โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง
หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘นางไม้’ (Nymph) ที่ตีพิมพ์ลง ‘จุดประกาย’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 โดยมี ‘นันทขว้าง สิรสุนทร’ นักวิจารณ์หนังประจำค่ายเนชั่นและในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของเป็นเอกเป็นผู้ซักถามแล้ว ก็ต้องประกาศไว้ก่อนว่า หนังเรื่องนางไม้ที่ฉายทั่วไปนั้นเป็นคนละฉบับกับนางไม้ที่ติดเป็นหนึ่งใน 19 เรื่องของหนังน่าจับตามอง (Un Certain Regard) ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 62 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากปากคำของผู้กำกับฯเป็นเอกในบทสัมภาษณ์นั่นเองที่บอกว่า แท้ที่จริงเขาต้องการให้หนังเป็นอย่างฉบับที่ฉายทั่วไปเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ส่วนฉบับที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ยกย่องว่าเป็น ‘หนังที่น่าจับตามอง’ นั้นเป็นฉบับที่เขายังทำไม่เสร็จต่างหาก แม้ตัวหนังจะจบสมบูรณ์แต่เขายังไม่พอใจกับมัน หนังฉบับที่ฉายทั่วไปจึงไม่ได้เรียกว่าฉบับ Director’s Cut (ตัดต่อขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มหรือลดเนื้อหาจากต้นฉบับ) ฉะนั้นในบริบทที่พูดถึงความตั้งใจของผู้กำกับฯเป็นเอกแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงหนังฉบับที่ไปคานส์อีก
ถ้าเคยดูเรื่อง ‘พลอย’ มาก่อน หรือหากได้ดู ‘นางไม้’ แต่ยังไม่ได้ดู ‘พลอย’ ก็ขอให้ลองหามาดู จะเห็นความคล้ายคลึงในประเด็น ‘ความรักของคนสองคน’ กลายสภาพเป็นเพียง ‘ความผูกพันในสายตาคนรอบข้าง’ ความรู้สึกที่แท้จริงระหว่างทั้งคู่นั้นเป็นเช่นไร จะมีใครรู้ได้นอกจากคนสองคน
โดยทั่วไปเราจะเข้าใจกันว่า ‘ความผูกพัน’ ต่างจาก ‘ความรัก’ โดยสิ้นเชิง เรียกว่าเป็นคนละความรู้สึกกัน หากใช้คำว่า ‘ความผูกพัน’ กับคู่รักใดที่เคยรักกันหวานชื่นดูดดื่ม ก็หมายความว่าคู่รักคู่นั้นอาจกำลังจะเลิกราไม่เหลือ ‘ความรัก’ ให้แก่กันแล้ว เป็นแต่เพียง ‘ความผูกพัน’ ที่รอให้เวลาเจือจางจนไม่เหลือเยื่อใยและขาดกันในที่สุด
จะเป็นด้วยเหตุผลที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตคู่มายาวนานกระทั่ง ‘ความรัก’ เลือนหายไป (อย่างกรณี ‘วิทย์’ กับ ‘แดง’ ในเรื่องพลอย) หรือใครคนหนึ่งได้พบคนใหม่ที่ใช่กว่าและถูกใจกว่า (อย่างกรณี ‘นพ’ กับ ‘เมย์’ ในเรื่องนางไม้) ก็ทำให้ผู้คนรอบๆข้างสังเกตเห็นและสัมผัสความจืดจางในรักของทั้งคู่ได้ แต่มันก็เป็นความเข้าใจไปเองของผู้สังเกตที่อยู่รอบๆ และผู้ชมเป็นหนึ่งในคนที่กำลังสังเกตอยู่เช่นกัน จนกระทั่งจบเรื่องทั้ง ‘พลอย’ และ ‘นางไม้’ ได้พาผู้ชมซึ่งอาจไม่เคยมีประสบการณ์ความรักเช่นนี้สามารถรับรู้ความรู้สึกของทั้งคู่ได้ลึกแต่อาจไม่ซึ้ง เพราะมันไม่ใช่อารมณ์ที่จะซาบซึ้งอย่างหนังรักทั่วไป
ใช่, แม้ว่าหนังจะใช้ชื่อ ‘นางไม้’ ซึ่งอาจถูกมองเป็นหนังผีมากกว่าแต่หนังก็ให้ความรักเป็นประเด็นหลักของเรื่อง โดยมีเรื่อง ‘ธรรมชาติถูกกระทำ’ เป็นประเด็นรอง ให้บรรยากาศความลี้ลับเป็นตัวดึงดูดผู้ชมให้ติดตามเรื่องราว ฉายภาพเปรียบเทียบระหว่างเมืองใหญ่ไร้ชีวิตและจำเจ กับ ชีวิตชีวาของป่าที่น่าเกรงขามซึ่งมากด้วยตำนานและเรื่องเล่าลี้ลับ
