อุ๊บ วิริยะ พงษ์อาจหาญชิงกระจายข่าว "ชมรมนักปั้นแห่งประเทศไทย" ก่อน โดยที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด จะด้วยผู้น้อยเกรงใจผู้ใหญ่หรืออะไรก็แล้วแต่ วันนี้ทุกคนขานรับ "ชมรมนักปั้น" และนี่คือ เรื่องราว – ประสบการณ์ของกลุ่มนักปั้นกับโฉมหน้าปราบเซียนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบ
...
"โกโก้" นักปั้นคนดัง
"สำหรับโกโก้ ยัง 50 :50 ขอทราบรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร มีใครเป็นสมาชิกบ้าง จุดประสงค์คืออะไร พี่อุ๊บมาพูดบ้างแล้ว แต่โก้คิดว่าคงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีก เห็นพี่อุ๊บบอกว่า ต้องมีการชมรมฯเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแย่งเด็ก แล้วถ้าคนฝ่าฝืนจะมีมาตรการจัดการอย่างไรอันนี้ยังไม่ได้คิด มีเรื่องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนักปั้นด้วย โก้คิดว่ารายละเอียดเรื่องพวกนี้เยอะนะครับ ตอนนี้เลยบอกไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่พี่อุ๊บ เป็นผู้ใหญ่ที่โก้นับถือ และโดยหลักการแล้ว โก้เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ที่บอก 50 : 50 เป็นเรื่องของรายละเอียดมากกว่า" โกโก้ นิรุณ ลิ้มสมวงศ์ อดีตผู้จัดการคนดัง ซึ่งดูแล "มาริโอ้ เมาเร่อ" ก่อนที่นายแบบหนุ่มจะย้ายสังกัดไปอยู่เอ – ศุภชัย ศรีวิจิตรกล่าว
แม้จะสูญเสีย มาริโอ้ เมาเร่อไป แต่โกโก้ นิรุณ ยังมี "ตัวขาย" อื่น เช่น สายป่าน - อภิญญา สกุลเจริญสุข ซึ่งเป็นตัวทำเงินอีกตัวหนึ่งของเขา ที่ผ่านมา นางแบบคนนี้ ผ่านการแสดงภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ ฝัน หวาน อาย จูบ, บุญชู ไอ เลิฟ สระ อู, Friendship, 4 แพร่ง, พลอย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีผลงานโฆษณา เช่น Honda , happy DTAC, ป๊อกกี้ และ Mister Donut เป็นต้น นอกจากนี้ เธอยังเป็นพิธีกร รายการ "สตรอเบอรี่ชีสเค้ก" นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กคนอื่นๆ อีกเช่น น้องเอ้ , น้องจูน, น้องชะเอม, น้องบัว, น้องสตรอบอรีชีสเค้ก เป็นต้น
ในมุมมองของโกโก้ คิดว่า เวทีประกวดอย่างเรียลลิตี้ต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีนักปั้นเป็นคนส่งเด็กถึง 90% เด็กที่ไปสมัครเอง ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
"ข้อดีของการมีนักปั้นเยอะในวงการจะทำให้เกิดการแข่งขัน พัฒนาความสามารถของเด็กในสังกัดของแต่ละคนให้มีคุณภาพสำหรับจะถูกเรียกใช้งานในวงการที่แตกต่างกันไป ตามแขนงต่างๆ ของวงการบันเทิง เช่น อย่างสาขาร้องเพลง เน้นที่เสียง หน้าตาก็ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ต้องดีมากก็ได้ ขณะที่งานโฆษณา งานแสดง เสียงอาจจะเป็นรอง แต่ต้องเน้นที่หน้าตา แต่ถ้าถ่ายแบบก็ต้องเน้นที่หน้าตากับบอดี้ ซึ่งมันเป็นลักษณะพิเศษของงานที่แตกต่างกันไป" โกโก้กล่าว
...
