xs
xsm
sm
md
lg

ดุริยกวี 5 แผ่นดิน หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) : เมื่อดนตรีไทยจะกระหึ่มที่อัมพวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
"เป็นอารยะโดยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองน่ะหรือ?

"ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษาเอาไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน…”

...
หลวงประดิษฐไพเราะ : ดุริยกวี 5 แผ่นดิน
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง2424-2497) เดิมมีชื่อว่า "ศร" เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2424 ในรัชสมัยขององค์พระบาทพระจุลจอมเกล้า ที่ตำบลดาวดึงส์ อ.อัมพวา สมุทรสงคราม เป็นบุตรชายคนเล็กของครูปี่พาทย์ชื่อสิน และนางยิ้ม เป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์เมื่ออายุ 11 ปี ตีระนาด "ไหวจัด" (ภาษาทางดนตรีโดยเฉพาะระนาดเอก หมายถึง การตีรัวได้เร็วมาก) มาตั้งแต่เด็ก โดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาปี่พาทย์ให้จนกระทั่งมีความสามารถในการประชันวงถึงขั้นมีชื่อเสียงไปทั่วลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

จากการได้ออกแสดงฝีมือนี้เองทำให้ชื่อเสียงของนายศร เป็นที่เลื่องลือในหมู่นักดนตรีมากขึ้น โดยเฉพาะในงานใหญ่ครั้งแรก คือ งานโกนจุกเจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมอบ ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ จังหวัดเพชรบุรีนั้น ฝีมือระนาดเอกของนายศรปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ การได้ตี "ไหว" คำว่า "ไหว" นี้เป็นภาษาทางดนตรีโดยเฉพาะระนาดเอก หมายถึง การตีได้รัวเร็วอย่างยิ่ง ใครตีได้อย่างนี้จัดว่ามีฝีมืออยู่ในขั้นสูงทีเดียว

ครั้งนี้เองที่ทำชื่อให้นายศรบุตรครูสินไว้มาก อีกครั้งหนึ่งที่สำคัญ คือ การประชันวงในวันคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดาพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี นายศรได้แสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอกเพลงกราว ในเถาเพลงนี้เป็นเพลงที่ต้องใช้วิธีการบรรเลง ยากมาก และกินเวลาถึง 1 ชั่วโมง นายศรบรรเลงได้อย่างดียิ่ง เป็นที่พอพระทัยของเจ้านายที่เสด็จมาในงานนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ซึ่งเป็นนักดนตรีฝีพระหัตถ์เยี่ยมถึงกับประทานรางวัล

ในพ.ศ.2442 เมื่อ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จวังบูรพา”เสด็จประพาสเมืองราชบุรีเพื่อเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศรได้มีโอกาสแสดงฝีมือระนาดเอกถวายจนเป็นที่พอพระทัย สมเด็จวังบูรพาจึงทรงขอตัวนายศรจากครูสิน ทรงประทานตำแหน่ง “จางวางมหาดเล็ก” และประทานนามสกุล “ศิลปบรรเลง” ซึ่งแปลว่า "ความรู้แห่งเสียงดนตรี" ให้อีกด้วย

เมื่อมาอยู่วังบูรพาภิรมย์แล้ว ได้เรียนวิชาดนตรีกับครูหลายท่าน อาทิ ครูช้อย สุนทรวาทิน, ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์–แปลก ประสานศัพท์) ตลอดจนครูดนตรีอีกหลายท่าน นายศรเป็นผู้กอปรไปด้วยทั้งสติปัญญาและไหวพริบปฏิภาณสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เสมอจนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จวังบูรพา

เมื่ออายุครบบวช สมเด็จวังบูรพายังทรงจัดการอุปสมบทให้จางวางศร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นสึกออกมาก็ทรงจัดให้แต่งงานกับนางสาวโชติ หุราพันธ์ มีบุตร4 คนคือ ชิ้น, บรรเลง, ประสิทธิ์ และชัชวาล ภรรยาคนที่สองชื่อนางสาวฟู หุราพันธ์ มีบุตร 4 คน คือภัลลิกา, ขวัญชัย, สมชาย และสนั่น ศิลปบรรเลง

