Facebook...teelao1979@hotmail.com
ก่อนตัวหนังสือบรรทัดแรกของบทความชิ้นนี้จะเดินทางมาถึง สิ่งที่วนเวียนอยู่ในความคิดคำนึงของผมราวกับเงาตามตัว ก็คือถ้อยคำความคิดเห็นของใครหลายคนที่บอกว่า โรงหนังนั้นไม่เคยบังคับให้ใครไปดูเลยแม้แต่น้อย แล้วเราจะมาบ่นพร่ำหาพระแสงด้ามสั้นกันไปไย?
พูดง่ายๆ ถ้อยคำความเห็นดังกล่าว ก็เหมือนจะบอกอยู่กลายๆ ว่า ถ้าไม่อยากอารมณ์เสียกับการดูหนังโรง จะโง่เดินเข้าโรงหนังทำไม?
ไม่ผิดเลยครับสำหรับความคิดเห็นเช่นนั้น และผมก็ค่อนข้างจะเห็นคล้อยเสียด้วยซ้ำ เพราะ “เขียง” ของเขาก็วางตั้งอยู่เฉยๆ แต่ “หมู” อย่างเราๆ ท่านๆ ก็ดันทอดน่องขึ้นไปนอนให้เขาเชือดซะอย่างนั้น
แต่ก็อย่างว่าแหละครับ สำหรับมนุษย์ปุถุชนที่ยังเวียนวนอยู่กับรัก โลภ โกรธ หลง บางจังหวะเวลา มันก็อยากจะเดินออกไปบ้าน หาความสำราญนอกเคหากันบ้าง ดูหนังอยู่ที่บ้านก็เซฟดี (หนังห่วยก็ไม่รู้สึกเสียดายตังค์อะไรมาก) แต่บางที การดูหนังในโรงก็เป็นสิ่งที่เรานึกอยากจะทำบ้างนะครับ ก็ยังวัยรุ่นอยู่นี่หว่า พาแฟนบ้างเพื่อนบ้าง ไปกัน
ล่าสุด ด้วยความรนหาที่ หรือเพราะอะไรก็ไม่ทราบได้ ผมเดินทางสู่จังหวัดเชียงใหม่ และถือโอกาสไปเยี่ยมชมโรงหนังเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์อันเป็นที่รัก! (ผมเรียกด้วยให้เกียรติครับ เพราะอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย ผมกับโรงหนังเมเจอร์นี่ เจอกันบ่อยยิ่งกว่าเจอหน้าคนรักอีกครับ!)
ต้องยอมรับว่า รูปร่างหน้าตาของโรงหนังเมเจอร์ที่เชียงใหม่นั้น ไม่ทำให้ผมรู้สึกแตกต่างจากที่เมืองหลวงเท่าไรนัก ทั้งขนาดของโรงหนังที่ยิ่งใหญ่ และอ็อพชั่นอะไรต่างๆ ก็ดูอลังการครบครันเหมือนที่เมืองใหญ่ อันนี้ต้องยอมรับในแง่ของมาตรฐานขั้นพื้นฐานของโรงหนังที่ทำได้ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าในเมืองหรือต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม “สถานที่” นั้น ไม่สำคัญเท่า “สถานการณ์” ต้องบอกอย่างนี้ เพราะในวันที่ผมไปดูหนังที่เมเจอร์เชียงใหม่นั้น เป็นช่วงวันซึ่งหนังฟอร์มยักษ์แห่งสยามประเทศ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 4” เข้าฉาย อีกทั้งเป็นวันหยุด (วันเสาร์) คนที่มาดูก็หนาตา
ผมไม่อยากจะคิดนะครับว่า นี่เป็นการฉวยโอกาสอย่างหน้ามึนๆ ของเมเจอร์ฯ แต่ “สถานการณ์” มันชวนให้นึกคิดจริงๆ คือต้องบอกก่อนว่า ช่องทางจำหน่ายตั๋วทั้งหมดของเมเจอร์เชียงใหม่นั้นมีอยู่ราว 7 ช่อง ปรากฏว่า ช่องที่จำหน่ายตั๋วปกติมีเพียง 2 ช่องเท่านั้น ส่วนช่องที่เหลือนั้นถูกกัน ถูกกันไว้สำหรับคนที่ถือบัตรเอ็มการ์ดหรือบัตรอะไรสักอย่าง (แต่ไม่ใช่ “บัดซบ” แน่นอน อย่ามาเล่นมุกแถวนี้ครับ!!) และอีกสองช่องก็เป็นของพวกวีไอพี
ไม่ต้องบรรยายก็คงนึกภาพออกกันใช่ไหมครับว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ คิวของสองแถวที่ขายตั๋วปกติมันจะยาวขนาดไหน เรียกว่ายืนกันจนเมื่อยตุ้ม หลายคนบ่นออกมาเป็นภาษาหยาบๆ เลยล่ะครับ และที่สำคัญ ขณะยืนรอ ก็จะมีพนักงาน ทั้งที่พูดผ่านลำโพง และเดินเข้ามาอี๋อ๋อตีสนิท กระซิบบอกสิทธิพิเศษโฆษณาชวนซื้อบัตรเอ็มการ์ดเพื่อที่จะได้ไปซื้อบัตรผ่านประตูใน 3 ช่องทางพิเศษ (สำหรับเอ็มการ์ด) ที่บางจังหวะ ไม่มีคนอยู่เลย!