"หยก เอซี" นักปั้น - พิธีกร
"การตั้งชมรมนักปั้น มันยากนะ แต่ถ้าทำได้ก็จะดีมาก อย่างช่วงหนึ่งบรรดาพี่เลี้ยงนางงามพยายามที่จะรวมตัวกันตั้งชมรม สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดความร่วมมือและไม่ให้เกียรติกัน พี่อุ๊บเป็นคนตรง คนแรง เป็นที่เคารพของน้องๆ หยกคบกับพี่อุ๊บมาสิบกว่าปี พี่อุ๊บไม่เคยแย่งเด็กใคร นอกจาก เออ...หยก พี่ขอได้ไหม แบบนี้คือ แบ่งเงินกันไป" หยก เอซีกล่าว
หยก เอซี หรือ ชัยรัตน์ เข็มดี ก่อนที่จะมาเป็น "นักปั้น" เต็มตัว เริ่มต้นจากการถูกส่งลงล่ารางวัลตามเวทีต่างๆ ตั้งแต่ปี 2528 มาก่อน เวทีแรก เป็นเวทีดาวเดือนของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นมาประกวดเวที "ไทยล้านนา" ที่อำเภอ สารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเวทีอื่นๆ อีกมากมาย ต่อมาได้มาเป็นลูกบุญธรรมของปทุมวดี โสภาพรรณ เล่นละครและหนังอยู่บ้าง เช่น รักไม่เป็น, ก็อปปี้ชีวิต และชุมแพ เป็นต้น
หยก เอซี ปั้นตั้งแต่ นายแบบ นางแบบ ดารา นักร้อง ไปจนถึงนางงาม สมัยเรียนอยู่ เคยส่งเพื่อนผ่านไปที่ป้าชุลี ใจยงค์ เพื่อลงประกวดเวทีนางงาม จนต่อมาได้ยึดอาชีพนักปั้นอย่างจริงจัง คนนี้แหละที่ปั้นหมออ้อย จุฑารัตน์ที่ผ่านโมเดลลิ่งมาหลายแห่ง จนสุดท้ายมาประสบความสำเร็จจากฝีมือของหยก เอซี. จนหมออ้อยเป็นที่รู้จักของวงการ, คนอื่นๆ เช่น ตา สุรางคนางค์ สุนทรพนาเวศ, กบ เดชา เสนาวัฒน์, เติ้ล ธนพล นิ่มทัยสุข , รติพงษ์ ภู่มาลี ณ วันนี้กำลังมุ่งมั่นกับการปั้น เอ ภัทรบุตร เขียนนุกูล นักร้องนำวง ไวท์ฮาร์ต , โอ๋ ธารนี ประภากูล เจ้าของอัลบั้ม โอ๋คาสโนวี่ และสราวุฒิ กล่อมเกลี้ยง
เมื่อปทุมวดี โสภาพรรณ ตั้งบริษัท "71 Inter Promotion" เขาเรียกตัวเองว่า "หยก 71" จนเมื่อมีโอกาสชักนำเด็กไปลงคอลัมน์ เด็กหน้าใหม่ ในนิตยสาร ทีวีพูล ต้อย แอ็คเนอร์ บอกว่าชื่อ "หยก" คำเดียวจืดไป ด้วยความที่หยก ชัยรัตน์ เข็มดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ อักษรย่อภาษาอังกฤษคือ BU หยกเลยหยิบมา เป็น "หยก BU" โดยอักษร "U" ตั้งใจให้เอียงอย่างตัว "C" จึงเหมือนกับ “หยก BC" แต่ต้อย กลับเห็นว่า คนเราควรมีฐานเพื่อเริ่มต้น จึงเคาะสรุปตั้งฉายาให้ใหม่ว่า "หยก AC" และชื่อนี้เป็นฉายาที่ใช้มาแต่บัดนั้น
ปัจจุบันหยก เอซี ตั้งบริษัท Mankind ทำรายการโทรทัศน์ชื่อ "กระชากหน้ากากบันเทิง" อยู่ทางช่องMV TV5 ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30น. โดย หยก เอซี เป็นพิธีกรคู่กับ ชาย พงษ์ชยุฒม์
ล่าสุดเพิ่งทำรายการทีวีชื่อ "กลางวันแสกๆ" ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-13.00น. ทางช่อง MIC โดย หยก เอซี รับหน้าที่พิธีกรร่วมกับพิธีกรอีก 4 คนคือ ชาย พงศ์ชยุตม์,โอ๋ ธารนี,เอ ภัทรบุตร และ เซฟ รัชวิช
...
