xs
xsm
sm
md
lg

The Betrayal : เนรคุณ!

เผยแพร่:   โดย: เรื่อง โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

ช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพอเมริกันใช้ราชอาณาจักรลาว –ซึ่งตอนนั้นปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข- เป็นฐานปฏิบัติการในการต่อสู้กับเวียดนามเหนือ

เหตุผลที่อเมริกาเลือกประเทศลาว เนื่องจาก หนึ่ง เส้นทางสายโฮจิมินห์ ซึ่งเวียดนามเหนือใช้เป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงกำลังคนและอาวุธไป พาดผ่านตามแนวภาคตะวันออกของลาว สอง ตามทฤษฎีโดมิโนซึ่งอเมริกาในเวลานั้นหวาดหวั่นนัก ลาวซึ่งมีอาณาเขตติดกับเวียดนาม ถือว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นโดมิโนตัวแรกที่ล้ม และจากนั้นก็จะพาให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันล้มครืนตามไปด้วย

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยหนุนนำอีกประการ กล่าวคือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศลาวเองก็อยู่ในภาวะที่ตึงเครียดคุกรุ่น เนื่องจาก ขบวนการปะเทดลาว กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีพลังแข็งกล้าที่สุดในระยะนั้น มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือและรัสเซีย สหรัฐอเมริกาจึงเห็นว่า การเข้าไปปฏิบัติการในลาว นอกจากจะเพื่อต่อกรกับเวียดนามเหนือซึ่งเป็นศัตรูหลักแล้ว ยังน่าจะถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาลประชาธิปไตยของลาวอีกทางหนึ่งด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว อเมริกาสนับสนุนให้ลาวจัดตั้งหน่วยรบกองโจรของตนเองขึ้น โดยอเมริกาให้การสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน อาวุธ แถมยังขันอาสาส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกสอนทหารลาวเหล่านี้ด้วยตนเองอีกด้วย

ที่ตลกก็คือ อเมริกาถือว่า ปฏิบัติการในลาวครั้งนี้เป็น ‘ปฏิบัติการลับสุดยอด’ อเมริกาไม่เคยยอมรับว่าตนให้การสนับสนุนรัฐบาลลาว ไม่เคยนับทหารลาวที่ฝึกเองกับมือว่าเป็นพวกพ้องของตน อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า การโจมตีทางอากาศในลาวโครมๆ –ทั้งเพื่อทำลายท่อน้ำเลี้ยงของเวียดนามเหนือ และเพื่อถอนรากถอนโคนขบวนการปะเทดลาว- ไม่เคยเกิดขึ้นสักนิด

ไม่ว่าอเมริกาจะว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ บทบาทของอเมริกาในช่วงเวลานี้ สร้างความบอบช้ำให้ประเทศลาวมากมาย

สถิติตัวเลขที่ระบุไว้คือ ตลอด 9 ปีที่อเมริกาเปิดปฏิบัติการลับในลาว มีระเบิดที่ถูกทิ้งในแผ่นดินนี้ร่วม 3 ล้านตัน มากกว่าระเบิดที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมกัน มีการโจมตีทางอากาศ 177 ครั้งต่อวันโดยเฉลี่ย มีการบรรจุระเบิดเข้าเครื่องบินรบทุกๆ 8 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันตลอด 9 ปี ส่วนระเบิดสังหารที่ถูกทิ้งในลาวนั้น ประมาณกันว่ามีจำนวนถึง 260 ล้านลูก

เจ็บปวดกว่านั้นคือ หลังจากปราชัยในสงครามเวียดนาม อเมริกาก็ถอนทหารและความช่วยเหลือต่างๆ ออกจากลาวโดยไม่บอกกล่าวแจ้งเตือนให้เจ้าของประเทศทราบล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย

ผลก็คือ ทันทีที่ขบวนการปะเทดลาวยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมในปี 1975 (พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ผู้ที่เคยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ นายทหาร หรือกระทั่งชาวบ้านตาดำๆ ที่เคยมีพฤติกรรมฝักใฝ่อเมริกา ต้องถูกจับกุมคุมขังไว้ใน ‘ค่ายสัมมนา’ เป็นจำนวนมาก

