xs
xsm
sm
md
lg

“หนึ่ง อีทีซี” ตีปีกสร้างอาณาจักรใหม่ภายใต้ “อีทีซี จำกัด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงกับเคลิบเคลิ้มทุกครั้งเมื่อได้ยินบทเพลงเพราะๆ ซึ้ง ๆ จากศิลปินคุณภาพอย่างวง“ อีทีซี” หลายบทเพลงที่ฮิตติดหูโดนใจอาทิ "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ" , "ผิดที่ฉันเอง" , "เปลี่ยน" และอีกหลากหลายบทเพลง ล้วนแล้วแต่โดนใจทุกเพศทุกวัย

          ซึ่งวันนี้“นัดคุย” ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ “หนึ่ง อภิวัฒน์ พงศ์วาท” นักร้องนำเสียงนุ่ม หนึ่งในสมาชิกวงอีทีซี ซึ่งเจ้าตัวนั้นก็ยินดีที่จะเปิดเผยจุดเริ่มต้นของวง "อีทีซี"ที่กว่าจะมีชื่อเสียงได้นั้น วงอีทีซีก็เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกับวงอื่นๆ ที่บังเอิญมีแมวมองมาเจอในผับและทาบทามให้ทำเพลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ตัวเองนานนับปีกว่าจะประสบผลสำเร็จกลายเป็นที่รู้จัก และ ณ ปัจจุบัน วง"อีทีซี"ได้ตัดสินใจละทิ้งความมั่นคงทุกอย่างที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต่างยื่นข้อเสนอให้ เพื่อออกมาสร้างอิสระบนเสียงเพลงด้วยตัวเอง

“เมื่อก่อนวงเราเล่นที่เชียงใหม่ในนามอีทีซีนี่แหละครับ ผมเป็นสมาชิกวงที่เข้ามาเป็นคนสุดท้าย เป็นมือกลองแล้วก็ร้องเพลงไปด้วย ก็ยึดเล่นเป็นอาชีพอยู่หลังจากเรียนจบประมาณ3ปีกว่า เราจะเล่นประจำอยู่ที่ร้านคอทเทจ แนวเพลงเราเป็นแบบประยุค แจ๊ส ฟังก์กี้ ผสมกับเพลงไทยแล้วก็มาเรียบเรียงในสไตล์เพลงเรา เวลาเล่นในผับเราก็เล่นในสไตล์นี้ ที่ร้านคอทเทจก็เป็นร้านที่ดัง แขกส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี โปรดิวเซอร์ก็จะแวะเวียนมาที่ เดอะ คอทเทจ ซึ่งก็บังเอิญมีคนแนะนำพี่อ้อม (ชุมพล สุปัญโญ) ให้มาดูวงเราเพราะเราเล่นแนวเพลงแบบที่พี่อ้อมชอบเลย”

“หลังจากที่พี่เขาดูแล้วเขาก็ชวนเราไปทำงาน ตอนนั้นเขาถามว่าเรามีเพลงแต่งกันไหม เราก็เอาเพลงที่แต่งไว้ให้เขาฟัง แล้วเขาก็คอยแนะนำอยู่ประมาณ1-2ปี เขาขึ้นมาทำสกรีนเทสที่เชียงใหม่เลยเวลาเขาว่าง เราก็โอเคได้ที่ทำงานแล้วก็ทำอัลบั้มแรกกันในนามค่ายใบตอง เร็คคอร์ด ของแกรมมี่มีพี่อ้อมเป็นหัวหน้าค่าย เราเซ็นสัญญาอยู่กับแกรมมี่ 5 ปี มันก็โอเคในระดับหนึ่งหลังจาก 2 เพลงแรกออกไปแล้วพี่อ้อมเขาก็ปล่อยพวกเราเป็นอิสระ พอเราทำเสร็จพี่อ้อมก็คอยให้คำแนะนำ”

