xs
xsm
sm
md
lg

“รอยเตอร์”วิเคราะห์รัฐบาล“อภิสิทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/รอยเตอร์/เอเอฟพี – “สื่อนอก” ตามติดรายงานข่าวสภาผู้แทนราษฎรของไทยเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยที่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า เขาจะต้องเผชิญปัญหาหนักในทันที และรอยเตอร์ถึงขั้น “ปล่อยไก่” ว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ได้แค่สองสามสัปดาห์ ก่อนจะแก้ไขข่าวในเวลาต่อมา

ภายหลังเสียงข้างมากในสภาลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว สื่อมวลชนต่างประเทศได้สอบถามความคิดเห็นของนักวิเคราะห์กันมากราย อาทิ เอเอฟพีรายงานจากจาการ์ตาอ้างคำกล่าวของ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ที่กล่าวว่า การที่ไทยยังสามารถกลับมาหาทางออกโดยรัฐสภา เป็นสัญญาณแสดงว่าประชาธิปไตยของไทยยังแข็งแรง

สำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้ออกรายงาน “บทวิเคราะห์ทันควัน” (snap analysis) โดยเขียนในลักษณะของคำถามคำตอบ

ผู้สังเกตการณ์หลายรายชี้อยู่เป็นระยะว่า รอยเตอร์มีจุดยืนในการเสนอข่าวการเมืองในประเทศไทยด้วยอคติแบบถือประชาธิปไตยแบบตะวันตกคือความถูกต้องสัมบูรณ์ และรายงานบทวิเคราะห์นี้ก็อยู่ในลักษณะดังกล่าว แถมอาจจะด้วยความรีบร้อน เลยมีการ “ปล่อยไก่” เกิดความผิดพลาดในข้อเท็จจริงสำคัญ

กล่าวคือในคำถามแรกของบทวิเคราะห์ทันควันนี้ ถามไว้ว่า “รัฐบาลนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน” แล้วรอยเตอร์ก็ตอบว่า “จากการที่มีเสียงข้างมากอยู่เพียง 16 เสียงในสภา รัฐบาลผสมหลายพรรคของนายอภิสิทธิ์อาจจะอยู่ได้เพียงสองสามสัปดาห์เท่านั้น การเลือกตั้งซ่อมที่กำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม เพื่อหา ส.ส. 29 ที่นั่งในเขตซึ่งบรรดาพรรคนิยมทักษิณครอบครองอยู่เดิม ถ้าหากปรากฏว่าทั้งหมดออกมาโดยเป็นฝ่ายค้านนายอภิสิทธิ์ เขาก็จะต้องหลุดจากอำนาจไป”

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา รอยเตอร์ก็ได้ส่งรายงานข่าวนี้ใหม่ โดยหัวข้อข่าวระบุว่าเป็นการ “แก้ไข” รายงานเดิม พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า “แก้ไขย่อหน้าที่ 3 เพื่อให้เป็นที่ชัดเจนในเรื่องขนาดของเสียงข้างมาก”

รายงานแก้ไขแล้วของรอยเตอร์บอกว่า “นายอภิสิทธิ์มี ส.ส. 235 คนหนุนหลัง โดยได้รับความสนับสนุนจากพรรคเล็กๆ หลายพรรค และมุ้งที่แตกออกมาจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายนิยมทักษิณ เขาต้องประจันหน้ากับรัฐบาลชุดเดิมที่มีส.ส.สนับสนุน 198 คน จึงอาจจะถูกตีกระหน่ำในวันที่ 11 มกราคม เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมแทนที่ ส.ส. 29 คนที่ถูกถอดจากคำตัดสินของศาลในเดือนนี้”

ในรายงานเวอร์ชั่นแก้ไขแล้วรวมทั้งมีการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยนั้น รอยเตอร์ยังได้อ้างคำพูดของนายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ที่กล่าวว่า รัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์นั้นได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพ, ระบบราชการ, และแวดวงธุรกิจในกรุงเทพฯ และน่าที่จะทำได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการหนุนหลังเหล่านี้

แต่นายศุภวุฒิก็บอกด้วยว่า นายอภิสิทธิ์นั้นแทบจะไม่ค่อยมีที่ทางจะขยับตัวทำอะไรได้มากนัก เนื่องจากหากมี ส.ส.แปรพักตร์สักยี่สิบกว่าคน ก็เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลนี้ล้มคว่ำ “เราเห็นด้วยกับบรรดาผู้รู้ส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี” นายศุกวุฒิระบุ

คำถามต่อมาของบทวิเคราะห์ทันควันของรอยเตอร์ ถามถึงเรื่องเศรษฐกิจ และรอยเตอร์ให้คำตอบว่า นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าจะถือเรื่องการฟื้นฟูการส่งออกและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นภาระหน้าที่สำคัญลำดับต้นๆ ของเขา แต่เมื่อวานนี้เขาก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่ามีแผนการทำอะไรบ้าง เขาเคยพูดไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาจะลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่าย เพื่อชดเชยความเสียหายจากการส่งออกที่ชะลอตัว ตลอดจนความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติถอยหนีไป

รอยเตอร์ยังอ้างคำพูดของ นิก บิบบี แห่ง บาร์เคลย์ส แคปิตอล ในสิงคโปร์ที่กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่นานกว่าระยะกลางแล้ว ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะยังสามารถรวมตัวกันได้หรือไม่ เนื่องจากต้องพึ่งพาพวกพรรคเล็กๆ อื่นๆ ขณะที่ทางฉากหลังก็เป็นเศรษฐกิจที่กำลังเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ”

“พวกเขาต้องเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังบางประการ แต่ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาสามารถเอามาตรการเหล่านี้ออกมาใช้ได้ทันการณ์หรือเปล่า”

คำถามสุดท้ายของบทวิเคราะห์ทันควันของรอยเตอร์ ถามถึงเรื่องการเมือง ซึ่งรอยเตอร์ตอบว่า การประท้วงอย่างโกรธแค้นของพวก “เสื้อแดง”ที่สนับสนุนทักษิณ ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวานนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการเมืองที่ดำเนินมา 3 ปีของไทยจะยังไม่ผ่อนคลายลง

รอยเตอร์อ้างนักวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงหลายรายกล่าวว่า ทิศทางอนาคตของเสถียรภาพทางการเมืองของไทยยังคงมืดมัว เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยังไม่ได้ทำให้การต่อสู้ชิงอำนาจขี้นพื้นฐานในประเทศไทยยุติลง

บทวิเคราะห์ทันควันนี้ อ้างคำพูดของ จาค็อบ แฮมสตรา นักวิเคราะห์แห่ง อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ที่กล่าวว่า “การยุติวิกฤตทางการเมืองในไทย จะต้องมีทางออกให้แก่การต่อสู้ชิงอำนาจกันระหว่างพวกชนชั้นนำข้าราชการผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพวกชนชั้นกลางในเมืองที่อยู่ทางข้างหนึ่ง กับพวกผู้สนับสนุนทักษิณที่อยู่ทางอีกข้างหนึ่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น