xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่งสังหาร เขมรโหด : The Killing Fields

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

ช่วงที่ผ่านมา มีผู้อ่านหลายๆ ท่าน ส่งข้อความมาหาผมทางเฟซบุ๊กทำนองว่าอยากให้พูดถึงหนังเรื่อง The Killing Fields สักหน่อย เพราะดูจะเข้ากับสถานการณ์เหลือเกิน ผมก็ไม่แน่ใจว่า ที่ท่านใช้คำว่า “เข้ากับสถานการณ์” นั้น เข้ากันอย่างไร หรือท่านมองว่า ตำนานแห่ง “ทุ่งสังหาร” จะย้อนมาอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งมองยังไง ก็เป็นไปได้ยากอยู่หรอกครับ เพราะทหารหาญของไทยเรา อย่างไรเสีย ก็คงไม่ปล่อยให้ใครมาทำให้คนไทยเสียเลือดเสียเนื้อกันเป็นเบือกันเป็นแน่ แต่ที่ว่าจะ “เสียความรู้สึก” นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

เอาเถอะ ไหนๆ ก็เรียกร้องกันมาแล้ว ผมก็เลยขอพักหนังโรงไว้สักสัปดาห์ ซึ่งที่ผ่านๆ มา ก็มีหนังไทยอย่าง “เท่ง โหน่ง จีวรบิน” เข้าฉาย ซึ่งจะว่าไป ไม่ดูไม่พูดถึงก็คงไม่เสียหาย แต่เห็นน้องๆ หลายคนไปดูมาแล้ว บอกว่า “เสียหายมากเลยครับพี่” อ้าว เป็นงั้นไป

หนังในรอบสัปดาห์ที่พอดูได้บ้าง ก็คงเป็น The Green Hornet นั่นแหละครับ ใครที่เคยมีวันเวลาเก่าๆ ร่วมกับฮีโร่หน้ากากแตนคนนี้ จะไปดู ย้อนความหลังกันแบบเพลินๆ ก็พอจะได้
มาว่ากันที่ The Killing Fields....

The Killing Fields เป็นหนังเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ดีกรีของหนังนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าออสการ์ครั้งที่ 57 ไม่มีหนังชีวิตของโมสาร์ต (Amadeus) เข้าชิงด้วย หนังเรื่องนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

แต่จะว่าไป ขณะที่ Amadeus เป็นเรื่องราวเชิงอัตชีวประวัติของโมสาร์ตที่ขนาบไปกับเรื่องราวของ “มือวางอันดับสอง” ผู้เจ็บปวดอย่างซาเลียรี่ The Killing Fields ก็เป็นหนังเชิงชีวประวัติเช่นเดียวกัน เพราะเนื้อเรื่องหลักๆ มันเล่าถึงผู้สื่อข่าวชาวเขมรที่มีตัวตนอยู่จริงๆ นามว่า “ดิธ ปราน”

ความสุดยอดของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การถ่ายทอดให้เห็นความเหี้ยมโหดที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร้มนุษยธรรม ผสานไปกับเรื่องราวของผู้สื่อข่าวสองคนสองสัญชาติ หนึ่งคือ “ดิธ ปราน” ผู้สื่อข่าวขาวเขมรที่มีอุดมการณ์สูงส่งในการข่าว กับ “ซิสนี่ ชานเบิร์ก” นักข่าวชาวอเมริกันที่เห็นว่าการลงพื้นที่จริง มีความหมายมากกว่าการนั่งเขียนข่าวอยู่ในออฟฟิศเย็นๆ สะดวกสบาย รอแหล่งข่าวคาบข่าวมาส่งให้ จริงหรือไม่จริง ไม่รู้

อันที่จริง ในระดับพื้นฐานที่สุด หนังเรื่องนี้สามารถสื่อสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการเป็นคนข่าวได้อย่างลึกซึ้ง ไม่น้อยไปกว่าหนังคลาสสิกๆ อย่าง All the President’s Menหรือหนังใหม่ๆ เมื่อปีสองปี่ก่อนอย่าง State of Play และที่มันเพิ่มพลังให้กับหนังได้อย่างมหาศาล ก็เพราะว่ามันมีเค้าโครงมาจากชีวิตจริงๆ ของคนซึ่งยืนหยัดเพื่อจะทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวอย่างสมบูรณ์แบบ และก็เป็นเพราะอุดมการณ์ที่แรงกล้าของเขานี่เอง ทำให้เขาได้เป็นดั่งประจักษ์พยานปากเอกที่ช่วยยืนยันการทารุณกรรมอันเหี้ยมโหด ณ ทุ่งสังหาร The Killing Fields

นอกเหนือไปจากนักข่าวที่เอาจริงเอาจังอย่าง “ดิธ ปราน” และ “ชานเบิร์ก” ก็จะมีสื่อมวลชนอีกประเภทที่ชายเบิร์กใช้คำว่า “สื่อขยะ” ปรากฏให้เห็นอยู่ พวกนี้ คือพวกที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริงๆ แต่จะมาที ก็ตอนที่รัฐบาลหรือผู้นำต้องการให้มาเพื่อ “สร้างข่าว” ในแบบที่ตัวเองต้องการ พวกนี้ จะได้รับการบริการอย่างเต็มที่ เรียกว่านั่งเครื่องบินมากันหรูหราเลยล่ะ ต่างจากนักข่าวหัวเห็ดสองสหายที่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกว่าจะได้เข้าไปทำข่าวในพื้นที่

สื่อมวลชนที่รัฐบาลซื้อได้ ก็ไม่ใช่จะเพิ่งมามีในยุค MOU43 ฮิตจัด นี่หรอกนะครับ...

