xs
xsm
sm
md
lg

หนังสุดเลิฟของรัฐบาลอภิสิทธิ์ : สามชุก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่น่าแปลกใจแม้เพียงน้อยนิดที่รัฐบาลใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะออกแรงดันหนังเรื่องนี้อย่างเต็มสูบ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นโต้โผใหญ่ จนถึงขั้นเอาชื่อขององค์กรตัวเองไปแปะไว้บนโปสเตอร์หนัง เคียงข้างกับชื่อของท่านผู้นำที่ตอกย้ำความปลาบปลื้มของรัฐบาลที่มีต่อหนังเรื่องนี้


และที่บอกว่าไม่น่าแปลกใจ ก็เพราะ...ถ้ามองในเชิงเนื้อหาสาระแล้ว “สามชุก” คือหนังซึ่งพูดในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ยินได้ฟังมากที่สุด และอันที่จริง สิ่งที่หนังพูดก็เป็นเสมือนอุดมคติที่รัฐบาลทุกๆ ชุดอยาก “ทำให้ได้ ไปให้ถึง” แต่ทำไม่ค่อยสำเร็จ...สังคมที่ปลอดสิ่งเสพติด วัยรุ่นใฝ่ดี ครอบครัวรักใคร่เข้าใจกัน ชุมชนเข้มแข็ง...พูดง่ายๆ ก็คือว่า นี่เป็นหนังที่ “ตอบสนองความฝัน” ของรัฐบาลโดยแท้จริง...

บอกตามตรงครับว่า โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับหลายๆ คนที่มองว่า สามชุก เป็นหนังที่ “เนื้อหาดี มีคุณค่า” ต่อสังคม ชุมชน ไปจนถึงประเทศชาติ แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าพูดกันแบบไม่ต้องเข้าข้าง ก็บอกได้เลยว่า สำหรับผม สามชุก คือหนังที่ “มีคุณค่าในเชิงสาระ แต่ขาดชั้นเชิงทางศิลปะที่ภาพยนตร์ดีๆ จะพึงมี”

เป็นยังไงน่ะหรือ เดี๋ยวผมจะบอก แต่ถ้าคุณไม่อยากฟัง ก็ปิดหน้าเว็บนี้ไปได้เลย เพราะผมจะมาวิจารณ์ ไม่ได้มานั่งพับเพียบสรรเสริญหรือเชียร์ใคร...

ด้วยเค้าโครงจากเรื่องจริง “สามชุก” เล่าเหตุการณ์ของเด็กมัธยม 7 คนของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ที่ถูกปัญหาชีวิตและครอบครัว ผลักให้ “พลัดหลง” เข้าไปสู่โลกของยาเสพติด สิ่งที่หนังพาผู้ชมเข้าไปติดตามดูก็คือว่า ที่สุดแล้ว หนุ่มน้อยนักเรียนเหล่านั้นจะสามารถ “หันตัวเอง” กลับเข้าสู่โลกปกติได้หรือไม่ โดยมีคุณครูใจดีอย่าง อ.พินิจ เป็นกัลยาณมิตรที่พยายามจะดึงพวกเขาให้กลับออกมาจากโลกของสิ่งมึนเมา

แน่นอนครับว่า จุดแข็งของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ “เค้าโครงเรื่องจริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามอยู่แล้วในตัวของมันเอง เพราะต่อให้เราทำเป็นลืมๆ ไปก่อนว่า นี่คือหนังที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าขอเป็นศัตรูกับยาเสพติด เรื่องราวของครูผู้อารี ก็ไม่ต่างจากนิยายฮีโร่ที่เราอยากให้มีอยู่เยอะๆ ในสังคม

แต่พูดก็พูดเถอะ ขณะที่หลายๆ คนพยายามจะบอกว่า สามชุก จะเป็น “น้ำพุ” ยุคใหม่ หรือ “เสียดาย” ยุคดิจิตอล ผมกลับรู้สึกว่า ผลงานชิ้นนี้ยังห่างไกลจากสิ่งที่หลายๆ คนอยากให้มันเป็นนั้นมากมาย เพราะภาพรวมที่ออกมา ทำให้เกิดความรู้สึกราวกับว่าเรากำลังนั่งชมสื่อประกอบการอบรมหรือสัมมนาอันว่าด้วยปัญหายาเสพติดและครอบครัวมากกว่า นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า บทพูดในหลายๆ วาระ แทบจะเหมือนปาฐกถาปลุกระดมไปโน่นเลย

