xs
xsm
sm
md
lg

Hana-bi : แล้วพรุ่งนี้ดอกไม้ไฟก็จะกลายเป็นเถ้า/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ไม่ถึงกับเป็นความตั้งใจ ทว่าช่วงหยุดยาวปีใหม่ ดิฉันดูหนังของ ทาเคชิ คิตาโน สามวันสามเรื่องรวด

หนึ่งคือ Zatoichi ถัดมา Sonatine และปิดท้ายด้วย Hana-bi


ทั้งสามเรื่องล้วนเป็นการดูซ้ำ สองเรื่องแรกเป็นรอบที่ 2 เรื่องหลังสุดรอบที่ 3 การดูซ้ำในครั้งนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง เดิมทีเดียว ในบรรดาทั้งสามเรื่อง ดิฉันยกให้ Sonatine เป็นเบอร์หนึ่ง (เป็นได้ว่า เพราะมันเป็นหนังเรื่องแรกของคิตาโนที่ดิฉันได้ดู จึงมีความตื่นเต้นแปลกหูแปลกตายามได้เจออะไรใหม่ๆ เข้ามาผสมโรงเพิ่มคะแนนบวกเข้าไปอีกแรงด้วย)

ทว่าครั้งนี้ เรื่องที่ติดค้างอยู่ในความทรงจำมากที่สุดกลับเป็น Hana-bi – ซึ่งคราวที่ดูสองรอบแรก ดิฉันคิดกับมันเพียง “ก็ดี” ไม่มีความรู้อื่นใดพิเศษเกินไปกว่านั้นสักนิด

Hana-bi ออกฉายครั้งแรกในปี 1997 เป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 7 ของคิตาโน (คิตาโนผันตัวจากนักแสดงมากำกับหนังครั้งแรกในปี 1989 กับภาพยนตร์เรื่อง Violent Cop ส่วนงานชิ้นล่าสุดนั้นมีชื่อว่า Outrage เป็นหนังยาวลำดับที่ 15 imdbo.com ระบุว่า ขณะนี้หนังอยู่ในขั้นตอนของการตัดต่อและบันทึกเสียง มีกำหนดเข้าโรงฉายภายในปี 2010 นี้)

หนังประสบความสำเร็จในแง่ของรางวี่รางวัลมากทีเดียวเมื่อออกฉาย โดยกวาดรางวัล Blue Ribbon (รางวัลที่มอบโดยสมาคมผู้สื่อข่าวของประเทศญี่ปุ่น) ไปได้ถึง 4 ตัว (หนัง ผู้กำกับ นักแสดงนำชาย และนักแสดงสมทบชาย) อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากสถาบันภาพยนตร์ญี่ปุ่นอีก 11 สาขา (แต่สุดท้ายก็ได้มาแค่รางวัลเดียว คือ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ฝีมือ โจ ฮิซาอิชิ)

ขออนุญาตเล่าเผื่อสำหรับคุณผู้อ่านที่อาจจะพลาดหนังไป – ใน Hana-bi ทาเคชิ คิตาโนรับบท นิชิ นายตำรวจรุ่นใหญ่ผู้ที่ตำรวจรุ่นน้องและลูกน้องให้คำอธิบายว่า “ตามปรกติ เวลาที่คุณโฮริเบะ (คู่หูของนิชิ) คลั่ง คุณนิชิจะเป็นน้ำเย็นเข้าไปสยบ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณนิชิเป็นฝ่ายคลั่งขึ้นมาบ้างละก็ ไม่ว่าใครหน้าไหนก็สยบเขาไม่อยู่ทั้งนั้น”

