xs
xsm
sm
md
lg

สงครามจารกรรม (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

“สงครามเป็นเรื่องของอนิจจังซึ่งไม่มากไม่น้อยไปกว่าสามในสี่ของสรรพสิ่งของการสงคราม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงคราม ซึ่งซ่อนแฝงอยู่ในม่านหมอกของ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การข่าวกรองต้องหลักแหลมและเจาะลึก เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงทั้งปวง” เป็นคำกล่าวของ นายพลฟอน เคลาส์วิชซ์ (Von Clausewitz) เสนาธิการกองทัพปรัสเซีย-เยอรมัน ในหนังสือที่เขาเขียนเรื่องการพิชัยสงคราม On War Book I บทที่ 3

สัญชาตญาณมนุษย์อย่างหนึ่ง คือ ความอยากรู้อยากเห็น ตั้งแต่อดีตกาลมาแล้วที่มนุษย์เฝ้าสังเกตธรรมชาติและสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วนำมาประมวลหาข้อเท็จจริงในการแสวงประโยชน์จากความรู้นั้น เพื่อตอบสนองจิตใต้สำนึกของความต้องการอยู่รอดและปลอดภัยจากภยันตรายรอบตัว เช่น การพยากรณ์ภัยธรรมชาติ และพฤติกรรมของสรรพสัตว์ที่เป็นภัยและที่เชื่องนำมาเลี้ยงได้ ตลอดจนข้าศึกศัตรู

นัยสำคัญของสังคมมนุษย์ คือ เป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแก่งแย่งและสงคราม คือ คำตอบของคนในการตัดสินความขัดแย้ง แก่งแย่งผลประโยชน์กันและกัน ดังนั้น ตามทัศนะเกี่ยวกับสงครามที่สัมพันธ์กับสังคมมนุษย์ของ ซุนวู นักปราชญ์รัฐศาสตร์การทหารจีน ที่กล่าวไว้ในตำราพิชัยสงคราม 2,500 ปี มาแล้วว่า

“สงครามเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง เป็นเรื่องถึงเป็นถึงตาย เป็นหนทางเพื่อความอยู่รอดหรือความพินาศฉิบหาย จึงเป็นอาณัติที่จะต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ แต่ประเด็นสำคัญที่จักรพรรดิและแม่ทัพนายกองทั้งหลายจะเอาชนะข้าศึกได้ ต้องสามารถพยากรณ์ล่วงรู้สถานการณ์ข้างหน้าได้ ยิ่งหยั่งลึกมากย่อมได้เปรียบมาก และการล่วงรู้สถานการณ์ข้างหน้านั้นจะได้จากจารชนที่รู้จักข้าศึกดี จึงอนุมานได้ว่ากองทัพปราศจากสายลับ ก็เปรียบเสมือนคนตาบอดหูหนวก”

ทัศนะของซุนวู เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว พิสูจน์ถึงสัจธรรมความร้ายแรงของสงคราม ว่าสงครามมนุษยชาติมีมาแล้วมากมายหลายร้อยครั้ง รุนแรงมากน้อยต่างกัน แต่ประมาณ 30 ครั้งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ระบบสังคม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี การล่มสลายของอาณาจักร และการสิ้นชาติแม้กระทั่งอาณาจักรเขมรก็ล่มสลายเพราะกองทัพไทย เกิดนวัตกรรมยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ บางสงครามใช้เวลานานยืดเยื้อเป็นร้อยปี เช่น สงครามครูเซด ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 – 13 รบกันเป็นห้วงๆ ด้วยใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน แต่สงครามก็ใช้เวลาสั้น เช่น สงคราม 6 วันระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล 5–10 มิถุนายน ค.ศ. 1967 และสงครามสหรัฐฯ – อิรัก ค.ศ. 2003 แต่ที่สำคัญมีวิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวแปรเพิ่มอำนาจการรบ

