xs
xsm
sm
md
lg

โรแมนติกแบบเกาหลี ที่นี่ “เกาะเชจู” (2) ตอน: ลม ผู้หญิง และหินลาวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : จุชดานิน
บรรยากาศของหมู่บ้านวัฒนธรรมเชจูในฤดูใบไม้ผลิ
หลังกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ มีอยู่สองเรื่องที่ยามพบปะกับเพื่อนฝูง มักเอ่ยถามอยู่เสมอ คือ คนเกาหลีชอบการศัลยกรรมจริงหรือไม่ และเกาหลีมีอะไรน่าเที่ยวบ้าง

แหม...เวลาเที่ยวฉันก็ตะบี้ตะบันลุยดะเที่ยวอย่างเดียว ไม่ได้ไปจ้องมองหน้าตาใคร แต่จากที่เห็นก็ยังไม่เจอคนที่ดูไม่ได้ บางคนอาจผ่านมีดหมอ บางคนสวย หล่อแต่กำเนิด ก็คงคละกันไปไม่ต่างจากบ้านเรา ส่วนเรื่องเกาหลีมีอะไรให้เที่ยวบ้างนั้น สำหรับฉันเองคงบอกได้เพียงว่า อะไรที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส ก็ย่อมมีความน่าสนใจในตัวเองทั้งนั้น
การแสดงที่มีอยู่ภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู
ส่วนในมุมของคนเกาหลีเอง ฉันคิดว่าเขาย่อมต้องรู้ดีกว่าผู้มาเยือนอย่างเราว่า บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไรมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

“ซู” เป็นสาวเกาหลี และเป็นเจ้าหน้าที่จากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (อสท. เกาหลี) ซู อยู่ร่วมทริปกับคณะเราตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายในฐานะเจ้าบ้าน คอยชี้โน่น ชวนดูนี่ อยู่ไม่ขาด ซูเป็นคนเกาหลีคนหนึ่ง ที่ฉันคิดว่าเธอรู้จักประเทศของเธอดี เธอบอกว่า ประเทศเธอไม่มีอะไร เพราะส่วนใหญ่สูญสิ้นไปกับสงคราม สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นสิ่งใหม่แทบทั้งสิ้น เหลือของเก่าน้อยเต็มที

สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากคำพูดของ ซู คือ สงครามที่สร้างความเจ็บปวดเหลือคนานับแก่คนในชาตินั้น ก็มีข้อดีอยู่จุดหนึ่ง คือ เป็นแรงผลักดันให้สร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา เพื่อชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป
มุมนี้เคยใช้เป็นหนึ่งในฉากรักของแดจังกึม
คนเกาหลีต้องเผชิญกับสงครามมาหลายครั้ง ทั้งกับต่างชาติหรือแม้แต่สงครามเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้เอง บางทีฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่เห็นความเป็นไปให้เกาหลีอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะผลจากสงครามทั้งนั้น เกาหลีใต้จึงได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นประเทศพัฒนายืนอยู่แนวหน้าของเอเชียและของโลก

แม้แต่ “เกาะเชจู” ที่ฉันมาเยือนเป็นเป้าหมายหลักในครั้งนี้ ก็เป็นแผนหนึ่งที่เกาหลีใต้ต้องการจะให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษา การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของเอเชียอีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

ฉะนั้นถ้าใครไป เกาะเชจู แล้วเห็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เป้าหมายของเขา คือ อุตสาหกรรมใหม่บนเกาะทุกอย่าง ต้องแล้วเสร็จภายใน ปี ค.ศ. 2011เราก็จะได้เห็นเกาะเชจูโฉมใหม่
บ้านแบบเกาหลีที่จัดแสดงภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู
แต่ไม่ว่าเกาะเชจูจะเปลี่ยนโฉมไปมากแค่ไหน ฉันก็ยังเชื่อมั่นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่างๆที่ฉันได้มีโอกาสไปเยือนบนเกาะแห่งนี้ ก็ยังจะคงสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่คนมาเกาะเชจูควรค่าแก่การเยี่ยมชมอยู่ดี

สถานที่หนึ่งที่ฉันมีโอกาสไปเยือนบนเกาะเชจูแห่งนี้ คือ “หมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู” (Jeju Folk Village Museum) เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าแม้คนเกาหลีใต้จะพัฒนาไปมากเพียงไร แต่คนชาตินี้ไม่เคยลืมใส่ใจกับรากเหง้าของตน

