xs
xsm
sm
md
lg

รักจัดหนัก : เหยดดดดด...

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวดองอะไรกันเป็นการส่วนตัว ผมเห็นความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ได้ยินข่าวใหม่ๆ ซึ่งก็ก่อนที่หนังจะปล่อยตัวอย่าง “แรงๆ” ที่ชี้นำให้เกิดความรู้สึกว่าหนังคงสยิวกิ้วสุดๆ โน่นแหละครับ เหตุผลหลักๆ นั้น ก็คือว่า นี่เป็นผลงานแรกของค่ายหนังน้องใหม่ ชื่อ “ออกไปเดิน”

ทำไม “ออกไปเดิน” ถึงทำให้หนังดูมีความน่าสนใจ?

เหตุผลก็เพราะว่า นี่เป็นค่ายหนังที่ตั้งขึ้นโดยเจ้าของผู้ก่อตั้งนิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังของบ้านเราอย่าง Bioscope ผมไม่ได้เป็นแฟนของแม็กกาซีนเล่มนี้ แต่หยิบมาอ่านบ้างจากน้องๆ ในที่ทำงานซื้อมา และก็พอรู้ว่า ความแน่นปึ้กในสรรพวิชาแห่งศิลปะแขนงที่ 7 อย่างภาพยนตร์นั้น สำนักไบโอสโคปเกือบจะมีสถานะเทียบเท่ากับ “ตักกะสิลา” ของนักศึกษาหนังแห่งหนึ่งไปเลย (นิตยสารเขาไม่ได้เรียกตัวเองแบบนั้นหรอกครับ ผมเรียกให้เองต่างหาก อย่าได้ไปหมั่นไส้เขา)

ดังนั้น ด้วยความรู้ ด้วยพื้นฐานของผู้เปิดค่าย “ออกไปเดิน” ซึ่งก็คือ คุณสุภาพ หริมเทพาทิป ที่มาเล่นบทบาทเป็นผู้อำนวยการสร้างหนัง ผมเชื่อของผมเองว่า กว่าจะปล่อยงานออกมาแต่ละชิ้น ทางทีมงานทั้งหมดคงประชุมกันเข้ม (ไม่แพ้ GTH แน่ๆ 555) ด้วยเหตุนั้น คุณภาพของหนังก็น่าที่จะสามารถไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง

และผมก็ไม่ผิดหวังครับ กับ “รักจัดหนัก”

ด้วยสรรพกำลังที่ไม่ได้มีความดังเป็นตัวนำ ไม่ได้มีทุนหนาแน่นเหมือนค่ายหนังอื่นๆ หากแต่ใช้ผู้กำกับที่เติบโตมาจากการทำหนังสั้น โนเนมบ้าง รวมไปจนถึงนักวิจารณ์และนักแสดงบ้าง มากำกับ ขณะที่ดารานักแสดง ถ้าไม่นับรวมคุณจินตรา สุขพัฒน์ แล้ว ก็เรียกได้ว่า ผมไม่รู้จักใครเลยสักคนในเรื่อง อย่างไรก็ดี ด้วยต้นทุนที่เป็นอยู่นี้ ไม่ได้ส่งผลให้ “รักจัดหนัก” อ่อนด้อยในเชิงคุณภาพเลยแม้เพียงนิด

“รักจัดหนัก” ประกอบด้วยหนังสั้น 3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง “ไปเสม็ด” หนังหยิบเอาสถานที่ท่องเที่ยวที่กลายเป็นคำยอดฮิตในหมู่วัยรุ่นที่เชื่อกันว่า ถ้าใครพาหญิงหรือคนรักไปเสม็ด จะต้อง “เสร็จทุกราย” หนังเล่าถึงเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวสองคน “วิท” (ศิครินทร์ ผลยงค์) กับ “แอน” (ศิตา มหารวิเดชากร) ที่ใช้ช่วงเวลารอผลสอบเอนทรานซ์ไปเที่ยวกันที่เสม็ด