ชายแฮ็คส์" ผู้กำกับ - นักปั้น
"เรื่องนี้อยู่ที่พี่อุ๊บว่าพร้อมจะทุ่มเทจริงๆ กับเรื่องนี้หรือเปล่า มันต้องเริ่มให้คำจำกัดความที่ชัดเจนของคำว่านักปั้น จะมีนักปั้นทั้งหมดกี่คนที่จะมาร่วมก่อตั้ง ไม่ใช่มีแค่ 2-3 คนแล้วจะเป็นชมรมฯ มันต้องดำเนินงานเหมือนชมรม สมาคมทั่วไป ต้องมีประธาน, รองประธาน, กรรมการ, เลขานุการ, เหรัญญิก, ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานในรูปนี้ได้ มันต้องมีค่าใช้จ่าย ทุนจดทะเบียน และยังต้องจ้างทนายประจำองค์กรด้วย ทุกอย่างไม่ได้ง่าย อย่างน้อยๆในขั้นตอนแรก พี่อุ๊บต้องร่างนโยบายขึ้นมาสัก 10 ข้อก่อนเพื่อเป็นคู่มือให้กับกลุ่มนักปั้นได้ตัดสินใจ" ชายแฮ็คส์กล่าวแสดงความเห็น
ชายแฮ็คส์ เป็นฉายาของ พงศ์ชยุตม์ ศิริสุขวงศา (บวรภัค ศิริสุข) ผู้กำกับภาพยนตร์ "รักไม่จำกัดนิยาม และ บ้านผีเปิบ" ทุกวันนี้ ชายแฮ็คส์ทำหน้าที่ดูแลจุ๊บ - อิทธิกร (สมชาย) สาธุธรรม, อู - ภานุ สุวรรณโณ ซึ่งสมเกียรติ คุณานิธิพงษ์โอนมาให้ช่วยดูแล, นัท อติรุจ (ณัฐวุฒิ) สิงหอำพล, มะปราง – วิรากานต์ เสณีตันติกุล, ณิชชนันทน์ แจ่มดวง และหลังสุดกำลังทุ่มเทให้กับดาวคู่ใหม่อย่าง จีจี้ พิมพ์พิสา , ลูกตาล อนงนาฏ เพชรดำ จากเวทีประกวดสตาร์ไอที ซึ่งเขาเป็นผู้จัดเอง และ กุ้ง รพีพงษ์ ซึ่งผันตัวเองมาจากโมเดลลิ่งอื่นเพื่อให้ชายแฮ็คส์ดูแล
ชาย พงศ์ชยุตม์ เริ่มต้นทำงานกับ A – Time Media เป็นแห่งแรก ก่อนที่จะมาผู้จัดการฝ่ายโปรโมชั่นให้กับบริษัท พี แสงอุดมเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตลูกอมแอ็คส์ นโยบายของบริษัทได้ริเริ่มจัดการประกวด สรรหาหนุ่มสาวแฮ็คส์มาตั้งแต่ปี 1997 ปีแรก ฝ่ายหญิงคือ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ ในระยะเริ่มต้น ชายได้ทำหน้าที่ผลักดันอั้ม พัชราภาเข้าสู่ช่อง 7 สีในฐานะดาราฝ่ายหญิง ช่วงนั้น มีนักปั้นหลายคนที่ให้คำปรึกษาและดูแลอั้ม พัชราภาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ชายแฮ็คส์ , อุ๊บ วิริยะ, แก้ว พรีเมียร์ และยังไม่มีเอ – ศุภชัย ศรีวิจิตร
ลูกอมแฮ็คส์ จัดการประกวดอยู่ 9 ปีเต็ม จนใครๆ รู้จักเขาในนาม ชายแฮ็คส์ จนการรประกวดมาถึงรุ่นสุดท้ายที่ ฝน พัชรินทร์ จัดกระบวนพล และมะปราง – วิรากานต์ เสณีตันติกุล ณ ปัจจุบัน ฝนเป็นนางเอก ส่วนมะปรางเป็นนางร้ายทางช่อง 3