ที่ “หมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู” ผู้มาเยือนจะได้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเกาะเชจู หมู่บ้านประมง ตลาด และอื่น ๆ เป็นต้น
ดอกยูเชสีเหลืองมีให้เห็นอยู่ทั่วเกาะเชจู
ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เกาหลีดังเรื่อง “แดจังกึม” มีหลายฉากด้วยกัน ที่ใช้ที่นี่ถ่ายทำทั้งเป็นที่อยู่ของแดจังกึมหลังถูกเนรเทศมาอยู่เกาะเชจู

อ๋อ...ฉากรักหวานแหววระหว่างพระ-นางก็มีไว้ให้ได้ระลึกถึงซีรีส์เรื่องดังกันนะ ภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมจะจัดแสดงในเห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ ว่าในอดีตใช้ชีวิตอย่างไร มีบ้านเกาหลีโบราณ บ้านของชาวเกาะเชจู มีทั้งบ้านขุนนางระดับสูง ไปจนถึงโรงเลี้ยงสัตว์ ลานประหารนักโทษและหลากหลายวิธีทรมานนักโทษให้ได้ทดลองและเรียนรู้

มีภูมิปัญญาทางความคิดอันแยบยลที่สะท้อนออกมาทางรั้วบ้านจึงฉันต้องทึ่ง ไม้กั้นรั้วบ้านของชาวเกาะเชจูจะมีทั้งหมด 3 อัน ที่นี่ไม่ได้มีไว้กันขโมย เพราะเกาะเชจูไม่เคยมีขโมย แต่ไม้ 3 อัน มีไว้สื่อความหมายว่า
สาวเอียนโยกำลังรุมจับสัตว์น้ำ
หากไม้กั้นรั้วเรียงอยู่ครบ 3 อัน แปลว่าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่ ไม้อันบนถูกถอดออกลดลงหนึ่งอัน แปลว่าเจ้าบ้านออกไปหาปลา 2-3 วันจะกลับ ถ้าอันบนกับอันกลางถูกลดลงแปลว่าเจ้าบ้านออกไปทำงานเดี๋ยวกลับ และถ้าไม้ถูกพักลงทั้ง 3 อัน แปลว่ามีคนอยู่ 

นอกจากนี้ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งนี้ยังมีที่จำหน่ายของที่ระลึกและการแสดงอยู่ภายในด้วย พื้นที่กว้างขวางเดินจนปวดขากันไปข้าง ใครชอบการถ่ายภาพ ชักภาพกับแทบไม่ทันเลยทีเดียว

อยู่เกาะเชจูย่างเข้าวันที่2 อากาศที่นี่ก็ยังหนาวเย็น ลมแรงเช่นเดิม แม้ว่าเกาะเชจูจะขึ้นชื่อว่ามีอากาศอบอุ่นกว่าเมืองหลวงอย่างโซลเพราะอยู่ทางใต้ก็ตาม
สาวเอียนโยกับปลาหมึกที่จับได้
อีกสิ่งหนึ่งผู้หญิงอย่างฉันชื่นชอบเป็นพิเศษของเกาะนี้ ก็เห็นจะหนีไม่พ้นดอกไม้เมืองหนาวสวยสะพรั่งหลากสี แต่ไม่มีดอกไม้ใดบนเกาะจะดึงดูดให้ใจฉันตะลึงพรึงเพริดได้เท่า “ดอกยูเช“ หรือ “ดอกเรฟ” ดอกไม้สีเหลืองที่บานอยู่ทั่วเกาะ เสริมเสน่ห์ให้เกาะนี้มากยิ่งขึ้น ถ้าใครตั้งใจจะมาเกาะเชจู เพื่อดู ดอกยูเช บานอย่างเต็มๆ แนะนำให้มาประมาณช่วงเดือนมีนาคม ดอกยูเช จะบานเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเกาะเชจูเลยทีเดียว

จากหมู่บ้านวัฒนธรรมเชจู ฉันมีอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ไปไม่ได้นั่น คือ “ยอดเขา ชงซัน อิลชุลบง” (SONGSAN ILCHULBONG) มีความหมายว่า "จุดสูงสุดที่พระอาทิตย์ขึ้น" เป็นปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเหมือนมงกุฎ เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 360 ลูกที่อยู่บนเกาะ อยู่ติดริมทะเล ความงามติดอันดับหนึ่งในสิบของสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดของเกาะเชจู และมีฐานะเป็นมรดกโลกอีกด้วย
เกี่ยวก้อยกันชมยอดเขา ชงซัน อิลชุลบง
แต่ก่อนจะเที่ยวชม ยอดเขาชงซัน อิลชุลโบง นั้น ใกล้ๆกันยังมีสิ่งที่ฉันพลาดไม่ได้อีกประการหนึ่งคือต้องมาดูการดำน้ำเก็บหอยของเหล่า “เอียนโย” หญิงสาวนักดำน้ำแห่งเกาะเชจูอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ยังมีลมหายใจของเกาะแห่งนี้

เอียนโยสาวนักดำน้ำเหล่านี้ในวันที่อากาศแจ่มใสจะดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลเพราะหาสัตว์ทะเลโดยเฉพาะหอยขึ้นมาเพื่อกินเป็นอาหารและขายเป็นอาชีพโบราณดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในหมู่สาวเกาะเชจูเกิดขึ้นจากสมัยก่อนผู้ชายออกทะเลหาปลาและมักสูญหายไปกับท้องทะเลเหลือแต่ผู้หญิงไว้บนเกาะ ผู้หญิงเลยต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการดำน้ำเก็บหอย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเอียนโยรุ่นนี้อาจจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะสาวเกาะเชจูรุ่นใหม่ ไม่ใคร่จะสนใจอาชีพนี้อีก

โชคดีที่ฉันได้มีโอกาสดูการดำน้ำและได้เห็นสัตว์น้ำที่เอียนโยเก็บมาแบบสดๆ มีทั้งหอยทะเลและปลาหมึก เห็นดำผุดดำว่ายอยู่แผล็บเดียวก็ได้ติดแหมาหลายตัว
ทุ่งดอกไม้และทิวทัศน์บริเวณยอดเขา ชงซัน อิลชุลบง
ดูสาวเอียนโยจนหนำใจแล้ว ฉันก็ต้องเดินขึ้นบันได ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลล่างที่สาวเอียนโยอาศัยเป็นแหล่งหากินอยู่ ไต่บันไดขึ้นมาเพื่อเดินทางขึ้นไปชม “ยอดเขา ชงซัน อิลชุลโบง” ทิวทัศน์ที่นี่สดชื่นมาก ทุ่งหญ้าเขียวขจี ดอกไม้เล็กๆสวยชมพูอมม่วงบานแซมกับทุ่งหญ้าเป็นระยะ มีม้าหลายตัวกำลังเล็มหญ้าอยู่ เป็นม้าที่เลี้ยงไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่สนใจร่วมถ่ายรูปกับม้า ยิ่งสูงวิวยิ่งสวยมองเห็นทะเลและบ้านเรือนที่อยู่ข้างล่างมีจุดพักเป็นระยะๆ

สูดอากาศที่ยอดเขา ชงซัน อิลชุลโบง จนชุ่มปอด ฉันและคณะก็เปลี่ยนบรรยากาศไปยังอีกแห่งหนึ่งคือที่ “ซอพจิโกจิ” (Seopikoji) คำว่า “โกจิ” เป็นภาษาถิ่นของชาวเชจู หมายถึง อ่าวขนาดเล็ก มีโขกหินรูปร่างแปลกตา เป็นทุ่งหญ้ากว้างติดทะเล สถานที่ถ่ายละครเกาหลีเรื่อง เทหน้าตักรักหมดใจ (All In) และ ฟินิกซ์ ลิขิตรัก เพลิงริษยา (Phoenix) มีประภาคารสีขาวโดดเด่นอยู่บนเนินเขา
อิริยาบทน่ารักๆของทอลฮารุบัง
รู้มาว่าสัญลักษณ์ของเกาะเชจูนี้มี 3 อย่าง คือ หนึ่ง “ลม” เพราะว่ามันเป็นเกาะที่มีลมพัดตลอดปี สอง “ผู้หญิง” เพราะเมื่อก่อนเชจู เป็นสถานที่ที่ใช้เนรเทศพวกนักโทษทางการเมือง หรือโทษหนักๆ แล้วพวกที่เคยเป็นขุนนางก็จะเอาคนรับใช้มาด้วย จำนวนมาก หลังจากพวกขุนนางตาย พวกสาวๆ เหล่านี้ก็ไม่รู้จะไปไหนก็เลยตั้งรกรากอยู่ที่นี่ กล่าวกันว่าผู้ชายบ้านไหนได้สาวเกาะเชจูเป็นแม่บ้านจะสบายเพราะผู้หญิงชาวเกาะเชจูจะทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวทำงานหาเลี้ยงส่วนผู้ชายก็อยู่ดูแลบ้านเอียนโยสาวนักดำน้ำของฉันดูจะเป็นตัวอย่างของผู้หญิงเชจูได้เป็นอย่างดี