ในปี พ.ศ.2451 จางวางศรได้ติดตามสมเด็จวังบูรพาไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย ได้นำเพลงของชวามาปรับปรุงเป็นไทยหลายเพลง เช่น เพลงบูเซนซอก เพลงยะวา และนำเครื่องดนตรีเขย่ากระบอกไม้ไผ่ของชวามาปรับปรุงใช้ในเมืองไทย คือ อังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้

มีเรื่องเล่าถึงความสามารถของจางวางศรอีกเรื่องหนึ่งคือ ในงานหนึ่งจางวางศรตีระนาดเอกอยู่ในวง พอโหมโรงตั้งสาธุการไปจนถึงเชิด ปรากฏว่ามีเสียงกลองทัดดังผิดปรกติจางวางศรหันไปดูก็เห็นว่าเป็นคนกลองฝีมือดีจากนอกวังเข้ามาตี และเริ่มรุกจังหวะอย่างขนาดใหญ่ ท่านหันมายิ้มและพยักหน้าเป็นทีว่าสนุกละ แล้วท่านก็ตีเพลงเชิดอย่างสนุก เพลงเชิดนั้น เขาเรียกเป็นตัวๆ ท่านปล่อยตัวเชิดไม่รู้กี่ตัวต่อกี่ตัว เชิดไม่จบ ไม่ซ้ำกันเลย และยังไม่ยอมลงเร็วจนคนในวงเหงือหยด คนกลองยิ่งรุกยิ่งเร่ง ท่านก็ยิ่งหนี ยิ่งเร็วยิ่งไหว แต่ยังไม่ยอมลง

จนที่สุดท่านหันมาดู เห็นคนกลองผู้นั้นเหงือท่วมตัวพยักหน้าขอลงท่านจึงรัวลงพอลงไม้กลองสุดท้าย คนกลองก็ฟุบเป็นลมตรงหน้ากลองคู่นั้นเอง พอฟื้นขึ้นมา ก็คลานไปกราบจางวางศร ท่านเข้ากอดแล้วว่า "ตั้งแต่ทำโหมโรงมา เพิ่งสนุกจริง ๆ วันนี้ คราวหน้ามาใหม่นะ" แล้วทั้งคู่เลยได้สนิทสนมกันเพราะได้รู้มือกันนั้นเอง

พ.ศ.2458 จากวางศรได้ตามเสด็จสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ลงไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ จางวางศรได้แต่งเพลงเขมรเลียบพระนคร เถา ประดิษฐ์ทางพิเศษเป็นทางกรอขึ้นถวาย เทคนิคการกรอระนาดที่ให้เสียงนุ่มนวลไพเราะนี้เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน และสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง ที่จางวางศรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐไพเราะ” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมพ.ศ.2468

ต่อมาหลวงประดิษฐไพเราะได้รับผิดชอบควมคุมวงดนตรีที่วังลดาวัลย์ หรือ วังบางคอแหลม ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ครั้งนี้ท่านประดิษฐ์ทางเพลงขึ้นใหม่เช่น เพลงแขกลพบุรีทางวังบางคอแหลม เพลงเชิดจีนทางวังบางคอแหลม เป็นต้น

สมัยรัชกาลที่ 7 ปีพ.ศ.2469 หลวงประดิษฐไพเราะได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง มีโอกาสถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงไทย ได้แก่ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรลออองค์ และเพลงคลื่นกระทบฝั่ง

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2472 ได้รับพระราชทานเหรียญตราดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา และได้รับพระราชทานตราเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ในพ.ศ 2473 ตามลำดับ และรับตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวง เงินเดือน 150 บาท นอกจากนี้ ยังได้ตามเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ครั้งเสด็จประพาสอินโดจีนในปีพ.ศ.2472-2473 ทรงโปรดเกล้าให้พำนักอยู่ที่เขมรระยะหนึ่งเพื่อช่วยสอนและปรับวงให้กับวงดนตรีแห่งราชสำนักของพระเจ้ามณีวงศ์ที่กรุงพนมเปญ เมื่อกลับมาก็ได้ประดิษฐ์เพลงไทยสำเนียงเขมรหลายเพลง เช่น ขะแมกกอฮอม, ขะแมซอ, ขะแมซม

