xs
xsm
sm
md
lg

หลวงอัครเทพฯ ทวิภพ ที่แท้ “ปู่ทวด” นีโน่!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พระยาอรรคราชวราทร  ตัวจริงในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นอรรคราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรก
จินตนาการของ “ทมยันตี” ผ่านตัวละคร “คุณหลวงอัครเทพวรากร” ในนวนิยายเรื่อง “ทวิภพ” อาจจะเคยถูกจัดสร้างมาแล้วหลายครั้งต่างรูปแบบ เรื่องราวของอดีตกับปัจจุบันผ่านกระจกโบราณนั้นก็ดำเนินไป … แต่ยังมี “บางเรื่อง” ที่คนไม่รู้ คือจินตนาการของทมยันตีกับ “ตัวละคร” นี้ บังเอิญไปพ้องกับ “ตัวจริง” ทางประวัติศาสตร์ ผู้เป็น “ปู่ทวด” ของ “นีโน่” เมทนี บุรณศิริ

ความเรื่องนี้เคยปรากฏอยู่ในเซกชัน “ปริทรรศน์ - บันเทิง” หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2533 ครั้งนั้น “เชิด ทรงศรี” นำนวนิยายเรื่องนี้มาเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช และจันทร์จิรา จูแจ้ง หลังครั้งนั้น เรื่องนี้....ไม่มีใครกล่าวถึงอีกตลอดเส้นทางของทวิภพที่เดินทางข้ามกาลเวลาอีกหลายครั้งตลอด 21 ปีที่ทั้งในรูปของภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, ละครเวที ขณะนี้ละครโทรทัศน์เรื่องนี้กำลังแพร่ภาพทางช่อง 7 สีอยู่ในขณะนี้ ในเวอร์ชันนี้เขียนบทโทรทัศน์โดย นันทววรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ กำกับการแสดงโดย มาวิน แดงน้อย และเพ็ญลักษณ์ อุดมสิน

นวนิยาย “ทวิภพ” อ้างถึง เจ้าคุณอัครเทพวรากร “ว่าเป็นขุนนางในปีพุทธศักราช 2436 หรือรัตนโกสินทร์ศกที่ 112 (ร.ศ. 112) และต่อมาได้เป็นทูตไทยคนแรกประจำสหรัฐอเมริกา

“หลวงอัครเทพฯ” ในประวัติศาสตร์

ความจริงตามประวัติศาสตร์ของไทยในปีพุทธศักราช 2436 มีขุนนางไทยชื่อ “พระอนันต์นรารักษ์” ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองตระเวนฝ่ายกองรักษาในกระทรวงนครบาล ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาในปีพุทธศักราช 2444 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอรรคราชวราทร” หรือ “เจ้าคุณอรรคราชวราทร” และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอรรคราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรก

“เจ้าคุณอัครเทพวรากร” ในนวนิยายเรื่อง “ทวิภพ” กับ “เจ้าคุณอรรคราชวราทร” ในประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ทั้ง 2 ชื่อใกล้เคียงกันมาก มิหนำซ้ำต่างได้เป็น “ทูต” ไทยคนแรกในสหรัฐอเมริกา!!

ทมยันตียืนยันว่า เมื่อประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ทราบเรื่องเจ้าคุณอรรคราชวราทร จนเขียนเรื่องใกล้จบนั่นแหละถึงได้เจอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้

“พี่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีชื่อที่คล้ายคลึงกันมากจริงๆ จนกระทั่งเขียนไปได้เกือบจบเรื่องถึงได้ทราบและเห็นรูปท่านจากหนังสือราชทูตไทยคนแรกของแต่ละประเทศที่มีผู้อ่านส่งมาให้..พอเปิดหนังสือเห็นรูปท่านก็ก้มไหว้ท่านทีหนึ่ง แล้วก็วิ่งออกนอกบ้านไปตั้งหลัก จากนั้นถึงค่อยกลับมานั่งยิ้มใหญ่ดูรูปท่าน และบอกกับท่านว่า..ทำไมท่านถึงหล่อจัง” “ทมยันตี” บอกเล่ากับ “ปริทรรศน์-บันเทิง” ฟังเมื่อ- 21 ปีล่วงมาแล้ว

