xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียรามา : "เหลียงจ้าน" ปรมาจารย์ "หย่งชุน"

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


ก่อนหน้าการมาถึงของ “บรูซ ลี” ก่อนที่โลกจะรู้จัก “ยิปมัน” หากจะพูดถึงวิทยายุทธ์มวยหย่งชุนแล้ว ก็ต้องกล่าวถึง “เหลียงจ้าน” ครูมวยชื่อดังแห่งฝอซานเป็นอันดับแรก

หย่งชุน (หรือ หวิงชุน) เป็นศิลปะการต่อสู้จีนแขนงหนึ่งในแบบของกังฟู เป็นมวยแบบที่ไม่ได้พึ่งพิงความรุนแรง หรือพละกำลังแบบหมัดมวยโดยทั่วไป แต่เน้นในการป้องกันตัวและการจู่โจมอย่างรวดเร็วในระยะสั้น รวมถึงวิธีการยืนเท้าที่แคบ จึงกลายเป็นวิชาที่เหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับเพศหญิงไปโดยปริยาย

ว่ากันว่า หย่งชุน ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย “แม่ชีอื่อหมุ่ย” หนึ่งใน 5 ปรมาจารย์อาวุโสแห่งเส้าหลิน ที่หลบหนีออกจากวัดในช่วงการรุกรานของราชวงศ์ชิง จนคิดเพลงหมัดเลียนแบบการต่อสู้ของ นกกระสากับสุนัขจิ้งจอกขึ้นมา ต่อมาได้ถ่ายทอดวิชาดังกล่าวให้กับ “เหยียนหย่งชุน” จอมยุทธหญิงจากมณฑลกวางตุ้งเป็นผู้สืบทอด

อย่างไรก็ตามเรื่องราวข้างต้นส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ “ตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้าน” อะไรทำนองนั้นเสียมากกว่า เป็นประวัติศาสตร์ไม่สามารถหาหลักฐานอ้างอิงที่แน่ชัดได้ ซึ่งหากจะพูดถึงครูมวยหย่งชุน ที่เรียกว่ามีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ชื่อของ “เหลียงจ้าน” ก็น่าจะมาเป็นอันดับ 1

ตามข้อมูลที่มีการบันทึกกันเอาไว้ “เหลียงจ้าน” มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างปี 1818 – 1901 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหมัดหย่งชุน ที่ต่อมาสายวิชาของท่านถูกถ่ายทอดต่อให้กับตระกูลยิป จนกลายเป็นเพลงมวยที่มีผู้ฝึกกันมากที่สุดสายหนึ่งในยุคปัจจุบัน

และเช่นเดียวกับครูมวยชื่อดังมากมาย เรื่องราวของ “เหลียงจ้าน” ก็ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เช่นเดียวกันครับ

เกล็ดในชีวิตของ เหลียงจ้าน ถูกนำมาสร้างเป็นหนังอยู่ 3 – 4 ครั้ง แต่ที่น่าประทับใจมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพยนตร์ปี 1981 The Prodigal Son หรือที่มีชื่อไทยในการเข้าฉายว่า “จอมยุทธจักรหมัดล้างบาง” (ต่อมาออกแผ่นวีซีดีและดีวีดีในชื่อ “ไอ้หนุ่มกังฟูเลือดเหล็ก” และ “ไอ้หนุ่มเหลือขอ”) เป็นงานของ “หงจินเป่า” ที่ดีทั้งบู๊ทั้งบุ๋น เยี่ยมกันไปทุกรายละเอียดตั้งแต่ คิวบู๊ และเนื้อหากันเลยทีเดียว

ในหนังเรื่องนี้ “หยวนเปียว” รับบทเป็น เหลียงจ้าน ลูกชายของเศรษฐีใหญ่ประจำเมือง ผู้มีความชื่นชอบในการฝึกกังฟูเป็นพิเศษ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเที่ยวประลองกับคนในเมืองเพื่อพิสูจน์ฝีมือหมัดมวยของตัวเองอยู่เสมอ และดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถต้านทานฝีมือของเขาได้เลย จนเหลียงจ้านได้รับการขนานนามให้เป็นยอดฝีมืออันดับหนึ่งประจำเมืองไปโดยปริยาย

