xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตแอ็กชัน-คอมเมดี้บนรถเมล์ไทย/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ขึ้นปีใหม่ทั้งที (หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ไม่ใช่น้องปีใหม่ เพราะรายนั้น "ป๋าต็อบ" แกคงเก็บเอาไว้ขึ้นเอง ไม่ให้ใครขึ้นง่ายๆ) วันนี้ขอชวนท่านผู้อ่านมาอ่านเรื่องที่มันเบาๆ เสียหน่อย

เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "รถเมล์" ครับ (รถเมล์ที่หมายถึง รถโดยสาร หรือพาหนะที่ใช้สำหรับการเดินทางขนส่ง ไม่ใช่น้อง "รถเมล์ คนึงนิจ")

ตามประวัติ(ที่สามารถหาอ่านได้ทั่วไป แต่อยากเอามาลงเพื่อเพิ่มความยาวและคิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่มีประโยชน์ที่สุดของคอลัมน์นี้) ระบุไว้ว่า...ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2428 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกิจการรถเมล์ประจำทางเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ

ในตอนนั้นใช้แรงม้าที่เป็นม้าฮี้ๆ จริงๆ ครับ ส่วนสาเหตุที่เรียกกันว่า "รถเมล์" แทนที่จะเป็นม้าเมล์คาดเดากันว่าน่าจะเรียกชื่อตาม "เรือเมล์" ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

กิจการรถเมล์จริงๆ ดำเนินการได้ 2 ปีกว่าๆ ก็ต้องล้มเลิกไป ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุสาเหตุไว้ว่าเพราะอะไรแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเจ๊ง! เนื่องจากช่วงนั้นได้เกิดการบริการรถรางที่สะดวกและให้บริการรวดเร็วกว่าขึ้นมาทดแทน

ครั้นพอปีพ.ศ. 2450 พระยาภักดีนรเศรษฐ (หรือนายเลิศ เศรษฐบุตร คนเดียวกับโรงแรมปาร์คนายเลิศนั่นแหละครับ) ก็ได้รื้อกิจการรถเมล์ประจำทางขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้บริการจากสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) ถึงประตูน้ำสระปทุม ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถรางไม่ได้วิ่งผ่าน ทำให้กิจการพอไปได้ แต่รถที่ใช้ก็ยังเป็นม้าลากจูง ไม่ใช่รถเมล์เครื่องที่อาศัยน้ำมันอย่างปัจจุบัน ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทางที่ค่อนข้างช้า

มาถึงปี 2456 เมื่อเริ่มมีรถยนต์จากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น พระยาภักดีฯ จึงได้ปรับปรุงกิจการใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินรถ โดยนำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดเข้ามาวิ่งแทนม้า และขยายเส้นทางวิ่งให้ไกลขึ้น คือจากประตูน้ำสระปทุม ไปจนถึงบางลำพู (ประตูใหม่ตลาดยอด)

ตอนนั้นรถโดยสารที่ใช้เป็นรถ 3 ล้อครับ มีที่นั่ง 2 แถว ยาวประมาณ 1 ใน 3 ของรถเมล์ปัจจุบัน และนั่งได้ 10 คน ตัวรถทาสีขาว มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลมแดง ซึ่งคนทั่วไปเรียกรถเมล์นี้ว่า อ้ายโกร่ง เพราะเวลารถแล่นไปตามถนนจะมีเสียงดังโกร่งกร่าง

ต่อมากิจการเริ่มขยายกว้างขวางมากขึ้น และรู้จักกันดีในนาม บริษัท นายเลิศ จำกัด หรือบริษัทรถเมล์ขาว บางคนก็เรียก 'รถเมล์ขาวนายเลิศ'

หลังจากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์แทนม้าลากจูงแล้ว ผู้คนก็หันมาใช้บริการรถเมล์มากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เข้ามาประกอบการด้านการเดินรถโดยสารประจำทางอีกกว่า 30 ราย (รวมถึงรัฐวิสาหกิจ)

จากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.การขนส่ง ในปี พ.ศ.2497 มาควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งก่อน แต่ก็วายที่จะเกิดปัญหาขึ้น(ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร) กระทั่งเดือนกันยายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทเดียวกัน เรียกว่า 'บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด' ดำเนินกิจการในรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด รัฐกับเอกชนถือหุ้นพอๆ กัน

แต่ปัญหา(ที่ไม่ได้ระบุไว้ว่าคืออะไร)ก็ยังตามมาไม่จบสิ้น

กระทั่งสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ให้รวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. สังกัดกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...

ไม่ได้เป็นพวกหมาหางด้วนหรือจะมาพูดประชดประชันนะครับ แต่บอกตรงๆ ว่าผมล่ะเสียดายแทนบรรดาคนที่ไม่มีโอกาสไม่มีประสบการณ์ขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะด้วยเหตุผลเพราะเป็นคุณหนู มีรถรับส่ง เป็นลูกเศรษฐีมีเงินซื้อรับส่วนตัวขับหรืออะไรก็ตามแต่เสียเหลือเกิน

ในฐานะของคนที่ใช้บริการเป็นประจำ โดยส่วนตัวผมว่ารถเมล์ของขสมก.และรถร่วมฯ (รวมไปถึงการบริการของพนักงานขับ และกระเป๋า-กระปี๋) ในบ้านเราเป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์สุดๆ

ยกตัวอย่างกันง่ายๆ อย่างรถแอร์ ยูโรทู(สีไข่ไก่) เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วต้องถือว่าใหม่และทันสมัยมาก แต่ด้วยระบบการจัดการบริหารแบบไทยๆ ไม่กี่ปีเท่านั้นแหละครับ โทรมอย่างกับผู้หญิงที่ถูกผู้ชายสัก 10 คนข่มขืนกระทำชำเราแล้วไปหมกเอาไว้ในคลองแสนแสบ ผ้าม่านที่เคยมีก็หายไป (สงสัยว่าคงจะขี้เกียจซักและเห็นว่าบ้านเราคงไม่ค่อยจะมีแดด) ห่วงที่เอาไว้จับเพื่อทรงตัวเวลายืนก็ถูกถอดออก (อันนี้นึกเหตุผลไม่ออกเหมือนกันว่าถอดทำไม) โดยมีส่วนที่เสริมเข้ามาก็คือเสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ และแอร์ ที่นับวันจะดังขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความเร็ว และความเย็น (เข้าใจว่าของที่ถูกใช้งานมันย่อมเก่า ย่อมเสื่อม ย่อมพัง แต่ดูๆ แล้ว ผมว่ากรณีนี้ถ้าบอกแบบวัยรุ่นก็คือ...เร็วเกิน)

แต่ถ้าเป็นรถธรรมดา บ้างก็เรียก "รถร้อน" จะเป็น สีแดง สีขาว สีเขียว สีฟ้า เล็ก-ใหญ่ จะร่วมฯ หรือไม่ร่วมฯ ไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะส่วนใหญ่ต่างล้วนมีลักษณะคล้ายๆ กันหมด คือไม่รู้ว่าคนขับเป็นเจ้าของรถเองหรืออย่างไร บางคันถึงได้ยกหิ้งพระมาตั้งที่หน้ารถ ทั้งพระ ทั้งเครื่องรางของขลัง ผ้ายันต์ ภาพโปสเตอร์หลวงพ่อชื่อดังเต็มไปหมด ขึ้นไปทีไรก็อดไม่ได้ที่จะต้องยกมือไหว้สาธุท่วมหัวพร้อมกับอดสงสัยไม่ได้ว่าตกลงความปลอดภัยของตรูจะต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความไม่ประมาทของคนขับใช่มั้ยเนี่ย?

