xs
xsm
sm
md
lg

แต๋วเตะ...ตีนระเบิด : เมื่อหนังกะเทยทำเท่ เทศนาเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ?!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ในแง่ของแนวหนัง ผมคิดว่า พจน์ อานนท์ น่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เพียงคนเดียวของเมืองไทยที่อยู่กับหนังแนวตุ๊ดแต๋วเกย์กะเทยมามากกว่าคนอื่นๆ ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยยื่นวาทะประกาศิตออกมาว่า ถ้าเขาไม่ทำ แล้วใครจะทำหนังแนวนี้ –หมายถึงหนังซึ่งมีตัวละครเป็นเพศที่สาม


และแน่นอนที่สุด ไม่ว่าใครจะต่อว่าต่อขานหนังของเขาว่าห่วยหรือแย่ยังไง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจที่จะคลุกวงในอยู่กับหนังแต๋วๆ เกย์ๆ ของพจน์ อานนท์ ได้ ซึ่งหลังจาก “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” ที่หลายๆ คนพากันส่งเสียงสรรเสริญกันว่า เป็นหนังรัก (แนวเกย์ๆ) ที่ดีที่สุดของพจน์ อานนท์ อดีตแมวมองตัวแม่และนักปั้นมือโปรแห่งวงการบันเทิงไทย ก็กลับมาอีกครั้งกับหนังเรื่องใหม่ที่เพียงแค่ได้ยินชื่อหนังก็พอจะเดาทางกันออกแล้วล่ะว่า มันคงไม่ใช่หนังที่คุณจะมาดูเพื่อหาสาระอะไรกับมันได้

แต๋วเตะ...ตีนระเบิด คือชื่อหนังอันแสนจะจี๊ดใจนั้น

อันที่จริง คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า หนังแบบพจน์ อานนท์ นั้น ไม่อาจจัดอยู่ในหมวดหมู่ที่พอจะเรียกว่า Deep (ลึกซึ้ง) อะไรได้ เพราะจุดขายจริงๆ ในหนังของเขาแทบทุกเรื่อง คือความตลกเฮฮาไปเรื่อยเปื่อย ขณะที่ความสมจริง (Realistic) และความเป็นไปได้ (Possibility) ก็มีน้อยมาก หรือแม้กระทั่งหนังอย่าง “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” ที่ใครต่อใครชื่นชมกันนักหนานั้น โดยส่วนตัว ผมก็ยังมองว่า หนังยังมี “จุดอ่อน” ที่มองเห็นได้ชัดเจนเยอะแยะมากมาย (ที่ผมขัดใจมากที่สุดก็คือ ฉากโดนยิงหลังออกจากคุกนั่นล่ะครับ อะไรมันจะ “เน่า” ได้ใจขนาดน้านนน พ่อแม่พี่น้องงงง....)

โอเคล่ะครับ ต่างประเทศอาจจะตื่นเต้นเป็นปลื้มกับ “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” ถึงขั้นให้รางวัลมาพอสมควร แต่ยังไงเสีย ผมก็ยังมองว่า “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” อย่างมากสุด ก็แค่สะท้อนให้เห็นว่า คนอย่างพจน์ อานนท์ ไม่ใช่คนที่ทำมาหากินกับความตลกของเกย์กะเทยเป็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสายตาในด้านดราม่าเหมือนคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน (ถึงแม้ดราม่าที่ว่านั้น มันจะดูเน่าๆ และมีมุมที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลยก็ตามที!!)

จากประสบการณ์ที่ผมได้ติดตามงานของคุณพจน์ อานนท์ มาโดยตลอด ผมว่าคนทำหนังคนนี้น่าจะเหมาะกับหนังแนวตลกๆ เบาสมองมากกว่า คืออย่างน้อยๆ ผมว่าเขาสามารถทำหนังสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดู (บางกลุ่ม) ได้ ดังนั้น ไม่ว่า “แต๋วเตะ...ตีนระเบิด” จะดูไร้สาระแค่ไหน แต่ถึงยังไง ผมก็มองว่า นี่เป็นการกลับมาสู่แนวทางถนัดของตัวเองอีกครั้ง สำหรับคุณพจน์ อานนท์

“แต๋วเตะ...ตีนระเบิด” เปิดเรื่องขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งเปิดรับนักเรียนชายเป็นปีแรก ขณะเดียวกัน คุณครูกลุ่มหนึ่ง (นำทีมโดยครูตุ๊กกี้) ก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะตั้งทีมฟุตบอลชายขึ้นมาเพื่อไปแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศ แต่ความหวังก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะนอกจากคุณครูอีกหลายๆ คนจะไม่เอาด้วยกับไอเดียนี้แล้ว บรรดานักเรียนชายสิบกว่าคนที่เพิ่งรับเข้ามาเป็นรุ่นแรกนั้น ยังเป็นพวกตุ๊ดแตกแต๋วหลุดกันเกือบยกแก๊ง ประเภทว่า แค่ลูกฟุตบอลกระดอนมาโดนตัว ก็วี้ดว้ายมือไม้สั่นกันไปแล้ว (บางคนหนักถึงขั้นเป็นลมล้มตึงไปเลยก็มี...หึหึ)

