xs
xsm
sm
md
lg

กระแสละครไทยบุกแดนมังกร : ช่วงเวลาน้ำขึ้นต้องรีบตัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจจะไม่ใช่เพียง "T-Wind" หรือสายลมไทยที่พัดผ่านมาแล้วก็พัดผ่านไปอย่างที่สื่อจีนบางสำนักเคยทำการวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วสำหรับกระแสความนิยมในแดนมังกรของ "ละครไทย" หลังมีการอ้างถึงผลสำรวจ การรายงานข่าว บทวิเคราะห์จากสื่อจีนหลายต่อหลายสื่อออกมาโดยมีบทสรุปว่า...

...ณ. ปัจจุบัน กระแสความฮิตของละครไทยในจีนนั้นอาจจะถึงขั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า T-Pop (Thai pop culture) ที่จะเข้ามาแทนที่ความบันเทิงของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเคยสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ J-Pop (Japanese pop culture) และ K-Pop (Korean pop culture) มาแล้ว


โดยในรายละเอียดต่างๆ ที่ออกมาได้มีการกล่าวถึงความนิยมของคนจีนที่มีต่อละครไทยตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง "เลือดขัตติยา" ไปจนถึงละครที่สร้างกระแสความความนิยมสุดๆ อย่าง "สงครามนางฟ้า" ซึ่งส่งผลให้สถานีโทรทัศน์จีนทั้ง CCTV8, หูหนาน และ อานฮุย ต้องหันมาซื้อละครไทยไปฉายอย่างต่อเนื่อง ทั้ง รอยอดีตแห่งรัก, พรุ่งนี้ก็รักเธอ, บ่วงรักกามเทพ, แก้วล้อมเพชร, ดอกรักริมทาง, แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา ฯ

กระแสความนิยมต่อละครไทยส่งผลให้ดาราไทยหลายคนกลายเป็นที่คลั่งไคล้ของแฟนคลับตี๋-หมวยรุ่นใหม่ ทั้ง ติ๊ก เจษฎาภรณ์, อ้อม พิยดา, เคน ธีรเดช, แอฟ ทักษอร, อั้ม อธิชาติ, ป้อง ณวัฒน์, บี น้ำทิพย์, แป้ง อรจิรา หรือจะเป็นในรายของ บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ที่บรรดาแฟนคลับจีนถึงกับขนานนามว่าเป็น เจย์ โจว เมืองไทยกันเลยทีเดียว
...
แรงจริง/แรงปั่น?
"ค่อนข้างจะเป็นเรื่องอะไรที่น่าตกใจและประหลาดใจอยู่พอสมควรนะครับ อย่างตอนที่เราเอาคุณป้องไปโชว์ตัวปรากฏว่ามีแฟนคลับหลายสิบมารอรับซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่คาดคิดมาก่อนเลย" สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท เอ็กแซ็กท์ และซีเนริโอ จำกัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกๆ ในการเปิดตลาดละครไทยในประเทศจีนให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมาเผยถึงความคลั่งไคล้ของคนจีนที่มีต่อละครและดารานักแสดงไทย
สงครามนางฟ้า ละครจากค่ายเอ็กแซ็กท์ฯ ที่ปลุกกระแสความนิยมของคนจีนให้มีต่อละครไทย
"เริ่มต้นแรกๆ เลยก็ประมาณ 7-8 ปีที่แล้วจากเรื่องเลือดขัตติยา ก่อนจะมาดังมากๆ จากสงครามนางฟ้า แล้วหลังจากนั้นมันก็เริ่มที่จะเป็นกระแสต่อๆ กันมา จริงๆ ไม่ใช่ละครของเราเจ้าเดียวนะครับ เจ้าอื่นๆ ก็มี แล้วก็ไม่ได้ฉายที่จีนประเทศอย่างเดียว สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดฯ ฟิลิปปินส์ อะไรพวกนี้ก็เอาละครเอารายการทีวีของเราไปฉายที่บ้านเขานานแล้ว เพียงมันไม่เป็นข่าวเพราะมันไม่เกิดกระแสเท่ากับตอนนี้"

ด้วยประชากรกว่า 1,300 ล้านคนส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีตลาดโทรทัศน์ใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย และนั่นเองที่ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ากระแสความคลั่งไคล้ของคนจีนที่มีต่อละครไทยในตอนนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือสำคัญอะไรมากมายและเป็นไปในวงแคบๆ เพียงแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ตามหากลองมองในมุมกลับ ยิ่งจีนมีขนาดตลาดที่ใหญ่มากเท่าไหร่ เศษเสี้ยวของความนิยมที่ว่าก็ย่อมหมายถึงตลาดที่กว้างมากขึ้นเท่านั้นใช่หรือไม่?

โดยเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่าน นสพ.ธุรกิจชื่อดัง "วอลล์สตรีต เจอร์นัล" ได้ลงบทความว่าที่ประเทศจีนนั้นละครไทยบางเรื่องมีกระแสความแรงจนเข้าไปแทนที่ซีรีส์ยอดฮิตของอเมริกัน อย่าง ซีเอสไอ เลยทีเดียว นอกจากนี้ผลจากการสำรวจเรตติ้งของหลายๆ สื่อก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าตอนนี้ละครไทยนั้นได้รับความนิยมแซงเกาหลีและญี่ปุ่นไปแล้ว จะเป็นรองก็แค่เจ้าบ้านเท่านั้น

"ส่วนหนึ่งผมว่ามันเริ่มไปกระเทือนตลาดละครเกาหลีที่มาแรงในระยะหลายปีมานี้ มันเลยเป็นประเด็นขึ้นมา อย่างสถานีอานฮุยนี่ ถ้าจะเปรียบกับบ้านเราก็คือช่อง 3 ที่เอาหนังจีนมาเข้าฉาย คือออานฮุยนี่เขาอยากจะเคลมว่าเขาเป็นเจ้าละครไทยเลยนะ ซึ่งตอนนี้เขาเซ็นสัญญาซื้อละครทุกเรื่องของเราที่ทำในช่วง 2 ปีนี้เพื่อเอาไปฉายที่โน่น โดยเขามีการจัดช่วงเวลาให้กับละครไทยโดยเฉพาะ"

"อย่างล่าสุดทางกงศุลไทยที่เซี่ยงไฮ้ก็แจ้งมาว่าตอนนี้ละครไทยของเราที่นั่นกำลังดังมาก หรืออย่างบี้ที่เขากำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ ผมได้ข่าวมาว่าตอนนี้แฟนคลับจีนของบี้นั้นถึงขนาดที่เหมาเครื่องบินเพื่อมาชมคอนเสิร์ตนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว"
...
เน่าจนได้ดี?
มีการวิเคราะห์กันว่า นอกจากเรื่องของการ "เป็นรสชาติใหม่" แล้ว "ความน้ำเน่า" จากเรื่องประเภทชิงรักหักสวาท, ความรักที่ผิดหวัง, ความดีชนะความเลว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ที่เข้าขั้นซ้ำซาก แต่ก็ถูกนำเสนอแบบจริงใจ ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นความบันเทิงที่เรียกได้ว่าพาฝันของจริงนั่นเองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครไทยได้รับความนิยมในจีน

โดยสื่อจีนรายหนึ่งสรุปได้ว่า ละครไทยคือความเชย แต่ยังย้ำตามไปว่าความเชยคือสิ่งอมตะ

นักวิจารณ์เจิ้งฉิงซ่ง กล่าวว่าปรากฏการณ์ความนิยมของประเทศไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากชาวจีนให้ความสนใจในวัฒนธรรมไทยอยู่เป็นทุนเดิมแล้วเนื่องจากประเทศไทยมีอารยธรรมที่เก่าแก่ยาวนาน โดยนอกเหนือจาก อาหาร, มวยไทย และกะเทย (หรือ เหยินเหยา ที่ชาวจีนให้ความสนใจกันมากๆ) แล้ว ไทยก็คือประเทศในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีความลี้ลับอยู่พอสมควร

ความน่าสนใจของวัฒนธรรม และลีลาแบบไทยๆ กลายเป็นเสน่ห์สำหรับชาวจีน ที่พวกเขาไม่ได้คุ้นเคยนัก แตกต่างจากสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ยังเห็นได้ชัดว่ามีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมจีนอยู่ในระดับหนึ่ง

