xs
xsm
sm
md
lg

“ภูเรือ”หนาวเนื้อ ห่มแดด/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
แสงสุดท้ายบริเวณปรอทยักษ์
พูดถึงดินแดนหนาวๆในบ้านเรานั้นมีอยู่มากมายหลายที่ แต่ที่ที่ได้รับฉายาว่า หนาวสุดในสยามนั้น ทอดตาทั้งแผ่นดินจนตากรอบเกรียมมีเพียงไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ อำเภอ “ภูเรือ” จ.เลย แดนหนาวที่มีสโลแกนประจำอำเภอสุดเท่ว่า “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู”

รับตะวันบนยอดภูเรือ


จากกรุงเทพฯผมออกเดินทางแบบชิลล์ ชิลล์ ไปถึงยัง อ.ภูเรือในช่วงเย็นของวันหนึ่ง

หลังเข้าที่พัก บรรยากาศดี ราคาเยา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เย็นวันนี้ผมของดเที่ยวสักเสี้ยววัน แต่จะขอพักผ่อนเอาแรงและปรับตัวให้ชินกับความหนาว เพราะวันพรุ่งนี้มีนัดกับพระอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงหัวรุ่ง งานนี้หากตื่นสายตะวันไม่คอยท่าส่องแสงเจิดจ้าเร่าร้อน นั่นเท่ากับว่าเราต้องพลาดหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของการเที่ยวภูเรือไปทีเดียว
อรุณแย้มเบิกฟ้าบนยอดภูเรือ
...บางครั้งการเดินทางบ่อยๆ ประสบการณ์มันก็สอนให้ผมเลือกที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือผ่อนสั้นผ่อนยาวเหมือนกัน...

เพราะฉะนั้นค่ำคืนวันแรกในภูเรือ ผมจึงเลือกที่จะนอนซุกตัวอยู่ใต้ผ้านวมของที่พัก(+ผ้าคลุมเตียง)ก่อนม่อยหลับไปท่ามกลางราตรีอันเหน็บหนาวที่บนฟากฟ้าพร่างพราวไปด้วยหมู่ดาวระยิบระยับ

...ตี 4 ครึ่ง เช้าวันใหม่

ปกติหากเป็นที่บ้านหนาวๆแบบนี้(แต่ที่บ้านมันไม่หนาวแบบนี้นะสิ) ผมคงนอนซุกตัวหลับอุตุอยู่ใต้ผ้าห่ม กรนครอก...ฟี้...แข่งกับเสียงไก่ขันยามเช้าไปแล้ว แต่สำหรับเช้าวันนี้มันแตกต่างออกไป เพราะแม้จะหนาวเหน็บขนาดไหนแต่ก็ต้องยอมฝืนใจสลัดความงัวเงียออกเดินทางจากที่พักสู่อุทยานแห่งชาติภูเรือ เพื่อเฝ้ารอชมอรุณเบิกฟ้าบนยอดภูเรือ จุดสูงสุดของดินแดนแห่งนี้

แม้อากาศจะหนาวได้ใจ แต่เมื่อได้เดินขึ้นเขาที่ชันเล็กน้อยถึงปานกลางจากที่จิดรถไปยังยอดภูเรือ ร่างกายมันก็อดรนทนไม่ไหว เกิดออกอาการต่อมเหงื่อตื้นผุดพรายซึมมาตามผิวกายอย่างช่วยไม่ได้ แต่เหงื่อผุดมาเพียงแป๊บเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อสายลมกระโชกวูบวาบมา 2-3 ทีก็กลับไปหนาวยะเยือกเหมือนเดิม นี่แหละคือเอกลักษณ์อันเป็นเอกอุแห่งภูเรือ

