xs
xsm
sm
md
lg

วง“ชาตรี” ชื่อนี้คงกระพัน /บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
5 สมาชิกวงชาตรี
“...เกิดเป็นความรัก ความรักเมื่อแรกเจอ จิตใจละเมอติดยังฝังตรึง ความรักมันเรียกร้อง ทุกเวลาให้ฝันถึงวันก่อน อยากบอกเธอ รักครั้งแรก...”

เพลงรักครั้งแรก : วงชาตรี

ตอนเด็กช่วงประถมต้นผมก็มีรักครั้งแรกแล้ว แต่ไม่ได้เป็นรักครั้งแรกกับน้องๆสาวน้อยอนุบาลหมีน้อย หมาน้อยที่ไหน(เหมือนเด็กป.ต้นหลายคนในสมัยนี้) หากแต่เป็นรักครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับดนตรีแนวสตริง(คอมโบ) ซึ่งวง“ชาตรี”ถือเป็นผู้เปิดตัวโน้ตทางดนตรีวงแรก โดยมีเพลง “รักครั้งแรก”(พ.ศ.2523) เป็นเพลงสำคัญที่ทำให้ผมหลงใหลในดนตรีแนวนี้เรื่อยมา

จากนั้นผมก็ไล่กลับไปฟังในรุ่นบุกเบิกอย่าง"ดิ อิมพอสสิเบิ้ลส์”จากเทปคาสเซ็ทของพี่ชาย ขณะที่วงชาตรีนั้น ผมก็ไล่ไปฟังเพลงในยุคแรกๆของเขาอย่าง “จากไปลอนดอน”, “แฟนฉัน”,”สวัสดีคุณครู”,“รักแล้วรอหน่อย”,“ฝนตกแดดออก” ฯลฯ ควบคู่ไปกับเพลงร่วมยุคร่วมสมัยที่วงชาตรีทำอัลบั้มออกมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวงชาตรี ณ วันนี้เป็นเวลากว่า 36 ปีแล้ว ที่บทเพลงดังๆของเขายังเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา มีคนนำมาเปิด นำมาร้อง นำมาคัฟเวอร์กันอยู่ไม่สร่างซา

นับได้ว่าชาตรีเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ชื่อเสียงบทเพลงของพวกเขา ยังอยู่คงกระพันคู่กับวงการเพลงไทยอย่างไม่มีวันเลือนหาย

กำเนิด “ชาตรี”

การเข้ามาอาละวาดของเพลงป็อบ เพลงร็อกจากฟากฝั่งตะวันตกในช่วงราวๆ พ.ศ. 2510 ขึ้นไป ในช่วงยุครอยต่อระหว่างเพลงลูกกรุงกับเพลงสตริง ถือว่าทรงอิทธิพลต่อวงการเพลงบ้านเราอย่างมาก แม้หลังจากนั้นไม่กี่ปี วง“ดิ อิมพอสสิเบิ้ลส์” จะนำพาเพลงไทยสากลแนวใหม่ อย่าง“เพลงสตริง”ไปโลดแล่นสร้างชื่อเสียง สร้างความนิยม ให้กับวงการเพลงไทยอย่างสูงล้น แต่วัยรุ่นไทยก็ยังนิยมชมชอบต่อเพลงตะวันตกหรือ“เพลงฝรั่ง”กันอยู่เป็นจำนวนมาก

ความนี้ทำให้กลุ่มเด็กหนุ่ม 3 คน ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ แผนกช่างภาพ คือ นราธิป กาญจนวัฒน์(แดง),คฑาวุธ สท้านไตรภพ(ป้อม) และประเทือง อุดมกิจนุภาพ (เหมา) ได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงความนิยมของวัยรุ่นไทยจำนวนมากที่มีต่อเพลงฝรั่งในยุคนั้นว่า น่าจะมาจาก ดนตรีที่มีจังหวะสนุกสนาน มีทำนองฟังง่าย ติดหู