แต่ความจริงแล้วทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่เห็น แต่เพราะเป็นบิดาของ เหลียงจ้าน เอง ที่ลงทุนจ่ายปัจจัยแก่คู่ต่อสู้ของลูกชายเพื่อให้ยอมออมมือจนไปถึงแกล้งแพ้ เพราะเป็นห่วงว่าการประลองในครั้งต่าง ๆ อาจจะเกิดอันตรายกับลูกชาย ทายาทสืบสกุลคนเดียวขึ้นมาได้

เหลียงจ้าน จึงมีชีวิตอยู่กับความทะนงตนจอมปลอม ที่คิดว่าตัวเองเก่งกาจแบบไร้คู่ต้าน จนเมื่อวันหนึ่ง มีคณะงิ้วเดินทางเข้ามาแสดงในตัวเมือง ที่ทำให้เขาได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก หลังได้ประลองกับนางเอกงิ้ว “เหลียงเอ๋อตี้” (หลินเจิ้งอิง) ดาราประจำคณะที่ความจริงแล้วเป็นผู้ชาย ที่สยบเหลียงจ้านให้พ่ายแพ้แบบไร้ทางสู้

และความพ่ายแพ้นี่เองที่ทำให้ เหลียงจ้าน ได้ค้นพบความเป็นจริงของตนเอง จึงตัดสินใจออกเดินทางไปกับคณะงิ้ว เพื่อฝึกฝนตัวเอง และขอเป็นลูกศิษย์ เหลียงเอ๋อตี้ จนได้พบกับการเดินทาง และเหตุการณ์มากมายที่ช่วยหล่อหลอมให้เขาเพียบพร้อมไปด้วยฝีมือ และได้เดินไปสู่หนทางแห่งจอมยุทธ์ที่แท้จริง

เรื่องราวเข้มข้นขึ้นมาอีก เมื่อหนังแนะนำตัวละครเด่นอีกตัว เป็นคนหนุ่มรุ่นเดียวกับ เหลียงจ้าน ที่ทั้งสองมีอะไรหลาย ๆ อย่างเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน



“หนีเฟย” (เฉินฟ่านฉี) บุตรชายของท่านอ๋องที่หลงใหลกังฟู ได้ออกเดินทางพร้อมด้วย 2 องครักษ์ เพื่อฝึกวิชาประลองฝีมือเช่นเดียวกัน

แม้จะมีอายุไม่มากนักแต่ด้วยฝีมืออันร้ายกาจ ทำให้ หนีเฟย แทบจะไร้คู่ต้านเอาชนะยอดฝีมือได้คนแล้วคนเล่า โดยที่ตัวเขาไม่ได้ล่วงรู้เลยว่า หากตนเองพ่ายแพ้แก่ใครขึ้นมา คนผู้นั้นก็จะถูกองค์รักษ์ของตัวเองลอบสังหารให้หมดโอกาสกลับมาเป็นเสี้ยนหนามของผู้เป็นนายอีก ... และยอดฝีมือแห่งคณะงิ้วอย่าง เหลียงเอ๋อตี้ ที่เกือบเอาชนะ หนีเฟย ได้ในการประกอง ก็กำลังจะเป็นเหยื่อคนต่อไป

หนีเฟย และ เหลียงจ้าน เป็นคนหนุ่มผู้เชื่อมั่นในฝีมือของตัวเอง และไม่ได้ล่วงรู้เลยว่าความเก่งที่ตนเองภาคภูมิใจ เป็นเพียงกะลาครอบ เป็นความทะนงตนอันไร้สาระ ที่ได้รับการปกป้องจาก ความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของวงศ์ตระกูลเท่านั้น

