โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
โดยส่วนตัว ผมไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรโดยตรงเลยกับเหตุการณ์เดือนตุลา (ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19) เพราะตอนนั้น ผมยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี เมื่อเติบโตขึ้นมา ผมกลับพบว่า เรื่องราวของ “เดือนตุลา” ได้เข้ามามีพื้นที่ในสมองของผมเยอะพอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนงานเขียนแง่คิดของ “คนเดือนตุลา” อย่าง อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (นักเขียนในดวงใจของผมคนหนึ่ง) นั้น เรียกได้ว่าเป็นเสาหลักทางความคิดของผมได้ในหลายๆ ห้วงจังหวะของชีวิตเลยทีเดียว (ผมอยากจะบอกอาจารย์จังเลยครับว่า งานเขียนของอาจารย์นั้นยิ่งใหญ่มาก ยิ่งอ่านยิ่งได้มุมมอง และผมก็หยิบมาอ่านใหม่ได้เรื่อยๆ ทุกๆ เล่ม ทั้งๆ ที่อ่านไปแล้วหลายรอบ...ถ้า เป็นเอก รัตนเรือง บอกว่าอยากกราบตีน อ.ไชยันต์ ไชยพร เพราะความเก่งของท่าน ผมก็อยากกราบเท้า อ.เสกสรรค์ ด้วยเหตุผลประมาณนั้นเช่นเดียวกัน)
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ไม่ได้ร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาในเดือนตุลา แต่ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ยึดโยงผมไว้ให้สัมผัสกลิ่นอาย “คืนวันเหล่านั้น” ได้บ้าง (โดยเฉพาะบทประพันธ์ของ อ.เสกสรรค์ยุคแรกๆ ที่มักจะแทรกแง่มุมทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้อย่างลึกซึ้ง) และลึกๆ ผมนึกชื่นชม “คนเดือนตุลา” ในความหาญกล้าของพวกเขา ก่อนที่พวกเขาจะกลายมาเป็น “น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” อย่างที่เห็นเช่นในปัจจุบัน...
ครับ, นี่ไม่ใช่คอลัมน์การเมือง แต่เพราะหนังเรื่องที่ผมกำลังจะเขียนถึง มันมีสิ่งที่พาดพิงเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในวันวิปโยค 6 ตุลา 2519 ดังนั้น แม้ว่าช่วงนี้จะมีหนังไทยหลายๆ เรื่องที่น่าพูดถึงเขียนถึง เช่น รักต่างพันธุ์, Super แสบแหบสะบัด ที่ต่างก็เข้าฉายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ “ฟ้าใส...ใจชื่นบาน” ก็ดึงความสนใจของผมได้อย่างรวดเร็ว เพียงเพราะพล็อตเรื่องของหนังที่บอกว่า นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ประวัติศาสตร์เลือดที่ไม่มีใครอยากจดจำ
แน่นอนที่สุด ความกังวลใจแรกที่เกิดขึ้น (คงไม่เฉพาะกับผม แต่อาจจะรวมถึงทุกๆ คน) ก็คือ คนทำจะทำหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างไร เพราะประวัติศาสตร์หน้านี้ ว่าอันที่จริง มันคือร่องรอยแห่งบาดแผลและความเจ็บปวดรุนแรงที่แม้แต่คิดถึง ก็ไม่มีใครพึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ต้องนับเป็นความเข้าอกเข้าใจของทีมผู้สร้างที่ไม่ได้เข้าไป “แตะ” อะไรในส่วนที่เป็น “ประวัติศาสตร์” มากมาย ว่ากันอย่างถึงที่สุด แม้หนังเรื่องนี้จะหยิบยืม “ช่วงเวลา” หรือซีนเศร้าๆ บางซีนของเหตุการณ์มาใส่ไว้ในเนื้องาน แต่ภาพบรรยากาศโดยรวมกลับดำเนินไปด้วยอารมณ์ชื่นมื่นมาก และผมก็กำลังจะบอกว่า นี่ไม่ใช่หนังประเภทที่ดูแล้วหน้าดำคร่ำเครียดหรือต้องซีเรียสตีความแต่อย่างใด หรือถ้าจะพูดให้ถูกมากยิ่งขึ้นก็คือ มันเป็นหนังตลกที่เนื้อเรื่องแต่งขึ้นมาโดยอาศัยช่วงเวลาวันที่ 6 ตุลา 19 เป็นจุดเกิดเหตุ
“ฟ้าใส...ใจชื่นบาน” คือผลงานการสร้างของค่ายหนังน้องใหม่ที่เรียกตัวเองว่า RMD โดยการกำกับของ “เกริกชัย ใจมั่น” กับ “นภาภร พูลเจริญ” สองโปรดิวเซอร์และผู้กำกับการแสดงแห่งรายการทีวีขวัญใจชาวบ้านอย่าง “จ้อจี้” และ “คดีเด็ด” (อันที่จริง พวกเขา-หนึ่งสาว หนึ่งหนุ่ม-เป็นผู้คุมเบื้องหลังรายการทีวีมาแล้วหลายแห่ง)
ยังไม่ต้องไปพูดถึงตัวหนัง สิ่งแรกที่ผมคิดว่าคนดูน่าจะยอมรับได้ไม่ยากก็คือ ความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาของผู้กำกับทั้งสองคนที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะทำหนังเรื่องนี้ออกมาในแบบตลกๆ ซึ่งมันก็ตลกจริงๆ คนดูได้ขำแน่ๆ แต่จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ “ความลึก-ความตื้น” ของ “เส้น” ของแต่ละคน (ผมว่า บางที นี่ต่างหากที่สำคัญ เพราะอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะทำหนังดีเลิศประเสริฐศรียังไง เอาแค่คุณธรรมพื้นฐานคือความจริงอกจริงใจตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปว่ากันอีกทีว่าหนังดีหรือไม่ดี คือไม่ใช่ว่า หน้าหนังเป็นแบบหนึ่ง โฆษณาเป็นอีกอย่าง แล้วตัวหนังจริงๆ ที่ออกมาก็ไปกันคนละทิศละทาง อันนี้ ไม่ได้แขวะใครนะครับ ผมเพียงแค่พูดถึงทิศทางของ “ความน่าจะเป็น” บางอย่างเท่านั้นเอง)