นั่นจึงทำให้พวกเขานำสิ่งที่วิเคราะห์มาขยายผลต่อยอด และย้อนกลับมามองวงการเพลงไทยสากลร่วมสมัยในยุคนั้น ถึงจุดเด่น จุดด้อยสิ่งที่มันขาดหายบกพร่องไป ว่าควรทำอย่างไรให้วัยรุ่นไทยหันมาฟังเพลงไทยร่วมสมัยให้มากขึ้น

ทั้ง 3 หนุ่ม จึงเห็นพ้องกันว่า น่าจะทำเพลงที่ใช้ทำนอง คำร้อง จังหวะ และคอร์ด แบบง่ายๆ แต่ให้มีท่วงทำนองมีความไพเราะ ติดหู จำง่าย เล่นง่าย ที่สำคัญคือ ต้องทำวงดนตรีไทยในชื่อแบบไทยๆขึ้นมา เพื่อตอกย้ำในเจตนารมณ์ของเพลงสตริงแบบไทยๆ

แล้ว“วงชาตรี”ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย นราธิป : ร้องนำ กีตาร์ หัวหน้าวง,คฑาวุธ : ร้องนำ กีตาร์ และเล่นคีย์บอร์ด(ในภายหลัง), ประเทือง : เบส ซึ่งมีบันทึกว่าชื่อชาตรี นราธิปนำมาจากชื่อหนังสือพระเครื่องของคุณพ่อเขานั่นเอง

เข้าวงการ

วงชาตรียุคเริ่มแรกเล่นดนตรีกันในแบบโฟล์คซอง ต่อมาพวกเขาได้เพิ่มมือกลองเข้ามาคือ อนุสรณ์ คำเกษม(ปุ้ย) และได้เข้าร่วมประกวดโฟล์คซอง ก่อนจะสละสิทธิ์ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบในรอบที่ 2 แต่ผลงานการเข้าร่วมประกวดครั้งนั้นไปเข้าตาของหนึ่งในคณะกรรมการคือครูไพบูลย์ ศุภวารี

ครูไพบูลย์ มองว่าชาตรีเป็นวงที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางของตัวเอง ต่างไปจากวงอื่นๆ จึงชวนให้ไปอัดเสียงในรายการวิทยุที่จัดอยู่ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับอย่างสูง ครูไพบูลย์จึงนำเพลงของวงชาตรีบันทึกเป็นเทปคาสเซ็ทให้แฟนเพลงได้ฟังกัน

เมื่อวงชาตรีเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นมา ห้างเมโทรแผ่นเสียงเจ้าแห่งตลาดเพลงไทยในยุคนั้น ได้ติดต่อชวนวงชาตรีไปอัดแผ่นเสียงผ่านทางครูไพบูลย์ อันเป็นที่มาของผลงานชุด “จากไปลอนดอน”(2518) อัลบั้มแรกของวงชาตรีที่แม้จะเล่นแบบโฟล์คซอง ใช้กีตาร์โปร่งเป็นหลัก ทว่าก็ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเพลงนำอัลบั้มอย่าง“จากไปลอนดอน” จากวันนั้นมาถึงวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงอมตะของวงนี้ไป
อัลบั้มแฟนฉัน
ในการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการของชาตรี พวกเขาได้เขียนบันทึกความในใจเอาไว้บนแผ่นปกหลังแผ่นเสียงชุดจากไปลอนดอน ว่า

...“ ชาตรี” ออกจะเป็นความใหม่สำหรับวงการดนตรีในปัจจุบัน ก่อนอื่นจะไม่ขอกล่าวถึงความหมายของคำว่า “ชาตรี” แต่จะขอกล่าวถึงจุดประสงค์ของผู้ร่วมอยู่ในวง “ชาตรี” คือแสดงออกซึ่งความเป็นไทยในเนื้อหาของเพลงที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือ เพลงทุกๆ เพลงที่วงชาตรีได้นำมาเล่นและขับร้องนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่พวกเราชาว “ชาตรี ” ได้แต่งขึ้นเอง เล่นเอง ร้องเองโดยทั้งสิ้น