จนในตอนท้ายเรื่อง หลังจากผ่านเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบจิต เป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือนและเปลี่ยนแปลงชีวิตไปตลอดกาล เหลียงจ้าน กับ หนีเฟย จึงต้องก้าวออกจากกะลาของตน, ก้าวออกจากร่มเงาของตระกูล เพื่อต่อสู้กัน ด้วยหมัดเท้าของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ฝีมือที่แท้จริงของตนเอง

น่าจะพอกล่าวได้ว่า “The Prodigal Son” ถือเป็นบทสรุปของการทำงานในยุค “หนังกังฟูแบบดั้งเดิม” ของ “หงจินเป่า” ที่อาจจะเรียกได้ว่าพาหนังแนวนี้ไปจนถึงขีดจำกัดแล้ว พูดให้โอเวอร์อีกหน่อยก็ต้องบอกว่า ด้วยโจทย์และขนบของหนังทำนองนี้ ไม่ว่าใครก็คงจะสร้างหนังเรื่องใดให้ดีกว่า “The Prodigal Son” ไม่ได้อีกแล้ว

The Prodigal Son มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับหนังกังฟูระดับตำนานอีกเรื่องอย่าง “ไอ้หนุ่มหมัดเมา” อยู่เหมือนกัน กับการเล่าเรื่องชีวิตวัยรุ่นอันกลวงเปล่า เต็มไปด้วยความยโสโอหัง, อวดดี ของเด็กหนุ่มที่ได้พบกับประสบการณ์จนได้เติบโตเป็นยอดคน แตกต่างที่งานของ หงจินเป่า ดูจะมีส่วนที่จริงจังมากกว่า

ความพิถีพิถันของ The Prodigal Son นั้นเหนือชั้นกว่าหนังในยุคเดียวกันโดยสิ้นเชิง สังเกตจากการไว้ผมทรง “แมนจู” ของนักแสดงทุกคนในเรื่องเพื่อความสมจริง ก็พอจะพิสูจน์ได้ว่างานนี้ผู้กำกับอย่าง หงจินเป่า ต้องการให้หนังเรื่องนี้ของเขาน่าเชื่อถือกว่าที่ผ่านมาทั้งหมด

ส่วนเนื้อเรื่องก็มีความใกล้เคียงกับบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ของตัวละคร ซึ่งมีชีวิตจริงอยู่ในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ไม่ใช่แต่งกันใหม่แบบล้วน ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหนังเกี่ยวกับ “หวงเฟยหง” บางเรื่อง

เรื่องราวในหนังดำเนินไปอย่างง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไล่เรียงสลับฉากระหว่าง บทบู๊, การดำเนินเรื่องอันจริงจัง และบทตลก ไปเรื่อย ๆ อาจจะง่าย ๆ แต่หนังก็ดำเนินไปแบบกระชับหนักแน่น

สำหรับฉากพะบู๊ในหนังนั้น หงจินเป่า ดูจะถ่ายทำออกมาให้ดูจริงจัง เป็นฉากต่อสู้ประมือของตัวละคร ที่เน้นการนำเสนอลีลากังฟูอย่างเรียบง่ายแต่ดุเดือด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญไปที่ความแปลกพิศดารอย่างที่หนังในยุคนั้นกำลังนิยมกัน ... ส่วนหยวนเปียวก็พิสูจน์ได้อีกครั้งว่า แม้จะไม่เคยขึ้นไปถึงระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ถ้าวัดกันเฉพาะลีลาบู๊ เขาก็ไม่แพ้ใครเหมือนกัน



ถ้าเฉินหลงมี “ไอ้หนุ่มหมัดเมา”, หงจินเป่า มี “ไอ้หนุ่มหมูหิน” น้องเหล็กแห่ง 3 พี่น้องซูเปอร์สตาร์กังฟูอย่าง “หยวนเปียว” ก็คงมี “The Prodigal Son” นี่แหละ ที่เป็นมาสเตอร์พีซในแนวทางหนังกังฟูแบบดั้งเดิม