เกือบทุกสงครามเมื่อวิเคราะห์ถึงบทเรียนที่ได้รับแล้ว พบว่าผลแพ้ชนะขึ้นอยู่กับความสามารถของการข่าวกรอง เพราะการข่าวกรองเป็นสงครามยุทธศาสตร์ประเภทหนึ่ง ที่ทั้งในยามปกติและยามสงครามต้องมีการปฏิบัติการสัมพันธ์กลมกลืนทั้งระบบ ยุทธศาสตร์ชาติจึงจะสามารถกำหนดทิศทางในการเตรียมปัจจัยและกำลังรบพื้นฐานเอาชนะข้าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องรู้ถึงขีดความสามารถและหนทางปฏิบัติของข้าศึก ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการเจรจาต่อรองทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางการทูต ให้ดำรงศักยภาพเหนือกว่าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ประวัติศาสตร์ไทยมีบทเรียนและประสบการณ์ถึงการแปรพักตร์ของพระยาจักรี ทำตัวเป็นไส้ศึกให้กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง จนกรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชพม่าใน พ.ศ.2112 ซึ่งตามพงศาวดารเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทย ได้ทำสงครามกับพม่า 24 ครั้ง ส่วนครั้งที่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี รบกับพม่าอีก 20 ครั้ง รวมไทยรบพม่า 44 ครั้ง และเสียเอกราช 2 ครั้ง จนพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษใน พ.ศ. 2428 รวมทั้งรบกับเขมรหลายสิบครั้ง ซึ่งชนะทุกครั้ง จนได้เขมรเป็นเมืองขึ้น แต่มาเสียเขมรให้ฝรั่งเศสซึ่งมีพลังทางทหารสูงกว่าไทย

หากวิเคราะห์ในทางกลับ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้รับข่าวกรองถึงแผนประทุษร้ายพระองค์ จากการแจ้งเตือนของพระมหาเถระคันฉ่อง ว่าพระยาเกียรติกับพระยาราม แม่ทัพมอญ ได้รับราชโองการจากพระมหาอุปราชหงสาวดี ให้ตีกระหนาบหลังกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะช่วยหงสาวดีเข้าตีกรุงอังวะใน พ.ศ. 2127 และเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ประกาศอิสรภาพทันทีในปีนั้นเอง โดยมิต้องเกรงกลัวพม่าอีกต่อไป

นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า ระบบการข่าวกรองยุทธศาสตร์มีรากฐานอย่างเป็นระบบตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 (Queen Elizabeth I ค.ศ. 1533 – 1603) ปกครองอังกฤษ ในขณะที่ราชอาณาจักรมีความอ่อนแอและล่อแหลมต่ออิทธิพลของฝรั่งเศสและสเปน ทั้งยังมีปัญหาภายในเกี่ยวกับความขัดแย้งในลัทธิความเชื่อทางศาสนา ระหว่างประชาชนที่นับถือคาทอลิกซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นสูง และโปรเตสแตนต์ ซึ่งพระองค์จะต้องสร้างความสมดุล และขณะเดียวกันต้องป้องกันอิทธิพลจากวาติกันไม่ให้แทรกแซง

ด้วยระบบการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพและหลักแหลม ทำให้พระองค์สามารถดำเนิน กุศโลบายทางการทูตอย่างแนบเนียน รอดพ้นจากแรงกดดันของฝรั่งเศสและสเปน ที่มุ่งหวังให้เชื้อพระวงศ์แต่งงานกับพระองค์เพื่อผนวกอาณาจักร และครั้นเมื่อเข้าสู่สงครามก็สามารถทำลายกองทัพเรือสเปนอย่างราบคาบ

ในรัชสมัยของพระองค์สามารถรวมอังกฤษให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็นประเทศที่เรืองอำนาจในหลายด้าน ทั้งการเมือง การต่างประเทศ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม วัฒนธรรม ซึ่งวิลเลียม เชกสเปียร์ มีชีวิตในรัชสมัยของพระองค์

ด้วยรากฐานทางงานการข่าวที่แข็งแกร่งของอังกฤษที่ใช้เวลาพัฒนาเป็นศตวรรษ มีส่วนทำให้อังกฤษเป็นมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม จนได้รับสมญาว่า “ราชอาณาจักรที่พระอาทิตย์ไม่มีวันตก” และรอดพ้นจากการถูกขยี้จากกองทัพเยอรมันในสงครามโลกทั้งสองครั้ง เมื่อสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม แต่การที่สำเร็จได้เพราะ การข่าวกรองมี เอกภาพ (Unity) และการรวมพลัง (Synergism) ของผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัท มาโคนี่ (Marconi) ของอังกฤษ ให้การสนับสนุนรัฐบาลในการวิจัยค้นคว้าเครื่องตรวจจับตำแหน่งและทิศทางของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่แพร่สัญญาณจากเรือดำน้ำเยอรมนีสำเร็จใน ค.ศ. 1915 ทำให้กองทัพเรืออังกฤษ สามารถล่วงรู้ว่ากองทัพเรือดำน้ำเยอรมนีมีเจตนารมณ์อย่างไร จึงสกัดกั้นและทำลายได้