...มีความตั้งใจในอันที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟังเพลงให้กว้างขึ้น โดยได้คำนึงถึงอิทธิพลของเพลงสากลที่มีต่อเยาวชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การฟังเพลงสากลของเยาวชนไทย มักจะเน้นหนักไปในเรื่องทำนอง และจังหวะที่ดำเนินไปตามเพลงนั้นเสียมากกว่าการฟังเนื้อหาของเพลง หากจะมีก็คงได้แก่บุคคลที่พอจะมีความรู้ทางภาษาอังกฤษเท่านั้น ฉะนั้น “ชาตรี” จึงอยากเสนอผลงานชุดนี้ ซึ่งเหมาะแก่บุคคลทุกระดับ และยังอาจหันเหความนิยมของเยาวชนไทยบางกลุ่มดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้กลับมาสนใจในเพลงมากขึ้น ในวันข้างหน้า คำว่า “ชาตรี” คงเป็นที่รู้จักกันในวงการเพลงของเมืองไทย และด้วยเหตุนี้เอง พวกเราชาว “ชาตรี” จึงใคร่ขอเสนอผลงานเพลงชุดนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะได้รับความสนใจจากผู้ฟังไม่มากก็น้อย...

ปีถัดมา ชาตรีตอกย้ำชื่อเสียงของตัวเองด้วยอัลบั้มชุด“แฟนฉัน”(2519) ในหน้าปกอัลบั้มสุดกิ๊บเก๋ เป็นรูป ภาพวาดบันลือโลก”โมน่าลิซ่า” ที่เข้าใจนำเสนอไอเดียชวนให้คิดว่านี่คือ“แฟนฉัน” ผู้มีจิตใจตรงกัน

เหมือนเป็นช่วงน้ำขึ้นให้รีบตัก ในปี 2519 ชาตรีเดินตามรอยรุ่นพี่อย่างวงดิอิม ด้วยการไปทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “สวัสดีคุณครู” ที่มีนางเอกหน้าใหม่อย่าง จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็นนางชูโรง

หนังเรื่องสวัสดีคุณครู โด่งดังเปรี้ยงปร้างหนุนส่งให้วงดนตรีชื่อไทยแท้วงนี้โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก

จากนั้นในปลายปี 2519 วงชาตรีได้ออกสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ออกมา คือชุด“หลงรัก” ที่ฉีกแนวออกไปจากเพลงสตริงในแบบเก่าของเขาด้วยการนำเพลงเก่าของ “ชาตรี ศรีชล” นักร้องลูกทุ่งชื่อดังมาร้องใหม่ในสไตล์ติดกลิ่นลูกทุ่งแบบชาตรี

ยุคทองชาตรี

เข้าสู่ปี พ.ศ. 2520 ชาตรีได้ก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งวงการเพลงสตริงของบ้านเราแทนที่วงดิอิมที่ประกาศยุบวงในปี 2519 โดยเขาต้อนรับการเปลี่ยนทศวรรษใหม่ด้วยผลงานชุดที่ 4 “ฝนตกแดดออก”(2520) และตามด้วยเพลงประกอบหนังอีกหลายเรื่อง อาทิ “รักแล้วรอหน่อย” “จ๊ะเอ๋เบบี้” และ ฯลฯ

ต้นปี พ.ศ. 2522 วงชาตรีได้เพิ่มตำแหน่งคีย์บอร์ดขึ้นมา โดยได้ประยูร เมธีธรรมนาถ(ยุ่น)มาเป็นสมาชิกคนที่ 5