นอกจากการแสดงอารมณ์อันรุนแรง และความกระตือรือร้นแบบคนหนุ่มแล้วทีเด็ดของหยวนเปียวในวัย 20 ต้น ๆ ตอนแสดงหนังเรื่องนี้ น่าจะอยู่ที่การโชว์ทักษะทางร่างกายที่ถือว่าอยู่ในช่วงที่เขามีศักยภาพสูงสุด

เพราะนอกจากจะแสดงนำในหนัง และ ช่วยกำกับคิวบู๊แล้ว หยวนเปียว ก็ยังรับทหน้าที่สตันแมน แสดงแทนในฉากตีลังกาให้กับนักแสดงแทบจะทุกคนในหนัง

อีกคนที่ฉายแววโดดเด่นอย่างแท้จริงในหนังเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น หลินเจิ้งอิง กับบทดารางิ้วยอดฝีมือที่ถ่ายทอดมวยหย่งชุนให้กับ เหลียงจ้าน เป็นตัวละครที่มีเค้าโครงจากบุคคลในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน และอาจจะเรียกว่าเป็นบทประเภท “ยอดฝีมือ” ในหนังกังฟู ที่แตกต่างจากบททำนองนี้โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

เหลียงเอ๋อตี้ เป็นดารางิ้วที่รับบทตัวนาง เป็นคนบุคลิกตุ้งติ้ง แต่กลับซ้อนฝีมือที่ยอดเยี่ยมเอาไว้

อีกด้านเขาเป็นคนมีพรสวรรค์สูงส่ง แต่ชีวิตที่น่าจะรุ่งเรืองกว่านี้กลับถูกฉุดรั้งไว้ด้วยโรคประจำตัว เป็นบทที่เรียกว่าซับซ้อน แบบที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในหนังกังฟูโดยทั่วไปนัก

ตัวของ หลินเจิ้งอิง ก็ยอดเยี่ยมมาก กับการถ่ายทอดการแสดงทั้งผ่านทางสีหน้าแววตา และการออกลีลาบู๊ ที่ฉายทั้งความสง่างาม และน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาออกมาได้พร้อม ๆ กัน

หงจินเป่า สร้างผลงานชิ้นนี้ให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่หนังกังฟูในยุค 70 - 80 เรื่องหนึ่งจะดีได้ แต่เป็นความดีงามที่คงไม่สามารถจะเอาไปเปรียบเทียบกับหนังรุ่นหลังอย่าง Ip Man หรือ Fearless หากไม่ทำความเข้าใจกับเรื่องข้อจำกัด ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยกันก่อน

เพราะแม้จะมีคุณภาพที่ดีเด่นผลงานที่สร้างออกมาในยุคเดียวกัน แต่ The Prodigal Son ก็ยังไม่ได้ถึงขั้นที่สามารถหลุดออกจากกรอบของหนังกังฟูฮ่องกงในยุคนั้นได้ เนื้อหาที่จริงจังยังสอดแทรกไปด้วยบทตลกที่ขำบ้างไม่ขำบ้างอยู่ตลอดเวลา ความไม่ปราณีตของงานสร้าง อย่างเช่นการเทคนิคพิเศษ หรือการสร้างบาดแผลปูดโปนบนใบหน้า ที่ดูไม่สมจริงเอาเสียเลย ก็อาจจะดูน่ารำคาญใจอยู่บ้าง

แต่หากสามารถมองข้ามข้อจำกัดบางอย่าง หรือรับได้กับตำหนิบางประการที่เกิดขึ้นจากปัจจัยแห่งยุคสมัย ผมก็คิดว่าในหมู่หนังกังฟูด้วยกัน “The Prodigal Son” เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นรองใคร เมื่อพิจารณาเรื่องแต้มต่อความได้เปรียบเสียเปรียบกับหนังยุคปัจจุบันแล้ว จะเรียกว่าเป็นแชมป์เปี้ยนแห่งโลกภาพยนตร์กังฟูในแบบ “น้ำหนักปอนด์ต่อปอนด์” ก็คงจะไม่ผิดกับความเป็นจริงนัก

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น