xs
xsm
sm
md
lg

พับกระดาษ...สร้างความหวัง / นพวรรณ สิริเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: นพวรรณ


โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA

เคยพับกระดาษเล่นไหมคะ... พับเป็นรูป นก รูปเรือ เป็นกระทงใส่ของ หรือแม้กระทั่งทำเป็นจรวด บินร่อน เล่นกับเพื่อนในยามเด็ก เชื่อว่าหลายคน คงผ่านช่วงวัยเหล่านั้นกันมาบ้าง...

กระดาษ วัสดุที่คุ้นชินกับคนเรามาเนิ่นนาน... อยู่ในแทบทุกภาคส่วนของชีวิต...ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้ การจดบันทึก หรือแม้กระทั่งเรื่องของพิธีกรรม ผู้คนแถบบ้านเรา มักจะมีกระดาษเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมเผากระดาษ หรือพิธีกรรมตัดกระดาษให้เป็นรูปต่างๆ ตามความเชื่อ

ที่ญี่ปุ่นเองก็มีศิลปะการพับกระดาษที่เลื่องชื่อเช่นกันค่ะ... พวกเขาเรียกมันว่า โอริกามิ คำว่า
โอริ แปลว่า พับ ส่วนคำว่า กามิ แปลว่า กระดาษ เมื่อนำสองคำมารวมกัน โอริกามิ จึงแปลได้ว่า พับกระดาษนั่นเอง

โอริกามิ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเมื่อราวศตวรรษที่ 12 ในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจะพับกระดาษในรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะห่อเป็นของขวัญ เป็นกระดาษสำหรับห่อของเก็บที่บ้าน หรือแม้กระทั่งพับเป็นของที่ระลึกผูกติดไปกับของขวัญ

วิธีการพับกระดาษของญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันถูกนำไปเผยแพร่ยังประเทศซีกโลกตะวันตก มีการตั้งศูนย์พับกระดาษแบบญี่ปุ่นในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อมายังขยายความนิยมไปถึงประเทศอังกฤษมีการก่อตั้ง british origami society ที่นั่นในปี 1969 อีกด้วย

กล่าวกันว่ารูปแบบการพับกระดาษของญี่ปุ่นในช่วงปี 1603 – 1867 นั้นมีสองรูปแบบที่ได้รับความนิยม นั่นก็คือ รูปกบและนก ผู้นำในการพับกระดาษแบบ โอริกามิของญี่ปุ่นได้กล่าวไว้ว่า การพับกระดาษแบบโอริกามินั้น เป็นการพับกระดาษที่สวยงาม มีสีสันที่หลากหลาย ยิ่งโดดเด่น จะยิ่งสวยงาม

ในเวลาต่อมา โอริกามิถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาสมองเด็ก ช่วยเพิ่มทักษะการใช้นิ้วและมือ รวมทั้งการบริหารสมองทั้งสองข้างให้พัฒนาเรื่องการควบคุมการเคลื่อนไหวและรับรู้ภาพ ในต่างประเทศมีการนำศิลปะการพับกระดาษเช่นนี้ไปบำบัดผู้ป่วยโรคความจำสั้น แน่นอนส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ เรียกกันว่า โอริกามิบำบัด เพราะมันจะกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการบำบัดมีความคิดที่เป็นระบบและช่วยฝึกความจำอีกถ่ายหนึ่งด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีความหวังว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดจากโรคร้าย ด้วยการพับกระดาษเป็นรูปนกกระเรียน ทำให้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันมากระทั่งปัจจุบัน ซาดาโกะ ซาซากิ

เธอเกิดและอาศัยอยู่ใกล้ๆ กับสะพานมิซาสะในเมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ครั้งที่ระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา เธอมีอายุเพียงสองขวบ แน่นอนซาดาโกะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต แต่...ไม่อาจรอดพ้นจากพิษร้ายของนิวเคลียร์ที่เข้าไปทำลายระบบการทำงานของร่างกาย

ซาดาโกะเติบโตขึ้น คล้ายจะเป็นคนแข็งแรง เธอเป็นนักวิ่งของโรงเรียน แต่แล้ววันหนึ่ง... ขณะที่ซ้อมวิ่ง เธอก็ล้มลงและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลและพบว่า เธอเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวซึ่งมันคือผลสืบเนื่องจากปรมาณูลูกนั้นนั่นเอง

เธอยังมีความหวังค่ะ...หวังว่าเธอจะหายจากมะเร็งและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่นเด็กสาวทั่วไป เธอเริ่มต้นความหวังของตัวเองด้วยการพับนกกระเรียนตามความเชื่อ ว่า หากเธอพับได้ถึง หนึ่งพันตัวคำอธิษฐานของเธอก็จะสัมฤทธิ์ผล แต่.....เธอก็ทำมันไม่สำเร็จ เธอพับมันได้เพียง 644 ตัว ในวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1953 เธอสิ้มลมหายใจ ด้วยอายุเพียง 12 ปี

14 เดือนที่เธออยู่กับความหวังและแรงอธิษฐาน ...ขอให้ฉันหายป่วย...แต่มันก็ไม่อาจเป็นจริง ....

หลังการจากไปของซาดาโกะ เพื่อนๆร่วมชั้นเรียนของเธอ ต่างช่วยกันพับนกกระเรียนกระดาษให้ครบ หนึ่งพันตัวและนำไปฝังพร้อมกับร่างของซาดาโกะ...เรื่องของเด็กหญิงนกกระเรียนผู้นึ้จึงกลายเป็นตำนานไปทั่วโลก

ในปี 1954 อนุสาวรีย์ซาดาโกะก็สร้างสำเร็จและถูกนำไปตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ที่สวนสันติภาพ
ฮิโรชิมา ด้วยท่วงท่าเหยียดชูนกกระเรียนขึ้นท้องฟ้า คล้ายเป็นเครื่องเตือนใจต่อผู้คนทั้งโลกให้ตระหนักถึงพิษภัยของสงคราม ที่มันไม่ได้อยู่เพียงชั่วขณะ แต่มันเหมือนแผลร้ายที่กัดกินใจผู้คนที่ยังอยู่และอาศัยร่วมกันในสังคมมาอีกเนิ่นนาน...สงครามไม่มีวันสิ้นสุด ...ตราบใดที่มนุษย์ยังเห็นแก่ตัว....

ทุกปีในเดือนสิงหาคม ผู้คนจากทุกสารทิศต่างพากันเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ของซาดาโกะและนำนกกระเรียนกระดาษมาวางไว้ที่หน้ารูปปั้นของเธอ เพื่อเป็นการระลึกถึงและต่างก็ภาวนาให้โลกนี้มีสันติภาพ...แม้ถ้อยคำที่จารึกไว้ที่อนุสาวรีย์ของเธอจะก่อความสะเทือนใจให้แก่ผู้คนที่ได้อ่าน แต่ก็นั่น...มันไม่อาจสะเทือนไปถึงใครบางคน ที่มีใจอำมหิตไปได้....

“...นี่คือ คำร้องขอของเรา นี่คือ คำภาวนาของเรา สันติภาพจนบังเกิดขึ้นบนโลก...”

สามารถรับฟังย้อนหลัง รายการ คาเฟ่หลากมิติ โดย นพวรรณ สิริเวชกุล ได้ทาง
www.managerradio.com   
         

กำลังโหลดความคิดเห็น