ในกรณีของ เลือดขัตติยา สื่อจีนรายหนึ่งบรรยายความประทับใจของพวกเขาต่อละครเรื่องนี้ว่า เกิดขึ้นจากทั้งจากเครื่องแต่งกายของนักแสดง, สถาปัตยกรรมอันงดงาม ที่ผสมระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออก อาคารที่สูงตระหง่าน มียอดแหลม และไม้แกะสลักตกแต่งปิดทอง รวมไปถึงเนื้อหาที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวของการเมืองการปกครองและความรักอันสุดโรแมนติกของคู่พระนางที่มีฐานันดรศักดิ์แตกต่างกัน แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้หาง่ายนักในละครชุดของจีน หรือฮ่องกงเอง ที่พูดถึงเรื่องเรื่องเจ้าชายเจ้าหญิง และราชสำนักก็ต้องนึกไปถึงละครชุดอิงประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่
ความหล่อแบบ บี้ สุกฤษฎิ์ - ป้อง ณ วัฒน์ 2 ดาราไทยซึ่งกำลังเป็นที่คลั่งไคล้ของหมวยจีน
"อย่างของเกาหลีส่วนใหญ่เขาจะรักโรแมนติกเป็นแนวเดียวกันตลอด แต่ละครเรามันค่อนข้างที่จะหลากหลายแล้วก็ชัดเจน คือโกรธก็คือโกรธ รักคือรัก ร้องไห้ก็คือร้องไห้ ร้ายก็แสดงออกว่าร้าย ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มันเป็นอินไซด์ของมนุษย์ส่วนใหญ่นะ เพราะฉะนั้นละครไทยก็เหมือนกับรสชาติของอาหารไทยน่ะ"

โดยนอกเหนือไปจากเรื่องราวเนื้อหาแล้วว่ากันว่าความหล่อความสวยของนักแสดงไทยนั้นก็มีผลไม่น้อยในการที่ทำให้ละครไทยเป็นที่นิยมของบรรดาอาหมวยอาตี๋ทั้งหลาย

“ฉัน ชอบละครไทย เพราะนางเอกสวยมาก และพระเอกก็หล่อ เนื้อหาก็มีที่มาที่ไป แม้ว่าตอนแรกจะยังไม่คุ้นก็ตาม” จาง จิง แม่บ้านวัย 44 ปี จากปักกิ่งให้สัมภาษณ์ผ่านวอลล์สตรีต เจอร์นัล

"ผมว่าความหล่อสวยของดาราไทยมันเข้าตานะ อย่างดาราเกาหลีเขาก็หล่อสวย แต่ว่าถ้าเทียบกับของเราแล้ว ของเราดูจะหล่อสวยแบบที่คมกว่า และดูเป็นธรรมชาติมากกว่า รวมไปถึงมีความหลากหลายไม่เหมือนกับเกาหลีที่มักจะออกมาในแบบๆ เดียวกัน"
...
ยอดที่ยังไม่ถูกต่อ
แม้การเปิดประตูของแดนมังกรเพื่อต้อนรับความบันเทิงจากไทยในรูปแบบของละครจะกว้างขึ้นมาก ณ ปัจจุบัน ทว่าเมื่อพูดถึงเรื่องของเม็ดเงินจริงๆ ที่ได้จากการขายลิขสิทธิ์ในแต่ละเรื่องซึ่งอยู่ที่หลักแสนบาท รวมถึงค่าตัวจากการบินไปโชว์ตัวที่นั่นของดาราไทยจะยังไม่มากมายนัก แต่ถ้ามองไกลต่อยอดไปถึงอนาคตโดยมีโมเดลของเกาหลีเป็นแบบอย่างแล้วต้องถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การต่อยอดที่ว่านี้ยังคงมีให้เห็นไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานที่น่าจะมองเห็น "โอกาส" จากตรงนี้มากกว่าใครเพื่อนอย่างภาครัฐบาล ทั้งกระทรวงวัฒนธรรมฯ, ททท. ฯ ซึ่งหลังจากข่าวการบินไปลงนามบันทึกความตกลงและความตั้งใจร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้ละครไทยได้ไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ CCTV และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นตามมณฑลต่างๆ ของจีนโดยนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อปีที่แล้ว ก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาอีก

ขณะที่บางหน่วยงานก็ยังคงไปให้ความสำคัญเสียเงินจ้างดารานักร้องเกาหลีเข้ามาโกยเงินในบ้านเราออกไปอยู่เป็นระยะๆ

