xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้องคดีเทสโก้โลตัส ฟ้องอดีต สนช.เรียกค่าเสียหายพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเคลื่อนไหวคัดค้านการขยายสาขาของเทสโก้ โลตัสของกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ศาลอาญายกฟ้องคดี เทสโก้ โลตัส ฟ้องว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีต สนช. หมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท เหตุติชมเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตกรณีให้สัมภาษณ์สื่อว่าเทสโก้ฯ ค้ากำไรบนซากโชวห่วย ดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับบริษัทแม่ที่อังกฤษปีละหลายหมื่นล้าน

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันนี้ (16 มิ.ย.) ศาลอาญา ได้พิจารณาคดีที่บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องตนเอง เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2550 ฐานหมิ่นประมาท พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของตนเองเป็นการติชมโดยสุจริต และเป็นการทำหน้าที่ของ สนช. อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่ได้เดินทางไปฟังคำสั่งของศาลฯ จึงต้องรอทนายความผู้รับผิดชอบคดีไปคัดลอกคำสั่งศาลเพื่อดูรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญา โดยสรุปมีดังนี้

คดีหมายเลขดำที่ อ.4228/2550 วันที่ 16 มิ.ย. 52 ความอาญาระหว่างบริษัทเอก – ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ เป็นจำเลยฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,000 ล้านบาท ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี วันนี้ (16 มิ.ย.) เวลา 9.00 น. ผู้รับมอบฉันทะโจทก์และผู้รับมอบฉันทะจำเลยมาศาล

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำบรรยายของว่าที่ร.อ.จิตร์ ที่พูดถึงปัญหาค้าปลีกในประเทศไทย มีฐานข้อมูล ในฐานะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยมาก่อน เมื่อจำเลยกล่าวบรรยายโดยมีแผนภาพ และแผนภูมิประกอบคำบรรยาย การพิจารณาจึงต้องหยิบยกทั้งหมด จะยกเพียงบางส่วนไม่ได้

ส่วนเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์เลี่ยงภาษี เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ตามป.อ.มาตรา 329 (1) (3)

ส่วนคำพูดที่ว่า โจทก์ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าโดยวิธีต่ำกว่าทุน จึงมิใช่จำเลยกล่าวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีมูลความจริง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์

ส่วนที่โจทก์ กล่าวว่า “โลตัสเปรต” เป็นเพียงการเรียกความสนใจของผู้ฟัง เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สมควรตามวิสัยสันดานของแต่ละคน เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำเกินเลยไป

เมื่อฟังว่า คำบรรยายของจำเลยในงานสัมมนาไม่เป็นความผิด ในส่วนข้อความติชมนั้น ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์ในฐานะกรรมาธิการพาณิชย์ หรือไม่ก็ตาม จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยอ้างข้อมูลเท็จ อันจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจโจทก์ผิด

คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

ส่วนในคดีแพ่ง เมื่อจำเลยมิได้ทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายโดยอ้างว่าทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมา 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นว่า ส่อแสดงเจตนาเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ทำหน้าที่ สนช.ในคณะกรรมการธิการพาณิชย์ โดยทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้มีบทบาทในการผลักดันร่างกฎหมายค้าปลีก ค้าส่ง ฉบับ สนช. เพื่อวางกติกาให้การขยายสาขาของบรรดาห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด ได้รับการควบคุมดูแลไม่เกิดผลกระทบต่อร้านค้าปลีกย่อยในชุมชน แต่กฎหมายดังกล่าว ถูกตีตกในปลายสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพราะการล็อบบี้ที่มียักษ์ใหญ่ค้าปลีกอยู่เบื้องหลัง

สำหรับการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของว่าที่ ร.อ.จิตร์ กระทั่งตกเป็นจำเลยในคดี คือ ข่าว “ค้ากำไรบนซากโชวห่วย เทสโก้สูบไทย 37% จากยอดขายทั่วโลก” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 50 โดยเนื้อข่าวระบุว่า เทสโก้ โลตัส ดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่อังกฤษหลายหมื่นล้าน ทำให้เทสโก้ฯ ไต่ทะยานขึ้นเป็นบริษัทร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลก มียอดขายรวมทั่วโลก 79,978 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมาจากไทยมากถึง 37% สวนทางกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทยที่ล้มตายอย่างรวดเร็วเหลือรอดไม่ถึงครึ่ง

เนื้อข่าวดังกล่าว ทาง “ผู้จัดการรายวัน” ได้แก้ไขตัวเลขยอดขายของเทสโก้ฯ ในไทย เป็น 3.7% ตามที่ผู้บริหารของเทสโก้ โลตัส แจ้งให้ทราบในภายหลัง

