xs
xsm
sm
md
lg

ขายหนังแบบ "ตามน้ำ" กับนร.ไทยคนแรกในเวทีคานส์(ของจริง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนนี้ อุ้ม พรพัชญา คิดว่าได้รางวัล
ฮือฮาไม่น้อยทีเดียวสำหรับข่าวคราวเกี่ยวกับผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ของไทยวัย 24 "อุ้ม พรพัชญา สุพรรณรัตน์" หลังปรากฏเป็นข่าวว่าเธอเป็นนักเรียน(หญิง)ไทยคนแรกที่คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้มาครอง

ก่อนที่รายการทีวีจะนำตัวเธอไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ชื่นชมต่างๆ นานา ส่งผลให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังเป็นที่รู้จักขึ้นมาทันที

ทว่าเพียงชั่วข้ามคืนเรื่องจริงก็ได้ปรากฏออกมาว่าเธอหาได้รางวัลที่ว่ามาแต่อย่างใด จนกลายเป็นที่โจษจัน สงสัย และเป็นเหตุให้เจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงกับสังคมอีกครั้งก่อนจะยอมรับว่าเธอไม่ได้รางวัลอะไรมาเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเธอเองมิได้มีเจตนาที่จะโกหกแต่อย่างใดหากเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดของตัวเธอเองเกี่ยวกับ "ภาษา" ที่สื่อสารออกไป

อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงเจตนาที่แท้จริงต่อเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จะว่าไปแล้วในประเด็นการใช้ความ "คลุมเครือ" จากความ "มีระดับ" ในการ "ตีขลุม" เพื่อโปรโมตสร้างมูลค่าทางการตลาดทั้งในส่วนของตัวบุคคล หรือเนื้องานของวงการหนังไทยในลักษณะนี้ต้องถือว่ามีมานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับรางวัลหรือเทศกาลหนังชื่อดังเวทีต่างๆ

ดึงเอาฝรั่งที่เป็นตัวประกอบแทบจะไม่มีชื่อเสียงอะไรมาแสดง ก็ออกข่าวใหญ่โตว่าเรื่องนี้ดึงเอานักแสดงระดับฮอลลีวูดมาแสดง, เอาตากล้องระดับโลกมาถ่าย หรือดาราไทยเองได้ไปร่วมงานกับหนังเกรดดีเกรดซีก็บอกได้โกอินเตอร์ ฯ

"อย่างหนังบางเรื่องได้ไปฉายเทศกาลดังๆ ก็จริง แต่คือจ่ายเงินน่ะ เสียเงินไปเปิดบูธ พอกลับมาบ้านเราก็โฆษณาสร้างมูลค่าว่า เป็นหนังที่เคยไปฉายเทศกาลหนังอันนั้นมานะ โห แล้วฝรั่งดูแล้วชอบ ชมใหญ่เลย แบบนี้ก็มีเยอะ" แหล่งข่าวในวงการภาพยนตร์คนหนึ่งแสดงความคิดเห็น

"คือถ้าไปในลักษณะนี้มันง่าย มันไม่ต้องยุ่งยากต้องผ่านขั้นตอนอะไร แล้วก็จะเป็นเรื่องของค่ายหนังใหญ่ๆ ที่มีเงินแล้วก็รู้วิธีที่จะไป ก็ทำได้ เพราะแต่ละเทศกาลเขาก็เปิดโอกาสให้ค่ายหนังแต่ละประเทศได้เอาหนังไปฉาย ไปโชว์ ไปขายอยู่แล้ว"

"อันนี้เราพูดกันถึงการได้เข้าไปร่วมงานนะ ไม่ได้หมายความว่าหนังที่ไปในลักษณะนี้มันจะดีหรือว่าไม่ดีอย่างไร หนังบางเรื่องที่ถูกคัดเลือกให้ไปฉาย บางเรื่องก็อาจจะไม่ดีก็ได้ เพียงแต่มันอาจจะไปถูกกับรสนิยมของคณะกรรมการที่เขามีมุมมอง มีกฏเกณ์ฑ์ในการเลือก ก็ได้เข้าไปฉาย"

