มิคาเอล ฮาเนเก เป็นผู้กำกับจากประเทศออสเตรีย (เกิดที่เยอรมนี แต่ไปโตที่ออสเตรีย) ที่ลำพังแค่ชื่อของเขา ก็สามารถ ‘เรียกแขก’ จำนวนหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ไหนแต่ไร หนังของฮาเนเกเรื่องไหนเรื่องนั้น ไม่เคยเป็นหนังประเภท ‘จบแล้วจบกัน’ แต่ทุกเรื่องจะกระตุ้นเร้าผู้ชมให้เกิดความรู้สึกบางอย่างบางด้าน ไม่ว่าจะงุนงง สงสัย เหวอ ช็อคแตก กระทั่งต้องเก็บมันไปขบคิดพิจารณาหรือบอกต่ออยู่เสมอ – ไม่ว่าจะด้วยความชื่นชมหรือไม่ก็ตาม
ยกตัวอย่างงานเด่นๆ ของฮาเนเก ก็เช่น Funny Games (ต้นฉบับ 1997 และฉบับรีเมค 2007 – ว่าด้วยเรื่องของหนุ่มโรคจิต 2 นายที่จับครอบครัวแสนสุขครอบครัวหนึ่งเป็นตัวประกัน และบังคับให้สมาชิกในครอบครัวเหยื่อเล่นเกม “พนันกันไหมว่า ภายในคืนนี้เราจะฆ่าพวกคุณตายหมดหรือเปล่า?” ฉากที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงสูงสุดของหนัง เห็นจะหนีไม่พ้นฉาก ‘รีโมทพิฆาต’), The Piano Teacher (2001 – ดัดแปลงจากนิยายของ เอลฟรีเด เยลิเน็ก นักเขียนโนเบล เล่าเรื่องของครูสอนเปียโนเก็บกดผู้หนึ่งที่ก่อร่างสร้างสัมพันธ์สวาทกับลูกศิษย์หนุ่มของตัวเอง ฉากหวาดเสียวสุดในเรื่องน่าจะได้แก่ฉากที่คุณครูผู้งามสง่าลงมือ ‘กระทำ’ ตัวเองในห้องน้ำ)
รวมถึง Hidden ที่เข้ามาฉายที่โรงภาพยนตร์ house เมื่อ 4 ปีก่อน และฮาเนเกก็ประสบความสำเร็จในการระดมยิงคลื่นแห่งความอึดอัดใส่ผู้ชมระลอกแล้วระลอกเล่า หนำซ้ำ ตอนจบของหนังยังทำให้ทุกคนในโรงตกอยู่ในอาการ ‘หนังจบแล้วแต่คนดูยังไม่จบ’ เพราะมันช่างคาใจค้างความรู้สึกเสียจนใครต่อใครต้องเก็บหนังออกมาถกกันต่อหน้าโรงกันอย่างเซ็งแซ่พัลวัน
กับ The White Ribbon ซึ่งเป็นงานล่าสุด แม้หนังจะมีส่วนประกอบพื้นฐานที่แปลกหูแปลกตาจากงานก่อนๆ ของเขาอยู่บ้าง อาทิ การเป็นหนังย้อนยุคถอยไปจากปีปัจจุบันถึงเกือบศตวรรษ ซ้ำยังถ่ายเป็นขาว-ดำ อีกทั้งหน้าตาของหนังดูหรูหราอลังการขึ้น (พูดง่ายๆ ก็คือ ฟอร์มใหญ่ขึ้น) – ทว่าโดยเนื้อในของมัน ฮาเนเกก็ยังคงรักษา ‘เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ’ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้อย่างไม่ขาดพร่อง
หนังเล่าเรื่องราวผ่านปากคำของบุรุษชราผู้หนึ่ง ชายชราเท้าความทรงจำ รำลึกความหลัง เล่าย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1913 - หรือ 1 ปีก่อนการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 (สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นในปี 1914 และสิ้นสุดลงในปี 1918 ด้วยความปราชัยของฝ่ายมหาอำนาจกลางที่นำทีมโดยเยอรมนี)
จากคำบอกเล่าของชายชรา ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาเป็นคุณครูหนุ่ม สอนประจำที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ ไอค์วัลด์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยพื้นฐาน ไอค์วัลด์เป็นชุมชนเคร่งศาสนาที่เงียบสงบ ชาวบ้านซึ่งมีกันอยู่เพียงหยิบมือต่างรู้จักมักคุ้นกันหมด กว่าครึ่งของประชากรหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำกสิกรรมให้กับท่านบารอนและบารอนเนส ผู้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนั้น
อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งชีวิตสุขารมณ์ของชาวบ้านก็ถึงแก่กาลพังทลาย จากปากคำของชายชรา ขวบปีแห่งความวิปโยคเริ่มต้นขึ้นด้วยอุบัติเหตุของคุณหมอประจำหมู่บ้าน เมื่อใครบางคนนำลวดเส้นเรียวเหนียวคมไปขึงดักตรงรั้วบ้านซึ่งหมอใช้เป็นเส้นทางควบม้าผ่านเข้า-ออกทุกค่ำเช้า ส่งผลให้ทั้งม้าและหมอล้มคว่ำระเนระนาด ตัวหมอเองบาดเจ็บสาหัสจนชาวบ้านต้องเร่งพาตัวส่งไปรักษายังโรงพยาบาลประจำตัวเมืองเป็นการเร่งด่วน
นับจากนั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์ร้ายๆ ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องตามกันมาเป็นลำดับ แต่ละเหตุการณ์มีต้นสายปลายเหตุและระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป อาทิ ชาวไร่คนหนึ่งประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเสียชีวิต ชาวไร่อีกคนฆ่าตัวตาย เด็กทารกคนหนึ่งเกือบจะป่วยเป็นโรคปอดบวมเพราะใครบางคน –ไม่ว่าจะเผอเรอหรือจงใจ- เปิดหน้าต่างห้องนอนทิ้งไว้ เด็กอีก 2 คนถูกจับตัวไปเฆี่ยนตีทำร้ายอย่างทารุณ ไฟไหม้โรงนาซึ่งเป็นที่เก็บผลผลิตของชุมชนจนวายวอด ฯลฯ
หนังเล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ผ่านมุมมองของคุณครูหนุ่ม –ซึ่งในทางหนึ่งก็ไม่ต่างจากสายตาของ ‘คนนอก’ เพราะเขาเป็นเพียง ‘ขาจร’ ซึ่งไปที่นั่นเพียงเพราะได้รับการบรรจุเท่านั้น- และพร้อมกันนั้น ก็ยังพาผู้ชมเข้าไปคลุกวงในมากกว่านั้น ด้วยการสาวไส้สมาชิกหลายคนในหมู่บ้าน พาผู้ชมไปรับรู้ความลับของหลากหลายครัวเรือน ที่ถูกซุกซ่อนเก็บงำไว้ภายใต้ฉากหน้าที่เรียบสงบเย็นชานั้นด้วย
ความลับที่ถูกหนังลากไส้ออกมาแฉ มีทั้งเรื่องของบาทหลวงผู้บ้าคลั่งศีลธรรมและกรอบกฎเกินพิกัดกระทั่งทำให้ลูกๆ ของตนแทบจะเป็นบ้าไป ชีวิตคู่ที่จืดจางของบารอนกับบารอนเนส ความฟอนเฟะของหมอประจำหมู่บ้านที่แอบมีสัมพันธ์ลับๆ กับหมอตำแยที่ช่วยดูแลบ้านและลูกๆ ของเขานับตั้งแต่เมียตายจากไป ฯลฯ
อันที่จริง ด้วยกรอบเนื้อหาแบบนี้ ฮาเนเกสามารถทำ The White Ribbon เป็นหนัง whodunit (หนังสืบสวนสอบสวนที่มุ่งเน้นการแสวงหาคำตอบว่า “ใครเป็นคนทำ?”) ที่ดูสนุกเพลิดเพลินได้สบาย อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงเขาก็เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น คำถามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุวิบัติต่างๆ เป็นเพียงตัวจุดประกายให้เกิดบรรยากาศแห่งความไม่น่าวางใจขึ้นในหมู่บ้าน และหนังก็ไม่ได้มีตัวละครตัวใดกระตือรือร้นลุกขึ้นมาตามล่าหาความจริงเท่าใดนัก สิ่งที่หนังให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กลับกลายเป็นการเปิดโปง ‘ความลับหลังประตู’ ที่แต่ละผู้คนปิดบังซ่อนเร้นไว้เสียมากกว่า (แต่แน่นอน ท้ายที่สุด ความลับเหล่านั้นจะนำมาซึ่งคำตอบว่า ใครเป็นคนทำ)
The White Ribbon ได้รับคะแนนบวกจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้นในคราวที่ไปเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด และที่สุดแล้วหนังก็สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานไปครองได้ด้วย (ล่าสุดเพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลยูโรเปียน ฟิล์ม อวอร์ด 4 สาขา คือ หนัง กำกับ บท และกำกับภาพ)