หลายคนถูกฆ่าตาย หลายคนหายสาบสูญ หลายคนไม่อาจทนอยู่บนแผ่นดินเกิดได้อีกต่อไป ครอบครัวของคนเหล่านั้นต้องประสบชะตากรรมผันผวนและทุกข์ภัยครั้งใหญ่ – โดยที่สหรัฐอเมริกาที่พวกเขาเคยรับใช้อย่างซื่อสัตย์ ไม่เคยแยแสสนใจแม้แต่นิดเดียว

The Betrayal –หรือ เนรคุณ (Nerakhoon)- หนึ่งในหนังสารคดีที่รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปีล่าสุด บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวลาวครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องอพยพโยกย้ายจากแผ่นดินแม่ไปยังแผ่นดินอื่น เพื่อหลบหนีภัยคุกคามอันเป็นผลสืบเนื่องจากขี้ที่อเมริกาปล่อยทิ้งไว้ แล้วชิ่งหนีไปในคราวนั้น

หนังเป็นผลงานกำกับชิ้นแรกของ เอลเลน คูราส ผู้กำกับภาพหญิงฝีมือดีที่คร่ำหวอดในฮอลลีวู้ดมากว่า 2 ทศวรรษ (งานกำกับภาพชิ้นเด่นๆ ของเธอก็เช่น Eternal Sunshine of a Spotless Mind, Be Kind Rewind, Blow, Coffee and Cigarettes, Swoon)

ศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ครอบครัว พระสวัธ (Phrasavath) ครอบครัวชาวลาวที่อพยพมาอยู่ที่นิวยอร์ก โดยมี ทวีสุข ลูกชายคนโต เป็นผู้เล่าเรื่อง (ภายหลังคูราสให้เครดิตทวีสุขเป็นผู้กำกับร่วมของหนัง โดยให้เหตุผลว่า เธอต้องการให้ชาวลาวในอเมริการู้ว่า พวกเขามีสื่อและช่องทางที่จะป่าวประกาศเรื่องราวของตนให้โลกรู้)

คูราสตั้งต้นเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่สมัยทวีสุขยังเด็ก เจ้าตัวเล่าว่า ในวัยที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อันใด สองสิ่งที่เขาจำได้แม่นก็คือ “ประเทศของผมตกอยู่ในสงคราม” และ “พ่อของผมเป็นทหาร”

พ่อของทวีสุขเป็นหนึ่งในทหารลาวที่เข้าร่วมกับกองทัพอเมริกัน เมื่อถึงวันที่อเมริกาถอนทหารของตนออกไป ชะตากรรมของครอบครัวจึงตกอยู่ในอันตรายครั้งใหญ่ พ่อถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์จับไปขัง (และทุกคนคิดว่าพ่อคงตายแน่แล้ว) บ้านถูกทหารแวะเวียนมารื้อค้นบ่อยครั้ง เพื่อนบ้านไม่กล้าคบหา (เพราะเกรงจะพลอยซวยติดร่างแหไปด้วย) ทวีสุขเอง แม้ตอนนั้นจะยังเด็ก แต่ก็ถูกทหารเรียกตัวไปสอบสวนและข่มขู่อยู่หลายครั้ง

สุดท้ายแม่จึงตัดสินใจแทนทุกคนว่า หากยังรักที่จะมีชีวิต ก็จำต้องหลบหนีไปยังแผ่นดินอื่น

ทวีสุข ในฐานะที่เป็นลูกชายคนโต ถูกส่งตัวนำร่องไปก่อน ตอนนั้นเขาอายุเพียง 13 ปี “ตอนที่ผมไปถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง ฟ้าเริ่มมืดแล้ว...ผมหยิบโคลนขึ้นมากำหนึ่ง วิงวอนขอให้แม่พระธรณีปกป้องผม...จากนั้นผมกลั้นหายใจ สิ่งที่รอผมอยู่อาจเป็นชีวิตใหม่หรือความตายก็ได้ทั้งนั้น...ผมถอดเสื้อผ้าออก เป่าถุงพลาสติกให้พองเพื่อใช้พยุงตัวข้ามแม่น้ำ ปล่อยชีวิตให้ล่องไปตามกระแสแห่งลำน้ำโขง ผมยินดีที่จะตายแล้วเป็นอาหารของปลา คงดีเหมือนกัน...คงสงบสุขเสียยิ่งกว่า ถ้าปล่อยตัวให้จมดิ่งลงอย่างช้าๆ ตายก็คือตาย ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”