แต่ไม่ว่าจะเสร็จหรือไม่เสร็จ สิ่งที่ผมชอบในงานชิ้นนี้ ก็คือ การที่หนังพยายามเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง ในเรื่องต่างๆ ผมชอบตอนที่ทั้งวิทกับแอนนั่งอยู่ริมทะเลและดูผลสอบเอนทรานซ์ในมือถือ ทางฝ่ายวิทนั้นดูผลของตัวเองแล้วก็พยายามโน้มน้าวชักชวนให้แอนดูผลสอบของเธอ แต่แอนก็ยืนยันจะไม่ดู รอก่อน ขณะที่วิทก็คะยั้นคะยอขอให้เธอดูอยู่นั่นแล้ว
ผมไม่แน่ใจว่าผู้กำกับ ทั้งคุณภาส พัฒนกำจร และ ไพรัช คุ้มวัน คิดอะไรตอนที่ตัดสินใจใส่ซีนนี้ลงไปในหนัง แต่ด้วยสายตาของผม ซีนดังกล่าวมันเหมือนจะสะท้อนให้เห็นอยู่กลายๆ ถึงความใจด่วนของผู้ชาย กับความโอนอ่อนผ่อนไหวของผู้หญิง พอถูกโน้มน้าวมากๆ ก็อ่อนตามผู้ชาย แน่ล่ะ ผมไม่อาจจะบอกได้ว่านี่เป็นต้นทางของปัญหาเรื่องเพศ (จะท้องหรืออะไรก็ตาม) ในหมู่วัยรุ่น แต่มันก็คือรูปลักษณ์หนึ่งซึ่งเป็นที่มาของปัญหาอย่างที่หนังแสดงให้เห็น

นักแสดงโนเนมทั้งสองคนสอบผ่านครับ ขณะที่การกำกับก็ดีเกินคาด ผมชอบการแสดงตอนที่หนุ่มสาวทั้งสองระเบิดอารมณ์ใส่กันข้างถนน มันดูเจ็บปวดดีพิลึก ถ้าจะมีสิ่งที่ผมรู้สึกไม่ชอบอยู่หน่อยๆ ก็คือ ตอนที่วิทไปง้อแอนในห้องน้ำ แล้วคำพูดที่แอนพูด คือ “สัญญานะว่าเธอจะสอนหมากรุกเรา” หรืออะไรทำนองนั้น ผมว่ามันก็ฟีลล์กู๊ดดีอยู่หรอกนะครับ แต่คิดอีกที เอ่อ...ดูละครทีวีเยอะไปป่าว?

เรื่องที่ 2 “เป็นแม่ เป็นเมีย” ไอเดียดีครับ แม้คำว่า “เป็นแม่ เป็นเมีย” นั้นเป็นไอเดียหลอกขาย (เพราะหนังก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเพียงพอว่า “เมีย” กับ “แม่” เหมือนหรือต่างอย่างไร) แต่ถึงกระนั้น ผมคิดว่า ท่ามกลางอารมณ์การเล่าเรื่องของหนังที่ไม่ได้มีท่าทีจริงจังซีเรียสอะไรนั้น ผลงานการกำกับของคุณอนุชิต มวลพรม เรื่องนี้ ก็ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่กับการสะท้อนปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งซึ่งวัยรุ่นที่ท้องก่อนแต่งอาจจะต้องพบเจอ นั่นก็คือ สายตาของคนรอบข้างที่จุ้นจ้าน ส่วนพ่อแม่ก็ไม่ค่อยแฮปปี้ ส่วนวัยรุ่นคู่ผัวตัวเมียก็ไม่รู้จะไปกันรอดหรือเปล่า

เรื่องที่ 3 “ทอมแฮ้ง” กำกับโดย “ชาคร ไชยปรีชา” นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กับ “ทราย เจริญปุระ” นักแสดงและนักเขียน หนังเรื่องนี้ตลกร้ายตั้งแต่พล็อตเรื่องที่กำหนดให้คนที่ไม่น่าจะชื่นชอบการตั้งครรภ์อย่าง “ทอม” กลับตั้งท้องขึ้นมาซะอย่างนั้น แต่เหนืออื่นใด ผมว่าเนื้อหาของหนังนั้น ดียิ่งไปกว่า เพราะว่ามันซ้อนทับกันอยู่อย่างน้อยสองประเด็น

อย่างแรกสุด “นัท” (อริสสรา เลอมวณ) ที่เป็นทอมนั้น ไม่ค่อยลงรอยกันกับแม่ (รับบทโดยจินตรา สุขพัฒน์) เพราะแม่ของเธอไม่ชอบที่เห็นลูกสาวเป็นทอม ดังนั้น แทนที่แม่ของเธอจะโมโหร้ายกับการที่เธอท้องในวัยเรียน แต่แม่กลับแสดงอาการดีใจ เพราะมันเหมือนจะทำให้แม่อุ่นใจขึ้นว่าลูกไม่ได้เป็นทอม แน่นอนครับ ตรงนี้ หนังแตะประเด็นเรื่องอคติทางเพศได้อย่างแนบเนียน

