หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เปิดเผยรายละเอียดที่คุณไม่ควรรู้ก่อนดูหนัง
จะเป็นเพราะเทรนด์กำลังมา หรือต้องการลบคำปรามาสครหาว่า ฝรั่งเศสทำเป็นแต่หนังเนือยๆ เหงาหลับ ล้ำลึกเกิน – ก็ไม่ทราบได้
ทว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหนังฝรั่งเศส ‘หนุกๆ’ โดยเฉพาะในกลุ่ม ‘ฆ่าไม่นับ สับไม่เลี้ยง’ เรียงรายออกฉายในตลาดโลกเป็นระยะๆ และแต่ละเรื่องก็เรียกเสียงกรีดร้องฮือฮาจากผู้นิยมหนังโหดได้ไม่น้อย
ยกตัวอย่างก็เช่น Haute Tension หรือ ‘สับ สับ สับ’ หนังที่ทำให้ผู้ชมบริโภคเลือดทางสายตากระทั่งจุกพุงแทบระเบิดไปตามๆ กัน, Frontier(s) หนังโหดวิพากษ์การเมืองที่ถูกแบนในบ้านเราเมื่อปีก่อน, Inside หนัง ‘บ้าเลือด’ ที่ดูๆ ไปแล้วอดไม่ได้ที่จะอุทานว่าผู้กำกับมัน ‘บ้าไปแล้ว’
Martyrs เองก็เป็นหนังในหมวดหมู่เดียวกันที่ออกฉายและสร้างความคลุ้มคลั่งให้แก่ผู้ชมไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา
หนังเป็นผลงานของ ปาสกาล โลฌิเยร์ ผู้กำกับที่เข้าใจว่าน่าจะแสบใช้ได้ (เพราะเคยวิพากษ์วิจารณ์ The Passion of the Christ ของ เมล กิบสัน ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า มันเป็นหนังที่ “น่าขันและก็โง่เอามากๆ”)
ตัวเอกของหนังเป็นหญิงสาวคู่หนึ่ง คนหนึ่งคือ ลูซี หญิงสาวซึ่งเคยถูกจับตัวไปคุมขังทารุณกรรมสมัยยังเด็ก และฝันร้ายครั้งนั้นก็ยังคงติดตามหลอกหลอนมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนอีกคนคือ อันนา เพื่อนรักของลูซี
ทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิง ขณะที่ลูซีเพิ่งหนีรอดจากการถูกจับกุมคุมขังมาหมาดๆ อันนาเป็นบุคคลเพียงหนึ่งเดียวที่อดทน ดูแล และในที่สุดก็ทำลูซี -ที่ ณ เวลานั้นตกอยู่ในสภาพบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหนัก- ไว้เนื้อเชื่อใจยอมให้ใกล้ชิด และทั้งสองก็คงความสัมพันธ์ในแบบกอดคอดูแลประคบประหงมกันและกันเช่นนั้นเรื่อยยมาจนกระทั่งโต
หนังใช้เวลาราว 15 นาทีแรก บอกเล่าฝันร้ายในวัยเยาว์ของลูซีและความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับอันนา จากนั้นจึงตัดกระโดดข้ามมาสิบปีกว่า เพื่อนำพาผู้ชมเข้าสู่เนื้อหาหลัก ที่ว่าด้วยการล้างแค้นของลูซี...
เช้าวันหนึ่ง ในบ้านหลังหนึ่งที่ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน คือ พ่อ แม่ และลูกสาว-ลูกชายวัยรุ่นอีกอย่างละหนึ่ง กิจกรรมในบ้านดำเนินไปตามปรกติ ความขัดแย้งบาดหมางเล็กน้อยของสมาชิกถูกหยิบยกขึ้นมาถกบนโต๊ะอาหาร แล้วทันใดนั้น จู่ๆ เสียงกริ่งประตูก็ดังขึ้น ผู้เป็นพ่อเดินไปเปิดรับ พบผู้มาเยือนเป็นหญิงสาวสวมเสื้อผ้าห่อคลุมร่างกายและใบหน้ามิดชิดคนหนึ่ง ทั้งคู่หยุดยืนมองหน้ากันสักระยะ จากนั้นผู้มาเยือนก็ไม่พูดพล่ามทำเพลง เธองัดปืนด้ามยาวขึ้นมา เล็งที่กลางลำตัวแล้วยิงเปรี้ยง ร่างของพ่อกระดอนกระเด็นไปตามแรงปะทะ ขาดใจตายภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วกะพริบตา
การล้างแค้นของลูซีเริ่มต้นตรงนี้... เธอพาตัวเองเข้าสู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว แล้วจัดการกับสมาชิกอีก 3 คนที่เหลือเป็นลำดับถัดมา