ทวีสุขรู้สึกตัวอีกทีในเช้าวันถัดมา “ผมลืมตาขึ้นมา เห็นหญิงชราคนหนึ่งก้มมองดูผมอยู่ ผมพบว่าตัวเองอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขง และที่สำคัญ ผมยังไม่ตาย”
เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ใช้ชีวิตเยี่ยงเด็กเร่ร่อนนานถึง 2 ปี รอจนกระทั่งแม่และพี่น้องที่เหลือหลบหนีมายังฝั่งไทยได้สำเร็จ จึงเข้ามอบตัวกับทางการไทย

ครอบครัวพระสวัธถูกนำตัวไปไว้ยังค่ายผู้อพยพ และในเวลาต่อมาก็ต้องตัดสินใจเลือกว่า จะลี้ภัยไปยังแผ่นดินไหน “เราเลือกได้ว่าจะไปฝรั่งเศส แคนาดา หรือออสเตรเลีย แต่สุดท้ายเราเลือกอเมริกา เพราะแม่บอกว่า พ่อเคยทำงานให้อเมริกา รัฐบาลอเมริกันจึงน่าจะดูแลเราดีกว่าที่อื่น”

นอกจากนั้น เสียงร่ำลือถึงอเมริกาแดนสวรรค์ที่เคยได้ยินใครๆ เล่าขานกันมา ยังทำให้แม่ของเขาตัดสินใจเลือกได้ไม่ยาก “พวกเขาบอกว่า ‘ถ้ามาไกลถึงอเมริกาได้ อีกก้าวเดียวเราก็จะถึงสวรรค์แล้ว’ ชีวิตจะสนุกสนาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทุกคนต่างพูดว่า อเมริกาห่างจากสวรรค์แค่ก้าวเดียว”

อย่างไรก็ตาม พลันที่เดินทางถึงอเมริกา ทุกคนก็ได้ตระหนักว่า ความเป็นจริงนั้น ช่างแตกต่างกันอย่างลิบลับกับสิ่งที่พวกเขานึกฝันไว้ ครอบครัวพระสวัธ –ซึ่งมีกันถึงสิบกว่าชีวิต- ถูกจัดให้อยู่ในห้องเช่าผุพังเล็กๆ ในย่านบรูคลิน กรุงนิวยอร์ก โดยที่รัฐบาลอเมริกันที่พวกเขาคิดจะฝากชีวิตไว้ ไม่ได้ให้การช่วยเหลือใดๆ มากนัก

ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างอัตคัด ทั้งยังต้องสุ่มเสี่ยงกับอาชญากรสารพัดแก๊งที่ผุดขึ้นรอบตัว เหนืออื่นใด ที่เลวร้ายที่สุด คือ การที่น้องๆ ของทวีสุขเติบโตขึ้นโดยหลงลืมรากเหง้าความเป็นลาวของตนแทบจะทั้งหมด

เด็กๆ ต้องการโลกส่วนตัว เด็กผู้ชายออกไปคบหาสมาคมกับพวกเด็กแก๊ง เด็กผู้หญิงไม่คุ้นชินกับการที่ต้องหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน พวกเธอปรารถนาเสรีภาพในการคบเพื่อนชาย แม่ –ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้- กลายเป็นบุคคลน่าหัวร่อที่ลูกๆ ไม่เห็นความจำเป็นต้องให้ความเคารพ

ทวีสุข ในฐานะที่ต้องรับบทเสาหลักครอบครัวแทนที่พ่อซึ่งหายไป รับไม่ได้กับเรื่องแบบนี้ ตอนหนึ่งเขาเปิดเผยความรู้สึกของตนอย่างฉุนเฉียว “ไม่ใช่ว่าผมไม่เคารพแผ่นดินนี้ อเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เพียงแต่เด็กพวกนี้ไม่เคยรู้ว่า ในอดีตเราต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหน อยู่ลาวยังดีกว่าอยู่ที่นี่ มาอยู่อเมริกามีแต่ความเสียหาย ถ้าผมรู้ ผมจะไม่มาเหยียบที่นี่เลย”

