xs
xsm
sm
md
lg

แฮร์รี่กับเจ้าชายเลือดผสม : ไม่ผิดหวัง...เพราะหมดหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อดิศร Feel Lost / So Free

"...แฮร์รี่ตกใจกลัวยิ่งกว่าเรื่องใดที่เขาได้ประสบมาตลอดค่ำคืนนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ดัมเบิลดอร์วิงวอน..."

ผู้เขียนเพิ่งจะเช่า REC. หนังสยองขวัญจากสเปน และ Quarantine ฉบับรีเมคของฮอลลีวูดมาดูแบบต่อกัน พอหลังจากดูฉบับสัญชาติอเมริกันจบแล้ว รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่เครดิตท้ายเรื่องขึ้นชื่อผู้กำกับด้วย

คำว่าผู้กำกับในภาษาอังกฤษอย่าง Director นอกจากจะมีความหมายว่ากว้างๆ ว่าผู้ควบคุมแล้ว ยังหมายถึง "ผู้ชี้นำ" ด้วย การเลือกใช้คำนี้สำหรับตำแหน่งผู้กำกับหนังจึงน่าจะหมายความว่าเป็นผู้ที่ชี้นำทิศทางของหนังตามหลักการและจินตนาการที่เป็นของเขาเอง

จึงน่าสงสัยว่าหน้าที่ผู้กำกับของ Quarantine เข้าข่ายที่ว่านี้หรือเปล่า เพราะตั้งแต่เฟรมแรกจนถึงเฟรมสุดท้ายแทบจะเรียกว่าลอก REC. มาแบบช็อตต่อช็อต เหมือนกลัวว่าจะเหมือนไม่มากพอ และแทบจะไม่เห็นความพยายามที่จะทำให้แตกต่างจากของเดิมไม่ว่ามุมไหนๆ นอกจากภาษาที่ใช้พูด จนน่าจะเรียกผู้กำกับหนังเรื่องนี้ว่า "หัวหน้ากองถ่าย" เสียมากกว่า

ซึ่งความรู้สึกเดียวกันนี้แทบจะไม่ต่างกับที่ผู้เขียนรู้สึกต่อ เดวิด เยตส์ ผู้กำกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ สองภาคที่ผ่านมา

หลังจากผิดหวังกับงานภาคที่แล้ว และความจริงที่ว่าผู้กำกับรายนี้จะคุมบังเหียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกภาคที่เหลือจนถึงฉากอวสาน ความกระตือรืนร้นในการตั้งตารอดูฉบับภาพยนตร์เหมือน 5 ภาคที่ผ่านมาจึงแทบจะไม่เหลือ

แต่ความหมดศรัทธาเช่นนั้นน่าจะถือเป็นข่าวดีของตัวผู้กำกับเอง เพราะในฐานะแฟนหนังสือคนหนึ่งแล้ว คงต้องยอมรับว่าหนังแฮร์รี "ยังไงเสียก็ต้องดู" ไม่ว่าจะดูในโรงหรือรอดูแผ่นก็ตามที เพราะบ่อยครั้งที่ความอยากรู้จะมีชัยเหนือเหตุผลใดๆ และการไม่คาดหวังครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนเลิกกลับไปอ่านฉบับหนังสือก่อนเข้าโรงเหมือน 5 ภาคที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นการให้เกียรติต่อการเล่าเรื่องของตัวผู้กำกับมากขึ้นด้วยซ้ำ

ซึ่งนั่นดูเหมือนจะได้ผล ความไม่รู้ทำให้รายละเอียดต่างๆ ที่เราลืมไปแล้วจากหนังสือกลับมาสร้างความตื่นเต้นในโรงอีกครั้ง

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่คนเราเสียเงินมาดูหนัง โดยเฉพาะหนังที่อ้างว่าใช้เงินสำหรับทุนสร้างไปกว่า 235 ล้านเหรียญเรื่องนี้