บนยอดภูเรือผมเดินสอดส่ายหามุมถ่ายรูป ก่อนจะมาได้มุมหลังยอดหญ้าริมภูที่พลิ้วไหวเริงระบำไปตามสายลม ระหว่างรอพระอาทิตย์ขึ้นเราใช้โอกาสนี้สอดส่ายสายตามองหา “แม่คะนิ้ง” (น้ำค้างแข็ง)ตามยอดหญ้า ใบไม้ เพราะได้ยินมาว่าวันไหนหนาวจัดๆบนยอดภูเรือมักเกิดปรากฏการณ์ “แม่คะนิ้ง” อยู่บ่อยครั้ง
ตะวันแยงฟ้าหลังองค์พระ บนยอดภูเรือ
งานนี้จนแล้วจนรอดหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ นั่นคงเป็นเพราะวันที่เราขึ้นภูเรือคงหนาวไม่ได้ที่ขนาดเกิดแม่คะนิ้งได้ แต่สำหรับผมแล้วเช้านี้มันช่างหนาวจับใจจริงๆ

จากนั้นอีกไม่กี่อึดใจถัดมา ฟ้าเริ่มคลี่คลาย เส้นขอบฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีจากน้ำเงินเข้ม เป็นเรื่อเรืองด้วยสีเหลืองแดง ก่อนที่ดวงตะวันจะค่อยๆแย้มพรายโผล่พ้นม่านเมฆสู่ฟากฟ้าให้บรรดาเหล่านักท่องเที่ยวบนยอดภูเรือได้บันทึกภาพกันคนละหลายๆช็อต

จังหวะนี้ถือเป็นช่วงนาทีทอง เพราะอีกเพียงแป๊บเดียวแสงอาทิตย์ที่ใช้สายตามองได้ก็ทวีความร้อนแรงส่องแสงเจิดจ้าอาบไล้ท้องฟ้า จนผมต้องเบือนหน้าหนีแสงแรงร้อน เดินไปหามุมถ่ายวิวทิวทัศน์ของทะเลภูเขาที่มีสายหมอกลอยจางๆในทะเลภูเขาเบื้องล่างแทน

แล้วต่อด้วยการไปถ่ายรูปนักท่องเที่ยวกับป้าย “ยอดภูเรือ : สุดหนาวในสยาม” และเดินชมสีสันอันสดใสของดอกไม้บนยอดภู พร้อมๆกับปิดท้ายด้วยการไปไหว้ขอพร “พระพุทธรูปนาวาบรรพต” อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวภูเรือ ที่ประดิษฐานในซุ้มโดดเด่น เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนล่ำลายอดภูเรือเดินทางกลับลงสู่พื้นล่างอีกครั้ง
หินประหลาดรูปเต่า
เดินตามตำนาน หินพานขันหมาก

ถึงจะลงจากยอดภูเรือ แต่ผมยังไม่ออกจากอุทยานฯภูเรือ เพราะไหนๆมาแล้ว งานนี้ขอเดินป่าระยะสั้น ประมาณ 200 เมตร จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ 2(ภูสน) ไปยัง “หินพานขันหมาก” ที่มีลักษณะเป็นก้อนหินก้อนเดียวที่ตั้งอยู่บริเวณลานหินพานขันหมาก รูปร่างลักษณะเหมือนกับพานขันหมาก แต่กำลังพลิกคว่ำ

หินพานขันหมาก ก้อนนี้ไม่เพียงแปลกประหลาดเท่านั้น ยังมีตำนานพื้นบ้านเกี่ยวพันกับบรรดาหินรูปทรงประหลาดต่างๆในอุทยานฯภูเรือด้วย ซึ่งตามตำนานเล่าว่า...เดิมนั้นดินแดนแถบนี้เป็นเมืองที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า "ภูทุ่ง" มีเจ้าเมืองภูทุ่งเป็นผู้ครองเมือง และมีเจ้าเมืองภูครั่งเป็นพระสหายสนิท