บอกตามตรงครับว่า เห็นพล็อตเรื่องทีแรก ผมนึกว่า นี่คงจะเป็น “สตรีเหล็ก” ที่เปลี่ยนไปเตะฟุตบอล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะในขณะที่ “สตรีเหล็ก” ของคุณยงยุทธ ทองกองทุน ไปได้ไกลกว่าแบบเทียบกันไม่ติดในแง่เนื้อหาสาระ แต่ “แต๋วเตะ...ตีนระเบิด” กลับเป็นเพียงหนังบันเทิงขายความตลกของตุ๊ดแต๋วเป็นงานหลัก (ซึ่งจริงๆ เห็นบรรดาตัวละครเด็กๆ รุ่นกระเตาะแล้ว ผมว่าถ้าหนังหนังจะทำให้มันออกมาเป็น Coming of Age ที่พูดถึงการก้าวผ่านวันวัยของตัวละคร ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก แต่ยี่ห้อพจน์ อานนท์ คุณจะไปหวังอะไรแบบนั้นล่ะ จริงมั้ย??)

เหนืออื่นใด ผมว่ามันไม่ยากเท่าไหร่เลยที่ครูตุ๊กกี้จะพาน้องๆ “เด็กผู้ชายนะยะ” ไปแข่งขันเอาชัยจนถึงแมตช์ชิงชนะเลิศ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่ากลับกลายเป็นว่า หนังเรื่องนี้ไม่รู้จะพาคนดูไปสู่ “สาร” (Message) แบบไหน ซึ่งตามจริง ก็เหมือนกับหนังของพจน์ อานนท์ ทุกๆ เรื่องนั่นแหละครับที่ส่วนใหญ่ทำออกมาเหมือนไม่ได้คิดบท แต่ด้นสดไปเรื่อยๆ

จะว่าไป แต๋วเตะ...ตีนระเบิด ก็เหมือนนักฟุตบอลสักคนที่เก่งแต่เลี้ยงเลื้อยไปเรื่อยๆ แต่ก็แค่เลี้ยงบอลไปแบบนั้น วนไปวนมาอยู่กลางสนาม ไม่ยิงซักกะที พูดง่ายๆ ก็คือว่า หนังขาดแก่นเรื่องที่ชัดเจนว่าต้องการจะบอกอะไรกับคนดู หรือ อะไรคือประเด็นหลัก (main idea) ของหนัง?

มีบาง Moment หรือบาง Segment ของหนังที่สามารถลงลึกได้ แต่หนังก็ไม่ทำ อย่างเช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครอย่างไอซ์ซึ่งหนังทำท่ายึกๆ ยักๆ ว่าสองคู่นี้คงจะมีความขัดแย้งรุนแรงกันแน่ๆ (ประเด็นครอบครัว) แต่ไปๆ มาๆ กลับเป็นเรื่องโอละพ่อล้อกันเล่นเฉยๆ และที่น่าเศร้ามากที่สุดก็คือ การที่หนังทำให้ภาพของตัวละครอย่างแม่ของไอซ์กลายสภาพเป็น “คุณแม่ติ๊งต๊องบ้องตื้น” (กับคนใช้สมองกลวง) ที่วันๆ เอาแต่นั่งจับผิดว่าลูกตัวเองจะเป็นเกย์กะเทยหรือเปล่า? มากกว่านั้น ยังมีมุมที่ผมคิดว่าหยาบคายมากๆ ก็คือ มุกตลกที่หนังยัดใส่ปากแม่ของไอซ์ที่ว่าจะชวนไอซ์ไปอาบน้ำแถวๆ รัชดานั้น (อย่าทำหน่อมแน้มไม่รู้นะครับว่า หนังพูดถึงอะไร) ถามจริงๆ เถอะครับว่า พ่อแม่ที่ไหนหรือจะเล่นมุกตลกพิเรนทร์ๆ แบบนี้กับลูกๆ ของตัวเอง???

อันที่จริง ถ้าจะให้มองหาประเด็นของแต๋วเตะฯ ผมคิดว่ามันไปได้หลายทาง อย่างแรกคือความรักของวัยเรียน (ที่มีปัญหาถึงขั้นชกปากกัน) อย่างที่สองคือความรักความเข้าใจระหว่างแม่ลูก ซึ่งหนังสามารถต่อยอดประเด็นเหล่านี้ให้ Deep ได้ แต่หนังก็ไม่เอาอะไรสักอย่าง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมาพร้อมกับตอนจบแบบห้วนๆ (หรือพูดอีกอย่างก็คือ ปาหมอน) ด้วยบทสรุปอันพิลึกพิลั่นซึ่งพูดถึงการรักชาติและความสามัคคี!! (เป็นไปได้ไงเนี่ยยย...?)