อย่างไรก็ดีแม้วงชาตรีจะเป็นที่นิยมทั่วไป แต่รายได้ของพวกเขากลับไม่มากมายเลย เนื่องจากไม่ได้รับเปอร์เซ็นต์จากยอดขายแผ่น ขายเทป รายได้หลักๆส่วนใหญ่จึงได้มาจากการรับจ้างเล่นสด ทำให้ในกลางปี 2522 ชาตรีได้เดินออกจากสังกัดเดิม เพราะทำเพลงออกมาโด่งดัง ขายได้มากมาย ทางวงก็ไม่ได้ส่วนแบ่งอะไร

งานนี้พวกเขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปร่วมงานกับบริษัทฝรั่ง “EMI” ที่มีกำดำเนินงานแบบสากล มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ยอดขายระหว่างบริษัทกับตัวศิลปิน ซึ่งถือเป็นต้นแบบการแบ่งเปอร์เซ็นต์ของวงการเพลงบ้านเราเรื่อยมา

“รัก 10 แบบ”(2522) ถือเป็นอัลบั้มรับสังกัดใหม่ ตามด้วยผลงานชุด“ชีวิตใหม่”ในช่วงต้นปี 2523 ซึ่งวงชาตรีได้ไอเดียการตั้งชื่ออัลบั้ม และการแต่งเพลงส่วนหนึ่งมาจากการไปเยือนสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกที่ดังมากในยุคนั้นเรื่อง การช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยาเสพติด

หลังชุดชีวิตใหม่ นราธิปและคฑาวุธ เว้นวรรคชีวิตแบบเดิมๆไป 3 เดือน(1 พรรษา)ด้วยการเดินหน้าใช้ชีวิตใหม่ชั่วคราวสู่ร่มกาสาวพัตร จากนั้นพวกกลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม“รักครั้งแรก” ในปลายปี 2523

“รักครั้งแรก” เป็นอัลบั้มชุดที่ 7 ที่สร้างชื่อสูงสุดให้กับวงชาตรี เป็นผลงานเพลงชุดสำคัญที่ดึงดูดให้ผมหันมาสนใจฟังเพลงสตริงไทยแบบจริงจัง งานเพลงชุดนี้ได้รับการการันตีจากค่ายต้นสังกัดว่าสามารถทำสถิติยอดขายเทปได้เกิน 1 ล้านตลับ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยในยุคนั้น

รักครั้งแรกเป็นอัลบั้มที่มีความน่าสนใจยิ่ง 3 เพลงดังในอัลบั้มนี้คือ “รักครั้งแรก”,”ยากยิ่งนัก” และ “บทเรียนรัก” ไม่น่าเชื่อ แต่งโดย เด็กหญิง“วันทนา วุฑากร” นักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียน มาแตร์เดอี ที่มีอายุเพียง 13 ขวบเท่านั้น ซึ่งเอาไว้ถึงตอนพูดถึงเพลงดังวงชาตรีผมจะเล่าลึกลงไปในรายละเอียดอีกที
ชาตรีผู้เปิดมิติใหม่ให้กับการแสดงสดในรายการโลกดนตรี
ปี 2524 หลังประเทือง มือเบสแต่งงานกับสาวหาดใหญ่ ชาตรีส่งงานเพลงชุด“สัญญาใจ”ออกมาเพิ่อเป็นอนุสรณ์ความรักให้กับเพื่อนมือเบสคนนี้ ตามด้วยผลงานชุด“ชะตารัก”ที่ส่งตามมาในปีเดียวกัน

งานเพลงของชาตรีนับแต่ได้มือคีย์บอร์ดมา ความเป็นโฟล์คลดน้อยลงไป แทนที่ด้วยเสียงคีย์บอร์ดและดนตรีที่หนาแน่นขึ้น แต่ก็ยังคงเนื้อร้อง และท่วงทำนองเรียบง่ายติดหูอันเป็นเอกลักษณ์ของชาตรีเอาไว้อย่างชัดเจน

