คอลัมน์ : หนังกาก
apnunt@yahoo.com
แบบทีเล่นทีจริง เพื่อนผมบางคนตั้งคำถามขึ้นมากลางวงสนทนาว่า เพราะอะไร หนังอย่าง Ninja Assassin ถึงเลือกดาราหนุ่มอย่าง “เรน” มารับบทนินจา แทนที่จะเป็นนักแสดงสักคนที่มีทักษะด้านศิลปะการต่อสู้อยู่แล้ว? และเหนืออื่นใด คือ ทำไมถึงเอาคนเกาหลีมาเล่นเป็นนินจาญี่ปุ่น?
และก็แบบทีเล่นทีจริง ผมคิดว่า นี่คือการตลาดล้วนๆ เลย และมันเป็นการตลาดที่ซ้อนทับกันอยู่ถึง 2 ชั้น เพราะหนึ่ง การที่หนังจับคอนเทนท์นินจาซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่ญี่ปุ่น นั่นก็เท่ากับว่า หนังย่อมจะได้คนดูเมืองปลาดิบไปโดยปริยาย และยิ่งผู้กำกับ “เจมส์ แมคทีก” สารภาพว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังนินจาเมืองซามูไรมาตั้งแต่ไหนแต่ไรด้วยแล้ว ถ้าผมเป็นคนญี่ปุ่น ผมก็คงอยากรู้เช่นกันว่า หนังนินจาในใจของแฟนพันธุ์แท้จะออกมาเป็นเช่นไร
และสอง...ที่เลือกเรน แทนที่จะเป็นนักแสดงชาวญี่ปุ่น จริงๆ มันก็คือ การตลาดคนดังสูตรเดิมๆ ที่ใช้ดาราแม่เหล็กมาเรียกคนดู โอเคล่ะ แม้ว่าหนังฮอลลีวูดเรื่องที่แล้วของเรนอย่าง Speed Racer จะกลายเป็นหนังเจ๊งประจำซัมเมอร์ของปี 2008 แต่ถ้ามองในแง่ชื่อเสียง เรนยังถือเป็น “แบรนด์” ที่ยังคง “แข็งเรง” และ “ขายได้” ในโซนเอเชีย และเชื่อขนมกินได้เลยครับว่า หลายๆ คนที่ไปดูหนังเรื่องนี้ ส่วนหนึ่ง ก็เพราะเรน
แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลข้อไหน ที่สุดแล้ว ผมคิดว่าคนที่ต้องรับบทหนักมากกว่าใคร ก็คงหนีไม่พ้นนักแสดงหนุ่ม เพราะนอกจากจะต้องแบกรับภาระความคาดหวัง เขายังต้องทุ่มเทเคี่ยวกรำกับการฟิตหุ่น พร้อมฝึกศิลปะลีลาการต่อสู้แบบนินจาชนิดที่ต้องบอกว่า “เริ่มต้นเรียนรู้ใหม่กันหมด”
นอกเหนือไปจากเรน สิ่งที่เป็นความน่าสนใจอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับเจมส์ แมคทีก เพราะนอกจากมีผลงานการกำกับที่ดีๆ อย่าง V for Vendetta ก่อนหน้านี้ แมคทีกยังเคยได้ร่วมงานกับพี่น้องวาชอว์สกี้มาแล้วใน The Matrix จนหลายๆ คนอดคิดหวังไว้ไม่ได้ว่า บางที นี่จะเป็น The Matrix ภาคนินจา และ/หรือ เราอาจได้เห็นช็อตเด็ดแบบ Bullet Time ที่เปลี่ยนจาก “หลบกระสุน” มาเป็น “หลบดาวกระจาย” แทน
ฮอลลีวูดเอานินจาไปทำ ผลออกมาจะเป็นเช่นไร? จะเหมือนกับที่พี่ไทยเราเอาซามูไรมาทำ ใน “สวย...ซามูไร” หรือเปล่า?!! นั่นคือคำถามเบื้องต้น แต่ด้วยประวัติของผู้กำกับที่บอกว่าเป็นแฟนนินจามาตั้งแต่เด็ก และมีหนังนินจาในดวงใจหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งหนังนินจาคลาสสิกอย่าง Shinobi No Mono (1962) หรือหนังนินจาเกรดบียุค80 เช่น Revenge of the Ninja, Enter the Ninja รวมไปจนถึงอะนิเมะอย่าง Scroll Ninja และวิดีโอเกมนินจาที่ชื่อ Assassin Creed...แน่นอน เหล่านี้ทั้งหมด มันเหมือนการก่อความหวังขึ้นมาในใจของคนดูอยู่เงียบๆ ว่าหนังนินจาเรื่องนี้คงออกมาเจ๋งแน่ๆ
Ninja Assassin เล่าเรื่องของหนุ่มนินจานามว่า “ไรโซ่” (เรน) ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนักในสำนัก “โอสึนุ” สมาคมลึกลับซึ่งเป็นแหล่งปั้นนักฆ่าพันธุ์โหด แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ทำให้ไรโซ่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก่อนจะหันกลับมาเปิดโปงความเลวร้ายที่ซ่อนอยู่ในองค์กรลึกลับที่ตนเองเคยอยู่มาจนโต...
