดเวลา

และขณะที่คู่ของหลังอานกับนางฟ้า บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ความรักคือสิ่งที่อยู่เหนือไปกว่าหน้าตาสังขาร คู่ระหว่างแทนกับมาแตร์ ก็มี Message อันหนึ่งแทรกอยู่บางๆ ว่า ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายจีบผู้ชายได้ก่อนหรือไม่ ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเปล่งเสียงเพื่อบอกความต้องการของตัวเองได้หรือเปล่า หรือว่าต้องรอให้ผู้ชายเอ่ยปากบอกก่อนเพียงเท่านั้น? (คงไม่มีใครปฏิเสธว่า นี่คือ “แอกหนัก” อันหนึ่งซึ่งกดทับตัวตนของผู้หญิงมาเนิ่นนาน)

กระนั้นก็ดี ผมคิดว่า คนที่น่าเห็นใจที่สุด น่าจะเป็น “ง้อ” ที่ต้องอึดอัดกับการเป็นคนรักของอดีตแฟนเพื่อน และเก็บความอึดอัดนั้นไว้ ขณะที่ฝ่ายชายอย่าง “พี่ตั๊ด” ซึ่งมีนิสัยไม่ชอบอธิบายอะไร ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกของเธอคลุมเครืออยู่เช่นนั้น

ผู้หญิง บางทีก็อาจจะเหมือนกับที่มาแตร์พูดไว้นั่นแหละครับ พูดให้เธอเข้าใจ อธิบายให้เธอชัดเจน ส่วนที่เหลือ คุณจะไปบ้าบอล หรือบ้าอะไรก็บ้าไป แต่อย่าทำให้เธอ “รู้สึก” ว่า เธอสำคัญน้อยกว่าฟุตบอลหรือสิ่งของไร้ชีวิตจิตใจพวกนั้น

ทั้งหมดที่ว่ามานั้น คือข้อดีของ ส.ค.ส.สวีทตี้ ที่แม้จะแตกตัวละครออกไปกี่ทิศทาง แต่ทว่าแต่ละคนก็มีรายละเอียดให้เก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป ก่อนที่ในท้ายที่สุด หนังจะมัดรวมพวกเขาไว้ใน “ประเด็นเนื้อหา” เดียวกัน ดังที่เราจะเห็นว่า ไม่ว่าหนังจะแตกรายละเอียดออกไปสักกี่ลาย แต่ message อันหนึ่งซึ่งคุมหนังทั้งเรื่องไว้ ก็คือ ความปรารถนาในรัก

คงคล้ายๆ กับที่อัลแบร์ กามู ว่าไว้ ว่าหนึ่งในความสุขของชีวิต คือการได้รักใครสักคน ดังนั้น ไม่ว่าจะหน้าตาพื้นๆ อย่างหลังอาน หรือสวยสะคราญเหมือนอย่างยิปซี แต่เราแทบทั้งหมด ต่างก็น่าจะอยากมีใครสักคนที่เราพึ่งพิงได้ ทิ้งตัวลงไปหาเขาได้ ด้วยความวางใจว่าเขาจะไม่ปล่อยให้เราตกหล่น เหมือนกับเนื้อหาในเพลงประกอบอย่าง “สภาวะทิ้งตัว”...

“ทิ้งตัวลงมาที่พี่ก็ได้นะครับ น้อง” หลังกลับจากดูหนัง คนหนุ่มหน้าตาบ้านๆ แห่งออฟฟิศย่านถนนพระอาทิตย์ รวบรวมความกล้า พูดกับหญิงสาวที่หมายปองมานาน

“เอ่อ...” สาวเจ้าเว้นวรรคเล็กน้อย เหมือนเว้นช่องว่างให้ความหวัง “คือตามจริง หนูก็อยากทิ้งตัวกับใครสักคนนะคะพี่ แต่ขอเป็นใครสักคนที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะแก่ตัวดีกว่าไหม เพราะเวลาหนูโน้มตัวทิ้งลงไป จะได้มั่นใจว่าเราจะไม่ล้มหัวฟาดพื้นตายกันไปทั้งสองคนอ่ะ”?!!








กำลังโหลดความคิดเห็น