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ฮาเนเกก็ยังคงเป็นฮาเนเกคนเดิม และ The White Ribbon ก็ยังคงเป็นหนังที่ไม่อาจ ‘ดูผ่าน’ เช่นเดียวกับงานเก่าก่อนของเขาอย่างไม่ผิดเพี้ยน
หนังเก่งฉกาจอย่างยิ่งในการหยอกเอิน ยั่วล้อ และทำสงครามกับความอยากรู้อยากเห็นของคนดู หลายครั้ง ขณะที่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งกำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และก็มีภาพบางภาพของเหตุการณ์นั้นๆ ที่คนดูคาดหวังและเชื่อแน่ว่าตนจะได้เห็น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ฮาเนเกกลับดัดหลังคนดูด้วยการจัดมุมกล้องให้ภาพดังกล่าวถูกวัตถุบางอย่างบดบัง หรือไม่ก็ตัดฉับข้ามไปเล่าถึงเหตุการณ์อื่นเสียอย่างนั้น
ยกตัวอย่างก็เช่น ครั้งหนึ่งลูกๆ ของบาทหลวงทำความผิดอะไรบางอย่างและถูกพ่อเรียกตัวไปทำโทษ หนังให้ผู้ชมเห็นเด็กๆ เดินเข้าไปในห้องห้องหนึ่งแล้วปิดประตูตามหลัง ครู่หนึ่งเด็กคนหนึ่งเดินออกมาจากห้องดังกล่าว กล้องติดตามเขาไปยังหน้าประตูของอีกห้องหนึ่ง เราเห็นเขาเดินเข้าไป และเมื่อกลับออกมาอีกครั้งก็ถือแส้อันหนึ่งติดมือออกมาด้วย จากนั้นเด็กชายก็เดินกลับเข้าไปในห้องแรก ปิดประตู เป็นธรรมดาที่ผู้ชมจะคาดหวังว่าจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องนั้น แต่ฮาเนเกกลับเลือกที่จะแช่ภาพค้างไว้เพียงแค่ด้านนอกของประตู และปล่อยให้ผู้ชมทนฟังเสียงเด็กๆ ร้องโอดโอยโหยหวนอย่างเจ็บปวดดังลอดจากภายในห้องเท่านั้น
ลักษณะเช่นนี้ปรากฏให้เห็นแทบจะตลอดทั้งเรื่อง และโดยมากจะเป็นการพาผู้ชมกระโดดข้ามภาพของการกระทำที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตัว จำต้องสารภาพตามตรงว่า ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจว่า ฮาเนเกเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ด้วยเหตุผลใด เป็นได้ว่าตั้งใจกวนโอ๊ยผู้ชม หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นรสนิยมส่วนตัว ตามที่ตัวเขาเองเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่นิยมหนังที่เผยให้เห็นภาพที่รุนแรงอย่างจะแจ้ง หรือไม่อีกที ก็อาจเป็นเพียงเหตุผลพื้นฐานประเภทที่ว่า เขาแค่ต้องการขีดเส้นใต้เน้นย้ำคำว่า “ความลับ” ให้มันชัดเจนขึ้นเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด ผลลัพธ์ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ มันทั้งสร้างความอึดอัดและทั้งกระตุ้นเร้าความอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้ชมมากขึ้นอีกอักโข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบวกรวมกับการกำกับภาพ เสื้อผ้าหน้าผมรวมถึงหน้าตาของตัวละคร (ที่เย็นชาได้ใจมาก) และองค์ประกอบทางด้านภาพในทุกๆ ภาคส่วนที่ช่วยกันโหมประโคมบรรยากาศลึกลับพิศวงให้กับหนังแล้ว – ก็ทำให้หนังที่เล่าเรื่องด้วยจังหวะเนิบๆ หนำซ้ำยังไม่ได้มีฉากไหนตอนใดบู๊ล้างผลาญอลังการยิ่งใหญ่เรื่องนี้ กลายเป็นหนังที่น่าติดตามเอามากๆ ทีเดียว
ชื่อหนังว่า The White Ribbon นั้น ตามเหตุการณ์ในเรื่องแล้วเป็นสัญลักษณ์แห่งความสะอาดบริสุทธิ์ที่บาทหลวงบังคับให้ลูกๆ ของตนผูกเอาไว้ภายหลังจากที่เด็กๆ มีพฤติกรรมซึ่งผู้เป็นพ่อเห็นว่าชั่วร้ายรับไม่ได้ และจำต้องอาศัยริบบิ้นขาวผูกติดตัวเพื่อเตือนสติเอาไว้ตลอด (นั่นแปลว่า ริบบิ้นขาวเป็นทั้งเครื่องเตือนใจ เครื่องมือลงโทษ และอีกนัยหนึ่งมันคือเครื่องมือประจานความผิดของเด็กด้วย)
