ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรทีเดียวสำหรับการเชิญถ้วยรางวัลชนะเลิศของฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างรวมดาราไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก กับ "เชลซี" หนึ่งในสโมสรชื่อดังจากประเทศอังกฤษของดาราสาว "ชมพู่ อารยา" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน
บางส่วนอาจจะรู้สึกหวาดเสียวกับวิธีการที่ใช้การโรยตัวลงมาด้วยสลิงในระดับความสูงกว่า 26 เมตรของเธอ
บางคนอาจจะรู้สึกตกใจกับตัวเลขค่าตัวของนักแสดงสาวในการประกอบกิจกรรมดังกล่าวที่มีเสียงล่ำลือกันว่ามากถึง 10 ล้านบาท!
รวมถึงมีบางส่วนที่อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำเช่นนั้น? ทำไปเพื่ออะไร?
...
ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรายการใหญ่ระดับโลก หรือรายการเล็กๆ ระดับชุมชน นอกจากเกมการแข่งขันอันเข้มข้นดุเดือดแล้ว “พิธีการ” แวดล้อมถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ตระการตา, การปิดฉากที่ประทับใจ
โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญแห่งการแข่งขันแต่ละครั้งก็คือช่วงเวลาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ การมอบสัญลักษณ์แห่งความเป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น "ถ้วยรางวัล", "เข็มขัดแชมเปี้ยน", "เหรียญทอง", "ถาดแชมป์" ถือเป็นส่วนสำคัญทั้งในส่วนของผู้รับ, ผู้มอบ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้เชิญรางวัล ซึ่งบ่อยครั้งที่นักกีฬาผู้เป็นตำนานมักจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าว หากแต่หลายครั้งบุคคลที่ว่าอาจจะเป็นถึงบุคคลสำคัญของประเทศระดับผู้นำประเทศ และเช่นเดียวกันที่หลายครั้งบุคคลธรรมดาเองก็มีสิทธิ์ที่จะได้ทำหน้าที่ดังกล่าว
ในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกประจำปี 1995 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประธานาธิบดี "เนลสัน แมนดาลา" กลายเป็นผู้มอบถ้วย “เว็บบ์ เอลลิส” ที่ยิ่งใหญ่แห่งวงการรักบี้ให้กับทีมชาติของประเทศแอฟริกาใต้เองกับมือ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมันไม่ใช่การมอบรางวัลอย่างปกติธรรมดา แต่มีความหมายไปถึงชัยชนะของชาวแอฟริกาใต้ในการร่วมมือร่วมใจเพื่อก้าวผ่านความแตกแยกระหว่างคนขาวและคนดำกันเลยทีเดียว
ที่อเมริกา...ทหารหนุ่มแห่งหน่วยรบพิเศษแห่งกองทหารราบที่ 1 ประจำการที่อิรัก ผู้ต้องสูญเสียสูญเสียการมองเห็นไปกับเหตุระเบิดระหว่างการลาดตระเวน ได้มีโอกาสเป็นแขกพิเศษในช่วงเวลาแห่งการเชิดชูเกียรติยศทหารผ่านศึก จากทั้งคนดู, ผู้จัดงาน และนักกีฬาทุกคน ระหว่างการเปิดเกมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่เขาเลือกติดตามเชียร์มาตั้งแต่เป็นเด็ก โดยเขาได้บอกเล่าถึงความรู้สึกดังกล่าวว่า...
“มันยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ผมจะอธิบายได้ครับ เป็นเหตุการณ์ประเภทครั้งหนึ่งในชีวิต ผมเคยเล่นฟุตบอลตอนมัธยม แต่ไม่เคยเล่นในสนามกีฬายักษ์ใหญ่แบบนี้"
ไปที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่กรุงปักกิ่ง คณะนักกีฬาจากประเทศเจ้าภาพ ได้เลือกให้นักบาสเกตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ "เหยาหมิง" ถือธงของประเทศเดินนำนักกีฬาทีมจีนเข้ามาพร้อมกับ "หลินเห่า" เด็กชาย 9 ขวบที่เอาชีวิตรอดมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เสฉวน
แต่ที่คงจะติดตาคนจำนวนไม่น้อยก็คงจะเป็นภาพของทหารพิการในการเชิญถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2010-2011 ที่ผ่านมานั่นเอง
นอกเหนือไปจากนักกีฬาชื่อดัง, บุคคลระดับผู้นำ ตลอดจนการมอบโอกาสให้เด็กๆ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมกับพิธีการต่างๆ เพื่อให้คนเหล่านี้รู้สึกถึงการมีความหวัง และการมีคุณค่าของตัวเองแล้ว ภาพของดารา-นักร้อง-นักแสดงที่เข้าไปมีส่วนสำคัญกับกิจกรรมการแข่งขันกีฬาต่างก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
นางแบบสาวชาวสเปน "อิเนส ซาสตรี" เคยได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ เชิญ และมอบถ้วยรางวัลให้กับการแข่งขันกอล์ฟยูโรเปียนทัวร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยไม่มีใครตะขิดขะขวงใจ เพราะนางแบบสาวรายนี้เป็นที่รู้จักในฐานะนักกอล์ฟตัวยง ผู้เคยเข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟของคนดังมานักต่อนักแล้วนั่นเอง
หรือในประเพณีการขว้างลูก "Opening Pitch" เพื่อเปิดการแข่งขันเบสบอลในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็เป็นพิธีกรรมที่ออกแบบให้กีฬาและบันเทิงเดินทางมาบรรจบกันอย่างลงตัวและสร้างสรรค์ เมื่อดาราสาวมากหน้าหลายตา ได้รับคำเชิญให้มาขว้างลูกเปิดเกมการแข่งขัน แต่กระนั้นในส่วนของขั้นตอนต่างๆ ล้วนแล้วถูกกำหนดเน้นหนักไปที่เนื้อหาของกีฬาเป็นสำคัญทั้งสิ้น
"ฉันรู้สึกถึงความตึงเครียดของการตกอยู่ภายใต้สายตาของคนมากมายทันทีเลยค่ะ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นนะคะ ได้รับรู้สึกพลังและแรงสนับสนุนจากหัวใจของทุกคน...ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่มีค่าแบบนี้ค่ะ" ดาราสาวสวย "โยชิทากะ ยูริโกะ" กล่าวถึงความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในเกมการแข่งขันที่มีความหมายมากๆ สำหรับเหล่านักกีฬาเบสบอล
ส่วนที่บ้านเราเองนอกเหนือจากรณีของสาวชมพู่แล้ว การนั่งเฮลิคอปเตอร์เพื่อเชิญถ้วยรางวัลมามอบให้กับทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาโดยนางเอกชื่อดัง "อั้ม พัชราภา" ก็กลายเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ บทสรุปในการทำหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวกับพิธีการในการแข่งขันกีฬาต่างๆ คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า "ใคร" หากแต่อยู่ที่ว่าใครคนนั้นมีความ "เหมาะสม" ที่จะทำให้พิธีการดังกล่าวดูมี "คุณค่า" ทำให้นักกีฬารู้สึก "ภูมิใจ" ในความสำเร็จของตนเอง ที่สำคัญคือทำให้ภาพของการแข่งขันกีฬารายการนั้นๆ สื่อได้ถึงการ “ตอบแทนสังคม" อันเป็นการคงไว้ซึ่งความหมายและคุณค่าเชิงอุดมคติของการแข่งขันกีฬาเอาไว้ หรือทำให้คนมองแล้วสัมผัสได้แต่เรื่องของการค้า เรื่องของการสร้างกระแสเพื่อหวังผลในการทำธุรกิจมากกว่ากันต่างหาก
ขึ้นอยู่กับผู้จัดเองแหละว่าจะเลือกแบบไหน?