“ตอนนั้นเรียกว่าผลงานเปรี้ยงชนิดแจ้งเกิดเลยไหม ก็แจ้งเกิดในแบบกล่อง งานจ้างน้อยมากแล้วด้วยความที่เราอยู่ค่ายใหญ่ เรารู้สึกได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่แกรมมี่ศิลปินเยอะมากๆ และในช่วงนั้นเองเป็นช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลงการยุบค่าย ค่ายเล็กค่ายน้อย แม้แต่ใบตองเองก็ถูกยุบไปด้วยเป็นช่วงหนึ่งที่แกรมมี่แตกหน่อ นั้นก็คือช่วงที่ลำบากมากที่สุด ลำบากถึงขนาด นั่งกิน นอนกิน ไม่มีงาน แต่ว่าโชคดีที่ตอนนั้นพี่อ้อม เขาให้โอกาสพวกเราก็เลยให้พวกเรามีโอกาสเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินในค่าย อัลบั้มแรกที่พวกเราทำคืออัลบั้มของนิว-จิ๋ว”

“ในระหว่างนั้นเราก็มีโอกาสได้ทำนั่นทำนี้หลายอย่างกับศิลปินรุ่นใหญ่ในแกรมมี่ซึ่งก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีครับจนวันนึงพี่อ้อม ได้ย้ายไปอยู่ค่าย เคพีเอ็น ทีนี้เราก็เลยตัดสินใจว่า เห็นช่วงนั้นเขาอนุโลมให้ยกเลิกสัญญาได้เพราะในค่ายมีศิลปินเยอะมากที่ไม่ประสบผลสำเร็จแล้วก็ไม่มีอะไรทำ คือทำอะไรไม่ได้ เราก็เลยอาศัยช่วงชุลมุนช่วงนั้นขอยกเลิกสัญญากับทางแกรมมี่ ก็ถือว่าเราจากกันด้วยดีครับ เขาก็ไม่รู้จะเคืองเราด้วยสาเหตุอะไร เพราะเราก็ไม่ได้ทำรายได้ให้เขามาก”

“หลังจากนั้นเราก็เร่งทำเพลงกันอย่างรวดเร็ว แล้วก็ออกอัลบั้มกับค่ายเคพีเอ็น มิวสิค ที่นี่ค่อนข้างที่จะให้อิสระกับเราผลงานทำให้เราสนุกกับการทำงาน เพราะว่าเขามั่นใจในเราเขาเชื่อความรู้สึกเชื่อสัญชาติญาณนี้ของเรา ผลงานเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราเริ่มมีงานจ้างเขามาเรื่อยๆ และที่สำคัญเคพีเอ็นจัดคอนเสิร์ตให้เราทุกปี ซึ่งตรงนี้มันทำให้ทุกคนได้รู้จักอีทีซีมากขึ้น แล้วก็ทำให้พวกเรา ค่าตัวแพงขึ้นด้วย(หัวเราะ) ภาพรวมจากแกรมมี่สู่เคพีเอ็นเราเห็นว่าเราว่าเราเติบโตขึ้น เราสามารถนำเสนอ สิ่งที่เราพยายามฝ่าฟันมาตลอด นั่นก็คือแนวเพลงที่เราเล่นในแบบฟิวชั่น แจ๊ซ ฟรังกี้ โซว์ อะไรพวกนี้ เป็นแนวที่แบบ เหมือนถ้าเราทำออกมามันจะมีความรู้สึก เฉพาะกลุ่มๆ เราอยากจะทลายกำแพงตรงนั้น”

เน้นขายโชว์เป็นหลัก มากกว่าหารายได้จากการขายดาว์นโหลดเพลง

“วงการเพลงไทยปัจจุบันในมุมมองของผม ผมมองว่าวงการเพลงตอนนี้กำลังจะก้าวสู่อะไรใหม่สักอย่างมั้งครับ สักอย่างในที่นี้คือทุกคนอยากให้มันดี ให้มันลงตัวเสียที อยากให้มันเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ด้วยก่อนนี้โลกดิจิตอลพาระบบวงการเพลงไทยเรารวนไปหมดเลย ตอนนี้ทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็กก็พยายามจะปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบัน แต่ว่าจะทำยังไงไม่ให้เสียความเป็นนักดนตรี ไม่ให้เสียความเป็นองค์ประกอบศิลป์ไปด้วย ในการทำงานเป็นอัลบั้มก็มีคอนเซ็ปเป็นอัลบั้ม ตอนนี้ส่วนใหญ่ใช้ระบบทำเป็นซิงเกิ้ลแล้วดังขึ้นมา ความคิดมันเริ่มเปลี่ยน คนที่อยากจะทำเป็นอัลบั้มก็อยากจะทำอยู่ คนที่อยากจะทำเพลงโปรดักชั่นกับเพลงๆ เดียวไปเลยก็อยากทำ”