ขณะที่บางคันก็เหมือนกับสถานรับเลี้ยงเด็ก มีทั้งเปล หมอน ขวดนม ผ้าอ้อม (บางคันเก๋ไก๋ถึงนาดมีปลาตะเพียนสาน) บางคันก็เหมือนโรงอาหาร ทั้งกระติกน้ำ ข้าวถุงข้าวกล่อง น้ำแดง กล้วยน้ำว้า บางคันก็ทำเป็นรถสปอร์ตด้วยการเปิดช่องที่พื้นให้เห็นทัศนียภาพของท้องถนนยามรถวิ่ง บางคัน(โดยเฉพาะรถเมล์เล็ก) ขึ้นไปแล้วเหมือนอยู่ในเธคเปิดเพลงดังแก้วหูแทบแตก

พัดลมอาจจะติดอยู่ทั่วรถจริงๆ แต่ส่วนใหญ่จะไม่หมุน (ยกเว้นตรงคนขับ) แต่ถ้าตัวไหนหมุนก็จะไม่ส่าย

ที่น่ามองที่สุดก็คือตรงที่นั่งคนขับนี่แหละครับ ตรงนั้นต้องถือว่าเป็น "พื้นที่ส่วนบุคคล" จริงๆ เพราะมันจะเต็มไปด้วยสายไฟระโยงระยาง, คราบดำๆ ของน้ำมันเครื่อง, จาระบี, หลายอุปกรร์เปลือยให้เห็นระบบการทำงานของกลไกต่างๆ, คันเกียร์ไม่มีรูปแบบตายตัวว่ากันตามถนัดมือ ส่วนการเข้าเกียร์ เหยียบคันเรง เหยียบคลัช คนที่จะรู้จังหวะดูเหมือนจะมีแค่เฉพาะคนขับเท่านั้น

เอาเป็นหากจะสร้างหนังแอ็กชั่นที่คนร้ายหรือพระเอกจำเป็นจะต้องมาแย่งรถเมล์ในบ้านเราไปขับเองผมว่าหมดสิทธิ์

จากตัวรถก็มาว่ากันที่พนักคนขับ ที่ผมเดาเอาว่าถ้าไม่มาจากสนามแข่ง ก็คงจะเป็นลูกศิษย์ของคุณกีกี้ (ศักดิ์ นานา)ประมาณว่า...เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

เรียนตรงๆ ผมอยากจะผ่าสมองออกมาดูจริงๆ นะครับว่าคนขับรถเมล์เขาคิดวรนุชอะไรอยู่เวลาที่ขับโคตรเร็ว! ทั้งแซงซ้าย แซงขวา ไม่จอดป้าย(ทั้งๆ ที่มีคนโบก) ทิ้งผู้โดยสารลงกลางถนน ออกรถด้วยความเร็วชนิดที่ต้องเรียกว่ากระชากโดยที่ขาข้างหนึ่งของผู้โดยสารอยู่บนบันไดรถ อีกข้างอยู่บนถนน ขับปาดจากเลนขวาสุดเพื่อเข้าป้ายที่อยู่ซ้ายสุดขณะเดียวกันก็ขับปาดจากป้ายเลนซ้ายสุดเข้าเลนขวาสุดได้อย่างหน้าตาเฉย รวมถึงร้อยละ 80 ไม่เคยรอให้ประตูปิดสนิทก่อนที่จะออกรถ ฯ

ผมเคยเกิดอาการประทับใจกับการบริการของบรรดาคนขับและกระเป๋ารถเมล์จนต้องโทรไปป่าวประกาศบอกต่อกันไปที่เบอร์ 184 อยู่ 2-3 ครั้งทว่าก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น กระทั่งครั้งหนึ่งด้วยความประทับใจอย่างเหลืออดต่อการให้บริการของคนขับรถเมล์สาย 30 คันหนึ่งที่ออกรถแรงมากจนผมต้องสปริงตัวลงมาด้วยขาข้างเดียวที่อยู่บนบันไดรถ (โชคดีที่ไม่ล้ม) ก่อนจะเดินเข้าตู้โทรศัพท์โทรไปเบอร์ที่ว่า พร้อมแจกรางวัลด้วยคำพูดสั้นๆ ชัดๆ ว่า...

