xs
xsm
sm
md
lg

แฮร์รี่กับภาคีฟินิกซ์ : หรือเราหวังได้ดีที่สุดแค่นี้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฮร์รี่กับภาคีฟินิกซ์ : หรือเราหวังได้ดีที่สุดแค่นี้ ?

โดย อดิศร Feel Lost / So Free

"...ลูปินลากแฮร์รีออกมาจากเวที แฮร์รียังคงจ้องดูซุ้มประตูโค้ง ตอนนี้เขาโกรธซีเรียสที่ทำให้เขาต้องคอย..."

The Lord of the Rings ถือเป็นนิยายที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Unfilmable Book หรือนิยายที่ยังไงก็ไม่มีวันสร้างเป็นภาพยนตร์ได้มากว่าครึ่งศตวรรษ เนื่องจากมีโครงสร้างทางเนื้อหาที่ใหญ่โตมหาศาล ทำให้ทุกครั้งที่มีความคิดในการหยิบเอาเรื่องนี้มาสร้างหนีไม่พ้นการดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง และจบลงด้วยการยกเลิกโครงการทุกครั้งเช่นกัน จะมีหลุดมาบ้างก็คือเวอร์ชันการ์ตูน 2 ครั้งในปี 1978 และ 1980 ที่กลายเป็นจุดด่างของการนำนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นหนัง จนเป็นที่ขยาดของผู้สร้างภาพยนตร์ที่ไม่เคยกลับมาพูดถึงการสร้างเป็นหนังอีกเลยใน 2 ทศวรรษต่อมา

จนกระทั้งสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ที่อยู่ในอ้อมอกของ Saul Zaentz ผู้อำนวยการสร้างรุ่นใหญ่ก็ถูกส่งไปสู่ผู้กำกับที่เกือบจะโนเนมในตอนนั้นอย่าง ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้ที่มาพร้อมกับศรัทธาในการสร้างโลกแห่งมิดเดิลเอิร์ธอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งความทุ่มเทแรงกายแรงใจในการถ่ายทำต่อเนื่อง 3 ภาคตลอด 15 เดือนของเขาส่งผลให้ไตรภาคหนังแหวนของเขาแหวกม่านประเพณีความเชื่อที่ว่าไม่มีหนังเรื่องไหนจะทำได้ดีเทียบเท่ากับหนังสือต้นฉบับไปได้ ซึ่งจากทั้งคำชื่นชมและรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ภาคเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่งานที่หินที่สุดงานหนึ่งของวงการฮอลลีวูดก็สามารถสำเร็จลุล่วงลงได้หากมีแรงบันดาลใจในการสร้างที่แท้จริง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2001 ช่วงเวลาเดียวกับที่ The Fellowship of the Ring ภาคแรกของมหากาพย์หนังแหวนกำลังออกฉายอยู่นั้น อีกหนึ่งนิยายที่เป็นที่นิยมของผู้อ่านทั่วโลกก็ได้ฤกษ์เปิดตัวในฉบับภาพยนตร์เหมือนกัน นั่นก็คือ Harry Potter and the Sorcerer's Stone ฉบับภาพยนตร์ของ Harry Potter and the Philosopher's Stone วรรณกรรมเยาวชนเรื่องดังของนักเขียนสาว เจ.เค. โรว์ลิง ที่ใช้เวลาไม่กี่ปีเปลี่ยนสถานะจากหม้ายสาวลูกหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่รอดไปวันๆ ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐ จนกลายเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในอังกฤษจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ไปแค่ครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 7 เท่านั้น

ทุกคนที่เป็นแฟนหนังสือตอนนั้นที่ออกมาได้ 4 เล่มแล้ว เมื่อได้เห็นตอนจบของภาค 1 ที่เป็นฉากรถไฟจากฮอกวอตส์พาแฮร์รีกลับไปยังโลกมักเกิลของเขาอีกครั้งอย่างน่าประทับใจ ต่างมีความคิดในใจเหมือนกันหมดว่า ยังมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมากกว่านี้ เติบโตและจริงจังมากกว่านี้ ท้าทายมากกว่านี้รอคอยพวกเขาอยู่ในหนังสือที่พร้อมจะร่ายมนตร์บนแผ่นฟิล์มอีกมากมาย

แต่น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยได้เกิดขึ้น Harry Potter and the Order of the Phoenix

