xs
xsm
sm
md
lg

สนุกกับ “โอริงามิ” ศิลปะโบราณ สู่วิทยาการไฮเทค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ กำลังสอนน้องๆพับกระดาษ
“ถ้าเด็กๆ มีกระดาษขนาด A4 หนึ่งใบ คิดว่าจะพับซ้ำๆได้มากที่สุดกี่ทบ แล้วหากเปลี่ยนเป็นกระดาษชำระยาว 3 เมตร จะพับได้มากที่สุดกี่ทบ?”

คำถามชวนคิด ที่ใครจะเชื่อว่าการทดลองพับกระดาษทบไปทบมา จะนำไปสู่การค้นพบสมการทางคณิตศาสตร์อันโด่งดังของนางสาวบริตนีย์ แกลลิแวน นักเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยให้เธอสามารถทำลายสถิติการพับกระดาษได้สูงสุดถึง 12 ครั้ง จากปกติที่คนส่วนใหญ่พับได้มากที่สุดแค่เพียง 8 ครั้งเท่านั้น และไม่แน่ว่าในไม่ช้า เด็กไทยอาจจะเป็นผู้คิดค้นสมการทางคณิตศาสตร์อันเลื่องชื่อจากการพับกระดาษนี้บ้างก็ได้

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำกิจกรรม “การพับกระดาษแสนสนุก” มาเป็นเครื่องมือในการสอนคณิตศาสตร์แก่เด็กๆ ภายในค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มพลังจินตนาการในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆให้กับเยาวชนอีกด้วย

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) วิทยากรผู้สอนการพับกระดาษ กล่าวว่า คนไทยอาจคิดว่าการพับกระดาษ หรือ โอริงามิ คือ การพับนก พับดาว ซึ่งเป็นศิลปะประดิษฐ์ยามว่างเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการพับกระดาษมีความก้าวหน้าไปมาก ในหลายประเทศเริ่มมีการนำศาสตร์การพับกระดาษมาใช้สอนคณิตศาสตร์ ทั้งในเรื่องของสมมาตร มุม เศษส่วน และเรขาคณิตวิเคราะห์ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเรื่องการสื่อสารกับเด็กได้เป็นอย่างดีแล้ว ในขณะเดียวกันการพับกระดาษยังเป็นอาชีพที่นำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆได้อีกด้วย

โดยในทางการแพทย์ ได้มีการขอให้นักพับกระดาษช่วยคิดค้นกลไกการหุบขยายของเครื่องมือที่เรียกว่า สเต็นต์ (stent) สำหรับทำบอลลูนหัวใจ ซึ่งก่อนการใช้งาน สเต็นต์จะถูกหุบเก็บให้มีขนาดเล็กเพื่อให้แพทย์สามารถสอดอุปกรณ์นี้เข้าไปในบริเวณที่ต้องการรักษาได้ง่าย และเมื่อเข้าไปถึงบริเวณหลอดเลือด เสต็นต์จะกางออกเพื่อช่วยขยายหลอดเลือดให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

ในด้านวิศวกรรม มีการใช้วิธีการพับกระดาษเพื่อออกแบบการทำงานของถุงลมนิรภัย หรือแม้แต่ในเทคโนโลยีอวกาศ โครงการดาวเทียมชื่อ สเปซฟรีฟลายเออร์ยูนิต (Space Free-flyer Unit, SPF) ของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการนำการพับกระดาษไปใช้ออกแบบการหุบกางของแผงโซลาร์เซลล์บนดาวเทียม

ล่าสุดมีการนำเทคนิคการพับกระดาษไปใช้เปรียบเทียบกับการเดินทางของแสง นำมาซึ่งการประดิษฐ์เลนส์โอริงามิ (origami lens) ที่มีขนาดบาง แต่มีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ากับเลนส์กล้องขนาดใหญ่ได้สำเร็จอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมการพับกระดาษแสนสนุกในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้เด็กๆได้ทดลองพับกระดาษตามความสนใจซึ่งมีตั้งแต่ระดับที่ง่ายไปจนถึงระดับที่ยากมีความซับซ้อนมาก ซึ่งเด็กจะต้องแกะขั้นตอนการพับ สังเกตมุม ความสมมาตร รูปทรงของการพับกระดาษด้วยตนเอง