เจ้าเมืองภูทุ่ง มีโอรส ส่วนเจ้าเมืองภูครั่งมีธิดาสวยงาม ต่างฝ่ายต่างก็อยากเป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่ธิดาเมืองภูครั่งนั้นมีคนรักอยู่แล้ว เมื่อโอรสเมืองภูทุ่งจัดขันหมากมาสู่ขอ ธิดาภูครั่งไม่ยอมลอบหลบหนีไป โอรสเจ้าเมืองภูทุ่งโกรธจึงทำลายขันหมากทิ้ง กลายเป็นหินเรียงรายอยู่ที่ "ทุ่งหินพานขันหมาก" และสร้าง "หินศิวลึงค์" ไว้ให้คนที่ผ่านไป-มา เคารพบูชา รวมถึงยังสร้าง "หินเต่า" ที่มีรูปร่างคล้ายเต่า อยู่ห่างออกไปริมถนนทางลงจากยอดภูเพื่อประชดตัวเอง

ส่วนชื่อ “ภูเรือ” นั้น มาจากลักษณะของภูเขาที่มีส่วนยื่นออกมาคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่และมีส่วนที่ราบบนภูเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือ คนโบราณจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “ภูเรือ” ที่ต่อมากลายเป็นดินแดนสุดหนาวแห่งสยามประเทศที่นักท่องเที่ยวหลายคนถวิลหา
ตลาดไม้ดอกเมืองหนาวบ้านหนองบง
เลาะเลียบชมดอกไม้

นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องของความหนาวเย็นแล้ว ภูเรือยังมีลักษณะความพิเศษทางภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์เมืองหนาวได้มากมาย ที่โดดเด่นมากก็มี คริสต์มาส เห็ดหอม และองุ่นที่ปลูกไว้ทำไวน์จากสวนองุ่นในละแวกนั้น

ส่วนผู้ที่นิยมบุปผา ชื่นชอบดอกไม้ ต้นไม้ ที่ภูเรือมีสวนและแหล่งเพาะไม้ดอกไม้ประดับให้เลือกแวะเวียนเข้าไปชม+ช้อปกันอยู่หลายจุดด้วยกัน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ตลาดไม้ดอกเมืองหนาวบ้านหนองบง แหล่งท่องเที่ยวดาวเด่นอีกแห่งหนึ่งในภูเรือ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวปิดท้ายของผมในทริปนี้

ที่นี่ถือเป็นแหล่งจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ ที่นอกจากจะมากไปด้วยพืชพันธ์ ไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ที่นี่ยังมี “เทอร์โมมิเตอร์ยักษ์” หรือ “ปรอทยักษ์” ตั้งโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์แห่งภูเรือ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปและรับรู้อุณหภูมิว่าวันนี้หนาวกี่องศา

หลังจากที่ผมเดินชมและถ่ายรูปดอกไม้สวยงามๆที่นี่ แสงแห่งวันก็ค่อยๆลาลับ ก่อนทิ้งแสงสุดท้ายอันสวยงามสีแดงอมม่วงที่มีเงาดำของทิวเขา และปรอทยักษ์เป็นฉากหน้าไว้ให้เก็บความประทับใจส่งท้ายวัน

ณ เวลานั้น อุณหภูมิที่ปรอทยักษ์วัดได้ 10 องศาเซลเซียส ซึ่งเมื่อค่ำมืดดึกดื่นที่นี่ย่อมหนาวกว่านี้แน่นอน แต่เพราะไม่ใช่ความหนาวนะหรือ ที่ถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์สำคัญชวนให้นักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่าไปค้นหาและสัมผัสในดินแดนสุดหนาวในสยาม ที่มีนามว่า “ภูเรือ”...
*****************************************

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในภูเรือได้ที่ ศูนย์บริการการท่องเที่ยว อ.ภูเรือ โทร. 0-4289-9004 (ตลอด 24 ชั่วโมง) อุทยานแห่งชาติภูเรือ โทร. 0 - 4288 – 4144
กำลังโหลดความคิดเห็น