กล้วย!

หลังอารมณ์เย็นลง ผมมารู้สึกผิดที่แจกผิดคน เอ๊ย ไม่ใช่ รู้สึกผิดที่ไม่น่าจะใจร้อนเช่นนั้น

เคยถามพนักงานขับรถคนหนึ่งว่าทำไมต้องขับรถเร็ว ทำไมต้องแข่งกันจนบางทีถึงขนาดไม่จอดรับผู้โดยสารที่ยืนมองอย่างไม่เข้าใจด้วยตาปริบๆ หรือบางทีก็ปล่อยผู้โดยสารลงกลางทางแล้วตัวเองก็ตีรถย้อนกลับไปที่อู่(ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นรถเมล์เล็กและช่วงดึกๆ)ด้วยความสุภาพขณะที่คิดในใจอย่างไม่สุภาพว่าเมิงจะรีบไปหาบิดามารดาเมิงเหรอ? ก็ได้รับคำตอบประมาณว่าที่ไม่จอดรับผู้โดยสารก็เพราะรู้ว่ามีรถสายเดียวกันขับตามหลังตามมา ผู้โดยสารสามารถที่จะขึ้นอีกคันได้

"อ้าว แล้วพี่ไม่คิดว่าไอ้คนขับคันหลังมันก็คิดว่าคันหน้าคงจะรับไปแล้วบ้างหรือ?" ผมนึกอยู่ในใจอย่างห้าวหาญ

ส่วนเรื่องที่ต้องขับรถจนดูเหมือนว่าเร็ว เหมือนกับแข่งกันนั้นก็เพราะต้องรีบทำเวลากลัวตกรถ และทำยอดตั๋วซึ่งจะมีผลในเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำอันน้อยนิด

เรื่องนี้จะจริง-เท็จ หรือจะเป็นเพราะสันดานชอบความเร็วอยู่แล้วผมไม่ทราบ แต่ที่บอกได้ก็คือไม่ว่าจะอย่างไรการเอาชีวิตคนนับสิบซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยมาเสี่ยงนั้น...มันบัดซบสิ้นดี

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะแนวบู๊แอ็กชั่นเท่านั้นนะครับ เรื่องประเภทตลกคอมเมดี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในการใช้รถเมล์

ยังจำกันได้มั้ยกับรถเมล์ที่นำหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ, มหาสนุกมาแขวนไว้ตามเบาะให้อ่านคลายเครียด หรือจะเป็นการแก้ปัญหาอากาศร้อนด้วยภูมิปัญญาแบบไทยๆ ด้วยการนำพัดมาผูกไว้ของรถเมล์สาย 203 บางคัน (ไม่รู้ว่าตอนนี้จะมีหรือเปล่า)

หรือจะเป็นกระเป๋าที่แสนจะสุภาพ แต่งกายเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ที่สำคัญก็คือเป็นนักแหล่-นักร้องเสียงดีของรถเมล์(แอร์)สาย 79 คนหนึ่ง



"ที่จบไปเป็นเพลงของทศพล หิมพานต์ จากนี้ไปท่านผู้โดยสารจะได้ฟังบทเพลงเพราะๆ ข้อคิดดีๆ ของชินกร ไกรลาส ในบทเพลงที่ชื่อ...ขอเชิญรับฟังได้แล้วครับ..." พูดจบแกก็ร้องเพลงชนิดที่ได้ยินทั่วถึงกันทั้งคันรถ และเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางหรืออย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้าไปถึงสยามพารากอนที่ผมขึ้นและลงนั่นแหละครับ