"โมเดลลิ่งอาจจะมีเด็กนับร้อยอยู่ในมือ แต่นักปั้นอาจจะมีเด็กในสังกัดไม่กี่คน หยิบเอาเด็ก 1 คนขึ้นมาปั้น ถ้าพลาดก็คือพลาด ก็ต้องหาตัวใหม่เข้ามาปั้นในความเห็นของชาย คนที่ทำหน้าที่ประธานถ้าไม่มีบารมี ปัญหาต้องเกิดแน่ เพราะว่าบรรดานักปั้นแต่ละคนอารมณ์ติสท์ทุกคน ถามหน่อยว่าใครจะยอมใคร ใครจะยอมแบ่งเงินส่วนแบ่งให้ใคร ณ วันนี้ แม้แต่เรื่องเด็กคุณยังไม่ยอมกันเลย อย่างพี่พจน์ อานนท์และชาย มีบริษัทต้องดูแลอยู่ ก็จะรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน แต่ละเดือนต้องดิ้นรนหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัท จ่ายเงินเดือนลูกน้อง ชมรมฯจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลยเหรอ เป็นไปไม่ได้ ทุกคนไม่ได้มาร่วมงานการกุศล หรือเปิดมูลนิธิ" ชายแฮ็คส์กล่าว
ชายแฮ็คส์คิดส่วนแบ่งอยู่ที่ 30 % แต่ถ้าดังมาแล้วก็จะลดหลั่นลงไปเหลือ 20 และ 10 % แล้วแต่กรณี
...
นักปั้นชายแท้ แต่ชื่อ "ตุ๊ด นาฬิกา"
"ตุ๊ด นาฬิกา" หรือ ธนัสสรณ์ ภูตินันท์ เริ่มปั้น เอ๋ พรวิภา ปฐมาภินันท์ เป็นคนแรก อีกทั้ง เป็นคนที่ชักนำ นานา ไรบีนา, รัน นพวรรณ, ฝน สุภาวดี, คู่แฝดเล็ก – ใหญ่ (นักร้องลูกทุ่งค่ายอาร์สยาม) เข้าสู่วงการ อื่นๆ เช่น เต๊ะ ศตวรรษ เศรษฐกร, ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง, ธันญ์ ธนากร เป็นต้น
ตุ๊ด นาฬิกา เริ่มต้นทำงานโฆษณาให้กับริษัท CBS Advertising ย่านประตูน้ำ ซึ่งตอนหลังบริษัทฯ มีการแคสติ้งนายแบบ - นางแบบเพื่อถ่ายโฆษณา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักเด็กที่มาแคสฯในยุคนั้น เช่น ติ๊ก เจษฎาภรณ์ – ตั้น พิเชษฐ์ไชย ผลดี, โป้ง วราวุธ บูรพาชยานนท์ เป็นต้น อีกทั้งเขามีโอกาสได้ทำนิตยสาร ชื่อ My Friend และ Colour และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร เธอกับฉัน ในยุค "อ๋อย" - ลาวัลย์ แสงอาทิตย์
เริ่มต้นชีวิตนักปั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 2539 – 2540 โดยตุ๊ดมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัท Sunshine Entertainment ของมด – นพพร วาทิน และ เชอรี่ – สาลินี ภักดีผล โดยตุ๊ดต้องทำหน้าที่ส่งหมายข่าว นัดนักข่าว และนั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มต้นการปั้นนักแสดงเข้าสู่วงการในเวลาต่อมา
ทุกวันนี้ แม้จะปั้นสาวๆ น้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตุ๊ด นาฬิกาจะเลิกอาชีพนี้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ ณ วันนี้ เขาถอยไปทำงานเบื้องหลังให้กับบริษัทอาร์ สยามในเครือบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน)
"ผมมาเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้จัดการดูแลศิลปิน และจัดรายการวิทยุชุมชนอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ ผมจะรับงานอีเว้นท์อยู่ในย่านนี้ เราจำลองงานอีเว้นท์ที่มีดารา นักร้องอย่างในกรุงเทพฯมาอยู่ที่ชานเมือง ณ เวลานี้ ถ้าผมจะปั้นใคร ผมต้องดูว่าคนนั้นต้องมีแววจริงๆ เด็กใหม่ๆ ในทุกวันนี้มีความพร้อมมากกกว่า รุ่นเก่ามาก เด็กๆที่เป็นลูกหลานไฮโซก็มีเงินในการอัดฉีดตัวเอง ไม่เหมือนยุคของนักปั้นรุ่นเก่าๆ อย่างรุ่นพี่พจน์, พี่อุ๊บ, พี่แก้วพรีเมียร์, พี่ชายแฮ็คส์ ต้องไปเดินดู ค้นหาเพชรเม็ดงามมาเจียรไนยเอง นักปั้นเสียเงินทองไปกับเด็กแต่ละคนเยอะมาก" ตุ๊ด นาฬิกากล่าว
ตุ๊ด นาฬิกา เห็นว่า การที่ค่ายต่างๆ หันมาทำเรียลลิตี้อย่าง เดอะสตาร์ และเอเอฟในแต่ละปีก็จะได้กลุ่มนักร้องไม่กี่คนตามโครงการ แต่เด็กที่พลาดโอกาสนี้ หลายคนมีทาง "ดัง" ได้ ถ้าเขามีโอกาสและคนส่งเสริม
"ถ้ามีนักปั้น แมวมอง ก็จะมีคนช่วยหางานให้ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ายังจำเป็นอยู่ สำหรับชมรมนักปั้นฯ ผมเห็นด้วย เพราะหนึ่ง มันจะได้ร่วมกันสร้างคนให้เป็นเรื่องเป็นราว มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ต้องต่างคนต่างทำ อย่างทุกวันนี้ กิจกรรมการกุศลจะช่วยใครอย่างไร อย่างน้อยๆ ถึงเราแก่ตัวไปก็จะเป็นตำนาน คนรุ่นต่อไปจะได้รู้ว่า คนที่อยู่ในวงการไม่ได้มาจากการประกวดอย่างเดียวนะ มันยังมีแมวมองที่ช่วยในการผลักดันอีก สอง. สมาชิกชองชมรมฯ จะประกอบด้วยผู้ใดบ้าง ผู้ทำหน้าที่ประธาน อาจจะต้องสมัคร คัดเลือก โหวตโดยต้องดูจากผลงานและความสำเร็จในวิชาชีพ และสาม. ส่วนแบ่งตามสัดส่วน สมมติ 100 % ดาราเอาไป 70 % ผู้จัดการ 25 % ชมรม 5% เพื่อประโยชน์ขององค์กรฯ ไม่น่าจะมีปัญหานะครับ" ตุ๊ด นาฬิกากล่าว
...
"วิช" นักปั้นกินรวบ MV ลูกทุ่ง
ณ วันนี้ "ดีวิด" หรือ สุวิชชา แสนอวน เริ่มเป็นพี่เลี้ยงส่งนางงามเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ ผลงานของเขา ได้แก่ ปี 2550 จูน – จิราภรณ์ สิงห์เอี่ยม รองอันดับ 1 มิสไทยแลนยูนิเวิร์ส, พลอย – วัชรวรรณ สุนทรินทุ รองมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส อันดับ 2 , เหมียว สวรส ศรีปทุม รองนางสาวไทย เป็นต้น เด็กๆในสังกัดส่วนใหญ่เรียก "เฮียวิช" เชื่อหรือไม่ว่า พระเอก – นางเอกของ MV ลูกทุ่งมากกว่า 80% เป็นเด็กที่คัดสรรโดยตัวเขาแทบทั้งสิ้น เขาบอกว่า MV ลูกทุ่ง ทุกวันนี้ออกอากาศทั่วโลกผ่านทางเคเบิ้ล มิวสิกเพลงลูกทุ่งวิ่งยาวเป็นปีนานกว่าเพลงสตริงที่โปรโมตเพียง 3 เดือนเท่านั้น
การตีโจทย์นี้มาจากอีกหนึ่งบทบาทที่ไม่ค่อยมีคนรู้ นั่นคือ เขาเคยเป็นนักร้องลูกทุ่งมาก่อน ร้องเพลงตามห้องอาหาร ผับ บาร์ จนได้เป็นตัวแทนของจังหวัดและตัวแทนภาคอีสานเข้ามาประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย จนได้รับรางวัลชนะเลิศ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริษัทโฟร์เอสฯ ชวนไปออกผลงานเพลงลูกทุ่ง 2 ชุด โดยชื่อในการร้องเพลงว่า "สุริยัน จันทรา" ฉะนั้น แค่นั่งฟังเพลงก็เห็นใบหน้า บุคลิกของพระ – นาง MV ลอยอยู่ตรงหน้า เทรนด์ของเพลงลูกทุ่ง ณ วันนี้เปลี่ยนเป็นเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานในเมืองหลวง ไม่ใช่บ้านนอกจ๋าอีกแล้ว ต่อมา เขาไปเพิ่มทักษะเรียนการแสดงกับครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน และมีโอกาสได้เล่นละครเวทีเรื่อง "ทิ้งจักรมารักกันเถอะ" ละครเวทีเรื่องนี้ มีนักแสดงคนอื่นๆ เช่น กิ่ง ภัทรา ทิวานนท์ , ตั๊ก นภัสกร มิตรเอม , ติ๊ก ชิโร่ เป็นต้น จากนั้นไปทำงานกับตุ๊กตา กัลย์จาฤก ที่บริษัท กันตนา
พื้นฐานการแสดง การร้องเพลงอย่างถูกต้องจะถูกส่งผ่านไปให้เด็กในสังกัดทุกรุ่นตามความถนัด นักแสดงคนแรกที่เขาปั้นคือ ออย สิริมา อภิรัตนพันธุ์ คนอื่นๆ ในกลุ่มประกอบด้วย อาณัติ ฬาพานิช, ว่าน ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง, บอล ภาสกร ภมรบุตร, เมฆอมร เชื้อรามัญ ฯลฯ เอ็กซ์ ธิตินันท์ เป็นต้น
เขายอมรับว่า อุ๊บ วิริยะ ได้เข้ามาทาบทามเขาในงานของ i – Mobile ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อหลายวันก่อน
"ผมยังถามพี่อุ๊บว่า ผมมีคุณสมบัติพอหรือเปล่า ผมยังบอกเลยว่า ถ้าอยู่ในกฏเกณฑ์มาตรฐาน, จรรยาบรรณเดียวกันมันก็น่าจะดี สำหรับผมไม่มีปัญหา ไม่ซีเรียสอยู่แล้ว" สุวิชชา แสนอวนกล่าว
ข้อคิดที่เขาให้ไว้ ไม่เกี่ยวกับชมรม แต่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเด็ก ณ วันนี้
"เด็กสมัยก่อนจะให้เกียรติเชื่อฟังนักปั้น และนับถือกันเหมือนพี่น้อง แต่เด็กสมัยนี้ ผลประโยชน์มาก่อนสายสัมพันธ์ พอเราบทาบทามปุ๊บถามเลยว่าหักกี่เปอร์เซ็นต์ รู้มาก รู้จักการซิกแซกหางานกันเองได้แล้ว อย่างเราเรียกแคสติ้งงาน เด็กก็จะเมลหรือโทรศัพท์ไปบอกเพื่อนๆ ให้ไปแคสฯในงานเดียวกันตั้งตัวเองเป็นทั้งโมเดล และเป็นทั้งโมเดลลิ่งไปในตัว เผื่อเพื่อนได้ ตัวเองก็จะได้ส่วนแบ่งแบบงูกินหาง"
เขาบอกว่า ส่วนแบ่งของนางงามมีรายได้สมน้ำ สมเนื้อกว่า เนื่องจากแบ่งกันคนละครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานโชว์ตัว หรือชนะประกวด ไม่ใช่ 70 – 30 อย่างงานทั่วไป
...