แฮร์รี่กลับมาเพื่อเรียนปีที่ห้าที่โรงเรียนฮอกวอตส์และค้นพบว่าสังคมพ่อมดส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงการปะทะกันระหว่างเขากับโวลเดอร์มอร์ผู้ชั่วร้ายก่อนหน้านี้ ส่วนทางคอร์นีเลียส ฟัดจ์ซึ่งกำลังกลัวว่าอัลบัส ดัมเบิลดอร์อาจารย์ใหญ่โรงเรียนฮอกวอตส์จะกุมอำนาจและตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ของเขา จึงได้แต่งตั้งอาจารย์ผู้สอนวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดใหม่เพื่อสอดส่องดัมเบิลดอร์และนักเรียนของเขา แต่ทว่าการสอนของศาสตราจารย์โดโลเรส อัมบริดจ์ ในวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงนั้นไม่เพียงพอ สำหรับเหล่านักเรียนในการต่อกรกับอำนาจมืดที่กำลังจะเป็นภัยต่อพวกเขาและสังคมพ่อมด แฮร์รี่ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรอนและเฮอร์ไมโอนี่จึงได้พบปะกับกลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า “กองทัพดัมเบิลดอร์” อย่างลับๆ และได้สอนพวกเขาถึงวิธีป้องกันตัวจากศาสตร์มืด เพื่อเตรียมนักเวทย์ผู้กล้าหาญสำหรับการต่อสู้ที่ต้องเผชิญเร็วๆ นี้

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าในบรรดาแฮร์รี พ็อตเตอร์ทั้งหมด ภาคีฟีนิกส์ถือเป็นแฮร์รี พ็อตเตอร์ที่มีเนื้อหาใหญ่โตที่สุด ด้วยฉบับแปลภาษาไทยถึง 1,000 กว่าหน้า จึงถือว่าเป็นงานหินทีเดียวสำหรับการมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งหน้าที่อันหนักอึ้งนี้ตกเป็นของ เดวิด เยตส์ ผู้กำกับชาวอังกฤษผู้มีประสบการณ์มากมายจากภาพยนตร์โทรทัศน์และหนังสั้น แต่มีประสบการณ์กับการสร้างหนังใหญ่แค่เรื่องเดียว ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ดัดแปลงการร่ายมนตร์ที่เจ.เค.ได้ทำเอาไว้ในส่วนของบทหนังนั้น ได้มีการเปลี่ยนมือจากเจ้าเก่าอย่าง สตีฟ โคลเวส ที่รับหน้าที่นี้มาแล้ว 4 ภาค เปลี่ยนเป็นฝีมือดัดแปลงบทของ ไมเคิล โกลเดนเบิร์ก แทน เนื่องจากเจ้าตัวติดงานด้านการกำกับหนังของตัวเองอยู่ ซึ่งโคลเวสจะกลับมารับหน้าที่ดัดแปลงเรื่องราวพ่อมดหนุ่มคนนี้อีกครั้งในฉบับภาพยนตร์ของ 2 เล่มที่เหลือ

และหน้าที่ในการดัดแปลงบทในการร่วมงานของโกลเดนเบิร์กและเยตส์ได้ทำให้ Order of the Phoenix กลับกลายเป็นแฮร์รีที่มีเนื้อหาในภาพยนตร์ที่สั้นที่สุดตั้งแต่สร้างกันมา คือ 2 ชั่วโมง 18 นาทีเท่านั้น (ยาวที่สุดคือ Chamber of Secrets ที่ 2 ชั่วโมง 41 นาทีจากความหนาภาษาไทยแค่ 400 กว่าหน้า)

ในตัวหนังสือเอง Harry Potter and the Order of the Phoenix มักจะได้รับเสียงบ่นจากแฟนหนังสือว่าเป็นภาคที่น่าสนใจน้อยที่สุด แต่ถ้ามองกันอย่างยุติธรรมแล้ว ด้วยความหนาของจำนวนหน้าและจำนวนบท ถ้าเราตัดเรื่องที่ดูว่าจะทำให้หนังสือหนาโดยไม่จำเป็นออกไปบ้าง จะพบว่าในเล่มนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่หลายบท ซึ่งถ้าเทียบสัดส่วนในระดับเดียวกันแล้ว ความน่าสนใจของเล่มนี้แทบจะไม่ต่างจาก Prisoner of Azkaban หรือ Goblet of Fire เลยแม้แต่น้อย