*** 3 ชอบ
1.หนังนินจาที่สวมเสื้อ “หนังเลือดสาด”
ถ้าจะนิยามผลงานการกำกับของเจมส์ แมคทีก เรื่องนี้ได้ “ตรง” และ “เหมาะสม” มากที่สุด ก็คงต้องบอกว่า มันคือ “หนังเลือดสาด” ดีๆ นี่เอง และหนังก็ทำได้ “ถึง” จริงๆ ทั้งฉากการฆ่าฟันที่บั่นอวัยวะโน่นนี่ขาดกระจุยกระจาย รวมไปจนถึงโลหิตที่ขนกันมาเป็นแกลลอนๆ แบบเดียวกับหนังโหดเลือดท่วมจอ พวก Ichi the Killer, Imprint, Flower of Flesh and Blood, Haute tension หรือแม้แต่ Kill Bill ฯลฯ แต่ที่สำคัญก็คือ อะนิเมะนินจาอย่าง Ninja Scroll หรืออะนิเมะซามูไรอย่าง Samurai Champloo ที่ผู้กำกับบอกเองว่าเป็นแรงบันดาลใจของเขา แน่นอน ใครที่ชอบหนังในทาง “เลือดสาดบันเทิง” นี่คืองานที่จะตอบสนองคุณได้เป็นอย่างดี
2.ข้อคิดดีๆ เล็กๆ น้อยๆ
ไม่ต้องไปพูดถึงเนื้อหาหลักที่ดูพื้นๆ เกี่ยวกับการตามฆ่าและล้างแค้น หนังมีจุดเล็กๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ดีที่สุดของ Ninja Assassin นั่นก็คือ การอุปามาอุปไมยระหว่างการเติบโตของต้นไม้กับการเติบใหญ่ของคน
หนังมีฉากที่ตัวละครตัดเส้นลวดซึ่งขึงกิ่งไม้ไว้ถึงสองครั้ง ด้วยต้องการจะเทียบเคียงให้เห็นว่า ต้นไม้ที่กิ่งของมันถูกลวดขึงเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่คนอยากให้เป็นนั้น ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูของนินจาในหนังเรื่องนี้ที่ “หัวหน้า” พยายามบังคับให้บรรดาลูกศิษย์เป็นไปในทิศทางที่ตัวเองอยากให้เป็น และสุดท้าย มันได้บ่มเพาะความรู้สึกขัดแย้งขึ้นในใจให้กับศิษย์ที่ยังมีหัวจิตหัวใจอย่างไรโซ่ซึ่งถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เขาจำเป็นต้องเลือก ระหว่างการเดินตามวิถีนินจาอย่างเชื่องๆ กับการคำนึงถึงคุณธรรม
3.การทุ่มเทของเรน