ผมเชื่อนะครับว่า คนที่ไปดูหนังนเรศวรฯ คงไม่ใช่ลูกค้าประจำของเมเจอร์ทั้งหมด แต่ไปดูเพราะนานๆ จะมีหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายที ดังนั้น พวกเขาไหนเลยมีความจำเป็นจะต้องไปถือบัตรเอ็มการ์ด จริงไหม? (แม้แต่ผมที่เป็นแฟนพันธุ์แท้นิดๆ ของเมเจอร์ ผมยังไม่คิดอยากจะถือเลยครับ!)
แต่นี่ใช่ไหม ที่เป็นกลยุทธ์แห่งการยัดเยียด (อย่างชอบธรรมเสียด้วย) ในการที่จะบีบบังคับให้คนจำเป็นต้องซื้อบัตรเอ็มการ์ดให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่น แล่นไปหาความสะดวกสบายในอีกแถว(ช่องทาง)หนึ่ง
อันที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนถึง-พูดถึง บ่อยครั้งแล้วล่ะครับ คือถ้าเป็นน้องผม ผมบอกบ่อยขนาดนี้ คงต้องมีตบกบาลกันบ้างแล้ว
และย้อนไปเมื่อราวๆ 2-3 เดือนที่แล้ว ผมรู้สึกว่าประเด็นเกี่ยวกับโรงหนังเมเจอร์ เป็น Talk of the Town พอสมควรเลยนะครับ กับการออกมาประท้วงต่อเมเจอร์ในหลากหลายหัวข้อ และก่อเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่มีสมาชิกเรือนหมื่น จนเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่น แน่นอนครับว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว มันได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เมเจอร์ฯ ต้องเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง ต้องปรับแปลงกลยุทธ์กันยกใหญ่ โฆษณาที่ว่ายาวๆ ก็ถูกหั่นให้เหลือไม่กี่นาที ผมจำได้ว่า วันสองวันแรกที่กระแสเรียกร้องดังกระหึ่มนั้น ผมเข้าดูหนังแทบไม่ทัน เพราะพี่ท่านเมเจอร์รีบฉายมาก
ผมตลกหน่อยก็ตรงที่...พอปรับเปลี่ยน ก็เหมือนจะปรับเปลี่ยนแบบ “ประชดประชัน” หรือ “น้อยอกน้อยใจ” มากกว่า เพราะไม่ได้ออกเป็นนโยบายชัดเจน ประกาศต่อคนดูอย่างเป็นทางการว่า ท่านต้องเข้าโรงหนังเร็วกว่าเดิม เพราะหนังจะฉายเร็ว โฆษณาน้อย แต่นี่จู่ๆ ก็ทำ คนดูหลายคนตั้งตัวไม่ทัน เข้าโรงหนังไป ปรากฏว่าหนังฉายไปแล้ว 10-20 นาที หรือครึ่งเรื่องเข้าไปแล้ว
พูดก็พูดเถอะครับ เมเจอร์ตอนนั้น “คลอนสั่น” และ “หวั่นไหว” เสียการทรงตัวไปไม่น้อยเหมือนกัน และเราก็เห็นการปรับเปลี่ยน (แม้จะด้วยท่าที “ประชด” เหมือนคนรักงอนกัน อย่างที่บอก) แต่สุดท้าย ใช่หรือไม่ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นนั้น ก็เป็นแค่เพียงกลเม็ดของนักกลยุทธ์จอมเก๋าที่รวดเร็วในการ Damage Control ควบคุมความเสียหาย ชั่วคราว ก่อนจะเรียกคืน “นิสัยเก่าๆ” กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ที่ผมพูดเช่นนั้น เพราะถึงตอนนี้ ผมก็เห็นเมเจอร์กลับมาเป็นเหมือนเดิม โฆษณายาวเท่าๆ เดิม การบริการด้านการขายตั๋วก็เหมือนเดิม ราคาขนมและเครื่องดื่ม ก็มหาโหดครือเก่า ก็เลยชักไม่แน่ใจว่า เราจะหวังอะไรได้บ้างจากโรงหนังแห่งนี้?