ความพยายามในการตัดตอนต่างๆ ออกไปเพื่อความกระชับของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของการสร้างหนังแฮร์รีไปแล้ว แต่การทำงานของทีมงานชุดนี้นอกจากจะตัดบทที่อ่อนต่อการเล่าเรื่องไปแล้ว (ความทุกข์ใจของนางวิสลีย์, บทเพลงใหม่ของหมวกคัดสรร, สิงห์ประจันงู, เรื่องเล่าของแฮกริด, คริสต์มาสในห้องผู้ป่วยที่ปิดลั่นกุญแจ, แมลงปีกแข็งออกโรง, ว.พ.ร.ส.) ยังตัดเนื้อหาที่ค่อนข้างสำคัญ ที่แม้อาจจะไม่มีผลต่อการดำเนินเรื่องมากนักแต่ก็จำเป็นสำหรับการสร้างอารมณ์ในการดำเนินเรื่อง และท้าทายในการสร้างด้วย ทั้งฉากการเผชิญหน้าครั้งแรกของผู้ที่แฮร์รีรักและเกลียดที่สุดอย่างซีเรียสและสเนปซึ่งเป็นฉากที่เร้าอารมณ์อย่างมากแต่กลับถูกมองข้ามไป หรือฉากแฮร์รีได้กลับไปเห็นพ่อแม่ของตัวเองในสมัยวัยรุ่นอีกครั้งซึ่งทำให้ผู้ชมเข้าใจที่มาของความจงเกลียดจงชังของสเนปที่มีต่อแฮร์รีมากขึ้น ที่เจ.เค.บรรจงบรรยายอย่างพิถีพิถันและบีบคั้นอารมณ์ทั้งตัวแฮร์รีและสเนปเอง ก็ถูกทำออกมาในหนังแบบขอไปที ส่วนความยอดเยี่ยมของเทคนิคในการสร้างเอลฟ์อย่างครีเชอร์ที่แทบจะทำให้เราลืมด็อบบีไปเลย ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในฉาก 'จากกองไฟ' ที่ผู้อ่านจะไม่มีวันลืมสายตาเกลียดชังด้วยความสะใจที่มันหันกลับมาบอกข่าวร้ายกับแฮร์รีที่กำลังว้าวุ่นใจต่อชะตากรรมของพ่อทูนหัวของเขาไปได้

ในสมัยที่คริส โคลัมบัสยังกำกับแฮร์รีภาค 1 และ 2 อยู่นั้น เนื้อหาของแฮร์รียังมีความเป็นวรรณกรรมเด็กอย่างเต็มเปี่ยม ประกอบกับเนื้อหาที่สั่นแค่ตอนละ 400 หน้า การสร้างเป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมง 33 นาที และ 2 ชั่วโมง 41 นาที จึงครอบคลุมทั้งเนื้อหาและอารมณ์อย่างที่หนังสือบรรยายเอาไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์

แต่ในกรณีเล่ม 3-4-5 ที่เต็มไปด้วยแง่มุม, เงื่อนไข และเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นตามวัยของแฮร์รี ที่มีจำนวนเนื้อหาในฉบับแปลภาษาไทยที่ 500, 800 และ 1,000 หน้า กลับถูกย่อส่วนในฉบับภาพยนตร์ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2 ชั่วโมง 22 นาทีใน Azkaban, 2 ชั่วโมง 33 นาทีใน Goblet of Fire และ 2 ชั่วโมง 18 นาทีในภาคล่าสุด ซึ่งขอจำกัดในเวลาของการเล่าเรื่องทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่เป็นกะตั้กทำให้ผู้สร้างไม่มีเวลาสำหรับการอ้อยอิ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์ของคนดูไปสู่จุดไคลแม็กซ์ ที่เหมือนการวาดกราฟที่พุ่งจากจุดต่ำสุดไปยังจุดสูงสุด เนื้อหาในหนังแฮร์รีพยายามจะยัดข้อมูลที่จำเป็นของเรื่องเข้าให้หมดโดยไม่คำนึงถึงการปูพื้นที่เพียงพอ จึงเหมือนกับกราฟที่พุ่งติดเพดานตั้งแต่ตนจนจบ ทุกอย่างผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไปอย่างไร้ความหมาย ไม่น่าประทับใจ ไม่น่าจดจำ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับผู้ที่เคยใช้สายตาสาดส่องไปในแต่ละย่อหน้าที่เจ.เค.เคยสร้างเอาไว้ในฉบับหนังสือ ถ้าเปรียบวิธีการการเล่าเรื่องของเจ.เค. เป็นเหมือนการอธิบายของผู้ที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศที่ไร้ข้อผูกมัดทางเวลา การดูหนังแฮร์รีก็เหมือนเราฟังคำอธิบายในเรื่องเดียวกันของคนติดอ่างที่พยายามจะไปถึงใจความสำคัญของเรื่องโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่คู่ควรกับเรื่องราว เนื่องจากมีข้อจำกัดของเวลาคอยไล่หลังอยู่