ต้องยอมรับล่ะครับกับความพยายามของคนหนุ่มจากเอเชียคนนี้ที่ลงทุนทุ่มเทเพื่อรับบทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปฟิตร่างกายเพื่อให้เกิดมัดกล้ามที่ดูแข็งแรงบึกบึน รวมทั้งฝึกฝนลีลาการต่อสู้สไตล์นินจาที่ดูแล้วไม่ขัดหูขัดตาแต่อย่างใด คนใกล้ตัวผมบางคนบอกว่านี่คือกรณีศึกษาที่เยี่ยมยอดอีกรณีหนึ่งสำหรับการเอาคนดังๆ มาเปลี่ยนลุคแปลงร่างแล้วทำได้จริงๆ
และสิ่งที่ต้องชม นอกเหนือไปจากความฟิตของร่างกาย ก็คือ กระบวนท่าวิทยายุทธ์ต่างๆ ไล่ตั้งแต่ควงโซ่ ไปจนถึงโชว์ลีลาดาบ เรนทำได้ “สวย+เนียน” และ “ดูสมจริงสมจัง” อย่างน่านับถือในความมานะพยายาม ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่องชื่นชม
*** 5 ไม่ชอบ
1.การแสดงของเรน
อย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่มีเรื่องให้ชม แต่สิ่งที่ต้องบอกว่า “ขัดใจ” อย่างแรง ก็คือสีหน้าแววตาและการแสดงของเขานั่นแหละครับ ผมรู้สึกว่ามันอยู่โทนอารมณ์เดียวแทบทั้งเรื่องเลย ซึ่งเมื่อมองจากเนื้อหาของคาแร็กเตอร์ที่เขาเล่น เราจะเห็นว่า “ไรโซ่” นั้น นอกจากจะเป็นคนหนุ่มที่มีสำนึกขบถอยู่ในใจลึกๆ แล้ว ยังมีภูมิหลังความเป็นมาที่ปวดร้าวฝังลึก แต่เรากลับมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในแววตาของเรนเลย
ง่ายที่สุดเลย อย่างตอนที่ไรโซ่ระลึกถึงความหลังอันขมขื่นนั้น นัยน์ตาของเรนมันไร้แววความหมองหม่นของคนเศร้าโดยสิ้นเชิง และจริงๆ เมื่อหนังตัดภาพกลับมาจากเรื่องราวในวันวานที่เลวร้ายแล้วโฟกัสกล้องไปที่ใบหน้าของเรน นอกจากเราจะมองไม่เห็น “วี่แวว” แห่งความปวดร้าวหม่นหมองอะไรแล้ว ดวงหน้าของชายหนุ่มยังทำให้นึกไปได้ว่า มันช่างเหมือนกับตอนที่เขาอยู่ในโฆษณาสินค้าวัยรุ่นอะไรสักชิ้นซะเหลือเกิน!
เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในห้วงเวลาคอขาดบาดตาย อย่างตอนที่ถูกจับมัดตัวไว้ในขณะที่นินจาตัวร้ายๆ กำลังจะตามมาฆ่า แววตาแห่งความวิตกกังวลที่ควรจะมี ก็ไม่ปรากฏให้เห็นเลยแม้แต่น้อยในดวงตาของเรน เช่นเดียวกับน้ำเสียงของเรนเวลาที่พูดออกมา มันขาดไร้ชีวิตชีวาอย่างแทบจะสิ้นเชิง! (และมันก็นับเป็นความโชคดีเหลือเกินที่หนังเขียนบทพูดให้เขาไม่มากนัก!!)