ในปี พ.ศ.2473-2475 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดให้มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลโดยมีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) รับผิดชอบงานบันทึกโน้ต หลวงประดิษฐไพเราะเป็นผู้บอกทางเพลง ตลอดจนร่วมทำงานดังกล่าวกับครูดนตรีอีกหลายท่าน

หลวงประดิษฐไพเราะได้ประพันธ์เพลงไทยเอาไว้เป็นจำนวนมาก เพลงเถาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเพลงหนึ่งคือ “แสนคำนึงเถา” ซึ่งเป็นเพลงที่แสดงอัฉริยภาพของท่านทั้งการอาศัยแนวคิดเรื่อง เสียงธรรมชาติ, ลูกนำ, อารมณ์แปรปรวนต่างๆ ไพเราะงดงาม และยังแสดงถึงร่องรอยประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกว่ายุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และ “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” อีกด้วย

ข้อโดดเด่นในความเป็นดุริยกวีของท่านคือ คิดประดิษฐ์วิธีการบรรเลงที่แปลกใหม่ไม่เคยมีมาก่อน ท่านคิดเทคนิคในการเล่นระนาดขึ้นมาใหม่ เช่น พัฒนาวิธีการจับไม้ระนาดเพื่อตีให้ได้เสียงต่างกัน โดยแต่เดิมนั้นมีการจับไม้ระนาดแบบปากนกแก้วอย่างเดียว ท่านพลิกแพลงเป็นการจับไม้แบบปากกาบ้าง แบบปากไก่บ้าง นอกจากนี้ ท่านยังทำให้ระนาดมีบทบาทสำคัญในวงปี่พาทย์ ด้วยรสชาตของการกำหนดแนวทีท่า ขึ้นลง สวมส่ง สอดแทรก ทอดถอน ขัดต่อ หลอกล้อ ล้วงลัก เหลื่อมล้ำ โฉบเฉี่ยว และที่ท่านเน้นคือวิธีใช้เสียงและกลอนให้เกิดอารมณ์ต่างๆ

จากนั้นท่านได้ตั้งสำนักดนตรีของที่บ้านบาตร ท่านมีลูกศิษย์มากมาย นักดนตรีไทยรุ่นต่อๆ มาได้นำวิธีการของหลวงประดิษฐไพเราะมาเป็นแบบฉบับ นับว่าท่านเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีไทยสูงสุดท่านหนึ่ง

หลวงประดิษฐไพเราะ ป่วยด้วยโรคลำไส้ และโรคหัวใจ ท่านถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบท่ามกลางบุตรภรรยา และนายแพทย์ เมื่อเวลา 19.45 น. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2497 สิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน
...
โหมโรง : ภาพยนตร์ที่ทำให้ไทยเป็นไทย
หลังเป็นที่รับรู้กันในเฉพาะแวดวงคนดนตรีไทย ปีพ.ศ.2547 เรื่องราวของหลวงประดิษฐไพเราะก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังผู้กำกับชื่อดัง "อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์" ได้หยิบเอาอัฐชีวประวัติของหนึ่งในบรมครูเพลงที่ยิ่งใหญ่ของไทยท่านนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ทีมีชื่อว่า "โหมโรง" (The Overture) โดยผู้ที่มารับบทเป็น ศร ในวัยหนุ่มก็คือนักแสดงหนุ่ม "โอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์" ขณะที่ช่วงวัยชรานั้นได้นักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง อดุลย์ ดุลยรัตน์ มารับบทดังกล่าว