ผมรู้นะครับว่า คุณพจน์ อานนท์ อาจจะอึดอัดกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่กำลังเป็นอยู่ หรือหวังดีต่อบ้านเมือง อยากเห็นความปรองดอง ถึงขั้นให้น้องๆ ทีมแต๋วแต่งชุดเหลือง (แถมชื่อโรงเรียนก็มีคำย่อว่า พธด.ซึ่งเป็นใครก็ดูออกว่าหนังจะหมายถึงอะไร) แล้วให้อีกทีมสวมเสื้อแดง (ชื่อย่อโรงเรียนคือ นปร.ที่ก็ไม่ต้องเฉลยอีกเช่นกันว่าหนังจะพาดพิงถึงใคร) ลงมาเตะฟุตบอลกันในแมตช์ชิงชนะเลิศ ก่อนจะสรุปว่าแพ้ชนะไม่สำคัญ ขอให้สามัคคีกันก็พอแล้วเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อยู่แล้วล่ะครับ เพราะถ้าจะว่าไป หนังนั้นสามารถจะพูดถึงเรื่องอะไรก็ได้ในโลกนี้ และจะมีตัวละครเป็นกะเทย ตุ๊ด หรือสัตว์ประหลาดอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ แต่ขณะเดียวกัน ก็อย่าลืมว่า มันต้องมีศิลปะ ชั้นเชิง และเอกภาพด้วยครับ ไม่ใช่ว่าปูเรื่องมาแบบหนึ่ง แล้วตอนจบ ไปสรุปอีกแบบ

อย่าหาว่าผมจะบังอาจมาสั่งสอนอะไรเลย แต่ผลงานชิ้นนี้ของคุณพจน์ อานนท์ ขาดองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่หนังดีๆ ควรจะมี ทั้งเนื้อเรื่องที่อ่อนปวกเปียกและเรื่อยเปื่อย ทั้งเนื้อหาประเด็นที่ไม่มีแกนหลัก ไม่รู้คุณจะบอกอะไรกันแน่ ส่วนใครจะบอกว่า ก็ความแย่จนดูตลกนี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของหนังพจน์ อานนท์ อย่างนั้น ผมก็ไม่มีอะไรจะแย้งอยู่แล้วครับ

แต่พูดก็พูดเถอะ ท่ามกลางความกลวงเปล่าเบาหวิวของเนื้อหาเรื่องราว ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ก็ยังมีบางสิ่งที่น่าชื่นชม (และชดเชยความรู้สึกเสียดายตังค์ค่าตั๋วลงไปได้บ้าง) อย่างน้อยที่สุด งานด้านภาพซึ่งกำกับโดยคุณจิ๊บ-ทิวา เมยไธสง นั้นต้องยอมรับครับว่าสวยงามน่าดูมาก ทั้งมุมกล้องและการจัดแสง (จิ๊บ-ทิวา ผู้กำกับ ผีช่องแอร์, ตอกตราผี, เชือดก่อนชิม และเป็นคนคนเดียวกันที่รับผิดชอบงานด้านภาพให้กับ “เพื่อน...กูรักมึงว่ะ” ซึ่งไปคว้ารางวัลมาจากหลากหลายเทศกาลภาพยนตร์) ผมคิดว่า ชั่วโมงนี้เขาคือมือกล้องยอดฝีมืออีกคนหนึ่งของเมืองไทยไปแล้วอย่างยากจะปฏิเสธ ซึ่งแนะนำเลยครับว่า ถ้าคุณคิดจะทำหนังสักเรื่องและอยากได้ภาพสวยๆ มาจ้างคนนี้จัดการให้ รับรองคุณไม่ผิดหวัง

สุดท้าย ผมมานั่งคิดๆ ดูนะครับว่า ใครบ้างที่จะดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก แน่นอนล่ะ ถ้าคุณคิดว่าหนังเรื่องหนึ่งควรจะมีประเด็นหลัก มีเรื่องราวที่ชัดเจนว่าต้องการจะบอกอะไรกับคนดูผู้ชม (ไม่ใช่ลากเลื้อยไปเรื่อยเปื่อย) ผมไม่แนะนำ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่พร้อมจะขำไปกับความวี้ดว้ายกะตู้วู้ของน้องๆ กะเทย (ซึ่งหุ่นและหน้าตาไม่ให้ แต่ใจรัก) ที่จะมาทำกิริยาบ้าๆ บวมๆ ให้คุณดู คุณก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการจากหนังเรื่องนี้ เท่านั้นจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น