“น้องทราย” หรือ ด.ญ. สวรส เตชวิวรรธน์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอนุบาลสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ชอบกิจกรรมพับกระดาษมาก โดยผลงานที่พับคือ เรือใบ พับเสร็จก็รู้สึกภูมิใจมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่ากระดาษแผ่นเดียวจะพับได้เหมือนเรือใบจริงๆ ขนาดนี้ ทำให้เห็นว่าคนที่คิดวิธีพับกระดาษให้เป็นรูปแบบต่างๆได้ ต้องมีจินตนาการและความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่สูงมาก

“ขณะที่เรากำลังพับกระดาษก็ได้เรียนรู้หลายอย่างทั้งในเรื่องของคณิตศาสตร์ เช่น รูปแบบสมมาตร การวัดมุม และรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ อีกทั้งการพับ จะต้องพับไปตามแบบทีละขั้นตอน ทำให้มีสมาธิ รู้จักคิดรอบครอบในการทำงาน ขณะเดียวกันหากพับผิด ก็ต้องใช้ความอดทนค่อยๆ แก้แก้ปัญหาไปตามลำดับขั้น ที่สำคัญ เมื่อได้ฟังการบรรยายจากวิทยากรก็ทำให้รู้สึกทึ่งมาก ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าการพับกระดาษจะกลายเป็นอาชีพได้ และยังเป็นต้นแบบที่นำไปสู่การประดิษฐ์นวัตกรรมต่างๆ มากมาย ทำให้เห็นว่ากระดาษแผ่นเดียวแต่ยิ่งใหญ่มาก ”

“น้องวิน” หรือ ด.ช.ธนเศรษฐ์ ไกรกุลเศรษฐ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า กิจกรรมพับกระดาษทำให้มีสมาธิ และต้องใจเย็นมาก เพราะถ้าพับเร็วๆ หรือกรีดกระดาษไม่เรียบ แบบที่ได้ออกมาก็จะไม่สวย แถมยังอาจจะทำให้กระดาษขาดอีกด้วย การพับกระดาษให้ออกมาเหมือนจริงต้องมีการวัดมุมให้ได้องศาที่พอดี หากมากไปหรือน้อยเกินไปจะทำให้กระดาษที่พับเบี้ยว ไม่เท่ากัน ที่สำคัญการพับตามแบบต้องใช้ความช่างสังเกต และเอาใจใส่ในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพราะหากลืมพับขั้นตอนใด ก็ต้องรื้อกลับมาพับใหม่ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำการพับกระดาษนี้ไปใช้ฝึกสมาธิ ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคความจำสั้น หรือใช้ฝึกการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อนิ้วมือด้วย โดยเรียกว่าโอริงามิบำบัด

“สำหรับในครั้งนี้ผมพับเป็นรูปนกเพนกวิน ซึ่งแม้จะมีหลายขั้นตอน แต่เมื่อทำสำเร็จก็ดีใจมาก และอยากลองพับไปเรื่อยๆ เผื่อว่าวันหนึ่งจะสามารถคิดค้นวิธีการพับกระดาษเป็นสัตว์ต่างๆด้วยตนเอง หรืออาจจะนำไปใช้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคตได้อีกด้วย” น้องวิน กล่าวอย่างภาคภูมิใจในผลงาน

......ความมหัศจรรย์ของกระดาษเพียงชิ้นเดียว ที่อาจจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

(เรื่องและภาพประกอบโดย สำนักพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สวทช.)

ดร.บัญชากับเด็กๆร่วมกันพิสูจน์การพับกระดาษว่าได้มากที่สุดกี่ทบ
เด็กๆกำลังตั้งใจพับกระดาษ
น้องทรายกับผลงานเรือใบ
น้องวินกับผลงานนกเพนกวิน
น้องเจมกับผลงานมังกร
ผลงานการพับกระดาษ
ผลงานการพับกระดาษ
สเต็นต์ (stent)
สเต็นต์ (stent)
โอริงามิเลนส์
กำลังโหลดความคิดเห็น