“อย่างอีทีซีเองตอนนี้เรามีแพลนของเราก็คือในท้ายที่สุดเราต้องมีอัลบั้ม แต่ด้วยโลกดิจิตอลเราต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การปล่อย อาจจะไม่ได้ปล่อยทีเดียวตั้งแต่แรกเต็มอัลบั้มเลย แต่ให้ปล่อยทีละนิด จนถึงจำนวนหนึ่งที่คิดว่าโอเคแล้ว ที่ผ่านมาเราก็ไม่ถึงกับจุดคุ้มทุน เพราะว่าเป็นยุคที่หนักหน่วงของการดาวน์โหลด แม้แต่อัลบั้ม Bring It Back เองที่คนรู้จักกันเยอะๆ มันก็ไม่ได้ถึงเป้า เราก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นแต่เราก็จะทำ เราตั้งใจทำปกสวยๆ(หัวเราะ) โปรดักชั่นดีๆ อะไรอย่างนี้ เราก็จะเขียนขอบคุณในปกเยอะๆ เพราะว่าเราโตกับตรงนั้น เราก็อยากจะให้คนฟังรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ตอนที่เราเปิดซีดีวงที่เราชอบ”

“แต่เราก็อยู่กันได้เพราะพักหลังๆเราเริ่มที่จะมีงานโชว์ตัวเยอะขึ้น เราก็เก็บประสบการณ์จากตรงนั้นส่วนช่องทางทำงานด้านดาวน์โหลดเราก็เริ่มปลงๆ เริ่มเห็นว่ารายได้ส่วนใหญ่ที่เราได้ใช้ทุกวันมาจากการเล่นสด ทีนี้เราก็เลยเอาดีทางด้านการเล่นสด”

ไม่จำเป็นต้องมีสังกัด กล้าลุกทำเพลงเอง โดยเปิด “บริษัท อีทีซี จำกัด”

“พอโชว์เราดี เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นก็มีหลายค่ายติดต่อเข้ามานะครับแม้แต่ทางแกรมมี่เอง เขาก็ชี้แจงให้ดูว่าถ้าเราไปอยู่ที่นู่นเราจะได้อะไรบ้าง เขาแข็งแรงตรงไหนบ้างซึ่งเราก็เห็นว่าตอนนี้เขาแข็งแรงจริงๆ ทางด้านสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อใหม่ไม่ว่าจะเป็นช่องเคเบิ้ลทีวี หรือว่าอะไรต่างๆนานา ช่องทางดาวน์โหลดต่างๆซึ่งเยอะแยะมาก เราเห็นเป็นเม็ดเงินหมดเลย ซึ่งถ้าเราไปอยู่คงมั่นคงจริงๆ ตั้งแต่เราออกมาเราก็มองเพื่อนรอบข้างเอา ดูแทตทูคัลเลอร์ ดูกรู๊ฟไรด์เดอร์สิ ทำไมเขาอยู่กันได้โดยไม่ต้องอยู่ค่ายใหญ่อะไรอย่างนี้”

“เรื่องอดีตมีส่วนในการตัดสินใจไหมมันก็มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่เล็กๆ นิดๆ เหมือนกันครับ รู้สึกว่าถ้าเราไปอยู่อาจจะเข้าเหมือนเดิมก็ได้ เพราะเขาก็มีศิลปินเยอะแยะที่ต้องดูแล ถ้าเราอยู่กับเคพีเอ็น เราคือศิลปินเบอร์เดียวของเขา แล้วเขาก็ดูแลเราแบบลูกรักเลยครับ เราก็รู้สึกดี รู้สึกดีมากๆ ตรงนั้นแหละที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องค่ายใหญ่ก็ได้”