"มันก็มีความร่วมมือกันอยู่ แต่ว่าส่วนใหญ่จะหนักไปในทางคุยกันหรือว่าไปร่วมเสวนาด้วยกันซะมากกว่า อย่างอื่นยังไม่มีที่เป็นรูปธรรม คือเท่าที่ดูผมว่ารัฐยังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากกว่า ดูจากเม็ดเงินที่ให้ไปในการจัดงานแต่ละครั้งนะ ซึ่งมันก็ดีแต่หนังผมว่ามันบูมเป็นช่วงๆ"
ฉาก ตบ-จูบ-ข่มขืน ที่มีให้เป็นจนชาชินในละครไทย
"เทียบกับความต่อเนื่องหรือการสร้างกระแสละครมันน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีกว่า เพราะเป็นอะไรที่ดูกันได้ทั้งบ้าน ดูกันได้ทุกบ้าน สามารถเข้าไปถึงประชากรได้ซึมลึกและเป็นวงกว้างมากกว่า อย่างแดจังกึมหรือว่าซีรี่ส์ดังๆ ของเกาหลีที่ผ่านมามันก็พิสูจน์แล้วว่ามันสามารถสร้างกระแสให้อะไรอีกมากมายของเกาหลีเข้ามาในบ้านเราได้จริง ทั้งอาหาร การท่องเที่ยว นักร้อง"

"ตอนนี้ในส่วนของเราก็คือเราก็ทำไปตามที่มันควรจะเป็นในเชิงธุรกิจเพราะว่าเรารอไม่ได้ ส่วนการต่อยอดเราก็มีการพูดคุยกับทางฝั่งจีนอยู่ เช่น อาจจะมาทำละครร่วมกัน หรือว่าแลกดารานักแสดง ซึ่งตรงนี้มันเป็นระดับไอเดียมานานแล้ว แต่มันเริ่มที่จมาชัดเจนและมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นหลังที่กระแสมันเริ่มมา
...
อนาคตสดใสแต่ไม่แน่นอน
ว่ากันตามความเป็นจริงการเข้าไปสร้างกระแสความนิยมในเมืองจีนของละครไทยนั้นหาใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใด ที่สำคัญหากมองถึงประวัติศาสตร์แล้วนี่คือเวลาทองที่เราน่าจะฉกฉวยก่อนที่จะไม่มีโอกาสให้ไขว่คว้า

ย้อนไปในยุค 90s ซีรี่ส์ญี่ปุ่นเองเคยเข้าไปกอบโกยความสำเร็จในจีนอย่างต่อเนื่องแม้ซีรี่ส์อิงประวัติศาสตร์บางเรื่องจากแดนปลาดิบจะมีเนื้อหาในแง่ลบเกี่ยวกับชาวจีน แต่คนรุ่นใหม่ชาวจีนก็ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับเนื้อหาเหล่านั้นแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้มีอำนาจที่คิดว่าเนื้อหาเหล่านั้นไม่สมควรถูกแพร่ภาพในประเทศจีน

ปี 2004 กองเซนเซอร์ของประเทศจีนถึงกับให้แนวทางกับบรรดาสถานีโทรทัศน์ ให้ลดทอนการเสนอรายการของต่างชาติที่มีเนื้อหา "ไม่เหมาะสมกับระบบสังคมจีน" ในโทรทัศน์กันเลยทีเดียว

นอกจากนั้นจีนยังใช้กลไกของการเซนเซอร์เพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศด้วย เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาการ์ตูนต่างชาติที่ได้รับความนิยมในจีนไม่ว่าจะเป็น Spongebob Squarepants, มิคกี้ เมาส์ และโปเกมอน ที่หลุดจากช่วงเวลาไพรม์ไทม์กันถ้วนหน้าในเดือน พ.ค. ของปี 2008 เพื่อเหตุผลในการปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมอนิเมชั่นของจีนโดยเฉพาะ

มีข้อมูลว่าตามนโยบายของสถานีโทรทัศน์อย่าง CCTV นั้น โควต้าของรายการจากต่างชาติจะถูกกำหนดให้มีอยู่ประมาณเพียง 15% เท่านั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการผลิตรายการในประเทศเอง ซึ่งก็ดูเหมือนจะได้ผลเพราะครั้งหนึ่งรายการจากชาติตะวันตกอย่าง Baywatch, Dynasty หรือ ละครชุดของฮ่องกงเคยได้รับความนิยมจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าที่จะชมรายการที่ผลิตกันในประเทศถึง 3 เท่า แต่ปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าตัวเลขจะกลับตาลปัดเป็นรายการของชาวจีนเองที่ได้รับความนิยมมากกว่าไปแล้ว