อันที่จริง ความเป็นมาเป็นไป ก่อนจะเกิดกรณี “ทุ่งสังหาร” นี่คงต้องย้อนกันไปไกลเลยล่ะครับ ก็ตั้งแต่กัมพูชาได้รับแรงเหวี่ยงจากสงครามเวียดนามที่กำลังปะทุอยู่โน่นแหละ แต่หนังเลือกที่โฟกัสลงไปที่ช่วงเวลาซึ่งสงครามปะทุคุกรุ่น ทั้งนี้ก็เพื่อสะท้อนถึงความป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมที่คนกระทำต่อกันราวกับอนารยชน คือถ้าไม่นับรวมฉากซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งความสะเทือนใจในตอนที่ดิธ ปราน เผชิญหน้ากับทุ่งสังหารด้วยความรู้สึกร้าวรานในหัวใจ ก็ยังมีฉากเขมรแดงจับกุมผู้คนมาแล้วใช้ผ้าปิดหน้าก่อนจะลั่นกระสุนปืนใส่ ล้มลงไปกองเลือดนองพื้น

ไอ้ประเภทฉากที่สะท้อนความใจร้ายใจดำอำมหิตแบบที่ว่านี้ มีให้เห็นเกลื่อนเลยล่ะครับในเรื่อง ดูแล้ว แม้จะเข้าใจว่าเป็นเพราะแรงขับของสงครามที่ทำให้พวกเขาเหล่าเขมรแดงต้องอำมหิต แต่คิดๆ ไป ก็อดสังเวชใจไม่ได้ เพราะคนหมดหนทางสู้ พี่ท่านยังฆ่าแกงกันเป็นว่าเล่น นึกๆ ไป ก็คิดถึงเชลยศึกคนยิวที่ถูกยิงถูกฆ่าเป็นผักปลาสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แทบไม่ต่างกันเลย
และก็เหมือนกับทุกๆ ยุค ที่ความป่าเถื่อนนำหน้าสติปัญญา ในหนังบอกเล่าว่า คนที่มีการศึกษาหรือปัญญาชน ต่างถูกโค่นถูกฆ่า เพราะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดของผู้นำ เป็นภัยต่อความมั่นคง คนมีความรู้เป็นพวกปกครองยาก ไม่ควรเก็บไว้ นี่เป็นความคิดของผู้นำไม่ว่าจะประเทศไหนที่หัวเก่า ถ้าประเทศมีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ การศึกษาน้อย ก็จะทำให้ง่ายต่อการใช้อำนาจปกครอง

ช่วงตอนหนึ่งในหนังที่สะท้อนอะไรๆ ทำนองนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คือ ตอนที่ดิธ ปราน หนีออกจากทุ่งสังหารแล้วได้รับการช่วยเหลือชีวิตไว้โดยขุนพลกลุ่มเขมรแดงคนหนึ่ง แต่เขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ แสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องราวรู้ราวอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรู้ภาษาต่างชาติ เพราะถ้าถูกจับได้ ก็มีแต่ตายกับตาย เนื่องจากในสายตาของเขมรแดงนั้น “คนมีความรู้” คือศัตรูตัวฉกาจที่ต้องขจัดให้สิ้นซาก

ความน่าสะเทือนใจของ The Killing Fields ก็คือว่า ในขณะที่ประชาชนถูกเข่นฆ่าตายเป็นเบือ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ก็ถูกย่ำยีป่นปี้เป็นผุยผง มันเป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าซึ่งแผ่นดินกัมพูชาคงไม่อยากจะจารึกหรือแม้แต่จะนึกถึง

ตอนที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำอยู่ แม้จะสิ้นสุดยุคเรืองอำนาจของเขมรแดงไปแล้ว แต่ทว่ากัมพูชายังคงมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ สถานที่ถ่ายทำในหนัง จึงต้องพึ่งเมืองไทยในหลายๆ ฉาก หลายๆ จุด

สำหรับเราคนไทยก็อาจจะชอบตอนที่ดิธ ปราน วิ่งซมซานเพื่อเข้ามายังแผ่นดินไทย ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ความร่มเย็นของแผ่นดินนี้และมีอารีต่อบ้านพี่เมืองน้อง ไม่ได้เพิ่งมีในไม่กี่ปีนี้หรอกครับ แผ่นดินไทยที่คนเขมรใช้เป็นที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี

อันนี้ พูดถึงเมื่อก่อนนะครับ แต่เดี๋ยวนี้ ไม่แน่ใจเลยจริงๆ





กำลังโหลดความคิดเห็น