เทสโก้ โลตัส ไม่ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยในคดี แต่ได้ฟ้อง ว่าที่ ร.อ.จิตร์ โดยเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท และฟ้องคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือ นายกมล กมลตระกูล นักสิทธิมนุษยชน และ นางนงนารถ ห่านวิไลบรรณาธิการน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ เรียกค่าเสียหายรายละ 100 ล้าน ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาว่าเทสโก้โลตัส ขยายกิจการจนส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในชุมชนล่มสลาย

อนึ่ง คำฟ้องบรรยายโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ว่าที่ ร.อ.จิตร์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันว่า เทสโก้โลตัสดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับบริษัทแม่ที่อังกฤษปีละหลายหมื่นล้านบาท และกำลังรุกขยายสาขาอย่างหนักในไทยขณะนี้ หากไม่วางแผนชะลอการขยายสาขาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่รวมถึงร้านสะดวกซื้อ อนาคตประเทศไทยจะมีสาขาของห้างค้าปลีกต่างชาติเข้าไปตั้งทุกหนทุกแห่ง ฮั้วกันทำกำไร ทำลายร้านค้าเล็ก ผู้ประการอิสระจะไม่เหลือ

คำฟ้องยังบรรยายต่อไปว่า ...... ส่วนเล่ห์เหลี่ยมหรือกระบวนการประกอบการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทำลายร้านเล็กให้ล้มหายตายจากนั้น กลุ่มค้าปลีกต่างชาติจะใช้วิธีการขายสินค้าต่ำกว่าทุนในบางสินค้าและจำกัดจำนวนซื้อ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาภายในห้างให้มากที่สุด โดยทางห้างฯ สามารถใช้ปริมาณลูกค้าไปต่อรองในการสร้งารายได้อื่นๆ ที่มากกว่ารายได้จากการขายสินค้าที่ซื้อมาขายไป นอกจากนั้น ยังทำสัญญาทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้ยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมทางการค้าดังเช่นที่ปฏิบัติในประเทศแม่

คำฟ้องระบุว่า การกล่าวให้สัมภาษณ์ของว่าที่ ร.อ.จิตร์เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้เทสโก้โลตัสได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากลูกค้าและประชาชนทั่วไป

คำฟ้องยังบรรยายว่า ว่าที่ ร.อ.จิตร์ได้กล่าวบรรยายในการสัมมนาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ในทำนองเดียวกัน การละเมิดของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ในระหว่างที่เทสโก้ โลตัส ฟ้องร้องอดีต สนช. และสื่อมวลชนนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดเวทีสาธารณะ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 51 โดยเชิญ ว่าที่ ร.อ.จิตร์ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีดังกล่าว

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีต สนช. ในฐานะ รองเลขาธิการหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตต่อการทำธุรกิจของห้างเทสโก้ โลตัส ว่า การลดทุนจดทะเบียนลงอย่างต่อเนื่อง จาก 30,000 กว่าล้านบาท เมื่อปี 2536 เหลือเพียง 5,000 กว่าล้านในปี 2550 เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจในการเข้ามาลงทุนของเทสโก้ฯ ในไทย

รองเลขาธิการหอการค้าไทย ยังตั้งคำถามถึงเรื่องผู้ถือหุ้นในบริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ซึ่งตามสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2550 มีบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประมาณ 99% ขณะที่บริษัทเทสโก้ สโตร์สฯ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลับเป็นบริษัทซี.พี.คอนซูเมอร์โปรดักส์ จำนวน 41.46% เมื่อรวมกับกลุ่มนางอุไรวรรณ กวักไพฑูรย์ และพวก อีก 18.7% รวมเป็น 60.16% คำถามคือกรณีนี้เป็นการถือหุ้นแทนหรือนอมินีหรือไม่

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ อธิบายว่า การตั้งคำถามถึงประเด็นนอมินี จะโยงไปยังข้อมูลที่มีระบุไว้ในงบการเงินที่ได้รับรองจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2248 ของบริษัทเอก-ชัยฯ ซึ่งระบุว่า “บริษัทถูกควบคุมโดยทางตรงและทางอ้อมโดยบริษัทเทสโก้ มหาชน จำกัด (ประเทศอังกฤษ)” และ ในงบการเงินดังกล่าว ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายของบริษัทในรายการ “ค่าสิทธิ ปี 2548 จำนวน 732 ล้านบาท และ ค่าสิทธิ ปี 2547 จำนวน 625 ล้านบาท” ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ไม่ต้องเสียภาษี

“คำถามคือ ทำไมต้องมีค่าสิทธิ ในงบการเงินก็ไม่มีคำอธิบาย เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าเทสโก้ในไทยเป็นสาขาบริษัทแม่ที่อังกฤษ เม็ดเงินส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี เทสโก้ฯต้องตอบคำถามต่อสังคมว่านี่เป็นการเลี่ยงภาษีหรือไม่” รองเลขาธิการหอการค้ากล่าวในเวที
กำลังโหลดความคิดเห็น