ละครไทยที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศจีนขณะนี้ มีจุดแข่งอยู่ที่ดาราซึ่งมีบุคลิกแตกต่างจากบรรดาซูเปอร์สตาร์จากถิ่นเอเชียตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น, ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ นอกจากนั้นเนื้อเรื่องอันเผ็ดร้อนถึงพริกถึงขิงก็เป็นจุดขายที่กลายเป็นที่ชื่นชอบของที่นั่น แต่ในเวลาเดียวกันเนื้อหาทำนองที่ว่าก็อาจจะเป็นจุดบอด ที่ทำให้ละครไทยไม่ถึงดวงดาวได้เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเงื่อนไขของจีนต่อเนื้อหาละครที่จะเข้าไปฉายในประเทศตนเองว่าจะทำการเซ็นเซอร์ทันทีหากละครต่างประเทศมีเนื้อหาหนึ่งละครที่มีนักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียนแล้วทำความผิดร้ายแรงต่างๆ สองละครที่เป็นเรื่องผีหรือไสยศาสตร์ และสามละครที่มีตัวละครนำเป็นเพศที่ 3 หรือรักร่วมเพศ

"ฉากข่มขืน" ในละครไทย กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันในเว็บไซต์ต่างชาติแห่งหนึ่ง เมื่อมีชาวต่างชาติบางคนกล่าวว่า เขารู้สึกชื่นชอบละครไทยอยู่ไม่น้อย แต่ก็แปลกใจนิดหน่อยเมื่อต้องเจอกับฉากที่ตัวละครพระเอกข่มขืนนางเอกได้เหมือนไม่มีความผิดอะไร

และยิ่งแปลกใจขึ้นไปอีกเมื่อพบว่ามีละครจำนวนมากมายหลายเรื่อง ที่มีฉากลักษณะนี้ ขณะที่บางฝ่ายได้ปกป้องว่าฉากข่มขืนในละครไทยไม่ได้รุนแรงอะไรอย่างที่คิด ไม่มีฉากโป๊เปลือยอะไรให้เห็นมากกว่าการกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันตามธรรมดา แต่กระนั้นก็มีคนที่ท้วงว่าความรุนแรงของฉากทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องของภาพที่ล่อแหลม หากแต่เป็นเนื้อหาที่สร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืนต่างหาก

"ฉันได้ดูฉากแบบนั้นในละครไทยแล้วและรู้สึกกลัวมาก ทำไมพวกเขาทำฉากข่มขืนออกมาได้สมจริงและดูธรรมชาติแบบนั้น แล้วทำไมพระเอกถึงแสดงออกเหมือนกับว่าเขามีเซ็กส์กับเธอธรรมดาๆ ทั้งๆ ที่นั่นคือการข่มขืนนางเอกชัดๆ"

"เราจะบอกกับเด็กผู้หญิงที่ดูละครพวกนี้ว่าอย่างไร ถ้าพวกเขาดูแล้วเชื่อไปว่าเรื่องแบบนี้มันปกติ สังคมไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องพวกเขาเลย นี่มันเป็นปัญหาใหญ่ และไม่ควรอยู่ในจอโทรทัศน์เลย"

ในขณะนี้ละครไทยไม่เพียงรุกหนักในตลาดบันเทิงจีนผ่านทางสื่ออย่างโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังอาศัยเส้นทางของอินเทอร์เน็ต เดินทางเข้าไปให้ความบันเทิงกับเหล่าวัยรุ่นจีนแบบใต้ดินชนิดที่ว่าละครบางเรื่องฉายจบเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถหาแบบฉบับซับไตเติลภาษาจีนกันได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าละครไทยไม่สามารถ "กำจัดจุดอ่อน" อย่างเรื่อง "เซ็กส์" และ "ความรุนแรง" แบบสุดขั้วออกไปได้ สินค้าออกที่เต็มไปด้วยความคาดหวังประเภทนี้ก็ยังมีจุดอ่อน เป็นจุดตายที่รอวันโดนเชือด

และถ้าหากเรายังคงมองเรื่อง "เซ็กส์" และ "ความรุนแรง" ในละครของไทยเป็นจุดแข็งจุดขาย เป็นสินค้าหลักที่น่าภาคภูมิใจ อนาคตของละครไทยก็คงต้องเดินไปบนความไม่แน่นอนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น