คือจริงๆ ผมว่า หนังให้น้ำหนักของเรื่องราว “คลาด” ไปอยู่สักหน่อย เพราะดูจากหน้าหนัง มันเป็นเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นที่ “หลงทาง” และกำลังจะ “เปลี่ยนผ่าน” ในลักษณะของ Coming of Age ซึ่งหนังสามารถนำเสนอแบบเน้นๆ ให้เราเห็นถึงช่วงเวลาที่ “เจ็บปวด” และ “ผ่านพ้น” ได้ แต่พอดูๆ ไป เราจะพบว่า เนื้อหาในส่วนของการ “ต่อต้านยาเสพติด” ดูจะเข้มข้นกว่ามาก นั่นก็จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะคิดเห็นว่านี่คือหนังรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ขณะที่เนื้อหาในส่วนของครูพินิจ (ที่ชวนให้นึกไปถึงครูอีกหลายๆ ท่าน อย่างครูปิยะ ใน “ครูบ้านนอก”) ก็ดูสว่างไสวจนแทบจะกลบทับเรื่องราวของเด็กๆ วัยรุ่นไปโดยสิ้นเชิง

และที่พูดๆ มา ไม่ได้ปฏิเสธเลยครับว่า หนังดูดีมีคุณค่าในเชิงเนื้อหาสาระ แต่ถ้ามองในมุมของศิลปะการเล่าเรื่อง ผมว่ามันยังดูง่ายเกินไป

ง่ายอย่างไร?

ก็อย่างเช่น เวลาหนังจะบอกว่า เด็กคนหนึ่งมีปัญหาอย่างไร ก็บอกเล่ากันแบบไม่ต้องมีชั้นเชิงอะไรมาก คืออาศัยเทคนิคการแฟลชแบ็คนิดๆ หน่อยๆ แล้วเทคนิคที่ว่านี้ก็ถูกใช้จนซ้ำซาก เพราะเด็กเจ็ดคน ก็ไล่แฟลชแบ๊คไปดูแบ๊คกราวน์ของพวกเขาทั้งเจ็ดรอบ...ไม่รู้ว่าไม่สามารถสรรหาวิธีการเล่าในแบบอื่นๆ ได้แล้วหรือไร?

เทียบกับ “บางระจัน” ผลงานที่ดังมากๆ ของคุณธนิตย์ จิตนุกูล ซึ่งพูดเรื่องซีเรียสๆ คล้ายๆ กัน (คือความรักชาติหวงแหนแผ่นดิน) แต่ศิลปะการเล่าเรื่องและสร้างพล็อตของบางระจัน ทำได้ดีกว่ามาก คือเราดูแล้วรู้สึกสะเทือนใจไปกับเรื่องราวการเสียสละของพวกเขาชาวบ้านบางระจัน แต่ “สามชุก” จะออกไปในลักษณะเดียวกันกับ “รักสยามเท่าฟ้า” (หนังอีกเรื่องของคุณธนิตย์ จิตนุกูล) มากกว่า เพราะทั้งๆ ที่หนังมีเนื้อหาดีๆ ที่อยากจะบอก แต่ก็เป็นการบอกแบบแกนๆ เหมือนใครสักคนอยากจะคนอื่นว่า เขารักประเทศชาติ ก็หยิบโทรโข่งขึ้นมาประกาศปาวๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สำหรับความเป็นหนัง (ที่ไม่ใช่หนัง Propaganda ซึ่งจะมาโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดอะไร) ผมว่า อย่างน้อยๆ มันต้องมีศิลปะในการเล่าเรื่องและโน้มน้าวความรู้สึกของคนดูกันมากกว่านี้

เทียบกับ “น้ำพุ” เทียบกับ “เสียดาย” หรือใกล้ๆ เข้ามาหน่อย ก็อย่าง “รักแห่งสยาม” ผมว่า หนังเหล่านี้มีศิลปะที่ดีในการที่จะ “เล่าเรื่อง” ทำให้คนรู้สึกสะเทือนใจไปตาม โดยไม่จำเป็นต้องยัดบทพูดใส่ปากของตัวละครโครมๆ ว่า สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก หรือชุมชนต้องให้โอกาส

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ขณะที่หนังเรียกร้องโอกาสให้กับเด็กๆ ทั้งเจ็ดคน แต่หนังกลับไม่เปิดโอกาสให้กับคนดูเลย โอกาสที่ว่านั้นก็คือโอกาสที่จะได้ “รู้สึก” และ “นึกคิด” ไปกับสถานการณ์และเรื่องราวครับ เพราะหนัง “คิดแทน” และบอกออกมาหมด ตั้งแต่โทษของยาเสพติดไปจนถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ผ่านบทพูดในหลายๆ ครั้งที่ดูขึงขังจริงจังราวกับกลัวว่าคนดูจะไม่รู้จะไม่เข้าใจ