ดูเหมือนว่า ‘เด็ก’ กับ ‘ผู้ใหญ่’ จะเป็นตัวละคร 2 ชุดที่หนังให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ตลอดทั้งเรื่องสิ่งที่ผู้ชมเห็นก็คือ พฤติกรรมอันรุนแรง หยาบช้า หรือบางครั้งถึงขั้นสามานย์ ที่ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายลงมือกระทำ ทั้งกับผู้ใหญ่ด้วยกัน และลามปามไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานของตนด้วย
ครั้งหนึ่งฮาเนเกให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวแล้วเขาไม่เชื่อว่าเด็กๆ บริสุทธิ์ไร้เดียงสาอย่างที่ใครอ้างกัน “ไม่เชื่อไปที่สนามเด็กเล่นแล้วดูเวลาเด็กเล่นกันสิ” ฮาเนเกว่า ส่วนภาพลักษณ์ประเภทเด็กเป็นเทวดาตัวน้อยๆ อะไรเทือกนั้น สำหรับเขาแล้วเห็นว่า มันก็เป็นแค่ภาพที่ผู้ใหญ่ปรารถนาจะให้เด็กเป็นเท่านั้น
ก็น่าจะเป็นเพราะความเชื่อเช่นนั้น ที่ทำให้เด็กใน The White Ribbon เป็นตัวละครที่น่ากลัวและร้ายกาจไม่แพ้ผู้ใหญ่ แม้ในด้านหนึ่งหนังจะยอมรับว่าเด็กเหล่านี้คือเหยื่อที่ต้องมารับผลกระทบจากการกระทำร้ายๆ ของผู้ใหญ่จริง แต่อีกด้าน หนังก็แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า ที่สุดแล้วเด็กก็คือมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณดิบและด้านมืดอยู่ในตัว และเมื่อใดก็ตามที่สัญชาตญาณดังกล่าวถูกกระตุ้นเร้าและบ่มเพาะจนได้ที่ พวกเขาก็พร้อมที่จะแปรฐานะของตัวเองจากเหยื่อ กลายเป็น ‘ทายาทอสูร’ เป็นผู้สืบทอดความรุนแรงได้เช่นกัน
ฮาเนเกทิ้งหลักฐานยืนยันความเชื่อดังกล่าวด้วยการดึงสงครามโลกมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในหนัง
เรื่องราวทั้งหมดใน The White Ribbon ยุติลงเมื่อ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี ถูกลอบปลงพระชนม์ อันเป็นชนวนเหตุให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น และตอนต้นเรื่อง ตอนหนึ่งในบทรำพึงรำพันของชายชรากล่าวไว้ว่า ปีที่เกิดเหตุการณ์วิบัติขึ้นที่หมู่บ้านไอค์วัลด์นั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกผันหน้าตาของประเทศเยอรมนีไปอย่างสิ้นเชิง
คำถามสำคัญที่แม้หนังจะไม่ได้บอกกล่าวออกมาตรงๆ แต่ก็ทำทางทิ้งไว้ให้ผู้ชมเก็บไปเป็นภาระในการทบทวนประวัติศาสตร์กับตัวเอง ก็คือ แล้วกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอีก 3 ทศวรรษให้หลัง โดยมีเยอรมนีเป็นผู้จุดชนวนเล่า...ขุมกำลังสำคัญของกองทัพนาซีคือใคร ก็คนเดียวกับที่เคยเป็นเด็กน้อยในสมัยสงครามโลกครั้งแรกไม่ใช่หรือ?
จะเรียกว่าเป็นการแสดงความห่วงใยต่อโลกในแบบของฮาเนเกก็น่าจะได้ ที่ในตอนหนึ่งของหนัง เขาให้ผู้ชมได้ยินคำพูดทำนองว่า “แต่แล้วฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง ผู้คนก็พากันหลงลืมเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกันไปเสียหมด”
และก็คงเพราะความเลวร้ายมันสามารถถูกหลงลืมและหลงหายไปกับกาลเวลาอย่างนี้กระมัง ที่ทำให้โลกไม่เคยปลอดจากเหตุการณ์ร้ายๆ ได้อย่างเด็ดขาด
และก็ยังมีการสืบทอดตำแหน่งทายาทอสูรรุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่างไม่จบไม่สิ้นเสียที
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |