xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิถีไข่อารมณ์ดีที่ “อุดมชัยฟาร์ม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปล่อยไก่” อาจจะดูเป็นคำเก่าๆ ในสมัยนี้บรรดาวัยรุ่นทั้งหลายมักจะใช้คำว่า “โชว์โง่” ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ซึ่งหมายถึงการแสดง

ความเปิ่นๆ ออกไปให้ผู้อื่นเห็น แต่รับรองว่า สำหรับผู้หญิงที่ชื่อ “พ.ต.ต.(หญิง) สุธาทิพย์ แสงวัฒนกุล” คำว่า “ปล่อยไก่” ของเธอ ไม่เหมือนกับคน อื่นแน่นอน!

ภาพฟาร์มไก่ “อุดมชัยฟาร์ม” ใน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี อาจจะแตกต่างจากฟาร์มไก่อื่นๆ ด้วยเพราะภายในฟาร์มมีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก แลดูร่มรื่นเย็นตา กลมกลืนไปกับวิถีแห่งธรรมชาติ แต่ที่สำคัญคือ ที่นี่เป็นฟาร์มไก่ออร์แกนิกที่ผลิต “ไข่จากไก่อารมณ์ดี” ออกมาให้รับประทาน

จากฟาร์มไก่ธรรมดา สู่วิถีออร์แกนิก

“ฟาร์มนี้เป็นของคุณพ่อสามีค่ะ ทำมานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 จำนวนไก่ตอนนั้นก็ไม่น้อย เป็นหลักแสนตัวทีเดียว ต่อมาเราก็เป็นหนึ่งหน่วยของที่นี่ ก่อนหน้านี้ก็เป็นฟาร์มเหมือนฟาร์มไก่ทั่วไป ไม่ได้เป็นฟาร์มออร์แกนิกอย่างในทุกวันนี้ แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ เรา “ปล่อยไก่” กันมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อแล้ว” พ.ต.ต.(หญิง) สุธาทิพย์ หรือที่เธอสะดวกให้เรียกว่า “พี่ทิพย์” เกริ่นนำถึงฟาร์มไก่ของครอบครัว

พี่ทิพย์ กล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ การเลี้ยงไก่ไข่ในฟาร์ม ก็ไม่ต่างกับการเลี้ยงไก่ไข่ในฟาร์มอื่นๆ นอกจากเพียงอย่างเดียวคือจะปล่อยไก่ให้เดินวิ่งคุ้ยเขี่ยตามธรรมชาติภายในโรงเรือนเท่านั้น นอกจากนั้น การให้อาหาร ให้ยาปฏิชีวนะ ก็เหมือนๆ กับฟาร์มทั่วๆ ไป

“ที่เราจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็เพราะการเลี้ยงไก่ในปริมาณมากๆ จะติดเชื้อกันง่าย โดยทั่วไปก็จะให้ยาแบบทั้งกันทั้งแก้ คือให้กินป้องกันไว้เลย ยาที่ให้กินส่วนใหญ่ก็เป็นพวก “อม็อกซี่” ซึ่งยาก็จะไปสะสมอยู่ในตัวไก่และในไข่ ถึงแม้ว่าจำนวนไก่เราจะไม่หนาแน่นเท่าที่อื่น ก็ยังจำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อยู่ดี”
“ปล่อยไก่” ทีเด็ดของฟาร์มที่ไม่จำกัดไก่ให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ
ส่วนจุดหักเหของการเปลี่ยนฟาร์มไก่ธรรมดาๆ กลายเป็นฟาร์มไก่แบบเกษตรอินทรีย์ ว่า เกิดจากการที่พี่สะใภ้ของพี่ทิพย์ป่วยเป็นมะเร็ง และได้รับคำแนะนำจาก ดร.รสสุคนธ์ พุ่มพันธุ์วงศ์ ซึ่งเป็นแพทย์ทางเลือกอยู่ที่ จ.ระยอง แนะนำให้รับประทานน้ำชีวภาพที่หมักจากผลไม้

“น้ำชีวภาพนี่ฝรั่งเค้าทำขายเรา แพงมากนะ แต่เราไม่ค่อยรู้กันว่ามันคือน้ำชีวิต แต่จะรู้จักในชื่อน้ำแอปเปิลไซเดอร์มากกว่า ขวดหนึ่งก็หลายร้อย ซึ่งเราทำเองก็ได้ง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลานาน คือ หมักกันปีหนึ่งขึ้นไป เราก็ทำกินกันเอง ใช้ผลไม้ตามฤดูกาล แต่ต้องหมักอย่างใดอย่างหนึ่งนะ เช่น ส้มก็หมักกันถังส้มถังหนึ่งไปเลย สัดส่วนที่ทำก็ คือ 1:3:10 คือ น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง 1 ส่วน ผลไม้ 3 ส่วน และน้ำ 10 ส่วนตอนนั้นพี่สะใภ้กินก็แข็งแรงขึ้น เราก็เลยได้ไอเดียว่าเออ คนกินได้ ไก่ก็น่าจะกินได้ เราก็เลยเริ่มหมักให้ไก่ของเรากิน แต่ถ้าหมักให้ไก่กินเราจะเปลี่ยนจากน้ำผึ้งเป็นน้ำตาลทรายแดง”

ประกอบกับตอนนั้นมีไข้หวัดนกระบาด อุดมชัยฟาร์มก็โดนผลกระทบไปเต็มๆ ไม่ต่างจากผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆ เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านกันมาได้ หืดแทบจะจับทั้งคอคนและคอไก่กันเลยทีเดียว

“ตอนนั้นไก่เรารอด ไม่เป็นอะไร ไม่ป่วย ไก่เราแข็งแรง แต่คนกลัว ไม่กิน ไข่เลยขายไม่ได้ แล้วผลิตภัณฑ์ไข่ไก่นี่มันเป็นของสด ถ้าเกินวันที่กำหนดก็ต้องกำจัดทิ้ง เราฝังกลบไข่เราทิ้งกันเป็นคันรถๆ ผู้ผลิตรายย่อยหลายรายถึงกับต้องปิดกิจการเพราะอยู่ไม่ได้ ตอนนั้นเราก็พยายามหาทางออกให้ไข่ของเรา ช่วงนั้นแย่อยู่ 2-3 เดือน ต่อมาจึงเริ่มกระเตื้อง แต่ก็ยังขายได้ไม่มาก เราจึงเปลี่ยนแนวมาทำไข่ออร์แกนิก เพราะวิถีออร์แกนิกทำให้ไข่เรามีคุณภาพ และไก่เราก็แข็งแรง อีกทั้งเป็นทางเลือกของผู้บริโภคอีกด้วย”

อาหารและการดูแลตามแนวคิด “โปรไบโอติก”

พี่ทิพย์ อธิบายว่า วิถีออร์แกนิกในฟาร์มไก่ของเธอว่า เริ่มตั้งแต่อาหาร โดยฟาร์มผลิตอาหารเอง โดยอาหารหลักจะเป็นรำ กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพด โดยเฉพาะข้าวโพดนั้นเป็นข้าวโพดอินทรีย์คุณภาพดี ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ไข่แดงสีสดโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใส่สารเร่งสีไข่แดงอย่างที่หลายฟาร์มทำกัน ซึ่งสารเร่งสีไข่ให้แดงน่ากินนั้น เป็นสารที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อร่างกายของผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย แถมยังทำให้มีสารตกค้างอีกด้วย

เคล็ดลับสำคัญต่อมาที่ทำให้ไก่ในฟาร์มสุขภาพดี ก็คือ วิธีการดูแลสุขภาพไก่ให้แข็งแรง โดยพี่ทิพย์เล่าว่า น้ำชีวภาพที่ทางฟาร์มหมักให้ไก่กินนั่นแหละ คือเคล็ดสำคัญอันนั้น