...เรียงตามลำดับความชอบ ผมชอบการแอ็คติ้งในในเรื่อง “ไปเสม็ด” มากที่สุด คือไม่ใช่แค่หน้าตาที่ยังวัยรุ่น หากแต่ทั้งคู่ทำให้เราเชื่อได้ในการแสดงออกของตัวละคร ตอนดีใจก็ดีใจอย่างสุดซึ้ง พอมีเรื่อง ก็บึ้งตึงได้สุดตีน

ขณะที่เรื่องที่สอง กินขาดในความตลกร้าย ผู้กำกับคนนี้เอาดีได้ในสายนี้ครับ พูดตรงๆ ผมดูหนังตลกไทยมาตั้งแต่ต้นปี หลายเรื่อง แต่ทุกเรื่อง ดูแล้วเศร้ามากกว่าตลก ก็เพิ่งได้มาตลกมากๆ กับเรื่องนี้ วงการหนังไทยควรแต๊งกิ้วคุณ

เรื่องสุดท้าย “ทอมแฮ้ง” ผมชอบความแน่นในเชิงคอนเซ็ปต์ความคิดที่หนังจะนำเสนอ รู้สึกว่า หนังสามารถเล่าเรื่องเพื่อสื่อเนื้อหาสาระของหนังให้ออกมาจับต้องได้แจ่มชัดที่สุดกว่าเรื่องอื่นๆ
และโดยภาพรวมทั้งหมด ผมเห็นว่า นี่เป็นการออกสตาร์ทที่น่าพอใจมากๆ ทีเดียวครับสำหรับค่ายหนังน้องใหม่อย่าง “ออกไปเดิน” แน่นอนว่า สำหรับหนังเรื่องแรกเปิดตัวออกมาแล้ว ผมก็อยากจะเห็น “ออกไปเดิน” ออกมาเดินอีกเรื่อยๆ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รอผลงานชิ้นต่อไปของคุณอยู่

ใน “รักจัดหนัก” นอกเหนือไปจากบทหนังที่ไร้ปัญหา เล่าเรื่องได้ลื่นไหล สูงกว่ามาตรฐานหนังตลาดส่วนใหญ่ของบ้านเรา (ผมคิดว่าสำนักไบโอสโคปนั้น หรือออกไปเดินนั้น คงเค้นกันหนักพอสมควรกับเรื่องบทหนัง) สิ่งที่ผมชอบมากๆ อีกอย่างหนึ่งในงานชิ้นนี้ก็คือ อารมณ์ขันแบบตลกร้ายที่ตลกตั้งแต่พล็อตเรื่อง (ในเรื่อง “ทอมแฮ้ง” อย่างที่ผมบอก) และมุกตลกที่แทรกแซมอยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง สำหรับผม ชอบมุก “เหี้ยเนาะ” มากที่สุด

สุดท้าย ก็คงไปสรุปที่คำว่า “รักจัดหนัก” ผมมองว่านี่เป็นการตั้งชื่อหนังที่ฟังดูดีและมีความหมายตรงกับเนื้อเรื่องที่จะสื่อ นั่นก็คือ คนดูจะได้เห็นผลพวงในรูปแบบต่างๆ อันเนื่องมาจากความรัก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ (ไม่พึงประสงค์) หรือแม้แต่เรื่องที่สาม “ทอมแฮ้ง” ที่ดูจะไปไกลกว่าใครเพื่อน เพราะมันพูดถึงว่า บางที ความรักก็มีปัญหาในตัวของมันเอง หากปราศจากการยอมรับในกันและกัน (แม่ที่ไม่ยอมรับตัวตนของลูก ไม่อยากให้ลูกเป็นทอม)

สิ่งที่ “รักจัดหนัก” จัดให้กับคนดู จึงเป็นเนื้อหาเชิงความคิด หาใช่ฉากเซ็กส์ฉากหวิวของวัยรุ่นวัยเรียนแต่อย่างใด แต่ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละครับ มีคนจำนวนไม่น้อยเลยนะที่บอกว่า หนังก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรหรอก แต่หนังตัวอย่างนั่นต่างหากที่จงใจหลอกคนดู

โดยส่วนตัว ผมมองว่า “รักจัดหนัก” คือหนังซึ่งมีการแบ่งเป็นเรื่องสั้นๆ ที่ “ดูดี” ที่สุดนับตั้งแต่สี่แพร่ง ห้าแพร่ง แต่ก็อีกนั่นแหละ หนังที่ว่า “ดูดี” เอามากๆ ก็ใช้กลเม็ดที่หลอกลวงประชาชนมากๆ เป็นเช่นกัน ด้วยการปล่อยโฆษณาแรงๆ เรียกคนไปดู ไม่ต่างจากหนังขยะกะโหลกกะลาประดานั้นแม้แต่น้อย เหยดดดด...





กำลังโหลดความคิดเห็น