ในระยะแรกๆ ของการเข้าฉายเสียงตอบรับที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องบอกว่าน้อยมาก อย่างไรก็ตามด้วยการ "บอกต่อ" ของคนที่มีโอกาสได้เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเองที่ทำให้เกิดกระแสกลายเป็น "โหมโรงฟีเวอร์" ขึ้นมา

สำหรับฉากการดวลระนาดของ ศร กับ "ขุนอิน" ที่รับบทโดย ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า นั้น ในส่วนของเหตุการณ์จริงเรื่องนี้เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2443 เมื่อสมเด็จวังบูรพาทรงจัดให้จางวางศรซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 19 ปี ได้ตีระนาดประชันกับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) คนระนาดเอกของกรมพิณพาทย์หลวงซึ่งมีอายุ 34 ปี ว่ากันว่าการดวลระนาดในครั้งนั้นถือเป็นการประชันระนาดเอกอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการดนตรีไทยและผลการประชันเป็นที่กล่าวขวัญกันมาอีกช้านานนั่นเอง

นอกจากเรื่องของดนตรีไทยแล้ว โหมโรง ยังบอกเล่าถึงการไหลบ่าเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งดูเหมือนว่าผู้ใหญ่บางคนจะหลงรับเข้าไปเต็มๆ กระทั่งทำให้การแสดงที่เป็นของดั้งเดิมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยฉากหนึ่งที่บอกเล่าความคิดของครูศรที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือฉากที่ ประสิทธิ์ (สุเมธ องอาจ) นำเปียโนเข้ามาในบ้าน ซึ่งแรกเห็นนั้นเหมือนกับว่าครูศรเองจะไม่พอใจ ทว่าลงท้ายทั้ง "ของใหม่" อย่างเปียโนของผู้เป็นลูกชาย กับ "ของเก่า" อย่างระนาดของครูศรต่างก็บรรเลงควบคู่กันไปอย่างไพเราะอบอุ่น

รวมถึงฉากการโต้คารมของ พันโทวีระ (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) ที่พยายามจะบอกกล่าวให้ครูศรเข้าใจถึงการก้าวเข้าสู่ความเป็นอารยะของไทยว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรายังมัวแต่จมอยู่กับความเก่าคร่ำครึ(อย่างดนตรีไทย) ซึ่งครูศรเองก็ได้ย้อนถามกลับไปอย่างน่าคิดว่า...

"เป็นอารยะโดยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองน่ะหรือ?...ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษาเอาไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน…”

โหมโรงทำรายได้ไปทั้งหมด 50 กว่าล้านบาท และกวาดรางวัลในเวทีการประกาศผลรางวัลต่างๆ ของบ้านเรามากมาย รวมถึงได้รับการส่งชื่อเข้าประกวดในเวทีรางวัลออสการ์ครั้งที่ 77 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

แม้หนังจะไม่ได้รับการเสนอชื่อแต่นั่นก็คงจะไม่สำคัญเท่ากับการที่หนังเรื่องนี้สามารถทำให้คนไทยหันมามองถึงความมีคุณค่าและให้ความสำคัญกับ "รากเหง้า" ของเรามากยิ่งขึ้น ถึงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตามที
...
เมื่อเสียงดนตรีไทยจะกระหึ่มที่ "อัมพวา"

เนื่องในวาระ 130 ปี ชาตกาล หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในปีพ.ศ.2554 นี้ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ พร้อมด้วยหน่วยงานอื่นๆ จึงได้เตรียมจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) รวมถึงสืบสานประเพณีพิธีไหว้ครูดนตรีไทย และมหกรรมดนตรีไทยประจำปี ของ จังหวัดสมุทรสงคราม ในโครงการที่ชื่อ “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ 1”

งานจะมีขึ้นในวันที่ 5-6-7 สิงหาคม 2554 ณ อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงประดิษฐไพเราะ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงดนตรีไทย, ประเพณีไหว้ครู-ครอบครู, ปาฐกถาเกียรติยศในวาระ 130 ปี ชาตกาล หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), นิทรรศการประวัติและผลงาน, การบรรเลงดนตรีไทยถวายมือ, อัมพวาปี่พาทย์ประชันเชิง, สมานฉันท์ดนตรีไทยชัยพัฒนา, กาจัดฉายภาพยนตร์กลางแปลง เรื่อง “โหมโรง” และ ภาพยนตร์สารคดี “สยามศิลปิน” ฯลฯ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร
...
ตารางกิจกรรม
วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