“จนสุดท้ายเราก็เปิดค่ายกันเองเมื่อเราหมดสัญญากับเคพีเอ็นแล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากต่อสัญญากับเขานะครับเพียงแต่ว่าจริงๆแล้วเขาไม่เอ่ยปากชวนครับเพราะว่าเคพีเอ็นเขาให้อิสระทางความคิด อยู่กับพวกเราต่อสิเขาคงไม่พูด แต่เขาให้พวกเราคิดเองว่าอยากจะทำอะไร พวกเราก็คิดกันเองว่า ถ้าเราเปิดกันเองจะเป็นยังไง ดูแลกันเองจะเป็นยังไง ลองทำกันดูไหม เราจะได้คุม ดูแลทุกๆโปรดักชั่นด้วยตัวเราเองเลยในนามบริษัท อีทีซี จำกัด ตอนนั้นก็คิดเยอะเหมือนกันครับว่าจะทำยังไง จะอยู่ไหวไหม แต่ว่าทางเคพีเอ็นเขาใจดีมากบอกว่าให้โอกาสอีทีซีเติบโต คือเราอยากจะทำเป็นบริษัทของตัวเอง และด้วยช่วงอายุนี้น่าจะดีที่สุด เสี่ยงลงทุนได้”

“เรื่องการโปรโมทตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่เราคิดเหมือนกันว่าจะทำยังไง จะต้องจ้างใครมาอยู่ไหม สุดท้ายหลังจากที่เราคุยกับหลายๆที่ คุยกับมืออาชีพในด้านต่างๆเรื่องโปรดักชั่นที่เกี่ยวกับในค่าย ที่จำเป็นจะต้องมีทั้งหมดในการดูแลศิลปิน เราก็เลยได้สูตรที่ว่าเราจะลองทำดูในลักษณะนี้ ก็คือเป็นอีทีซีเหมือนตัวเราเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แล้วก็ อยากให้ทีมนี้ทำโปรโมทให้ ทีมนี้ดูแลให้ เราก็ไปคุยเป็นโปรเจ็กต์ไป”

หวังให้งานเพลงของตัวเองอีก 10ปี ก็ยังเป็นอมตะ

“บอกเลยว่าปัจจุบันที่เราอยากทำอัลบั้มเพื่อหวังให้มันเกิดการเผยแพร่เพลงครับนั่นคือทำงานของเรา อีซีทีทำเพลง ก็คือทุกๆ อัลบั้มก็มีเป้าหมายอยากทำเพลงให้อมตะ เป็นแบบทุกอัลบั้มเลยที่คนหยิบมาฟังเมื่อไหร่ จะ10หรือ20ปี ก็ยังเหมือนที่เราหยิบเพลงของอินโนเซนส์มาฟังในทุกวันนี้เราก็อยากได้เป็นแบบนั้นก็ไม่กล้าพูดด้วยตัวเองครับ(หัวเราะ) จนมีคนอื่นมาพูดให้ฟังว่างานเราถึงขั้นนั้นหรือยัง สมมติไปอยู่ที่เชียงใหม่ เพื่อนๆ พูดให้ฟังว่าเพลงเธอคือใครเป็นเพลงที่ ที่ไหนก็ต้องเล่นเป็นเพลงอมตะรู้สึกดี”

“ต้องรอดูอีก10ปี ว่าเขายังเล่นกันอยู่หรือเปล่า หรือว่าเขายังเปิดเพลงนี้กันอยู่หรือเปล่า เราไม่อยากให้มันดังขึ้นมาแว้บหนึ่งแล้วก็หายไปตามกระแส ไม่อยากให้ใครที่ได้ร้องเพลงนี้ รู้สึกว่าเอ้าท์ไปแล้ว อยากให้รู้สึกว่าหยิบมาร้องทุกครั้งก็มีความหมายกับใครสักคน มีความหมายกับคนเยอะๆ ทุกครั้งที่ได้เล่น ดังนั้นเราก็เลยเนี้ยบมาตั้งแต่เนื้อเพลง ตั้งแต่การมิกซ์ทุกอย่างจนมาเป็นเพลงที่ได้ยิน”

“ณ วันนี้ต้องบอกว่าอีทีซีเราโตขึ้นมากเยอะแบบก้าวกระโดดเหมือนเรียนเทียบ มีประสบการณ์ที่บางคนอาจจะได้เรียนรู้กันในระยะเวลา 3-4ปีแต่ว่าเราอาจจะได้มาเจอในช่วงเวลาปีเดียว ส่วนอัลบั้มชุดใหม่ที่เราจะทำเองในค่ายของเราวันนี้ ได้นั่งฟังเดโมกันหลายๆ เพลง ค่อนข้างชัดเจน เพลงช้าค่อนข้างเห็นภาพของอัลบั้มนี้แล้วว่าจะมีสียังไง แล้วเพลงเร็วค่อนข้างจะมีสีสันมากขึ้นด้วยครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น