ปี 2525 ชาตรีออกอัลบั้มบันทึกการแสดงสด“ชาตรีอินคอนเสิร์ต”ขึ้นมา เป็นการเล่นที่โรงแรมดุสิตธานี ที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในยุคนั้นด้วยวงดนตรีแบ็คอัพถึงร่วม 40 ชิ้น แล้วตามด้วยงานสตูดิโออัลบั้มในปีเดียวกันกับชุด“รักไม่เป็น” ที่เพลง“ภาษาเงิน”ในชุดนี้ สามารถซิวรางวัลตุ๊กตาทองมหาชนไปได้

ปี 2526 ชาตรีปล่อยอัลบั้ม“รักที่เธอลืม”ออกมา ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว จากยอดขายเทปเกิน 2 แสนตลับ ภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมกันนี้พวกเขายังออกแสดงสดในรายการ “โลกดนตรี” ทางช่อง 5 ของโฆษกคนยาก “เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์” เป็นครั้งแรก

เดิมนั้นรายการโลกดนตรีเล่นกันสดๆในห้องส่ง แต่ด้วยความดังของชาตรีทำให้การแสดงสดของพวกเขามีแฟนเพลงล้นทะลัก จนห้องส่งรับไม่ไหวต้องย้ายมาจัดกันกลางแจ้ง ก่อเกิดเป็นคอนเสิร์ตโลกดนตรีกลางแจ้งขึ้นนับแต่นั้นมากลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงไทย

อำลา...ชาตรี

ปลายปี 2526 ชาตรีออกผลงานชุดที่ 13 ขึ้นมาคือ “แอบรัก” แล้วตามด้วยผลงานชุด“ชาตรีทศวรรษ” ที่ได้ โทนี่ อากิล่า พ่อของ คริสตินา อากีล่า มาเป็นผู้ร่วมกันผลิต ในสไตล์ดนตรีที่มีเพิ่มความเป็นอีเล็คโทรนิคร็อค โจ๊ะๆ เข้ามา

จากนั้นในปี 2528 วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. ชาตรีไว้ลายด้วยการส่งอัลบั้ม“อธิษฐานรัก”ออกมา แล้วตามด้วยการช็อคแฟนเพลงด้วยการประกาศยุบวง ก่อนเล่นคอนเสิร์ตลำลา ณ ลานโลกดนตรีในวันที่ 5 พ.ค. 2528 ท่ามกลางแฟนเพลงแน่นขนัด และท่ามกลางบรรยากาศความเศร้าโศกของเหล่าบรรดาแฟนานุแฟน แฟนเพลงหลายๆคนเศร้าใจถึงขนาดฟังเพลงไปนั่งร้องไห้ไป

เพราะนับจากนี้จะไม่มีวงชาตรีที่พวกเขาชื่นชอบอีกแล้ว

ชาตรี...คงกระพัน

บนชื่อเสียงความโด่งดังของชาตรี ปัจจัยหลักด้านหนึ่งมาจากการทำเพลงออกมาได้โดนใจแฟนเพลง มีทำนองฟังง่าย ติดหูง่าย ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยหลักอีกด้านหนึ่งยังมาจากการที่ชาตรีเป็นวงที่มีการทำงานแบบครบเครื่องซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับการทำเพลงบ้านเราด้วย (ในยุคนั้น) คือ ทั้งแต่งคำร้อง ทำนอง เรียบเรียง ทำดนตรีเอง ในสไตล์เฉพาะของตัวเอง โดยมีนราธิปหัวหน้าวงเป็นมันสมองและหัวใจสำคัญ

เนื้อเพลงของชาตรี แม้ภาษาจะไม่สละสลวยเหมือนเพลงของดิอิมที่ได้บรรดาครูเพลงมาแต่งให้ แต่ก็เป็นภาษาซื่อๆง่ายๆที่โดนใจวัยรุ่นยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามบนความสำเร็จ โด่งดัง และการเปิดโลกการทำเพลงแบบครบเครื่องของชาตรีนั้น ดูจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของพวกนักอนุรักษ์นิยมในยุคนั้นสักเท่าไหร่ ทำให้ช่วงนั้นวงชาตรีถูกโจมตีว่าพวกเขาร้องเพลงไทยในสำเนียงฝรั่งอย่างเกินงาม อาจทำให้ภาษาไทยวิบัติได้ โดยในหนังสือดนตรีฉบับหนึ่งได้เขียนถึงวงชาตรี สรุปความได้ว่า