มาถึงจุดนี้ทำให้ย้อนไปนึกถึงคำสารภาพของปีเตอร์ แจ็คสัน สมัยทำ The Return of the King เสมอ เพราะแม้เรื่องนั้นจะได้รับการยกย่องในเรื่องฉากรบที่อลังการ แต่ตัวแจ็คสันกลับยอมรับเองว่าไม่ต้องการให้มีฉากรบมากกกว่าที่มีอยู่ เพราะแม้มันจะออกมาตื่นตาเช่นไร แต่ถ้าหากปราศจากการเล่าเรื่องปูทางที่เหมาะสม(ว่ารบกันไปทำไม สำคัญแค่ไหน) ฉากรบที่มากขึ้นแทนที่จะสร้างความตื่นเต้นกลับจะทำให้ผู้ชมหลับกันเปล่าๆ!

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการที่หนังแฮร์รีไม่ค่อยยาวนั้นเพื่อสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กดู แต่ก็น่าสังเกตเหมือนกันว่าถ้าเด็กที่เป็นแฟนแฮร์รีส่วนใหญ่ที่มีสมาธิอ่านหนังสือความยาวกว่าพันหน้าให้จบลงในเวลาไม่กี่วันได้ ทำไมจะมีสมาธิในการดูหนัง 3 ชั่วโมงไม่ได้?

เรื่องเวลาอีกประเด็นที่มีผลต่อคุณภาพงานของแฮร์รีไม่มากก็น้อยก็คือช่องว่างของแต่ละภาคที่มีแค่ครึ่งปีเท่านั้น เป็นการเร่งสร้างเพื่อให้ทันกับการเติบโตของเด็กๆ ที่เล่นในเรื่องและความเรียกร้องของแฟนๆ ที่แทบจะต้องการให้ฉายกันทุกปีเลยด้วยซ้ำ ซึ่งช่วงเวลาปีครึ่งสำหรับการสร้างหนังระดับนี้ถือว่ากระชั้นชิดมากๆ แทบจะไม่เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้เลย

สำหรับนักแสดงหน้าใหม่ในเรื่องนี้ รายของโดโลเรส อัมบริดจ์ ที่รับบทโดยนักแสดงดรามาอย่าง อิเมลดา สตอนตัน นั้นทำหน้าที่ของเธอได้ดีระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังห่างไกลกับความน่าเกลียดจนน่าหมั่นใส้ที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือ รวมทั้งแววตาที่แฝงไปด้วยความเศร้าของเธอไม่สามารถทำให้เชื่อได้ว่านี่คือสายตาของยายแก่อ้วนเตี้ยจอมซาดิสต์ ที่เอากรอบของสังคมมาบังหน้าเอาไว้อย่างมิดชิด

ตรงข้ามกับบทของ ลูนา เลิฟกู๊ด ที่รับบทโดยอีวานนา ลินช์ ที่แม้จะเป็นองค์ประกอบเล็กๆ แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ที่นอกจากจะได้คนที่น่ารักตามความต้องการของสตูดิโอแล้ว ยังได้คนที่ดูฝันๆ เหมือนกันที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือไม่มีผิดเพี้ยน ถือว่าเป็นเหมือนกับของขวัญสำหรับแฟนหนังสือเลยทีเดียว

ผิดกับไมเคิล แกมบอนที่ทำให้บทของอัลบัส ดัมเบิลดอร์จากพ่อมดใจเย็นเปี่ยมไปด้วยหลักการ กลายเป็นตาแก่ขี้หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ตลอดเวลา ขาดความน่าเชื่อถือในฐานะพ่อมดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งดูแล้วน่าจะเหมาะไปเป็นลูกเรือของกัปตันแจ็คสแปร์โรว์มากกว่ามาเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนฮอกวอตส์

ส่วนเฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์ในบทเบลลาทริกซ์ก็ออกมาน้อยเกินกว่าจะสร้างความรู้สึกจงเกลียดจงชังใดๆ จากแฟนหนังได้

ข้อแก้ตัวสำหรับแฟนหนังผู้ใหญ่ที่ไม่อภิรมย์ในการดูหนัง Harry Potter อาจจะเป็นความจริงที่ว่าพวกเขากำลังแชร์เก้าอี้โรงหนังกับเด็กๆ ทั้งโรงอยู่ แต่ความรู้สึกเหล่านี้กลับไม่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่เหล่านั้นดื่มด่ำไปกับการอ่านในฉบับหนังสือ ซึ่งจริงๆ ถูกเขียนขึ้นมาให้เยาวชนอ่านแม้แต่น้อย