2.บทหนัง
บทหนังถูกเขียนขึ้นแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน โดยมีประเด็นหลักๆ เล็กๆ อยู่ที่การสูญเสียคนรักแล้วก่อให้เกิดจุดหักเหพลิกผัน ซึ่งก็เดาได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของหนังว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร ใครจะตายใครจะรอด เป็นพล็อตที่ซ้ำซากและไม่มีอะไรน่าค้นหา น่าเสียดายที่ผู้กำกับอย่าง “เจมส์ แมคทีก” ที่เคยทำหนังเจ๋งๆ บทดีๆ แบบ V for Vendetta กลับมาพอใจอย่างง่ายๆ กับพล็อตเรื่องซึ่งถูกผลิตซ้ำมาแล้วอย่างจำเจ แบบ...สูญเสียและแก้แค้นเอาคืน...แค่นั้น จบ
3.ความล้ำลึกด้านเนื้อหา & เสน่ห์หนังนินจาแบบตะวันออก
ถ้าคุณเป็นคนที่เคยดูหนังนินจาจากญี่ปุ่นมาพอสมควร คุณจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างหนังนินจายุคเก่าๆ ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของนินจา กับ Ninja Assassin ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยๆ ก็เรื่องของไดอะล็อกบทพูด เราจะพบว่า ขณะที่หนังนินจาญี่ปุ่นอย่าง Shinobi (2005) ที่แม้ใครหลายๆ คนจะบอกว่ามันห่วย แต่อย่างน้อยๆ ผมว่ามันก็ยังมีบทพูดที่ได้อรรถรสแห่งความลึกซึ้งคมคาย กินใจ ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญา ปรัชญาความคิดไว้ในบทพูด แต่สำหรับ Ninja Assassin บทพูดมันแทบไม่มีอะไรมากไปกว่า “คนคุยกัน” ที่ต่อให้ไม่มี หนังก็เดินเรื่องต่อไปได้
เหนืออื่นใด ด้วยระยะเวลาที่เท่าๆ กัน (คือราวๆ ชั่วโมงกว่าๆ) เราจะเห็นว่า หนังอย่าง Shinobi สามารถแทรกใส่เนื้อหาได้อย่างล้ำลึกและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความรักที่ถูกขวางกั้นจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ, วิถีชีวิตตลอดจนจารีตความคิดความเชื่อที่แข็งแรงของเหล่านินจา รวมไปจนถึงเนื้อหาดีๆ ที่จิกกัดและพร่ำสอนวิชาการปกครองให้กับผู้นำ...ส่วนใน Ninja Assassin สิ่งที่เราได้เห็นอย่างเด่นชัดมากที่สุดก็คือ ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผลของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่านินจา ซึ่งมาพร้อมกับกฎเหล็กอันบีบรัดจนน่าอึดอัด ใครฝ่าฝืน มีโทษถึงตายสถานเดียว
จริงๆ มันอาจจะเป็นข้อจำกัดของฮอลลีวูดก็ได้นะครับ เวลาที่ต้องมาจับหนังซึ่งเล่นกับเนื้อหาที่มีรากเหง้าแบบตะวันออก ก็เลยทำ “ไม่ได้อรรถรส” อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะว่าไปก็อาจคล้ายๆ กันกับกรณีที่ฮอลลีวูดเอาหนังจากฝั่งตะวันออกไปรีเมคแล้วล้มเหลวทำนองนั้น (คนที่หยิบเนื้อหาแบบตะวันออกไปเล่นแล้วทำได้เจ๋ง ผมเห็นมีอยู่คนเดียวคือ เควนติน ทารันติโน่ กับเรื่อง Kill Bill ที่เอาซามูไรไปแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ซะโก้เก๋)
4.ฉากแอ็กชั่น
คิดว่า คนทำหนังเรื่องนี้คงเข้าใจว่า ความเป็นนินจานั้นต้อง “รวดเร็ว” ก็เลยดีไซน์ฉากการต่อสู้ออกมาให้มันรวดเร็วตามไปด้วย แต่ผลที่ออกมา ผมว่ามันดู “มั่วๆ” อย่างไรไม่รู้ เพราะ...หนึ่ง กล้องเคลื่อนที่เร็วมากจนดูไม่ทัน และ...สอง เลนส์กล้องซูมเข้าซูมออก ก็ชวนให้รู้สึกตาลายได้เป็นอย่างดี
พูดง่ายๆ ฉากแอ็กชั่นมันดูไม่จะแจ้งกระต่างนั่นล่ะครับ ซึ่งถ้าเทียบกับหนังเรื่องเดิมที่ผมพูดถึงอย่าง Shinobi นินจาแอ็กชั่นเรื่องนั้นก็รวดเร็วนะครับ แต่ทำไม เราดูแล้ว “รู้เรื่อง” กว่า และเห็นได้ชัดกว่า ทั้งท่วงท่าลีลายุทธ์ ไปจนถึงการปล่อยอาวุธที่ทำให้เราเห็นว่ามันมาจากจุดไหนยังไง ดูแล้วครึกครื้นในอารมณ์...