จากนั้นลูซีโทรหาอันนา เพื่อแจ้งว่า เธอพบตัวคนที่จับเธอไปทารุณเมื่อ 10 กว่าปีก่อนโน้น และจัดการล้างแค้นพวกมันสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ทันทีที่ทราบข่าว อันนาบึ่งรถตรงมาพบเพื่อนที่บ้านหลังนั้นโดยไม่รอช้า แล้วทั้งที่ยังตื่นตระหนกกับซากศพและกองเลือดที่เห็น อีกทั้งยังมีข้อกังขาเต็มหัวใจว่า ลูซีจัดการ ‘ถูกคน’ หรือไม่ ทว่าลงท้าย อันนาก็เลือกที่จะทำเหมือนกับที่ได้ทำมาตลอด กล่าวคือ เธอทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ลูซี เธอจัดการให้ลูซีนอนพักค้างคืนที่บ้านหลังนั้น ส่วนตัวเธอเองจะทำหน้าที่อำพรางศพและกลบเกลื่อนร่องรอย เพื่อไม่ให้ตำรวจสาวมาถึงตัวพวกเธอได้ในภายหลัง
ระหว่างที่เล่าเรื่องราวที่กล่าวมา หนังก็ฉวยโอกาสหยิบยื่นข้อมูลเรื่องอาการประสาทหลอนกู่ไม่กลับของลูซี ให้ผู้ชมรับรู้เป็นการเพิ่มเติมด้วย
อาการดังกล่าว ส่งผลให้ลูซีเห็นภาพหลอนเป็นปีศาจหญิงสาวผอมโกรกร่างกายเปลือยเปล่า ที่จะตรงเข้ามากรีดเนื้อเถือหนังทำร้ายเธอ เพื่อเป็นการกดดันให้ลูซีลงมือแก้แค้นผู้ที่เคยทำร้ายเธอในวัยเยาว์มาก่อน
แน่นอน ปีศาจสาวที่ลูซีเห็น แท้จริงแล้วเป็นตัวตนแห่งการสำนึกผิดบาปบางประการในใจของเธอเอง และทุกครั้งที่เธอเห็นภาพปีศาจสาวกรีดมีดลงบนลำตัวของเธอนั้น แท้ที่จริงก็เป็นลูซีที่ลงมือกรีดตัวเองทั้งนั้น
ที่แย่ก็คือ แม้จะเชื่อว่าตนได้ล้างแค้นคู่กรณีสำเร็จแล้ว อาการหลอนของลูซีกลับยังไม่ทุเลา ตรงข้าม มันกลับทวีความรุนแรงเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็ทำให้หญิงสาวแบกมันไว้ไม่ได้อีกต่อไป... ลูซีตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ปลดปล่อยร่างกายและวิญญาณให้เป็นอิสระจากความรู้สึกผิดบาปที่ไม่อาจลบล้างในที่สุด
สิ่งที่ถือเป็น ‘ที่สุดของที่สุด’ ของ Martyrs ปรากฏขึ้นในช่วงเวลานี้...
ตามปรกติทั่วไป เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น เพียงพอแล้วสำหรับหนังความยาวชั่วโมงครึ่งเรื่องหนึ่ง แต่กับ Martyrs นั้นเปล่า
เหตุการณ์ทั้งหมดที่ดิฉันได้เล่าและคุณได้อ่านไป เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงครึ่งเรื่องเท่านั้น และเนื่องจากลูซีเป็นตัวละครที่หนังอนุญาตให้ผู้ชมรู้จักดีที่สุด เห็นเธอและเข้าใจเธอดีที่สุดในเรื่อง ความตายของเธอในช่วงเวลานั้น จึงส่งผลอย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ชมตกอยู่ในสภาพหลงคว้าง มึนงง และสับสน
หนังยังไม่จบ แต่เราไม่รู้ว่ามันจะไปต่ออย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง มากกว่านั้น บางคนอาจถึงขั้นมีคำถามว่า ‘หรือความตายของลูซีจะเป็นแค่การจัดฉาก?’ ขนาดนั้นด้วยซ้ำไป (ดูถึงตรงนี้แล้วดิฉันนึกถึง Psycho ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก เข้าใจว่าผู้ชมในยุคนั้นก็คงตกอยู่ในอาการมึนตึ้บเหมือนกันเมื่อพบว่า นางเอกของเรื่องถูกฆ่าตายทั้งที่หนังยังเดินไปได้ไม่ถึงครึ่งเรื่อง)
ดิฉันจะไม่ลงรายละเอียดว่าเหตุการณ์ถัดจากนี้เป็นอย่างไร แต่เอาเป็นว่า สองอย่างที่พอจะบอกคุณได้ตรงนี้ ก็คือ หนึ่ง ความโหดร้ายทารุณที่หนังแสดงให้เห็นมาตลอดครึ่งเรื่อง และเราคิดว่าสิ้นสุดไปแล้ว เอาเข้าจริงก็ยังไม่จบ และสอง เนื่องจากลูซีกลายเป็นศพ หมดสิทธิ์เป็นที่รองรับความเจ็บปวดทางกายภาพไปเรียบร้อยแล้ว บุคคลเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ และต้องรับผลกรรมนั้นแทน ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นอันนา คนที่รักและเข้าใจเธอดีที่สุดนั่นเอง...
ภาพรวมของ Martyrs เป็นเช่นเดียวกับหนังโหดสัญชาติฝรั่งเศส 3-4 รายชื่อที่ได้อ้างไว้ข้างต้น กล่าวคือ มันถึงเลือดถึงเนื้อ จริงจัง ไม่พยายามยับยั้งความทารุณด้วยการสอดแทรกอารมณ์ขัน ในแง่ของการออกแบบฉากเชือดฆ่าต่างๆ อาจไม่หวือหวาพิสดารเท่า Inside (ใน Inside ฉากที่ติดตาดิฉันมากคือ ตอนที่ ‘หญิงชุดดำ’ ฆาตกรในเรื่อง ลากปลายกรรไกรแหลมเฟี้ยวลงบนท้องแก่กำลังจะคลอดของหญิงสาวผู้ตกเป็นเหยื่อ โดยที่เจ้าตัวยังคงนอนหลับอุตุไม่รับรู้ถึงชะตากรรมสยองที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตนแม้แต่น้อยนิด)
แต่สองอย่างที่เข้ามาแทนที่ก็คือ อารมณ์พิศวงลึกลับประหลาด เจือเคล้าบรรยากาศความสัมพันธ์แบบ ‘หญิงรักหญิง’ หน่อยๆ และความหดหู่สะเทือนใจ ที่หนังทิ้งท้ายเอาไว้ให้หลังจากเรื่องราวทั้งหลายจบสิ้นลง
ก่อนดู Martyrs ข้อมูลของหนังที่ดิฉันรับรู้ล่วงหน้าก็คือ มันเป็นหนังที่ ‘โหดเป็นบ้า’ เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้ว ปาสกาล โลฌิเยร์ ผู้กำกับ กลับพาหนังไปได้ ‘ไกล’ กว่าการขายโหดเอามันสนองตัณหามืดส่วนตัวมาก
ตัวละคร ‘ไอ้โหด’ ในหนังนั้น จริงอยู่ว่า ก็คือ พวกบ้าประเภทหนึ่ง ทว่าเบื้องหลังความบ้าที่พวกเขาเหล่านั้นทำ หนังก็มีคำอธิบายให้เหมือนกันว่า มันคือการพยายามทดลองและทดสอบบางสิ่งบางประการ อันเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความทานทน และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ทั้งนั้น
คำว่า martyr ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นชื่อหนังนั้น ตามที่ค้นดู มันเป็นคำที่มีรากศัพท์จากภาษากรีก ความหมายดั้งเดิมของมันแปลว่า ประจักษ์พยาน (witness) อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยผันผ่าน มีบริบททางสังคมและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ความหมายของคำว่า martyr ก็ถูกบิดและทำให้เฉไฉจากความหมายดั้งเดิมของมัน ทุกวันนี้คำดังกล่าวมีความหมายถึงผู้ที่ยอมสละอิสรภาพหรือกระทั่งชีวิตของตน เพื่อยืนยันและปกป้องความเชื่อ (ทางศาสนา) ให้แก่มวลมนุษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาโดยบริสุทธิ์ใจเช่นเดียวกับตน
ในความเห็นส่วนตัว ดิฉันเห็นว่า ปาสกาล โลฌิเยร์ ทำให้หนังของเขาตอบโจทย์คำว่า martyr ในทั้ง 2 ความหมาย
ทั้งลูซีและอันนา พวกเธอต่างเป็น ‘ประจักษ์พยาน’ ที่ได้รับรู้ทั้งทางร่างกายและสายตาว่า มนุษย์เรา เมื่อถึงบทที่ต้องแสดงความทารุณใส่กัน –ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม- เราทำกันได้รุนแรงขนาดไหน
และกล่าวสำหรับตัวอันนาเอง ภายหลังประสบเหตุการณ์ฝันร้ายชนิดที่ชีวิตนี้ไม่เคยคาดว่าจะเจอะเจอมาแล้ว ในท้ายที่สุดมันก็ทำให้เธอพบแสงสว่างในความเชื่อสำคัญประการหนึ่ง
นั่นก็คือ ความรัก จะทำให้เราก้าวผ่านฝันร้ายทุกข้อของชีวิตไปได้
และความรักจะยังคงรอคอยผู้ที่เชื่อมั่นในมันอยู่เสมอ – แม้ในภาคภพหน้าก็ตาม...