เมื่อดูถึงความแตกต่างทางคุณค่าของหนังระหว่าง The Lord of the Rings และ Harry Potter บางทีอายุของตัวงานอาจจะมีส่วนบ้างก็ได้

The Lord of the Rings นั้นเป็นงานระดับที่ศาสตราจารย์ด้านภาษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้เวลา 17 ปีในการสร้างขึ้น และยืนตระหง่านท้าทายการถาโถมของกาลเวลาอย่างไม่หวั่นไหว ทีมงานทุกคนตั้งแต่นักแสดงจนถึงผู้บริหารในฉบับภาพยนตร์ต่างเป็นแฟนหนังสือตั้งแต่ยังเยาว์วัย เฝ้ามองมันในฐานะป้ายจาลึกใหญ่อย่างผู้นอบน้อม ผู้กำกับอย่าง ปีเตอร์ แจ็คสัน หรือ ผู้อำนวยการสร้างอย่าง มาร์ค ออเดสกี เคยอ่านมันตั้งแต่วัยเด็ก คริสโตเฟอร์ ลี ยอมรับว่าอ่านตำนานแหวนซ้ำหนึ่งรอบทุกๆ 2 ปี ขณะที่เอียน แม็คเคลแลน ที่ไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อน ก็ตั้งต้นอ่านจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญตำนานแหวนที่สุดคนหนึ่งในกองถ่าย

แต่กับ Harry Potter ที่ออกมาได้ไม่ถึง 10 ปีนั้นแม้จะเป็นวรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยกาลเวลาในฐานะวรรณกรรมคลาสสิก ผู้ทีมาร่วมงานกับเจ.เค. ตั้งแต่ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับ และดัดแปลงบท ต่างเป็นชายที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ ความยำเกรงที่มีต่อตัวผลงานจึงเทียบกันไม่ได้ ซึ่งถ้าตัวหนังยังสามารถทำเงินให้กับทีมงานต่อไปในระดับที่พอใจ ก็ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนอะไรที่ผู้สร้างจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ขณะที่ฐานแฟนหนังสือของแฮร์รีที่มีแต่เด็กๆ ก็คงสร้างแรงกดดันผู้สร้างอะไรมากไม่ได้นอกจากบ่นทุกครั้งที่ออกจากโรง แล้วไปแย้งกันตีตั๋วเมื่อภาคต่อไปเข้าฉาย

บางคนอาจจะถอดใจว่าการสร้าง Harry Potter ให้สมบูรณ์คงทำได้แต่ในละครเท่านั้น แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าสื่อภาพยนตร์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทุกอย่างได้ถ้าผู้สร้างมีความจริงใจกับมันมากพอ ตัวอย่างการดัดแปลงวรรณกรรมมาสู่จอเงินได้อย่างยอดเยี่ยมมีให้เห็นทั้งจาก The Lord of the Rings, The Godfather หรือแม้แต่ Sin City เชื่อแน่ว่าอย่างน้อย Harry Potter ฉบับภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบน่าจะเกิดขึ้นได้ในสมัยรุ่นลูกรุ่นหลานของเราก็ได้

สำหรับตัว เดวิด เยตส์ นั้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบผลงานชิ้นนี้ของเขาหรือไม่ แต่สำหรับตำแหน่งผู้กำกับหนังแฮร์รีที่มีอาถรรพ์ไม่แพ้ตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดของฮอกวาตส์ที่ต้องเปลี่ยนกันทุกปีนั้น(ยกเว้น 2 ภาคแรก) เขาผู้นี้เป็นผู้ทำลายอาถรรพ์ได้สำเร็จเพราะถูกวางตัวให้มากำกับภาคต่อไปอย่าง Harry Potter and the Half Blood Prince เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรเสีย Harry Potter and the Order of the Phoenix ภาคนี้สำหรับแฟนหนังทั่วไปก็ถือเป็นหนังที่น่าดูเรื่องหนึ่ง ที่คุณสามารถสนุกสนานเพลิดเพลินกับจินตนาการผ่านเรื่องราวไปได้อย่างสบายๆ แต่สำหรับคนที่เคยตื่นเต้นกับการอ่านฉบับหนังสือมาแล้ว การไม่ได้ดูมันในช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ต่อจากนี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณพลาดอะไรไป
กำลังโหลดความคิดเห็น