จุดเด่นของ The Betrayal ประการแรกสุด คือ การที่มันสะท้อนให้ผู้ชมเห็นปัญหาของชาวลาวอพยพ –ผ่านครอบครัวพระสวัธ- ได้อย่างคมคายและครอบคลุม (คูราสเก็บรวบรวมภาพและเนื้อหานานถึง 20 ปีเศษ) หนังไม่เพียงแสดงให้เห็นปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญทุกวี่วัน ทว่ายังนำเสนอความรู้สึกเบื้องลึกของคนเหล่านี้ ในการที่ต้องมาใช้ชีวิตบนแผ่นดินที่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของ ทั้งยังถูกตราหน้า –ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม- ว่าเป็นแค่พลเมืองชั้นสองที่เข้ามาเบียดบังเจ้าของแผ่นดินเดิม

นอกจากนั้น ที่ถือเป็นเสน่ห์สำคัญของหนัง ก็คือ จังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง ซึ่งคูราสเลือกใช้ท่วงทำนองที่แช่มช้า ทว่างดงาม ความหนักหน่วงของเนื้อหาและภาพถูกลดทอนลงและทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง ด้วยการเปรียบเปรยถึงมันผ่านเรื่องเล่าที่เป็นคล้ายๆ นิทานปรัมปราหรือคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่

เช่น คราวที่ครอบครัวของทวีสุขถูกจับไปไว้ที่ค่ายผู้อพยพในประเทศไทย หนังสะท้อนความรู้สึกของทุกคนผ่านเรื่องเล่าที่ว่า “เมื่อเวลานั้นมาถึง เวลาที่พวกเราชาวลาวได้เดินทางไปยังดินแดนแห่งคำสัญญา แต่ก่อนจะไปถึงดินแดนแห่งคำสัญญาแห่งนี้ บางคนจะหายสาบสูญ และบางคนจะหลงทาง ก่อนจะไปถึงดินแดนแห่งนั้น ทุกคนจะได้พักที่ศาลาพันห้อง และในศาลาพันห้องนั้น กลางวันจะเป็นกลางคืน มืดมัวไร้แสง มันจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสถานที่ระหว่างนรกและสวรรค์”

เรื่องเล่าเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดด้วยสุ้มเสียงของสตรีที่เราไม่รู้จักชื่อ น้ำเสียงของเธออ่อนโยน เนิบช้า และถ้อยคำที่เธอเลือกสรรมาใช้ก็ลึกซึ้งสละสลวยราวบทกวี ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับดนตรีประกอบฝีมือ ฮาเวิร์ด ชอร์ (ไตรภาค The Lord of the Rings ก็ส่งผลให้หนังมีบรรยากาศเศร้าสร้อยห่อหุ้มปกคลุมโดยตลอดทั้งเรื่อง

เหนืออื่นใด ที่ถือว่าเด็ดขาด และเป็นที่สุดแห่งที่สุดของ The Betrayal คือ การที่หนังนำคำว่า ‘เนรคุณ’ มาใช้ในหลายลักษณะ

อเมริกาที่เฉดหัวส่งทหารลาวซึ่งต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่อย่างภักดี ทั้งยังไม่แม้แต่จะยอมรับว่า นายทหารเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริง - ลูกๆ ที่ทันทีที่ปีกกล้าขาแข็ง ก็แสดงอาการแข็งกร้าวต่อแม่ผู้ตรากตรำเลี้ยงดูมาโดยตลอด - สามีที่ทรยศภรรยาและลูกๆ ที่เฝ้ารออย่างซื่อสัตย์ ฯลฯ

ไม่ว่าใครจะมีเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตัวเองอย่างไร ทว่าสุดท้าย การทรยศ ก็คือ การทรยศ

และผู้ที่ทรยศต่อความจงรักภักดีของผู้อื่น ถีบหัวส่งทันทีที่คนผู้นั้นหมดคุณค่า – อย่างนั้นเขาเรียกว่า เนรคุณ!
กำลังโหลดความคิดเห็น