สาแหรกตระกูล “บุรณศิริ”

พระยาอรรคราชวราทรเป็นบุตรของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ต้นตระกูล “บุรณศิริ” ที่สืบเชื้อสายจากพราหมณ์เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย เข้ารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ต้นตระกูล “บุรณศิริ” ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาธรรมกรณาธิบดี” เสนาบดีกระทรวงวัง ต่อมาเมื่อชราได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนราชทินนามเป็น “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี” ในแผ่นดินถัดมา รัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เจ้าพระยาสุรธรรมมนตรีได้ขอพระราชทานนามสกุลจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามสกุล “บุรณศิริ” และใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

นิเวศานุรักษ์ (กระจ่าง บุรณศิริ), พระยาอุเทนเทพโกสินทร์ (ประสาน บุรณศิริ), พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (จำเริญ บุรณศิริ) และหม่อมแหวว บุรณศิริที่เกิดกับมารดา “พัน” บุตรีเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ และหม่อมแหววท่านนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนถึงในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ว่า เป็นหม่อมยาย” ของตน

“เจ้าคุณอรรคราชฯ ท่านเป็นน้องชายของหม่อมยายแหววของผมไงล่ะ ก็ถือว่าท่านมีศักดิ์เป็นตา”

พระยาอรรคราชวราทรไม่เพียงแต่เป็นอัครราชทูตไทยคนแรกประจำสหรัฐอเมริกานั้น ท่านยังเป็นคนไทยคนแรกที่ไม่ใช่เจ้านายชั้นสูงซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ให้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษรวมกับเจ้านายพระองค์อื่น รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้นที่ทรงพระเยาว์อีกด้วย

เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก และเป็นเลขานุการส่วนพระองค์เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศในปีพุทธศักราช 2432

ปู่ทวดของ “นีโน่”

“จริงๆ แล้วปู่ทวดตามที่ฟังผู้ใหญ่เล่ามา ท่านเป็นคนที่ทันสมัย เป็นคนที่มีบุคลิกดีมาก ภาษาพูดก็เยี่ยมแถมเป็นคนขยัน ท่านเป็นคนแรกที่นำ “ไบซิเกิล” รถจักรยานที่มีล้อหน้าใหญ่ ล้อหลังเล็กของสมัยนั้นเข้ามาให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรอีกด้วย

“นีโน่”- เมทนี บุรณศิริ ดารา-พิธีกรมีศักดิ์เป็น “เหลน” ยังได้กล่าวในครั้งนั้นถึงเจ้าคุณอรรคราชวราทรให้ฟังว่า

สกุลที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับ “บุรณศิริ” ในสมัยปัจจุบัน ได้แก่ รังสิพราหมณกุล, จันทรโรจนวงศ์, สิงหเสนี และสุจริตกุล

“จริงๆ แล้วคือนามสกุลเดียวกัน เชื้อสายเดียวกัน คือทุกคนในนามสกุลเหล่านี้มีต้นตระกูลเป็นพราหมณ์มาจากเมืองพาราณสี มีสิทธิ์เป็นพราหมณ์ใหญ่ได้หมด แต่ทางสายนามสกุล “บุรณศิริ” จะรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่”

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่เมทนี บุรณศิริ “ปลื้ม” มากกับปู่ทวด “พระยาอรรคราชวราทร” คือได้รับคำบอกเล่าจากป้าสะใภ้-ประภาศรี สวัสดิวัตน์ ว่า เจ้าคุณอรรคราชฯ สมัยหนุ่มนั้นได้รับคำชมจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ว่าหล่อมาก..หล่อกว่าพวกเหลนๆ ทุกวันนี้เสียอีก

“เท่าที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทวดต้องไว้หนวดด้วย เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ข้าราชบริพารไว้หนวดทุกคน แถมมีเงินเดือนให้อีกต่างหาก ใครไว้หนวดเยอะและสวยก็จะได้เงินพระราชทานมากขึ้น..บางคนได้ถึง 10 บาทขึ้นไป” เมทนี บุรณศิริ อธิบายถึงรูปท่านปู่ทวดของเขา

