xs
xsm
sm
md
lg

“รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ดีที่สุด” พ.ต.ท.หญิง สุภาพร วสนาท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.หญิง สุภาพร วสนาท รองผกก.ฝ่ายวิทยุกระจายเสียง กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ พี่น้อยหน่า
คอลัมน์ “จันทร์ส่องดาว” จันทร์นี้ภูมิใจเสนอ พ.ต.ท.หญิง สุภาพร วสนาท รองผกก.ฝ่ายวิทยุกระจายเสียง กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ พี่น้อยหน่า ตำรวจสาวนักประชาสัมพันธ์คนเก่ง ซึ่งใช้ความตั้งใจจริงในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนจนได้รับการยอมรับ และอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้การทำงานเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ บนเส้นทางสีกากี

พ.ต.ท.หญิง สุภาพร เกิดวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2510 ปัจจุบันอายุ 44 ปี จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จาก ร.ร.กัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น พ.ศ.2534 ปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพ.ศ.2546 ปริญญาโท(ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต)สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้านครอบครัวปัจจุบันสมรสแล้ว มีบุตรชาย-หญิง 3 คน
พ.ต.ท.หญิง สุภาพร เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เกิดที่จ.ปราจีนบุรี แต่ไปโตที่จ.ขอนแก่น ในวัยเด็กเคยฝันว่าอยากเป็นพยาบาล เพราะเป็นคนช่างเอาอกเอาใจและชอบดูแลรักษาคน ประกอบกับญาติๆ หลายคนประกอบอาชีพทางด้านแพทย์ พยาบาล จึงตั้งเป้าไว้ว่า โตขึ้นมาต้องสอบพยาบาลอย่างเดียว อาชีพตำรวจจึงไม่เคยอยู่ในตัวเลือก แต่ทว่าหลังจบม.6 ได้สอบเข้าพยาบาล 2 ครั้งไม่ติด และกรมตำรวจในสมัยนั้นได้เปิดสอบพนักงานพิมพ์ดีด ซึ่งเป็นตำรวจชั้นประทวน จึงมาลองมาสอบเป็นตำรวจ ปรากฏว่าสอบติด จึงได้เป็นตำรวจ โดยบรรจุครั้งแรกที่กองการต่างประเทศ
พ.ต.ท.หญิง สุภาพร กล่าวต่อว่า ขณะนั้นยังไม่จบปริญญา จึงได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม้เงินเดือนที่ได้รับตอนนั้นเพียงแค่เดือนละ 650 บาท แต่ก็เพียงพอที่จะสามารถส่งตัวเองเรียนจนจบ โดยเธอให้เหตุผลที่เลือกเรียนบริหารซึ่งสวนทางกับตำรวจส่วนใหญ่ที่เลือก เรียนนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ เพราะมองว่าการเรียนบริหารสามารถทำอะไรได้มากว่า ขณะเดียวกันก็ชอบเรียนจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ ต่อมาจึงสอบเลื่อนชั้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรซึ่งขณะนั้นกรมตำรวจเปิดสอบ วุฒิบริหารธุรกิจตรงกับที่เรียนมาพอดี โดยได้บรรจุครั้งแรกในตำแหน่ง รอง สว.งาน 1 กก.1 ส.2 จากนั้นขึ้นเป็นสารวัตรที่กองสารนิเทศ ในตำแหน่ง สว.งาน 5 กก.2 สท. ซึ่งในครั้งแรกเป็นตำแหน่งสารวัตรการเงิน ทำเรื่องเกี่ยวการเบิกจ่ายเงิน แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าทำเรื่องเอกสารคล่องแคล่ว ก็ให้ไปช่วยงานธุรการ ก็ทำได้ 1 ปี จึงมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ทำให้ตำแหน่งสารวัตรประสานสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ว่างลง จึงมารับหน้าที่ตรงนี้
“ตอนนั้นต้องยอมรับว่าตัวเองไม่พื้นฐานด้านการประชาสัมพันธ์มาก่อนเลย ต้องปรับตัวอย่างมาก แต่ก็พยายามเรียนรู้ สังเกตจากคนอื่น ไม่มีใครมาสอนต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำการบ้านเยอะมาก ต้องศึกษาว่า สื่อหนังสือพิมพ์ 16 ฉบับ ทีวีทุกช่อง วิทยุทุกคลื่น จะต้องประสานอย่างไร แรกๆยอมรับว่าเครียดและก็กดดันมาก ตอนนั้นเวลาเดินเข้าไปกลุ่มสื่อมวลชนรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในกลุ่มคนแปลกหน้า จำชื่อไม่ได้ แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่ตัวเองเป็นคนอารมณ์ดี ชอบพบปะพูดคุยกับผู้คน ตรงนี้ช่วยได้ อยู่ไปก็ทำได้ดี” พ.ต.ท.หญิง สุภาพร กล่าวและว่า หากจะให้คำจำกัดความของคำว่า “ประสานสื่อ”คืออะไร ก็ตอบได้ว่าเราเป็นตัวกลางระหว่างผู้บังคับบัญชากับสื่อมวลชน บางเรื่องที่สื่อต้องการให้เป็นข่าว แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องการให้สัมภาษณ์ บางเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาอยากให้ประชาสัมพันธ์ อยากให้ลงข่าว แต่สื่อไม่ต้องการ เราก็ต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรให้ทั้งสองความต้องการสามารถไปด้วยกันได้ แรกๆยอมรับว่าเครียด แต่ตอนนี้ไม่แล้ว

