ในวัย 57 ปี พระเอกจมูกโตกำลังจะมีผลงานเรื่องที่ 100 เข้าฉายในบ้านเมืองไทย เป็นเส้นทางอันยาวนานของดาราประเภท “นักบู๊” ที่มักจะถูกมองว่าอ่อนด้อยทางการแสดง เต็มไปด้วยข้อจำกัด และน่าจะมีอาชีพในวงการที่ไม่ยั้งยืนนัก แต่ “เฉินหลง” ก็ทำได้นะครับ ไม่ใช่ทำได้เฉย ๆ แต่ถือว่าดีมากด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองมาทบทวนถึงผลงานเก่า ๆ ของเขากัน เริ่มจากแนวทางที่เรียกว่าสร้างชื่อให้กับเขามาตั้งแต่ต้นอย่าง “หนังกังฟู” กันก่อนเลย
น่าจะพูดได้ว่า “เฉินหลง ถล่ม 20 มนุษย์ไม้” เป็นงานเด่นที่สุดในยุคแรกของ เฉินหลง ๆ เป็นหนังที่เดินทางตามรอยความสำเร็จของ “18 มนุษย์ทองคำ” อันโด่งดังนั้นเอง กับเรื่องราวการฝ่าด้านค่ายกลของวัดเส้าหลิน ที่แม้จะไม่มีอะไรใหม่ แต่คิวบู๊ก็ออกแบบได้สนุกตื่นเต้น แถมยังผูกเรื่องได้น่าสนใจดีเดียว
“ไอ้หนุ่มพันมือ” หนังที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มผู้ได้รับการถ่ายทอด “มวยงู” เพื่อต่อกรกับจอมยุทธเจ้าของ “หมัดอินทรี” ผู้ชั่วร้าย เป็นการร่วมทีมกันครั้งแรกของ “เฉินหลง”, ดารารุ่นใหญ่ “หยวนเสี่ยวเทียน”, ผู้กำกับ “หยวนวูปิง”, ผู้อำนวยการสร้าง “อู๋ซีหยวน” และดาราดาวร้ายนักเตะชาวเกาหลีใต้ “วังจังลี” ที่รวมกันคิดสูตรสำเร็จหนังกังฟูตลก ที่เด่นทั้งคิวบู๊สุดพิสดาร กับมุขตลกเจ็บตัวแบบนันสต็อป ซึ่งหลังจากนั้นทั้งทีมงานและนักแสดงชุดเดียวกันนี้ ยังต่อยอดใช้สูตรดังกล่าวสร้างหนังเรื่อง “ไอ้หนุ่มหมัดเมา” จนประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก
“ไอ้หนุ่มหมัดเมา” ผลงานปี 1978 ที่ “เฉินหลง” รับบทเป็นปรมาจารย์ “หวงเฟยหง” ในวัยหนุ่มแน่น ชีวิตยังไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นงานที่ทำให้ชื่อของ “หมัดเมา” กลายเป็นที่คุ้นหูติดปากของทุกคนมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ซึ่งแม้จะมีบันทึกเกี่ยวกับวิชาทำนองนี้ในตระกูลมวย “ไช่หลี่ฝอ” และ “มวยลิง” อยู่บ้าง แต่สำหรับท่วงท่าของ หมัดเมาในหนังเรื่องนี้ เป็นการคิดค้นขึ้นมาเองของ เฉินหลง และผู้กำกับหยวนวูปิง ที่ทำได้น่าเชื่อถือเสียจนหลาย ๆ คนเชื่อว่ามีจริงกันไปแล้ว
ตัวหนังเองแม้จะไม่ได้มีอะไรใหม่ขึ้นมาจาก “ไอ้หนุ่มพันมือ” มากนัก แต่ผู้สร้างก็ถือว่า “แม่นยำ” ขึ้นทั้งในส่วนของคิวบู๊และมุขตลก เป็นงานที่ลงตัว และมีคุณภาพในแนวทางของตัวเอง แม้แต่ในการจัดอันดับหนังจีนดีเด่นตลอดกาล ไอ้หนุ่มหมัดเมา ก็มักจะติดอันดับเข้ามาด้วยเสมอ
และสุดท้ายกับ “ไอ้มังกรหมัดสิงโต” หนังกังฟูตลกแบบดั้งเดิมเรื่องท้าย ๆ ของเขาแล้ว เป็นงานที่มีเนื้อหาและเล่าเรื่องกันอย่างง่าย ๆ ตามแบบฉบับนั่นแหละครับ แต่เฉินหลงที่คราวนี้ขึ้นชั้นมารับหน้าที่กำกับเอง ก็ยังพยายามสรรหากลเม็ดใหม่ ๆ มาสร้างความแตกต่างให้กับหนังของเขาเต็มไปหมด โดยเฉพาะในส่วนของคิวบู๊ ที่มีการใช้อุปกรณ์ประกอบฉากอย่าง พัด, เก้าอี้, เชือก จนไปถึงกระโปรง !? ส่วนคิวบู๊ท้ายเรื่องที่เขาต้องดวลหมัดกับ “ฮวางอินชิก” นักบู๊ตัวจริงจากเกาหลีอีก ก็ซัดกันทรหดถึง 30 นาที เลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังนับว่ามี “ครั้งแรก” หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นใน ไอ้มังกรหมัดสิงโต ทั้งเป็นการร่วมงานกับ “โกเดน ฮาร์เวสต์” ครั้งแรก, ประเดิมไมค์ร้องเพลงเพื่อใช้ประกอบหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก นอกจากนั้นยังเป็นหนังเรื่องแรกของเขาที่เข้าฉายในเทศกาลตรุษจีน และทำเงินได้สูงถึง 11 ล้านเหรียญฮ่องกง จนหนังของเฉินหลงกลายเป็นของคู่กับเทศกาลปีใหม่จีนไปอีกหลายสิบปีเลย