หลากทัศนะจากเด็กปั้น
โอ๋ - ธารนี ประภากูล / สังกัด "หยก AC"
ผลงาน อัลบั้ม "โอ๋ คาสโนวี่"
"โอ๋เห็นว่า ควรจะตั้งเป็นชมรมฯ เพราะ นักปั้นหรือผู้จัดการส่วนตัว เขาค่อนข้างจะดูแลเราเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะด้านพีอาร์ข่าว การเตือนสติ ซึ่งคนที่เข้ามาสู่วงการก็ล้วนเป็นเด็กทั้งนั้น เป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ความคิดอาจจะแคบ แต่เมื่อมีคนดูแลเราหรือมีคนปรึกษา สามารถแนะนำเราได้ว่า อะไรควรไม่ควรอย่างน้อยๆ เขาก็อยู่ในวงการบันเทิงมาก่อน เพราะฉะนั้นการตั้งชมรมนักปั้นจะทำให้เด็กถูกหลอกน้อยลง ถ้านักปั้นไม่เจอคุณ และคุณเห็นว่า ตัวเองหน้าตาดี มีความสามารถก็สามารถเดินไปที่ชมรมฯได้ทันที"
กุ้ง – รพีพงษ์/สังกัด "ชายแฮ็คส์"
ผลงาน-นักแสดงจาก โก๊จ๋า ป่านะโก๊ะ 3
"ผมอยากให้มีการจัดระเบียบโมเดลลิ่งครับ เนื่องจากผมเคยมีประสบการณ์จากโมเดลลิ่งเถื่อนมาก่อน ผมเป็นคนต่างจังหวัด มาอยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาทำงานในวงการนี้ มีอยู่วันหนึ่งมาเดินที่เซ็นทรัล ลาดพร้าวก็มีโมเดลลิ่งเดินมาติดต่อให้เบอร์ ตามเราไปแคสติ้งงาน ถ่ายรูปลงหนังสือของเค้า 2 เล่มแรกไม่มีอะไรก็ใส่เสื้อ หรือเสื้อกล้าม แต่พอเล่มที่ 3 วันนั้นเขาอยู่กับเรา 2 คนในออฟฟิศ พยายามจะมานัวเนีย จะให้เราใส่กางเกงว่ายน้ำตัวเดียวถ่ายแบบให้ได้ พอกุ้งเริ่มโมโหไม่ยอม เค้าก็เลยหยุด เป็นโมเดลลิ่งที่เจอกันตามท้องถนนครับ"
เพ็ชร – พชระ เหมอรรณพจิต/สังกัด "อุ๊บ วิริยะ"
ผลงาน-พรีเซ็นเตอร์ "เครื่องดื่ม ไบเล่", ชุดนักเรียนแมมมอธ
"มันก็ช่วยได้นะครับ เท่ากับว่า เรามีตัวแทนในการสกรีนว่า โมเดลลิ่งและคนๆนี้เป็นนักปั้นจริงหรือเปล่า หรือเป็นนายหน้ามาหลอกเรา เราจะได้รู้ ผมไม่เคยโดนหลอกนะครับ ส่วนมากก็จะถามกัน พอมีแมวมองมาถามปุ๊บ ให้เบอร์โทรให้นามบัตรมา เราก็จะดูในนามบัตร เราจะไปถามผู้ใหญ่ ดูจากหน้าตาและบุคลิกของเขาการพูดจา ถ้ามีชมรมนี้มันก็จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น"
แคช – ธนพร ศรีดามา/สังกัด "อุ๊บ วิริยะ"
ผลงาน-พิธีกร Photo Story Cheeze ททบ.5 , ถ่ายแบบ
"แคชว่าเป็นเรื่องที่ดี บางทีเราจะไม่รู้ว่าโมเดลลิ่งนี่เป็นใครมาจากไหน ถ้าเรามีการตั้งชมรมนักปั้นขึ้นมา เขาจะมีหลักฐานว่าคนๆ นี้เป็นนักปั้น หรือโมเดลลลิ่งหรือเปล่า สมัยนี้ โมเดลลิ่งเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วก็ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหนบ้าง หรือเรื่องของการแบ่งค่าตัวบางทีก็ไม่เป็นมาตรฐาน บางที่ก็จะมีแบบ 50% บ้าง บางที่ก็รับหมดแต่บอกกับเราว่า ครั้งนี้ไม่ได้ค่าตัวนะอะไรแบบนี้ แบบนี้ก็มี ซึ่งแคชว่า การมีชมรมฯ น่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้"
อยากรู้เหมือนกันว่า นักปั้นตัวแม่อย่าง "อุ๊บ วิรริยะ" และบรรดาตัวลูกเหล่านี้ เคยมีประสบการณ์แย่งชิงหรือโดนเพื่อนนักปั้นฉกเด็กในสังกัดเอาไป "ปั้น" หรือ "ปล้ำ" ทำผัว หรือเปล่า ?!!