แหล่งข่าวคนเดิมยังบอกต่อไปด้วยว่าปัจจุบันการนำเอาหนังไปฉายตามเทศกาลต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องยากมากนักด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการสื่อสาร รวมถึงเอเยนต์ตัวกลาง

"เท่าที่รู้มามันจะมีเอเยนต์คอยทำหน้าที่นี้นะ คือถ้าเรามีหนังแล้วเขาเห็นว่าหนังเราดี เอเยนต์ก็จะเป็นตัวกลางรับเอาหนังของเราไปฉายให้ตามเทศกาลต่างๆ จะที่ไหน หมวดไหน โซนไหน อันนี้ก็ว่ากันไป แล้วก็จะมีการแจ้งกลับมาจากพวกเอเยนต์ว่าเออ เทศกาลนี้เป็นอย่างนี้นะ เทศกาลนั้นเขาชมว่าแบบนี้นะ เออ อันนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสายประกวดนะ"

"หรืออย่างที่มูลนิธิหนังไทยทำมาประจำแล้วก็จะมีในเดือนสองเดือนนี้ ก็คือจัดประกวดหนังสั้น แล้วก็เลือกกันว่าหนังเรื่องไหนเทศกาลหนังที่เขาจะไปเปิดบูธแล้วชอบ ก็คัดเลือกกันไป"

สำหรับในส่วนของชิ้นงานนั้น "โสฬส สุขุม" โปรดิวเซอร์ที่ทำงานในแวดวงหนังสั้น-หนังนอกกระแสในเมืองไทยมานาน อาทิ "วันเดอร์ฟูล ทาวน์" (Wonderful Town)ของผู้กำกับ "อาทิตย์ อัสสรัตน์" ที่ไปกวาดรางวัลมามากมายจากหลายๆ เทศกาลหนังชื่อดังมองว่า ยังมีเด็กไทยหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำหนังเพื่อให้ได้ไปฉายตามเทศกาลต่างๆ ว่า...

"ด้วยความที่ปัจจุบันอุปกรณ์ในการถ่ายมันเยอะขึ้น มันสามารถหาได้ง่ายขึ้น กล้องวิดีโอตัวนึง ก็สามารถถ่ายงานที่มันทำให้คุณภาพที่มันดีขึ้น ซึ่งหลายคนก็จะเน้นไปที่เรื่องนี้เลย คือเน้นทางโปรดักชั่น เน้นให้มีคุณภาพดี ไม่ใช่ของดี ทั้งๆ ที่เขาจะดูที่เรื่อง ดูที่ประเด็น"

"บางคนถ้าทำหนังเกี่ยวกับเมืองไทย ก็จะวนเวียนเกี่ยวกับช้าง การท่องเที่ยว จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเขาจะดูแค่รู้สึกว่ามีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งมานำเสนอ แล้วมันเล่าเรื่องได้น่าสนใจหรือไม่ เขาไม่ได้อยากเห็นช้าง คนยืนไหว้ บางทีเขาอยากจะเห็นฮิปฮอพไทยเสียด้วยซ้ำ"

โปรดิวเซอร์ชื่อดังยังบอกด้วยว่า ในส่วนของเทศกาลหนังที่เมืองคานส์นั้นการที่หนังสักเรื่องหนึ่งจะได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายต้องถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในปีนี้