๑๙.๐๐–๒๑.๐๐ น. / เพลงครูคู่สมัย : วงบอยไทย บางกอกไซโลโฟนโดย ชัยยุทธ โตสง่า / บ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

วันเสาร์ ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
๐๖.๐๐–๐๘.๐๐ น. / โหมโรงเช้า ปี่พาทย์วงไทยบรรเลง / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒
อุทยาน ร.๒

- ๐๘.๓๐-๐๙.๓๐ น. / ทำบุญอุทิศส่วนกุศล แก่บูรพาจารย์ดนตรีไทย มโหรีวงกอไผ่บรรเลงประกอบพิธี / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒

๐๙.๓๐–๑๐.๓๐ น. / ปาฐกถาเกียรติยศ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีของแผ่นดิน” โดย ศ.ระพี สาคริก / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒

๑๑.๐๐-๑๗.๓๐ น. / “ช่อดอกไม้ดนตรี สุนทรีย์บูชาครู” โดย นักดนตรีสายศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จำนวน ๑๐ วง (วงศิษย์ครูมนตรี ตราโมท, วงศิษย์ครูถวิล อรรถกฤษณ์, วงจรรย์นาฏย์, วงศิษย์ครูโองการ กลีบชื่น, วงศิษย์ครูรวม พรหมบุรี, วงศิษย์ครูแสวง/ครูนิภา อภัยวงศ์, วงศิษย์ครูพินิจ ฉายสุวรรณ, วงศิษย์ครูน้ำว้า ร่มโพธิ์ทอง, วงศิษย์ครูสมภพ ขำประเสริฐ,วงศิษย์ครูประสิทธิ์ ถาวร) / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒

๑๕.๐๐-๑๙.๐๐ น. / “สมานฉันท์ดนตรีไทยชัยพัฒนา” โดยสถาบันการศึกษาและวงดนตรีรับเชิญ จำนวน ๕ วง (วงคำหวาน, วงพระพิรุณ, วงแสนแสบ, วงณัฐพลชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, วงโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว) / ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์

๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. / เพลงครูคู่สมัย : วงฟองน้ำ / เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒

๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. / เพลงครูคู่สมัย : วงสไบ / เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒

๑๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. / เพลงครูคู่สมัย : ขุนอิน ออฟ บีท สยาม / เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒

๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. / เสวนา “ย้อนรอยภาพยนตร์โหมโรง” โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ขุนอิน โตสง่า, โอ อนุชิต / เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒

๒๐.๐๐-๒๑.๔๕น. / ฉายภาพยนตร์ “โหมโรง” / อุทยาน ร.๒ เวทีริมน้ำ

๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. / ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๑ ระหว่าง วงศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง กับ วงศิษย์ผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ / บ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

๒๑.๐๐-๒๔.๐๐ น. / ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๒ ระหว่าง วงกอไผ่ กับ วงลายไทย / บ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. / โหมโรงเช้า – ปี่พาทย์วงลูกศิษย์และหลานศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒

๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. / พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)พิธีกรอ่านโองการ โดย พันโทเสนาะ หลวงสุนทร และ ผู้ช่วยพิธีกร โดย ครูฉลาก โพธิ์สามต้น บรรเลงหน้าพาทย์โดย วงลูกศิษย์และหลานศิษย์ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒

๑๑.๓๐-๑๕.๐๐ น. / พิธีครอบครูดนตรีไทย, การบรรเลงถวายมือ, สิ้นสุดมหกรรมดนตรีฯ ครั้งนี้ ด้วย การบรรเลง และ ขับร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมิ่งมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พระพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ / ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒อุทยาน ร.๒
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)


ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง
กำลังโหลดความคิดเห็น