ไม่ทราบว่าทางวอร์เนอร์ใช้อะไรตัดสินในการเลือกผู้กำกับที่เคยทำงานแต่ในแวดวงละครโทรทัศน์ในอังกฤษมารับหน้าที่ดัดแปลงนิยายที่โด่งดังที่สุดของยุค ให้กลายเป็นหนังที่บรรยายเรื่องได้ขาดเสน่ห์ ห่างชั้นจากฉบับวรรณกรรมอย่างไม่น่าเชื่อ

ความเหมือนกันของทั้งสองภาคที่ผ่านมาในฝีมือของเดวิด เยตส์ การดำเนินเรื่องในแต่ละบทที่พยายามเดินตามเส้นทางของหนังสือ แต่ขาดการ "ลงลึก" ในแต่ละส่วนอย่างเพียงพอ นำมาแต่ "ฉาบหน้า" ของเนื้อเรื่อง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การดูหนังแฮร์รี่พอตเตอร์ไม่ใช่การดูหนัง แต่เหมือนฟังคนมาอ่านเรื่องย่อให้ฟังอีกที

ซึ่งแต่เดิมเวลาในการถ่ายทำที่จำกัดถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพงานออกมาแค่นี้ แต่สำหรับภาคนี้ที่มีเวลาเหลือเฟือจากภาคก่อนถึง 2 ปี วิธีการดำเนินเรื่องแบบนี้ก็ยังไม่เปลียนแปลง จึงแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของตัวผู้กำกับเป็นอย่างดี

Half-Blood Prince ถือเป็นภาคที่สองหลังจาก Prisoner of Azkaban ที่มีชื่อตอนเป็นตัวบุคคล ขณะที่ภาค 3 ชื่อตอนจะหมายถึงบุคคลที่แฮร์รี่เทิดทูนบูชาที่สุด บุคคลอันเป็นที่มาของภาคที่ 6 นี้ก็ถือเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่องรองจากพระเอกอย่างแฮร์รี่เลยทีเดียว แน่นอนว่าการเปิดเผยตัวตนของเขาในท้ายเรื่องเป็นไคลแม็กซ์ที่ผู้อ่านและผู้ชมเฝ้ารออย่างที่สุด

แต่การนำฉากนี้มาขึ้นสู่จอหนัง กลับเป็นฉากที่ไม่ได้ต่างจากฉากอื่นๆ ของเรื่องอย่างไม่น่าเป็นไปได้

ความล้มเหลวในการกระตุ้นอารมณ์ของฉากนี้ไม่ได้อยู่ที่การเฉลย เพราะในหนังสือก็ไม่ได้ลากอารมณ์กันไปไหนไกล แต่มันเกิดมาตั้งแต่ความผูกพันของตัวแฮร์รี่ต่อหนังสือของเจ้าชายเลือดผสมที่ปูพรมมาตลอดในฉบับนิยาย แต่ในหนัง ตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนอกจากเป็นหนังสือที่ช่วยโกงข้อสอบให้กับแฮร์รี่เท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้วหลังการจากไปของซีเรียส แบล็กผู้เป็นมากกว่าพ่อทูนหัวของแฮร์รี่ ก็มีเพียงหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ทำให้เขาพอจะใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาที่แสนมืดมิดในฮอกวอตส์ไปอย่างมีความหวังได้บ้าง ยังไม่นับความเชื่อที่แฮร์รี่แอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าเจ้าของหนังสือผู้นี้อาจจะเป็นใครซักคนที่เขาวาดฝันเอาไว้ ที่ดูเหมือนทั้งหมดจะไม่ใช่ประเด็นที่ตัวผู้กำกับผู้นี้เห็นความสำคัญมากพอที่จะสร้างบทลงเอยที่มีพลังไปกว่านี้ได้

ที่นำมาซึ่งความผิดหวังอย่างไม่ตั้งใจ เกิดมาจากการไปดูจอไอแม็กซ์ของผู้เขียนเอง เพราะเข้าโรงไปปุ๊บฉากแรกก็ได้ใส่แว่นสามมิติกันเลย แต่กลายเป็นว่าตลอดทั้ง 2 ชั่วโมงครึ่งที่เข้ามาดูหนังที่ประกาศตัวเองว่าเป็นสามมิติ นั่นคืนฉากสุดท้ายและฉากเดียวที่จะได้ใช้บริการแว่นสามมิติของโรง