ถัดจากพระยาอรรคราชวราทร ตระกูล “บุรณศิริ” อีกท่านหนึ่งที่เข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศก็คือ “พระมิตรกรรมรักษา” (นัดดา บุรณศิริ) บุตรชายของเจ้าคุณอรรคราชฯหรือปู่ของ “นีโน่” เมทนี บุรณศิริ นั่นเอง

พระมิตรกรรมรักษาถูกบิดาส่งไปเรียนหนังสือที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนอายุ 18 จึงกลับมาศึกษาในประเทศไทย อีก 2 ปีหลังจากนั้นจึงไปศึกษาทางด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสจนจบปริญญาเอก เมื่ออายุประมาณ 27-28 และเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศตามรอยเจ้าคุณอรรคราชฯผู้เป็นบิดาทันทีและได้รับตำแหน่งกงสุลไทยในประเทศญี่ปุ่น และที่ตั้งสถานทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นทุกวันนี้คือ สถานกงสุลไทยที่พระมิตรกรรมรักษาเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองในสมัยนั้น

“สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นเอกอัครราชทูต เขาเรียกว่า “มินิสเตอร์” ช้างไทยตัวแรกที่เอาไปให้สวนสัตว์ญี่ปุ่นคุณปู่ผมก็เป็นคนเอาไป คนญี่ปุ่นเขาจะตื่นเต้นมากเวลาที่รู้ว่าบ้านผมเป็นคนเอาช้างไปให้ญี่ปุ่น คุณพ่อผมก็เกิดที่ญี่ปุ่น เกิดใกล้แม่น้ำซูมิดะ คุณพ่อเลยได้ชื่อว่า ซูมิดะ ตอนหลังเปลี่ยนเป็นไทยเลยกลายเป็น สุมิดา” เมทนี บุรณศิริ รำลึกความหลังของบรรพบุรุษให้ฟัง

พระมิตรกรรมรักษามีทายาทกับสุพรรณ บุนนาค บุตรีเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ถึง 6 คน แต่ไม่มีใครเลยที่จะสืบทอดเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศเยี่ยงบุพการี

เมทนี บุรณศิริ อธิบายความนี้ว่า เนื่องจากคุณปู่-พระมิตรกรรมรักษา เสียชีวิตในขณะที่ลูกๆ ยังเป็นเด็กๆ ผู้เป็นย่าจึงเบนเข็มไปเอาดีทางธุรกิจเพื่อเลี้ยงลูกๆ ทั้ง 6 ให้ดีที่สุด ดังนั้นมาถึงรุ่นลุงและพ่อของเขาจึงดำเนินรอยตามโดยคุณพ่อ “สุมิดา บุรณศิริ” เป็นกรรมการบริษัทเทยิน โพลีเอสเตอร์ และคุณแม่ “เชอรี่” เชื้อสายออสเตรเลียร่วมทุนทำที่นอนแก้ปวดหลังกับนักลงทุนญี่ปุ่น

“คุณลุงปรีดา บุรณศิริ ท่านสนิทกับพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนที่จะเป็นนายกฯ มาก และท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นจนคนญี่ปุ่นเองยังยอมรับนับถือ รวมทั้งยังเป็น “พระสหาย” ของพระอนุชาอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นที่สิ้นพระชนม์ไปไม่นานมานี้ ท่านนายกฯ (หมายถึง พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) เคยพูดถึงคุณลุงว่าถ้าได้รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศคงทำประโยชน์ให้ประเทศชาติไม่น้อย” นีโน่-เมทนี ผู้เป็นหลาน... ซึ่งเรียนจบมาทางด้าน รัฐศาสตร์การทูตมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าไว้อย่างนั้น
.......................