“เวลาไก่ป่วย ตามปกติฟาร์มอื่นๆ จะให้เขากินยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวะ มันก็คือ แอนตี้ไบโอติก คือ ยาฆ่าเชื้อ แต่น้ำหมักชีวภาพที่เราหมักให้ไก่กินนั้นเป็นโปรไบโอติก คือทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทาน เราเน้นการดูแลให้ไก่เราแข็งแรง ไม่ใช่แก้ไขเมื่อเขาป่วย เราให้เขากินน้ำหมักชีวภาพทุกวัน ประกอบกับอาหารที่มีคุณภาพ ทำให้เขาแข็งแรงและไม่ป่วย และโอกาสใช้ยาก็น้อยลง”
ข้าวโพดเลี้ยงไก่ ปลูกโดยวิถีเกษตรอินทรีย์
“พอเราปรับไก่เราให้แข็งแรง ต่อมาก็คือ เราก็ต้องถอนยา เดิมทีไก่ฟาร์มคุณพ่อสามีแม้จะเลี้ยงปล่อย แต่ก็ยังให้ยาปฏิชีวนะเหมือนฟาร์ม

อื่นๆ เราก็ต้องถอนยา คือ พอให้น้ำหมักชีวภาพและอาหารที่มีคุณภาพแล้ว เราก็ต้องถอนยา ตอนแรกก็ลดการให้ยาปฏิชีวนะลงครึ่งหนึ่ง แต่ให้ยาสมุนไพรจำพวกขมิ้นชันและฟ้าทะลายโจรทดแทน ซึ่งไก่เราก็ปรับตัวได้ ไม่มีอาการผิดปกติ ทีนี้ต่อมาระยะหนึ่งเราก็ถอนยาปฏิชีวนะออกหมดเลย แล้วใช้ยาสมุนไพรทั้งหมดแทน ต่อมาเราก็ลดการใช้สมุนไพรลงอีก ตอนนี้ไก่ที่ฟาร์มไม่ใช้ยาใดๆ เลย ยกเว้นกรณีจำเป็นเช่นเจ็บป่วยเล็กน้อย เราก็ให้สมุนไพรรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”

ทำไมต้อง “ปล่อยไก่”

ทีนี้ก็มาถึงคำสำคัญที่จั่วหัวเอาไว้ข้างต้น “ปล่อยไก่” ที่เป็นเหมือนสโลแกนของอุดมชัยฟาร์ม

พี่ทิพย์ อธิบายว่า การเลี้ยงไก่แบบไม่ปล่อย คือจำกัดไก่ให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ เช่นอยู่ในกรง จะทำให้ไก่มีมันมาก ไข่มีคลอเลสเตอรอลสูง ไก่สุขภาพไม่แข็งแรง และมีความเครียด และเมื่อสุดท้ายถึงวาระอายุของไก่ จำต้องปลดระวางและนำเนื้อไปเป็นอาหาร เนื้อไก่ก็จะมัน ไม่แน่น ไม่อร่อย

“สมัยเด็กๆ เราจะเคยได้ยินหรือเคยท่องว่า แม่ไก่พาลูกไก่เดินคุ้ยเขี่ยหาอาหาร นั่นคือธรรมชาติของไก่ เขาจะต้องได้เดิน ได้คุ้ยเขี่ย วิถีอินทรีย์ คือ วิถีที่ไม่ขัดต่อธรรมชาติ หากต้องการให้ไก่แข็งแรง ให้ไข่คุณภาพดี เราจำเป็นต้องให้ไก่ได้เดิน ได้คุ้ยเขี่ยตามธรรมชาติของมัน รวมถึงให้ไก่ได้มีโอกาสเกาะคอน ในโรงเรือนไก่เราจะทำคอนให้เขา เขาจะได้มีโอกาสเกาะคอนหลับตามธรรมชาติจริงๆ ตั้งแต่หัวยันท้ายโรงเรือน ไก่เราจะเดินได้หมด ไม่มีการขังกรง แล้วสามารถเลือกนอนได้ตามใจ จะเกาะคอน จะนอนบนพื้น ได้หมดและในโรงเรือนของเรามีพื้นที่กว้าง ไม่แออัด เพราะเราเลี้ยงเพียง 5,000 ตัว แต่ในขณะที่ฟาร์มอื่นๆ เขาจะเลี้ยงกันประมาณ 50,000 ตัว ซึ่งแม้ว่าเลี้ยงน้อยๆ อาจจะเป็นการทิ้งกำไรและทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ถ้าเทียบกับสุขภาพของไก่ที่จะแข็งแรงและให้ไข่ที่ดีกับเรา ก็ถือว่าคุ้มค่า”
ไข่จากฟาร์ม
“ล่าสุด เรามีโครงการนำร่องซึ่งเริ่มทำแล้ว คือ ปศุสัตว์ได้มาตรวจดูแล้วว่า ไก่ของเราปลอดโรคและสุขภาพดี เราจึงนำไก่ออกมาเดินเล่นข้างนอก เดินเล่นบนหญ้า ให้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ ได้วิ่งเล่นในที่กว้างๆ ด้วย และเมื่อไก่เราได้เดิน ได้วิ่ง เมื่อครบวาระต้องปลดระวางนำไปทำเป็นเนื้อสัตว์เพื่อบริโภค ก็จำเป็นต้องทำ เพราะมันเป็นต้นทุนของเรา ก็จะส่งไปให้ทางผู้ซื้อเพื่อนำไปทำเนื้อไก่ ทางผู้ซื้อก็จะบอกกลับมาว่าเนื้อไก่เราแน่น กินอร่อย ไม่มีมันมาก” พี่ทิพย์บอกถึงแนวคิดใหม่

สำหรับอีกจุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้สุขภาพไก่ และหลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นก็คือ คนงานทุกคนในฟาร์มที่ต้องดูแลให้มีสุขภาพดี แข็งแรง อยู่ในที่พักที่สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อที่จะไม่นำเชื้อหรือความสกปรกเข้าไปในโรงเรือน
พ.ต.ต.(หญิง) สุธาทิพย์ แสงวัฒนกุล
ฝากผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย

ตำรวจสาวนอกราชการผู้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น กล่าวฝากไปยังผู้บริโภค ที่สนใจรักษาสุขภาพว่า ไข่เกษตรอินทรีย์เป็นไข่ที่ปลอดสารเคมี ที่ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วจะเข้าไปสะสมในร่างกายเหมือนไข่ทั่วไป จึงอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ส่วนผู้ที่ลังเลเนื่องจากราคาที่เห็นว่าสูงกว่าไข่ในท้องตลาดอื่นๆ ก็อยากจะชี้แจงให้เข้าใจ
ไข่จากฟาร์ม
“อยากวอนผู้บริโภคให้เห็นใจเกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่เฉพาะเราแต่รวมถึงผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆ ด้วย ว่าไข่ของผู้ผลิตรายย่อยอาจจะราคาสูงกว่าไข่ตามท้องตลาด โดยเฉพาะไข่อินทรีย์ที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่า อาจจะตกใบละ 4-6 บาท และหากเป็นไข่แฝดอาจจะราคา 8 บาทต่อฟอง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าแพง มันขึ้นอยู่กับว่าเราเทียบกับอะไร มันอาจจะแพงกว่าไข่ทั่วไปที่ฟองละ 3 บาท แต่มันถูกกว่าไข่ออร์แกนิกที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ฟองละ 40 บาท แน่นอน”

“อยากให้มองว่า ที่คุณจ่ายแพงกับไข่อินทรีย์ คุณไม่ได้ซื้อไข่อย่างเดียว แต่คุณซื้อสุขภาพที่ดี ที่ไม่ต้องเผชิญกับสารพิษ ที่สะอาดและเป็นวิถีธรรมชาติ นอกจากนี้ คุณยังได้ซื้อแรงงานของผู้ผลิตรายย่อย คุณจ่ายเป็นค่าแรงงานของคนงาน ที่เขาประกอบอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ของประเทศไทย อยากจะฝากว่าทุกวันนี้เกษตรกรรายย่อยตายกันเกือบหมดแล้ว พวกเขาอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่เลิกกิจการก็ถูกดูดเข้าไปในกิจการยักษ์ใหญ่ที่มีครบวงจร เขาขายถูกได้ เพราะเขามีงานหลายอย่าง ทั้งอาหารสัตว์ ทั้งไข่ ทั้งเนื้อสัตว์ หากเขาขาดทุนตรงนั้น เขาก็เอาตรงนี้มาได้ ทำให้เขาตรึงราคาไข่ของเขาให้ถูกกว่าของผู้ผลิตรายย่อย แต่อยากขอร้องให้ช่วยดูแลอาชีพเกษตรกรไทยด้วย” พี่ทิพย์ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น