หลังจากฉากนั้นจบไป ในใจยังนึกว่ายังไงเสียฉากที่โชว์เทกนิคอย่างการต่อสู้ระหว่างผู้เสพความตายกับเหล่าครูนักเรียนของฮอกวอตส์ในท้ายเรื่องจะได้ใช้แว่นที่ถืออยู่ข้างตัวมากว่า 2 ชั่วโมงอีกครั้งแน่ๆ แต่นอกจากจะไม่ได้ใช้แว่นสามมิติกับฉากที่ว่าแล้ว ตาเปล่าของผู้ชมก็ไม่ได้ดูฉากนั้นด้วยเพราะผู้สร้างตัดสินใจตัดฉากนั้นออกเพราะไม่ต้องการจะทำให้ซ้ำกับฉาก "สงครามฮอกวอตส์" ที่จะใช้ในภาคจบ จึงสรุปได้ว่าการสวมแว่นสามมิติในวันนั้นเพียงเพื่อดูเอฟเฟคการเก็บกวาดห้องนั่งเล่นของดัมเบิลดอร์เท่านั้นเอง

ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับหนังบล็อกบัสเตอร์อย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ที่ตัดสินใจตัดฉากแอ็คชั่นที่มีอยู่โท่งๆ ในหนังสือออกไปทั้งๆ ที่ถ่ายทำกันไปแล้ว ขณะที่หนังแนวๆ นี้มีแต่จะเพิ่มฉากแอ็คชั่นเข้าไปเพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับผู้ชมมากขึ้น ทำให้นึกถึงตอนที่ปีเตอร์ แจ็คสันแหวกธรรมเนียมหลายอย่างในการทำ The Two Towers ทั้งปลุกเอลฟ์มาร่วมรบกับมนุษย์และเพิ่มฉากแอ็คชั่นในสงครามเฮล์มดีพให้เป็นไคลแม็กซ์ประจำภาคด้วยความยาวถึง 45 นาที ซึ่งแต่เดิมมีสาวกหนังสือหลายคนไม่ปลื้มการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ถือเป็นความกล้าของผู้กำกับในการสร้างลายเซ็นลงไปในผลงานของเขา ต่างกับตัวเดวิด เยตส์ที่ไม่แม้จะทำฉากสงครามที่เขียนเอาไว้แล้วในหนังสือ จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่ามัลฟอยจะสร้างความกดดันให้กับภารกิจของเขาให้มากกว่าเดิมด้วยการชวนเหล่าผู้เสพความตายตั้งมากมายเข้ามาในโรงเรียนไปทำไม?

นอกจากจะตัดฉากที่ว่าไปแล้ว ในภาคนี้ยังมีการเพิ่มฉากที่ไม่มีในหนังสือเข้าไปด้วย อย่างการบุกบ้านโพรงกระต่ายของครอบครัววิสลีย์โดยเบลาทริกซ์และผู้เสพความตาย ซึ่งคงต้องรอดูในหนังภาคต่อไปว่าการเพิ่มฉากนี้เข้ามามีจุดประสงค์อะไร แต่มันดูเป็นเรื่องไร้เหตุผลอยู่ซักหน่อยในการที่พ่อมดแม่มดไม่ต่ำกว่า 8 คน(4 คนเป็นสมาชิกแห่งภาคีฟีนิกซ์) ปล่อยให้ผู้เสพความตายไม่กี่คนทำลายบ้านพักของตัวเองโดยไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลย

มีหลายฉากที่ใส่เข้ามาอย่างเกลือนกลาด เพื่อพยายามจะอธิบายความหมายบางอย่างอย่างที่ตัวหนังสือเคยทำเอาไว้ แต่ล้มเหลว โดยเฉพาะฉากรักทั้งหลายของตัวละครเอกในเรื่องที่แทนที่จะโรแมนติกหรือสะเทือนใจ กลับถ่ายทอดออกมาได้ไร้อารมณ์และว่างเปล่า ขณะที่การพยายามสร้างอารมณ์ร่วมของผู้ชมในฉากงานศพของอาราก็อกที่หายจากจอไปตั้งแต่ภาค 2 ทั้งการโชว์ภาพที่อลังการและซาวด์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่กลายเป็นส่วนเกินของหนังไปอย่างเปล่าประโยชน์

ในส่วนของการแสดงนั้น เราได้เห็นพัฒนาการเล็กๆ ของ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ ที่แม้จะไม่มีอะไรให้เราตรึงใจจากฉากการเผชิญหน้ากับเจ้าชายเลือดผสม แต่ในฉากที่เขา "เมาน้ำยานำโชค" ความเป็นคอมมาดีในตัวเขาก็แสดงออกมาได้อย่างวิเศษ เป็นลีลายียวนที่อาจจะเก็บเกี่ยวมาจากประสบการณ์บนละครเวทีในช่วงปีที่ผ่านมา

อลัน ริคแมน คงไม่มีอะไรต้องพูดถึง เพราะการแสดงของเขาบ่งบอกในสิ่งที่เขาเป็นมาตลอดในวงการภาพยนตร์ ซึ่งบทสเนปของเขานี้ถ่ายทอดความเย่อหยิงชิงชังออกมาได้อย่างไม่มีใครจะเทียบเทียมได้ ถือเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นในเวอร์ชั่นหนังที่ทำได้สมบูรณ์แบบเกินกว่าจินตนาการของผู้ประพันธ์

ทางด้าน ไมเคิล แกมบอน ที่ถูกสาวกดัมเบิลดอร์โจมตีมาทุกภาคที่เขารับเล่นเป็นอาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์ แต่ภาคนี้ต้องบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ที่เขาดูสุขุมน่านับถือสมกับบทที่ได้รับมากขึ้น ถือว่ามาทันตอนที่ดัมเบิลดอร์ได้สร้างสุดยอดวีรกรรมเอาไว้ในภาคนี้พอดี จนในฉากบนหอคอยที่กำลังจะพาแฮรื่ไปหาฮอร์ครักซ์ ดูไปดูมาก็ทำให้นึกถึงพ่อมดขาวของสงครามแหวนอย่างช่วยไม่ได้

แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ความสามารถของเขาได้ดีที่สุด คือฉากดื่มน้ำในถ้ำที่ในหนังสือกล่าวเอาไว้อย่างบีบคั้นอารมณ์เหลือเกิน ซึ่งคงจะท้าทายกว่านี้ถ้าจะใช้ความสามารถของตัวนักแสดงเป็นหัวใจของการเล่าเรื่อง แล้วทิ้งภาพเอาไว้ซักนิดเพื่อให้เห็นถึงความทุรนทุรายในการแลกมาซึ่งเป้าหมาย แต่ผู้กำกับกลับเลือกที่จะประหยัดเวลาด้วยการใช้วิธีตัดต่อไปมาจนดูเหมือนกับมิวสิควิดีโอเท่านั้น

ถ้าจะให้เทียบกับภาคที่แล้ว Half-Blood Prince ก็ยังดูดีกว่า Order of the Phoenix อยู่หลายๆ ทาง เหตุผลน่าจะมาจากการใช้เวลาในการเล่าเรื่องที่นานขึ้น (153 นาที สำหรับความหนาหนังสือ 678 หน้า ส่วนภาคที่แล้วใช้เวลาเล่าเรื่อง 138 นาทีจากความหนา 1,047 หน้า) และการได้มือดัดแปลงบทขาประจำจากภาค 1-4 อย่าง สตีฟ โคลเวส กลับมารับหน้าที่อีกครั้ง จึงพอจะมีฉากที่น่าประทับใจจากหนังสือหลงเหลือมาให้เห็นกันมากกว่าภาคที่แล้ว โดยเฉพาะฉากแฮร์รี่คุยกับศ.สลักฮอร์นเรื่องแม่ของเขาในท้ายเรื่องถือเป็นฉากดรามาที่ทรงพลังที่สุดของภาคนี้ทีเดียว