...เพลงของชาตรีเป็นเพลงในแบบ “ลูกเทศ” คือเพลงที่มีคำร้องเป็นภาษาไทยแบบกึ่งร้อยกรองกึ่งร้อยแก้ว มีสัมผัสนอกในพอประปราย บางบทก็เป็นกลอนเปล่า ไม่มีสัมผัส ซึ่งชาตรีถือเป็นต้นกำเนิดของเพลงแบบลูกเทศอย่างเต็มตัว โดยมีการร้องเพลงไทยในสำเนียงฝรั่ง ออกเสียง“จิตใจ” เป็น “ฉิดไช” วงดนตรีและเพลงประเภทลูกเทศนี้เกิดง่ายแต่ตายแร็ว เป็นที่นิยมในยุคสมัยแค่ 3 เดือน ถึง 1 ปี แล้วก็เลือนสลายไปแบบไม่มีใครจดจำว่าเป็นเพลงของใคร...

เรื่องนี้คงจะใช้ได้กับบางวงในยุคนั้น แต่สำหรับวงชาตรีแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เพราะวันนี้กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชื่อเสียงของวงชาตรี บทเพลงของวงชาตรี ณ วันนี้ยังอยู่ยงคงกระพันคู่กับวงการดนตรีไทย อย่างไม่มีวันเลือนหาย
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

- ในปี 2550 ชาตรีกลับมาร่วมตัวเล่นคอนเสิร์ตด้วยกันอีกครั้งในชื่อ "33 ปี ชาตรี The Memory Concert"
- ปี 2552 มีข่าวว่าชาตรีจะกลับมารวมตัวกันออกอัลบั้มใหม่แต่ก็เงียบหายไป
- ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจาก หนังสือ "ชาตรี 3 ทศวรรษ บทเพลงแห่งความทรงจำ" ของ EMC เรียบเรียงโดย วันชัย สุนทรถาวร แห่งวงสิชล
- เรื่องราวของชาตรียังไม่จบง่ายๆเพียงแค่นี้ ตอนต่อไปผมจะนำผลงานเพลงดังๆของวงชาตรีมาบอกเล่าสู่กันฟัง

คลิกฟังเพลงวงชาตรีอธิษฐานรัก
*****************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม

*****************************************
แกะกล่อง

ศิลปิน : ชารีส
อัลบั้ม : ชารีส รีแพ็จเกจ

อัลบั้ม“ชารีส”(Charice) ของนักร้องสาวน้อยเสียงทรงพลัง “ชารีส”(Charice) ภายใต้การดูแลของ“เดวิด ฟอสเตอร์”ยอดโปรดิวเซอร์นักปั้นมือทองถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ในบ้านเราอัลบั้มนี้สามารถรับรางวัลแผ่นเสียงทองคำไปครอง นั่นจึงทำให้ทางค่าย “Warner Music” ตอกย้ำความสำเร็จของชารีสอีกครั้งกับอัลบั้ม “ชารีส รีแพ็จเกจ” ที่มีเพลงดังอย่าง “Pyramid” “In This Song” และเพลงอื่นๆในชุดแรกอีกครบครัน รวมถึงมีเพลงใหม่อย่าง “Fingerprint” กับโบนัสแทร็คอีก 3 เพลงเพิ่มเข้ามา ให้ผู้สนใจได้พิสูจน์ในความสามารถและพลังน้ำเสียงของสาวน้อยมหัศจรรย์จากฟิลิปปินส์คนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น