ไม่ใช่แค่แหล่นะครับ บางจังหวะแกก็เอาคำพระมาเทศน์สอนกันซะอย่างนั้น เรียกว่าเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้โดยสารได้หลายคนทีเดียว (เห็นมีคนนำลีลาพี่แกไปโพสต์ไว้ที่ยูทูบ ผมเลยขอเอามาลงให้ดูกัน)

อีกเรื่องหนึ่งฮามากๆ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการใช้บริการรถเมล์สาย 30 สายเจ้าประจำ

ค่ำวันนั้นผมขึ้นรถที่หน้าเมเจอร์ ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะมาอาศัยดูบอลที่ออฟฟิศ ที่อยู่ ถ.พระอาทิตย์

ในมือกำเงินค่าโดยสารไว้ 8 บาท ทว่าผ่านมาจนถึงหน้าพาต้าก็แล้ว กระทั่งถึงเชิงสะพานพระปิ่นฯ ก็แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานเก็บค่าโดยสารจะมาทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร

จนรถข้าสะพานปิ่นเกล้าฯ ก่อนเลี้ยวซ้ายผ่านหอศิลป์เจ้าฟ้า-กรมสรรพากรฯ เพื่อที่จะวกกลับมารอดใต้สะพานฯ ไปยังสนามหลวง ทว่าพอถึงป้าย(ตรงข้าม)หน้าตรอกโรงไหม คนขับก็หยุดรถอย่างกะทันหัน ทั้งที่ไม่มีใครโบกหรือผู้โดยสารจะลง

หลังรถหยุดนิ่งประมาณ 5 วินาที ท่ามกลางความสงสัยของผู้โดยสารกว่า 20 ชีวิต คนขับอายุซึ่งอายุน่าจะราวๆ 45-50 ก็หันมาทำสีหน้าเหรอหรา พร้อมๆ กับตะโกนถามออกมาว่า

"กระเป๋ารถเมล์ล่ะ กระเป๋าอยู่ไหน ใครเห็นกระเป๋ารถเมล์บ้าง..."

เงียบไป 2-3 วินาที ป้าแก่ๆ คนหนึ่งก็บอกไปว่า...ไม่รู้ เนี่ยตั้งแต่ขึ้นมายังไม่เห็นเลย

"หายไปไหนเนี่ย ก็มันมาตั้งแต่เช้าแล้วนี่หว่า...เฮ้อ ไม่ปงไม่ไปมันแล้ว ลงๆๆ กลับดีกว่า ไปได้ยังไงไม่มีกระเป๋า (ปากทำเสียงจุ๊จิ๊) หายไปได้ยังไง มาตั้งแต่เช้า..."

ลุงแกพูดอย่างเสียอารมณ์ ไม่น้อยไปกว่าผู้โดยสารที่ต่างบ่นกันพึมพัมกับการต้องมาถูกทิ้งลงกลางทางเช่นนี้

ส่วนผมน่ะฮาอยู่ในใจสุดๆ เลยครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบอกนะครับว่าไม่ได้จะมาบ่นหาพระแสงหอกง้าวอะไรหรอกครับ หากแต่เป็นการยืนยันว่าการขึ้นรถเมล์ไทยเป็นอะไรที่คุ้มค่าสุดๆ จริงๆ

คิดดูก็แล้วกันจะมีประเทศไหนบ้างที่เงินไม่ถึง 10 บาทมีค่าพอที่สามารถจะแลกกับชีวิตชีวิตหนึ่งได้

คุ้มค่าสมศักดิ์ศรีการมีชีวิตแบบไทยๆ จริงๆ ว่ามั้ย?

ท้ายสุดที่อยากจะบอกก็คือ

ทุกๆ อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถเมล์ คนกวาดขยะ นักการเมือง นักธุรกิจ เกษตรกร ฯลฯ ต่างก็มีศักดิ์ศรีอยู่ในตัวและมีความสำคัญที่ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่ากันและกันเลยครับ

ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ประกอบอาชีพนั้นๆ จะรู้สึก หรือว่าทำให้มัน "มี" หรือ "ไม่มี" เท่านั้นเอง

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น