แต่ความดีความชอบทั้งหมดที่ผู้ชมในโรงซึมซับจากแฮร์รี่สองภาคที่ผ่านมา คือสิ่งที่อยู่ในหนังสือของเจ.เค.โรว์ลิงอยู่ก่อนแล้ว แทบจะไม่มี "ลายมือ" ใดๆ ในตัวหนังที่ผู้กำกับฝากเอาไว้ให้ผู้ชมจดจำความเป็นตัวตนของเขาได้เลย ทั้งหมดนี้ไม่ต่างกับการ "ลอกการบ้าน" มาส่งให้ทันเวลาในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

คงมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่คิดจะอ่านนิยายอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะคิดเสมอว่ามันเป็นหนังสือสำหรับ "เด็กเท่านั้น" แต่เลือกที่จะดูในฉบับภาพยนตร์แทน เพราะความคิดที่ว่าจะเก็บเกี่ยว "สาระ" จากงานที่ผ่านการดัดแปลงและกลั่นกรองมาแล้วได้มากกว่า และการดูหนังเด็กก็ดูเป็นการ "ฝืนใจ" ตัวเองน้อยกว่าการอ่านหนังสือเด็กของคนที่มีความคิดแบบนี้

ก็อดเป็นกังวลแทนสำหรับคนที่รู้จักแฮร์รี่จากฉบับหนัง ที่อาจจะพาลไม่ชอบฉบับหนังสือไปด้วย เพราะการอ่านหนังสือที่ดูหนังแล้ว เป็นเรื่องที่อาจจะ "ตื่นเต้น" น้อยกว่าการดูหนังที่อ่านหนังสือมาแล้ว แล้วใครเล่าที่คิดจะอ่านหนังสือที่ทำจากหนังที่พวกเขาไม่ชอบกับบ้าง?

ส่วนตัวแล้วการทำหนังแฮร์รี่ออกมา ถ้าไม่นับเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับตัววรรณกรรมแล้ว มันถือเป็นการดิสเครดิตต่อบทประพันธ์ ถ้ายังทำมาตรฐานออกมาทุกๆ ปีได้แค่นี้

เมื่อหันไปดูแวดวงการทำหนังจากเกมในช่วงนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะเกมดังๆ มากมายได้ผู้กำกับที่มีชื่อชั้นไปดูแลต่อในฉบับภาพยนตร์ ทั้ง แซม ไรมี กับ Warcraft หรือ ไมค์ นีเวล (อดีตผู้กำกับแฮร์รี่ภาค 4) กับ Prince of Persia (ปีเตอร์ แจ็คสัน ก็เคยปลุกปั้นกับโปรเจ็คท์ Halo อยู่นาน) ซึ่งแต่ละคนต่างมีเครดิตในการสร้างภาพยนตร์มาแล้วมากมาย ซึ่งน่าจะดีถ้าผลงานวรรกรรมเยาวชนที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลจะได้ผู้กำกับที่ "ทัดเทียมกัน" กับตัวผู้ประพันธ์ซักนิด

และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครซักคนจะมาสร้างชื่อตัวเองจากการกำกับหนังจากนิยายดัง เหมือนกับที่ปีเตอร์ แจ็คสันเคยทำให้ทั่วโลกรู้จักเขาจาก The Lord of the Rings ซึ่งการจะไปได้ถึงจุดนั้น ผู้กำกับต้องพิสูจน์ความสามารถให้แฟนหนังได้ประจักษ์ในฝีมือ แทนที่หากินด้วยการเกาะความดังของนิยายไปเรื่อยๆ

แต่หลังจากภาคอวสานเปิดกล้องไปไม่นานมานี้...น่าเสียดายที่ทั้งสองอย่างจะไม่เกิดกับหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ในภาคต่อๆ ไปอีกแล้ว

Harry Potter and the Order of the Phoenix: หรือเราหวังได้ดีที่สุดแค่นี้?
กำลังโหลดความคิดเห็น