คืออยากให้ลองนึกถึงวรรณกรรมหรือหนังสะท้อนสังคมที่ยอดเยี่ยมทั่วๆ ไปครับ อย่างเช่น ผีเสื้อและดอกไม้...เพราะอะไร ทั้งๆ ที่หนัง (ซึ่งสร้างมาจากวรรณกรรม) เรื่องนี้ไม่เคยเอ่ยปากเลยว่า สังคมควรจะเหลียวไปมองและดูแลเด็กๆ ด้อยโอกาสอย่างฮูยันและน้องๆ ของเขาบ้าง แต่คนดูผู้ชมจะค่อยๆ รู้สึกไปเองถึงความน่าเห็นใจของชีวิตพวกเขา จากสิ่งที่หนังค่อยๆ เล่าออกมา

มองกลับมาที่สามชุก...มีอยู่ช่วงหนึ่งในหนังที่น่าปวดใจมากที่สุดสำหรับผมก็คือ ตอนที่ อ.พินิจเรียกผู้ปกครองของเด็กทั้งเจ็ดคนมาบอกกล่าว ซึ่งพอบอกกล่าวกันเรียบร้อย หนังก็ค่อยๆ ทยอยให้ตัวละคร (ผู้ปกครอง) ได้คร่ำครวญและบอกลาอาจารย์ไปทีละคน ซึ่งกินเวลาหลายนาทีมาก และยิ่งพอหนังลาก “สถานการณ์” แบบนี้ไปจนถึงผู้ปกครองคนท้ายๆ มากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า มันชักจะเหมือนรายการ “ชาวบ้านร้องทุกข์” ทางจอทีวีมากขึ้นเท่านั้น (ขณะเดียวกัน ก็ภาวนาให้มันถึงคนสุดท้าย เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี!!)

อีกอย่างที่อยากบอก...ดนตรีประกอบครับ เสียงลีดกีตาร์หวานๆ เศร้าๆ ซึ่งหนังเริ่มเปิดคลอเคล้ามาตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งตอนแรกๆ ก็ฟังดูเพลินดี บิวท์ความไพเราะได้ แต่สุดท้าย มันกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญไปซะอย่างงั้น เพราะเราจะได้ยินเจ้าเสียงกีตาร์ที่ว่านี้แทบตลอดทั้งเรื่อง เสียงดนตรีเพราะๆ ก็เลยกลายเป็นความพร่ำเพรื่อรกหูอย่างไม่น่าจะเป็น คือเพลงหรือดนตรีประกอบ มันจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมันสอดรับกับ “อารมณ์ของเรื่องราว” ในแต่ละช่วงครับ ไม่ใช่นึกจะเปิดตอนไหนก็เปิด ยิ่งบางช่วง เสียงลีดกีตาร์ที่ว่านี้ ลากยาวต่อเนื่องหลายนาที จนทำให้เรารู้สึกเหมือนกับกำลังนั่งดูมิวสิกวิดีโอไปโน่นเลย

และสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา...การตัดต่อครับ คือช่วงสิบนาทีแรกตอนเปิดเรื่อง และอีกหลายๆ ช่วงในหนัง มันกระโดดไปกระโดดมาอย่างไรชอบกล พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ดูเหมือนกับหยิบเอาฟุตเทจหลายๆ อันมาเรียงต่อๆ กันอย่างไร้ความเชื่อมโยง ซึ่งปัญหาแบบนี้ เราจะเห็นได้ในหนังอย่างสึนามิฯ ของคุณทรนง ศรีเชื้อ ซึ่งผมเคยวิจารณ์เอาไว้แล้วครั้งหนึ่งว่ามันดูคล้ายๆ การหยิบเอาคลิปวิดีโอหลายๆ คลิปมาเปิดต่อๆ กัน แต่ขาดความเชื่อมโยงทางด้านอารมณ์ของเรื่องราว

แน่นอนครับว่า ที่พูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้บอกว่าสามชุกเป็นหนังห่วยและคุณไม่ควรควักกระเป๋าเข้าไปดู (และจริงๆ ผมก็ไม่ได้มีอิทธิพลขนาดนั้นหรอก) ในทางตรงกันข้าม สามชุกเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งพูดถึงสิ่งที่ดีมีคุณค่าน่ากราบไหว้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสียสละและทุ่มเทของคุณครูคนหนึ่งซึ่งสามารถนำพาเด็กๆ ที่กำลัง “หลงทาง” ให้กลับเข้าสู่ครรลองที่ถูกต้องดีงาม และเนื้อหาในส่วนของคุณครูผู้นี้ก็มีฉากดีๆ หลายๆ ฉาก อย่างตอนที่ครูผู้หวังดีวิ่งตากฝนไปตามนักเรียนกลับเข้าค่าย หรือฉากเซอร์ไพรส์ที่เด็กๆ มอบให้คุณครู ที่ดูแล้วชวนซาบซึ้งน้ำตาซึม

แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า เมื่อมองดูในภาพรวม ถ้าสามชุกสามารถเติมศิลปะในการเล่าเรื่องเข้าไปอีกหน่อย จะทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็น “หนังดีๆ” อีกเรื่องหนึ่งได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น