"ถ้าเป็นแบบออกบูธนั้น เท่าที่ทราบนะครับ น่าจะไปได้เลย แต่ถ้าเป็นหนังที่คัดเลือกกันจริงๆ ก็ยากหน่อย แล้วอย่างคานส์นั้นเขาอยากได้หนังที่ฉายที่เทศกาลเขาเป็นที่แรก แล้วปีนี้ต้องถือว่าคนที่ไปหินจริงๆ อย่างหนังของพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง-นางไม้) คือถ้าสื่อเข้าไปดู ส่วนใหญ่เป็นผู้กำกับโคตรดังเพราะเขาเลือกจากรายชื่อทุกๆ คนทุกๆ สาย เจ๋งมาก"
...
สาวไทยคนแรกใน "คานส์" (ตัวจริง)
ทั้งนี้นอกจากกรณีเรื่องราวโอละพ่อในส่วนของรางวัลแล้ว ข่าวที่ออกมาในชิ้นเดียวกันยังมีความผิดพลาดในเรื่องของข้อมูลที่ระบุว่าผลงานของสาวอุ้มคือผลงานของนักเรียนไทยคนแรกที่ได้สร้างชื่อเสียงในเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่นี้


เพราะก่อนหน้านี้ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 59 เคยมีหนังสั้นของนักเรียนไทยเคยมาร่วมงานนี้ก่อนแล้ว

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็คือ Graceland โดย "ใหม่ อโนชา สุวิชากรพงษ์" ซึ่งถือได้ว่าเป็น "หนังสั้นไทยเรื่องแรก" ที่ได้รับการ "คัดเลือก" เข้าประกวดในโครงการ The Cinefoundation** ของเทศกาลหนังเมืองคานส์

หนังมีความยาว 17 นาที ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของนักแสดงบาร์ (อ้น สราวุฒิ) กับหญิงสาววัยกลางคนในค่ำคืนวันหนึ่งซึ่งหญิงสาวได้หายตัวไประหว่างที่ทั้งสองขับรถมาจอดยังทุ่งนาเปลี่ยว

ฝ่ายชายได้ออกตามหากระทั่งพบฝ่ายหญิงอยู่ริมน้ำ เขาช่วยเธอขึ้นมา และทั้งคู่ก็พบว่าต่างคนต่างก็มีบาดแผลและใจกันไปคนละอย่าง ซึ่งไม่ใช่เพียงที่คานส์เท่านั้น ในเวทีเทศกาลหนังใหญ่ๆ อย่าง ซันแดนซ์ ร็อตเตอร์ดัม ฮ่องกง ปูซาน ซิดนีย์ ฟุกุโอะกะ ฯลฯ หนังเรื่องนี้ก็ได้ไปฉายชิงรางวัลในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยมาแล้ว

เรื่องน่าเศร้าก็คือในขณะที่ทีวี(ช่องหนึ่ง)โหมกระพือชื่นชมในเรื่องราวที่ไม่จริงอย่างออกหน้าออกตา(รวมถึงไม่มีคำขอโทษออกมาสักคำเดียวในข้อมูลที่เป็นเท็จ และสร้างความเข้าใจผิด จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าหรือนี่จะเป็นใบสั่งจากผู้ใหญ่คนหนึ่งของทีวีช่องดังกล่าวที่มีความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรกับสาวอุ้ม) ทว่าในอดีตที่ผ่านมา ตัวจริง เสียงจริง อย่างอโนชา กลับไม่มีทีวีหรือสื่อหลักให้ความสนใจรายงานเรื่องราวความสำเร็จของเธอเลย

จะรับรู้กันอยู่ก็เฉพาะในแวดวงของคนทำหนังสั้น หนังนอกกระแส และสื่อฯ บางส่วน

"ตอนที่ทำ Graceland เหนื่อยมากค่ะ เพราะมันเป็นโปรดักชันที่ใหญ่ แล้วสเกลมันก็ใหญ่ ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. มีปัญหาเยอะตอนถ่าย ขลุกขลักตลอด ยิ่งถ่ายหน้าฝนก็ยิ่งเหนื่อย แต่พอผลลัพธ์ออกมา คนชอบก็รู้สึกดี มีความสุข หายเหนื่อยค่ะ” อโนชากล่าวย้อนกับไปถึงความรู้สึกเมื่อครั้งทำ Graceland ผ่านหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยอัคร เกียรติอาจิณ ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา

สำหรับอโนชานั้นเธอศึกษาภาพยนตร์มาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนอกจาก Graceland แล้ว ผลงานเรื่องถัดมาของเธออย่าง “ใจ” ก็ยังไปคว้ารางวัลยอดเยี่ยมสาขาหนังสั้น จากเทศกาลหนัง Oberhousen ประเทศเยอรมนีมาด้วย

ส่วนผลงานเรื่องอื่นๆ ของเธอ ก็อาทิ “Lunch” (มื้อเที่ยง), Not A New York Story (4 นาที), Full Moon (15 นาที), Ghost (35 นาที) และล่าสุดก็คือภาพยนตร์เรื่องยาว เจ้านกกระจอก ที่ได้ทุนหลักมาจากเทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัม ซึ่งคาดว่าจะออกมาให้ยลโฉมกันในเร็วๆ นี้

โดยบทสัมภาษณ์ในโพสต์ทูเดย์นั้นยังได้ลงคำพูดที่น่าสนใจของอโนชาไว้ด้วยว่า...
“การส่งหนังไปประกวดตามเทศกาลหนังถือเป็นวิธีทำการตลาดอย่างหนึ่งของคนทำหนังสั้นนะ อย่างหนังสตูดิโอที่ถูกวางโปรแกรมชัดเจนเขาไม่จำเป็นส่งไปประกวดก็ได้ แต่เราไม่ได้อยู่เฉยๆ คนจะรู้จักหนังเราไหม เริ่มต้นคงต้องทำเอง พอเทศกาลรู้จักและถ้าเขาอยากเห็นพัฒนา การของเราก็จะติดต่อเข้ามาเอง โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยเหมือนช่วงแรกๆ”

“อย่างการไปคานส์ เราได้เรียนรู้ว่าผลงานเรื่องอื่นๆ ของคนที่ได้ไปฉาย ไม่ได้เป็นหนังโปรดักชันอลังการเลย แต่สิ่งสำคัญคือประเด็นมากกว่า รวมถึงวิธีคิด รูปแบบ และการนำเสนอ คิดว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งล่ะ ถ้าหนังดีจริง จะต้องมีคนเห็นและความสำเร็จนั้นจะเข้ามาหาเอง ขอแค่เต็มที่กับงาน ซื่อสัตย์กับงาน พอแล้วอย่าคาดหวังอะไรมาก”

หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นบทตอกย้ำที่ว่า อะไรที่เป็นเรื่องจริง คนจริง สังคมมักจะไม่เชื่อถือหรือให้ค่าความสนใจเท่ากับเรื่องที่มันเป็นกระแสหวือหวา ทั้งที่เราต่างก็รู้กันดีว่า เรื่องเหล่านี้ ลักษณะนี้ มักจะตั้งอยู่บนการหลอกลวงและ(ข่าว)โฆษณาก็ตามที?
...
** The Cinefoundation เป็นโครงการที่เปิดให้หนังนักเรียนทั่วโลกส่งงานเข้าประกวด โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 1998 มีคณะกรรมการ 5 ท่าน ตัดสินหนัง 3 เรื่องที่ดีที่สุด สำหรับกรรมการในปีของอโนชานั้นได้แก่ Andre? KONCHALOVSKY ( ผู้กำกับรัสเซีย) Sandrine BONNAIRE (ดาราหญิงฝรั่งเศส) Daniel BR?HL (ดาราชายเยอรมัน) Souleymane CISSE (ผู้กำกับมาลี) Zbigniew PREISNER (นักแต่งเพลงชาวโปแลนด์)

กรณี “อุ้ม คานส์” : สปีลเบิร์กเมืองไทย หรือ “สมพงษ์ 2”

“นร.สาวไทย” ขอโทษ ไม่ตั้งใจแหกตา ยัน เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองได้รางวัล ด้าน “ปรัชญา” โดดป้อง อ้างเจ้าตัวภาษาไทยไม่แตกฉาน
ส่วนคนนี้ ใหม่ อโนชา ได้คัดเลือกจริงๆ
หนุ่ม อ้น ใน Graceland
กำลังโหลดความคิดเห็น