"ทำงานร่วมกับสื่อเป็นเวลาร่วม 4 ปี ตอนนี้สบาย อยู่ตัวแล้ว ช่วงนี้ค่อนข้างจะมีความสุข การทำงานกับสื่อเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เราสามารถพูดคุยด้วยกันอย่างสนิทใจ สื่อมวลชนอาจจะมีความต้องการหลายอย่าง แต่เมื่อเรามาจูนความต้องการให้ตรงกัน ก็ไม่มีปัญหา เราเอาความต้องการเขามาเป็นตัวตั้ง แล้วมาคิดว่าเราหาให้เขามากน้อยแค่ไหน ก่อนที่เขาจะบอกความต้องการกับเรา เราก็ต้องได้รับความไว้วางใจจากสื่อก่อน ไม่ใช่แค่เข้าไปแล้วบอกว่าคุณต้องการอะไรคุณบอกเรานะอย่างนั้นไม่ใช่ เราค่อยๆเข้าไปหาเขาพยายามแสดงให้เห็นว่าเราพยายามช่วยเหลือเขาด้วยความจริง ใจ หากขาดเหลืออะไรขอให้บอก ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จะช่วยทำให้ทันที"

นอกจากนี้คุณสมบัติที่เด่นชัดประการหนึ่งของ พ.ต.ท.หญิง สุภาพร คือการเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนที่ได้มาสัมผัส หรือร่วมงานด้วย รวมทั้งกับผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอได้รับรางวัลข้าราชการตำรวจดีเด่นต้นแบบ ประจำปี พ.ศ.2553 (มนุษยสัมพันธ์)จากมูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจและครอบครัว

พ.ต.ท.หญิง สุภาพร กล่าวว่า แม้ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบันจะไม่ได้ทำหน้าที่ประสานสื่อเหมือนเมื่อก่อน แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีความคุ้นเคยกับสื่อมวลชนพอสมควร จึงแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่พิเศษเป็นชุดประชาสัมพันธ์ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศรส.ลต.ตร.) และชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯและปริมณฑลในระยะเร่งด่วน หรือ ยุทธการ 315

ณ เวลานี้อาจจะเรียกได้ว่าตารางชีวิตของเธอในทุกวันคือการทำงาน เรียกว่าแทบจะไม่มีวันหยุดกันเลยทีเดียว แต่ในอีกบทบาทหนึ่งของ พ.ต.ท.หญิง สุภาพร ในฐานะคุณแม่ลูกสาม หลายคนจึงอาจสงสัยว่าตารางงานแน่นขนาดนี้ เอาเวลาไหนให้ครอบครัว

"การทำงานกับครอบครัวสามารถไปด้วยกันได้หากเป็นการทำงานตามเวลาราชการปกติ แต่การทำงานในลักษณะตำแหน่งของพี่เหมือนสื่อมวลชนคนหนึ่ง เพียงแต่เราเป็นสื่อมวลชนในด้านการประชาสัมพันธ์ของตำรวจ เวลาจะไม่แน่นอน ถามว่าการทำงานมีผลกระทบกับครอบครัวหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี และมีมากด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ อย่างพี่ออกเช้ากลับดึก พี่ออกต่างจังหวัดกลับดึก แต่โชคดีที่ครอบครัวพี่อบอุ่น มีญาติพี่น้องคอยดูแลลูกให้ หากมีเวลาว่างก็จะให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ อย่างพาไปกินข้าว ไปเที่ยว ทุกวันนี้ก่อนไปทำงานในตอนเช้าก็ต้องตื่นเช้าขึ้น เพื่อทำอาหารให้ลูกๆ ก่อนไปโรงเรียน แม้หน้าที่จะต้องมาก่อน แต่ครอบครัวก็ไม่ได้ทิ้ง”รองผกก.คนเก่งกล่าว

เรียกว่าทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องในทุกบทบาท ซึ่งก็เป็นตามคติในการดำเนินชีวิตของเธอที่ว่า “รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ดีที่สุด” ซึ่งเธอมองว่านอกจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่แล้ว จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำแค่พอผ่านไปเท่านั้น จากข้อคิดดังกล่าวจึงไม่แปลกที่ทำให้ พ.ต.ท.หญิง สุภาพร เป็นคนคุณภาพอีกคนหนึ่ง ที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานให้กับองค์กรอย่างไม่ย่อท้อต่อไป
 
กำลังโหลดความคิดเห็น