ส่วนในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มนักวิชาการหลายสาขาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการวิจัยสร้างเครื่องมือถอดรหัส “Enigma” ซึ่งเป็นเครื่องมือคอมพิวเตอร์เข้ารหัสการสื่อสารของกองทัพนาซีเยอรมนี เครื่องมือนี้เรียกว่า “Ultra” ซึ่งอังกฤษปิดเป็นความลับสุดยอด ถึงแม้ว่าจะต้องยอมเสียสละเมืองโคเวนตรี (Coventry) ให้ถูกโจมตีทิ้งระเบิด และต้องมีผู้คนเสียชีวิตเป็นพัน เพราะหากมีการเตรียมการป้องกันแล้ว ฝ่ายเยอรมนีก็จะรู้ว่า “Enigma” ไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว ก็จะเปลี่ยนเครื่องมือเข้ารหัสใหม่ ซึ่งอังกฤษก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการวิจัยค้นหาเครื่องมือมาถอดรหัส และโฉมหน้าสงครามคงเปลี่ยนไป Ultra ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรพยากรณ์เจตนารมณ์ของกองทัพนาซีได้ตลอดเวลา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นายพล ฟูลเลอร์ (General J.F.C. Fuller ค.ศ. 1878 – 1966) นักการทหารชาวอังกฤษ และถือว่าเป็นบิดาแห่งสงครามยานเกราะที่สามารถใช้กองทัพรถถังปฏิรูปยุทธวิธีการรบภาคพื้นที่ชงักงันด้วยสงครามสนามเพลาะ (Trench Warfare) เป็นยุทธพลวัต ทำให้สงครามสิ้นสุดลงเร็ว ทำให้การสูญเสียลดลง และถูกพัฒนาเป็นสงครามสายฟ้าแลบในสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพล ฟูลเลอร์ ได้รวบรวมแนวคิดและบทเรียนจากประวัติศาสตร์สงคราม และพัฒนาเป็น หลักการสงคราม 9 ข้อ กำหนดเป็นแนวทางให้กองทัพอังกฤษยึดปฏิบัติในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมากองทัพสหรัฐอเมริกา ได้นำไปพัฒนาเป็นหลักการของตัวเองใน ค.ศ. 1920 เกือบทุกกองทัพในโลก จะมีหลักการสงครามเป็นยุทธคัมภีร์

มีหลักการสงครามสามข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการข่าวกรอง ได้แก่ หลักการรุก (Principle of Offensive) หลักการรักษาความปลอดภัย (Principle of Security) และหลักการจู่โจม (Principle of Surprise) เพราะการที่จะสามารถรู้จุดอ่อนของข้าศึก จู่โจมไม่ให้ทันรู้ตัว ทำให้ข้าศึกสูญเสียอำนาจการรุกและโมเมนตัมต้องมีการข่าวที่เยี่ยมยอด ขณะเดียวกันฝ่ายเราต้องเก็บรักษาความลับทั้งปวง จะตื่นตัวระวังป้องกันอย่างละเอียดรอบคอบ มิให้ข้าศึกปฏิบัติการจู่โจมกับฝ่ายเรา ตลอดจนต้องมิให้ข้าศึกล่วงรู้ถึงเจตนารมณ์ฝ่ายเรา รวมถึงการล่วงรู้นวัตกรรมสงครามที่เป็นน้ำหนักทำลายข้าศึก เช่น ยุทธวิธีใหม่ และยุทโธปกรณ์ใหม่ เป็นต้น

คำถามสำคัญ คือ การข่าวกรองคืออะไร และโดยทั่วไปแล้วมักมีการเข้าใจสับสน คิดว่าการข่าวกรองเป็นปฏิบัติการทำลายล้าง หรือการก่อการร้ายรูปแบบหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วการข่าวกรอง คือ การรวบรวมข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ ที่จะสร้างประโยชน์ให้ฝ่ายตนได้เปรียบข้าศึก หรือคู่แข่งในเชิงการเมืองและธุรกิจก็ได้ ด้วยการนำข้อมูลเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการ วิเคราะห์หาข้อเท็จจริงให้มากและเชิงลึกที่สุด และพิจารณาแจกจ่ายผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันเวลาในการตัดสินตกลงใจเพื่อบรรลุเป้าประสงค์

                   nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น