จากปากคำของเพื่อนร่วมงาน ชีวิตส่วนตัวของนิชินั้นหดหู่เอาเรื่องอยู่ ลูกสาวคนเดียวของเขาเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อนทั้งที่อายุเพียงไม่กี่ขวบ นับจากนั้นเป็นต้นมา ภรรยาก็ตรอมใจ ไม่ยอมปริปากพูดอะไรออกมาอีกเลยสักคำ ร้ายไปกว่านั้น ณ เวลานั้นภรรยาของนิชิยังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย แม้สังขารรูปกายภายนอกของเธอจะดูคล้ายคนสุขภาพปรกติ ทว่าหมอที่รักษาเธออยู่ก็แนะนิชิว่า ควรรับตัวเธอออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้เธอได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตในแบบที่เธอพึงพอใจ เพื่อเป็นความสุขครั้งสุดท้ายของเธอ จะเป็นการดีกว่า

จุดหักเหของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อโฮริเบะ คู่หูคู่ยากของนิชิ ถูกคนร้ายยิงบาดเจ็บสาหัส -และต้องกลายเป็นคนพิการในเวลาต่อมา- นิชิติดตามตัวคนร้ายจนพบและหวังจะแก้แค้นแทนเพื่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยความบุ่มบ่ามมุทะลุ บวกรวมกับความสะเพร่า และซ้ำเติมด้วยโชคร้าย ผลของการกระทำของเขาในวันนั้นจึงจบลงด้วย ลูกน้องคนหนึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และอีกคนเสียชีวิต

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด โชคร้ายยังไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ยากูซาที่นิชิไปขอหยิบขอยืมเงินมารักษาภรรยา ก็เริ่มส่งเด็กมาทวงนี้และข่มขู่ด้วยถ้อยคำสารพัด

เหตุการณ์ทั้งหมด –หนี้ท่วมหัว เมียป่วย คู่หูพิการ ลูกน้องตาย- ผลักดันให้นิชิตกอยู่ในสภาพจนตรอก และท้ายที่สุดเขาก็หาทางออกด้วยการบุกปล้นธนาคาร เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ แบ่งส่วนหนึ่งให้เพื่อนคู่หู อีกส่วนให้ครอบครัวลูกน้องที่ตาย

และเหนืออื่นใด เงินก้อนสุดท้าย เขาใช้มันเป็นทุนรอนพาภรรยาเดินทางท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ที่เธออยากไป เพื่อให้เธอได้สัมผัสความรื่นรมย์ครั้งสุดท้าย ก่อนจะต้องลาจากกันไปชั่วนิรันดร์

เช่นเดียวกับงานแทบจะทุกชิ้นของคิตาโน (ยกเว้น Dolls ไว้เรื่องหนึ่ง) Hana-bi มีองค์ประกอบที่ถือเป็นทั้งเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาครบถ้วน

หนึ่งคือ มุขตลกประเภทที่ชวนให้ผู้ชมคิดกับตัวเองในใจว่า “กล้าเล่นด้วยเนอะ” (เพราะเป็นมุขเก่าเต่าล้านปีที่คนอื่นเลิกเล่นกันไปแล้ว แต่เมื่อคิตาโนเอาเล่นแล้วดันขำ) แถมบ่อยครั้งยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ออกจะก้ำกึ่งว่าจะ “ผิดกาลเทศะ” (มุขหนึ่งที่ดิฉันติดตาตรึงใจเป็นพิเศษเป็นการส่วนตัว แต่ไม่รู้ว่าควรจะขำกับมันดีไหม ก็คือ ในฉากก่อนหน้า ผู้ชมได้รับทราบข้อมูลอยู่แล้วว่า ภรรยาของนิชินั้นป่วยด้วยโรคมะเร็งและกำลังจะตาย ทว่าทันทีที่นิชิทรุดตัวลงนั่งที่เก้าอี้รับแขกภายในห้องคนไข้ –ขณะที่เมียนั่งซึมอยู่บนเตียง- เขาก็ควักบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบพ่นควันปุ๋ยหน้าตาเฉย)

สอง ภาพความรุนแรง (ที่ค่อนข้างจะ “เหนือจริง”) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่ส่งสัญญาณเตือนภัยใดๆ ไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังยุติลงภายในเวลาอันสั้น และหนังก็ปฏิบัติต่อเหตุการณ์เหล่านั้นคล้ายกับว่ามันช่างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้พิเศษ ผิดแปลก หรือสลักสำคัญใดๆ สักนิด (ลูกน้องยากูซามาทวงหนี้กับนิชิที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะยังพร่ำพูดสำรอกคำขู่ไม่ทันจบ นิชิก็คว้าตะเกียบเสียบหมับเข้าให้ที่ลูกตา จากนั้นหนังก็ตัดฉับไปเล่าเรื่องอื่นต่อไป โดยไม่ได้แสดงให้เห็นท่าทีตื่นตระหนกของแขกเหรื่อในร้านหรืออาการเจ็บปวดดิ้นพล่านทุรายทุรนของเหยื่อแต่อย่างใด)

ที่สำคัญคือ สีหน้าท่าทางการแสดงออกของคิตาโน ซึ่งเรียบเฉย เนือยๆ ไร้ความรู้สึก ทว่ากลับก่อให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลายแก่ผู้ชม ทั้งขบขัน เห็นอกเห็นใจ และสะเทือนใจในคราวเดียวกัน

ย้อนกลับไปเทียบกับ Zatoichi และ Sonatine – หัวใจสำคัญที่ Hana-bi มีเหนือกว่าทั้งสองเรื่องอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ เนื้อหาทำนอง อิ่ม “จี๊ด” และสะเทือนใจ

Hana-bi นั้น แปลว่า “ดอกไม้ไฟ” (ชื่อภาษาอังกฤษของหนังคือ Fireworks)

ในหนัง “ดอกไม้ไฟ” ปรากฏกายขึ้นสองครั้ง (เป็นอย่างน้อย) หนึ่งคือในฉากที่นิชิกับภรรยาจุดมันเล่นกลางดึกคืนหนึ่ง และอีกหนึ่งคือในภาพวาดของโฮริเบะ คู่หูของนิชิ ซึ่งภายหลังจากถูกยิงพิการแล้ว เมียก็หอบลูกตีจาก โฮริเบะจึงใช้เวลาว่างฝึกฝนทักษะการวาดรูปให้กับตัวเอง หนึ่งในรูปที่โฮริเบะวาด คือภาพพ่อแม่ลูกจับมือประคองแขนชมดอกไม้ไฟที่เจิดจ้าส่องประกายบนท้องฟ้าด้วยกัน – ทั้งนี้ แม้หนังจะไม่ได้พูดออกมาชัดๆ แต่ผู้ชมก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า โฮริเบะวาดภาพนั้นขึ้นก็เพื่อรำลึกถึงความหลังขณะเขาและครอบครัวยังมีคืนวันอันแสนสุขร่วมกันนั่นเอง

อย่างที่ทราบกัน ในหลายๆ ครั้ง พลุเพลิง ดอกไม้ไฟ มักจะถูกใช้ในเชิงนัย เพื่อเปรียบเปรยถึงบางสิ่งซึ่งสว่างวาบงดงามเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก่อนจะอันตรธานหายลับภายในชั่วพริบตาเดียว

ในความเห็นของดิฉัน “ดอกไม้ไฟ” ใน Hana-bi ก็ถูกใช้แสดงความหมายในทำนองเดียวกัน

จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของนิชิกับภรรยาก็ตาม

หรือช่วงเวลาไม่กี่ขวบปีที่โฮริเบะได้ยิ้มหัวขณะที่เมียและลูกยังอยู่กันครบก็ตาม

โมงยามเหล่านั้น จริงอยู่ว่าไม่ยืดยาว ทว่าสำหรับผู้ที่สูญเสียมันไปแล้ว เช่นโฮริเบะ หรือผู้ที่รู้อยู่เต็มอกว่ากำลังจะสูญเสียมันไป เช่นนิชิกับภรรยา...

พบพานเพื่อพลัดพรากเช่นนั้น ก็ยังดีเสียกว่าไม่เคยเฉียดใกล้ได้สัมผัสมันเลยทั้งชีวิต




กำลังโหลดความคิดเห็น