ข้อมูลจำเพาะ

พระยาอรรคราชวราทร (ภัศดา บุรณศิริ)

เกิดเมื่อวันพุธขึ้น 12 ค่ำ เดือนสาม ปีวอก จุลศักราช 1222 ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พระพุทธศักราช 2403
พ.ศ. 2415 ใด้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษในรัชการที่ 5
พ.ศ. 2424 ใด้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปนนายรองบำรุงราชบทมาลย์
พ.ศ. 2425 ใด้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกใปศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2432 กลับจากประเทศอังกฤษเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กและเปนเลขานุการส่วนพระองค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใปเปนปลัดกรมๆ กองตระเวรฝ่ายกองรักษาในกรมพระนครบาล
พ.ศ. 2435 เลื่อนตำแหน่งเปนเจ้ากรมกองตระเวรฝ่ายกองรักษาในกระทรวงนครบาล และเลื่อนบรรดาศักดิ์เปนพระอนันต์นรารักษ์
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใปเปนข้าหลวงจัดราชการเมืองสมุทรปราการแลเมืองนครเขื่อนขันธ์ (จังหวัดสมุทปราการจังหวัดพระประแดง)
ธันวาคม พ.ศ. 2440 ใด้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เปนพระยาเพชรชฎา
พฤศภาคม พ.ศ. 2441 กลับจากข้าหลวงจัดราชการ มารับราชการในกองบัญชาการน่าที่เจ้ากรมกองแปล
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2441 ใด้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามชั้นที่ 3
วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2444 ใด้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปนพระยาอรรคราชวราทร และใด้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเปนอรรคราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน
พ.ศ.2449 ย้ายจากอรรคราชทูตสยามกรุงวอชิงตันกลับกรุงเทพฯเข้ารับราชการเปนอธิบดีกองทูตและกองกงซุลในกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2451 ใด้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ใด้รับพระราชทานตราช้างเผือกชั้นที่ 3 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กลับใปเปนอรรคราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน
พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายจากอรรคราชทูตสยามกรุงวอชิงตัน ใปเปนอรรคราชทูตประจำกรุงอังกฤษ และใด้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามชั้น 2
กรกฎาคม พ.ศ. 2455 ย้ายจากอรรคราชทูตกรุงอังกฤษกลับกรุงเทพฯ แลกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

หมายเหตุ : สะกดการันต์ตามอักขรวิธีที่ประวัติชีวิตราชการของพระยาอรรคราชวราทรบันทึกไว้
พระยาอรรคราชวราทร (ภัสดา บุรณศิริ) ยามชรานั่งอยู่แถวหน้าซ้ายสุดในหมู่ผู้ชาย, พระยามหานิเวศานุรักษ์ (กระจ่าง บุรณศิริ) และพระยาอุเทพโกสินทร์(ประสาน บุรณศิริ)
ภรรยาเอกของพระยาอรรคราชวราทร
ขณะไปเรียนหนังสือที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กับในหลวงรัชกาลที่ 6
“พระมิตรกรรมรักษา” (นัดดา  บุรณศิริ) บุตรชายของเจ้าคุณอรรคราชฯ อัครราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศญี่ปุ่น ผู้หาสถานที่จัดตั้งสถานทูตไทยได้สำเร็จและเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นมาก
“นีโน่”  เมทนี  บุรณศิริ  หนึ่งในผู้สืบเชื้อสายของตระกูลนี้
“ทมยันตี”  เจ้าของบทประพันธ์ เพิ่งมาทราบความพ้องกันอย่างบังเอิญ ต่อเมื่อเขียนเรื่องใกล้เสร็จ
ทวิภพ เวอร์ชั่นแรก แสดงโดย ฉัตรชัย – จันทร์จิรา
บทภาพยนตร์ของ “ธม ธาตรี” (เชิด ทรงศรี)
ละครครั้งแรก แสดงโดย ศรันยู - สิเรียม
เวอร์ชั่นของ “สุรพงษ์ พินิจค้า” แสดงโดย รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง, ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์
มิวสิคัล ครั้งแรก โดย ทรงสิทธิ์,ภูธเนศ,สุธาสินี, ปนัดดา
มิวสิคัล ครั้งล่าสุด โดย โดม ปรณ์ลัม , นัท มีเรีย
ละครโทรทัศน์ล่าสุด “อ๋อม – แพนเค้ก”

กำลังโหลดความคิดเห็น