ในประเด็นรองที่ว่านี้เอง เป็นเอกได้สร้างฉากหนึ่งที่ยั่วความคิดและการตีความ ด้วยการเอาคำว่า ‘ธรรมชาติถูกกระทำ’ มาเล่นคำให้เป็นภาพ โดยใช้ภาพคนกอดต้นไม้บวกอารมณ์และความรู้สึกเพิ่มเข้าไป กลายเป็นฉากที่ให้ความรู้สึกอันหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อว่า จะสร้างได้จากภาพที่แสนจะธรรมดา
ถ้าหากเปรียบ ‘นางไม้’ เป็นงานเขียนสักชิ้น มันก็คงจัดอยู่ในหมวดของเรื่องสั้น (ขนาดยาว) ด้วยองค์ประกอบที่มีตัวละคร ฉากและเหตุการณ์ในเรื่องไม่มาก ไม่ได้ตัดกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็วตามมาตรฐานของภาษาหนัง แต่เน้นที่บรรยากาศของฉากและความรู้สึกของตัวละครมากกว่า นอกจากนั้น ‘นางไม้’ ใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครที่ชื่อ ‘เมย์’ เป็นหลัก จึงดูคล้ายกับเรื่องเล่าที่ใช้คำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเป็นตัวเดินเรื่อง (ตัวอย่างเช่น ฉันทำอย่างนั้น ฉันทำอย่างนี้)
แต่ถึงอย่างนั้นเป็นเอกก็ยังเล่นกับความเฉพาะตัวของสื่อที่มีภาพและเสียงอย่างภาพยนตร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฉากถ่ายยาว (Long Take) ตอนเปิดเรื่องที่บังคับกล้องให้ลุยป่าในระยะประชิด จากนั้นก็ให้กล้องลอยขึ้นไปถ่ายมุมสูงเก็บภาพมุมกว้าง ต่อด้วยการแทนสายตาผู้ชมเป็นเลนส์กล้องที่วางตะแคงไว้ก่อนที่ ‘นพ’ จะหยิบขึ้นมาประกอบ ตอนที่แทนสายตาผู้ชมเป็นคนที่เดินลาก ‘เมย์’ ออกมาจากป่า หรือแทนสายตาผู้ชมเป็นต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับผู้ชม และทำให้สิ่งที่ไร้ตัวตนในหนังก่อเกิดตัวตนขึ้นในความนึกคิดของผู้ชม แต่ก็ยังไม่ถึงกับสร้างความหลอนติดตัวผู้ชมกลับไป
‘นางไม้’ ใช้ภาพเป็นวิธีสื่อสารกับผู้ชม แต่ละฉากของ ‘นางไม้’ ไม่ต้องการการอธิบายด้วยเหตุผลที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวให้สอดคล้องรองรับกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นภาพในจินตนาการ ภาพความฝันของตัวละคร หรือเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง ก็แล้วแต่ผู้ชมจะคิด หนังไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งยิ่งทำให้ส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกไปถึงผู้ชมได้มากขึ้น
หนังใช้บทสนทนาน้อยมาตลอดเรื่อง แต่เมื่อถึงฉากสำคัญของเรื่องเป็นจุดที่บรรจบระหว่างประเด็นหลักและประเด็นรอง หนังสื่อออกมาตรงและทื่อเกินไปรวบรัดข้อความที่จะบอกกับผู้ชมผ่านบทสนทนาของตัวละคร มันจึงทำให้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่แล่นไหลของผู้ชมหยุดลงพร้อมๆกับบทสนทนานั้น เหลือเพียงความฉงนสนเท่ห์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวละครเท่านั้น ทั้งที่จริงควรปล่อยที่ว่างไว้โดยการสื่อด้วยภาพและเสียงอย่างที่หนังทำมาตลอดเรื่อง จะช่วยให้หนังจบอย่างทรงพลังมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ‘นางไม้’ ถือว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ชมด้วยบรรยากาศความลี้ลับอึมครึมและอึดอัดตลอดเรื่อง ชวนให้ผู้ชมติดตามได้มากกว่า ‘พลอย’ ส่วนในเรื่องการสื่ออารมณ์ของตัวละครไปยังผู้ชมยังคงทำได้ตามมาตรฐานเป็นเอก แต่ตอนจบของ ‘พลอย’ เป็นธรรมชาติและลุ่มลึกกว่า ‘นางไม้’ หลายเท่านัก