เหนืออื่นใด ผมว่าหนังค่อนข้างฉลาดแกมโกงอยู่ส่วนหนึ่ง ด้วยการอาศัยความชอบธรรมจากวิถีของนินจาที่ชอบอยู่ในเงามืดแล้วออกแบบฉากการต่อสู้ส่วนใหญ่ให้อยู่ในที่มืดๆ ผลลัพธ์ก็คือ เราแทบจะดูไม่รู้ว่าตัวละครต่อสู้กันยังไง ได้ยินแต่เสียงก๊องๆ แก๊งๆ ของอาวุธปะทะกัน หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเสียงป๊อกๆ แป๊กๆ ของอาวุธลับนินจาอย่าง “ดาวกระจาย” ที่กระทบกับสิ่งของ
5.ทำไมต้องเป็น “ปืน”?
ผมว่ามันเป็นการทรยศตัวเองอย่างถึงที่สุดของหนังเรื่องนี้ เพราะจะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ของเหล่านินจาอยู่ดีๆ แต่มันดันมีปืนมาเกี่ยวข้อง และที่เลวร้ายเหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ “ปืน” นี่แหละครับที่กลายมาเป็น “บทสรุป” แห่งการต่อสู้ในหนังไปเฉยเลย เหมือนๆ จะบอกว่า ต่อให้นินจาจะเก่งกาจมาจากไหน ที่สุดแล้วก็ต้องพ่ายให้กับปืน
อันที่จริง ผมว่าฉากต่อสู้สุดท้ายที่เรนต้องฟาดปากกับนินจาหัวโจกนั้น ดูมันส์ที่สุดแล้วนะครับ แต่หนังกลับมาทำลายอารมณ์ตรงนั้นให้พังทลายลงแบบไม่เหลือรูปมวย ด้วยเสียงปืนเพียงนัดสองนัด
คือผมมองว่าหนังน่าจะหา “ทางออก” ได้ดีกว่านี้นะครับ เอาแบบหนังแอ็กชั่นมวยจีนแบบ “บรูซ ลี” หรือ “เจ็ท ลี” ยุคก่อนๆ ก็ได้ครับ คือถึงแม้พระเอกจะเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าปางตาย แต่ในที่สุดก็สามารถตะเกียกตะกายพยุงสังขารลุกขึ้นมาสู้ได้จนชนะ แบบว่า นึกถึงหน้านางเอก หรือผู้มีพระคุณบางคน แล้วมันเกิดพลังฮึกเหิมขึ้นมา อะไรทำนองนั้น แต่นี่ไม่ใช่ เพราะเขาต่อสู้กันอยู่ดีๆ แต่คุณพี่ดันให้คนอีกคนเอาปืนมายิงข้างหลังเขาเฉยเลย นั่นยังไม่นับรวมนินจาลูกกระจ๊อกตัวอื่นๆ ที่โดนถล่มด้วยปืน ล้มตายกันเกลื่อนกลาดน่าอนาถเวทนา ถามหน่อยเถอะครับว่า แล้วอย่างงี้จะมีนินจาไปทำไมกัน? ทำไมไม่เอาปืนไล่ยิงกันให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลยตั้งแต่แรก??
คนอื่นจะอย่างไรไม่ทราบ แต่สำหรับผม สิ่งนี้ นอกจากจะเป็นการไม่ให้เกียรตินินจาอย่างถึงที่สุดแล้ว ยังทำให้เหล่านินจาสูญสิ้นศักดิ์ศรีแบบไม่มีอะไรจะต้องเคลียร์!!