สาม “หินลาวา” เพราะที่นี่มีภูไฟอยู่มากมาย หนึ่งในหินลาวาที่มีชื่อเสียง ก็เห็นจะหนีไม่พ้นคุณปู่ของชาวเกาะเชจู "ทอลฮารุบัง" หรือหินปู่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันและคณะได้มีโอกาสมายืนอยู่ที่ “สวนหินทอลฮารุบัง” (Bukchon Dolharbang Park) ทอลฮารุบังเป็นรูปปั้นทำจากหินลาวาสลัก เป็นรูปคนแก่ใจดี มีให้เห็นอยู่ทั่วเกาะ แต่ที่ที่ฉันมาเยือนประดุจเป็นกึ่งๆพิพิธภัณฑ์สะสมทอลฮารุบังกลางแจ้ง เพราะมีให้เห็นเยอะมาก
ที่สวนหินทอลฮารุบังจะได้พบทอลฮารุบังมากมาย
ซึ่งทอลฮารุบังที่นี่ ไกด์เล่าว่าล้วนเป็นของเก่าแก่นับพันปีทั้งนั้น ทอลฮารุบังเป็นรูปปั้นที่ชาวเกาะเชจูเชื่อว่า เป็นผู้ทำหน้าที่คอยพิทักษ์คุ้มครองชาวเกาะและสถานที่ต่างๆ มีหลากหลายรูปแบบและมีระดับชนชั้นอยู่ในตัวเอง เช่น หากเจอทอลฮารุบังที่มือขวาทาบที่ตัวอยู่สูงกว่ามือซ้าย แสดงว่าทอลฮารุบังตัวนั้น คือ ชนชั้นปกครอง

ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของทอลฮารุบัง จึงมักมีผู้มาขอพรในเรื่องต่างๆมากมาย โดยมีความเชื่ออยู่ว่า หากต้องการให้ตนเองร่ำรวยให้ลูบที่ท้องของทอลฮารุบัง หากอยากมีคนรักให้ลูบที่หัวหรือหมวกของทอลฮารุบัง ถ้าอยากได้ลูกสาวให้ลูบที่หูและหากอยากได้ลูกชายให้ลูบที่จมูก
ประภาคารสีขาวโดดเด่นที่ “ซอพจิโกจิ”
มีทอลฮารุบังแปลกๆมากมายที่นี่ ทั้งทอลฮารุบังที่กำลังเข้าพิธีสมรส ทอลฮารุบังที่อยู่ในอิริยาบถน่ารักอีกนับไม่ถ้วน เดินชมหินคุณปู่ของชาวเกาะเชจูจนทั่วแล้วก็ได้ฤกษ์ไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีสำชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเกาะที่ชายหนุ่มในทริปของฉันตั้งตารอหนักหนา ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้น ฉันของเฉลยในตอนหน้า (อ่านต่อตอนต่อไป)

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

เชจูโด หรือ เกาะเชจู ซึ่งอยู่ทางใต้ของโซลเป็นหนึ่งในจังหวัดทั้งเก้าประเทศเกาหลี หากคุณเดินทางโดยเครื่องบินจากโซลจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งยังมีเที่ยวบินตรงจากโตเกียว โอซากา นาโงย่า ฟูกูโอกะ เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง มายัง เชจู อีกด้วยหรือคุณจะเดินทางมาจาก พูซาน วานโด อินชน ยอซู หรือ มกโพโดยเรือเฟอร์รี่ก็ได้

เกาหลีใช้สกุลเงินที่เรียกว่า "วอน" หรือ "won" มีอัตราแลกเปลี่ยน 1,000 วอน ประมาณ 40 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) เวลาที่เกาหลีเร็วกว่าเมืองไทยประมาณ 2 ชั่วโมง การเดินทางจากกรุงเทพฯไปเกาหลี มีหลายสายการบินให้เลือก อาทิ สายการบินเอเชียน่า แอร์ไลน์, โคเรียนแอร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (อสท. เกาหลี) โทร.0-2354-2080-2 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.kto.or.th  
กำลังโหลดความคิดเห็น