เหมือนๆ กับจะบอกว่า ในช่วงเวลา “คับขัน” ก็ยังมีบางแง่มุมที่ “ขำขัน” เรื่องราวหลักๆ ของ “ฟ้าใส...ใจชื่นบาน” เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตุลาวิปโยคผ่านพ้นไปได้ 3 เดือน ขณะที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งเก็บสัมภาระเข้าป่าแบกปืนยืนสู้ร่วมกับเหล่ามิตรสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเขา หนังเล่าถึงชายหนุ่ม 4 คนที่เกิดความคิดอุตริขึ้นมาว่าอยากไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา แต่เหมือนฟ้าดินกลั่นแกล้ง พวกเขาดันตกกระไดพลอยโจนและพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนพ้องน้องพี่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ และนั่นก็คือที่มาของเหตุการณ์ขำๆ ฮาๆ ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักระหว่าง “เม็ดทราย” (ร่มฉัตร ขำสิริ) หญิงสาวเจ้าอุดมการณ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์กับ “ก้อง” (พิชญะ วัชจิตพันธ์) บุตรชายนายทหารชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งซึ่งเข้าป่าเพื่อ “ปราบคอมมิวนิสต์”
ฟังๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องซีเรียส แต่ความจริงไม่เครียดเลยครับ โดยเฉพาะการได้นักแสดงตลกมาเป็นส่วนขับเคลื่อนเรื่องราว ก็ทำให้หนังมีทิศทางชัดเจน (คือช่วยขับเน้นความเป็นหนังตลก) และแต่ละคนก็ถือว่าเล่นได้มาตรฐานงานตลก ทั้ง “ค่อม ชวนชื่น” (ช่วงนี้ ดูเหมือนคิวคุณจะฮอตมากเลยนะ เพราะนอกจากเรื่องนี้ ก็ยังมีไปโผล่ใน “โหดหน้าเหี่ยว” อีกเรื่อง รวยเละ หรือเปล่า?? หึหึ) รวมไปจนถึง “อ่าง เถิดเทิง” ที่ไม่ได้มาพร้อม “ตลกสังขาร” เพียงอย่างเดียว แต่มียิงมุกนั่นนี่ให้ได้ขำอยู่เป็นระยะๆ เสริมด้วย “ใหญ่-ฝันดี จรรยาธนากร” ที่มาในมาดตลกหน้าตาดี
พ้นไปจากนี้ สิ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ รายละเอียดบางอย่างที่หนังใส่เข้ามา ซึ่งผมคิดว่า ถึงแม้มันจะไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างเข้มข้น แต่ก็น่าจะทำให้หลายๆ คนนึกย้อนไปถึง “คืนวันอันเก่าก่อน” สมัยที่ตัวเองวิ่งหลบกระสุนในป่าลึกได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างคำว่า “สหาย” รวมไปจนถึงบทเพลงฮิตๆ ในยุคตุลาเลือดอย่างเพลง “เพื่อมวลชน” (จำกันได้หรือเปล่าที่ร้องว่า...ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบิน ไปให้ไกล ไกลแสนไกล...)
ไม่ว่าจะอย่างไร แม้จะเข้าอกเข้าใจได้ว่า การเข้าไปดูหนังตลก ก็เพื่อจะได้ขำ (ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้ขำจริงๆ) แต่ก็มีบางสิ่งบางจุดที่ผมขอตั้งสังเกตก็คือ หนังเรื่องนี้ หลักๆ แบ่งเป็นออกเป็นสองส่วน (Part) ใหญ่ๆ ก็คือ ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องฮาป่าของสี่สหายที่มากมายด้วย “อุดมเกิน” กับส่วนที่เกี่ยวกับความรักของคู่พระนาง อย่างไรก็ตาม วิธีการเล่าเรื่องของหนังดูจะยังไม่สามารถผสมผสานสองส่วนนี้ให้เข้ากันได้อย่างกลมกล่อมและกลมกลืนเท่าที่ควร และหนังก็เลือกเล่าแบบแยกส่วน คือ ส่วนที่ขำไว้ช่วงหนึ่ง (ซึ่งก็คือช่วงเวลาราวหนึ่งชั่วโมงแรก) แล้วค่อยพาผู้ชมไปมองดูความรักของพระเอกนางเอกในตอนหลัง สิ่งนี้มันทำให้เกิดความรู้สึกตัดขาดออกจากกันมากเกินไป ซึ่งในมุมมองของผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขำๆ หรือความรักระหว่างคู่พระนาง หนังสามารถบอกเล่าทั้งสองมุมนี้ไปพร้อมๆ กันได้
แต่เอาล่ะ นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไร เพราะว่ากันอย่างถึงที่สุด หนังก็สามารถบอกเล่าทั้งสอง Part นี้ได้สมความตั้งใจ และเหนืออื่นใด ยังมีเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ที่ผมคิดว่า หนังอาจจะต้องแบกรับอยู่บ้างก็คือ เสียงจากคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนดูที่เคยผ่านพ้น “เหตุการณ์จริง ณ วันนั้น” มา ว่า จะรับได้มากน้อยแค่ไหนกับสิ่งที่หนังเรื่องนี้พรีเซ็นต์ออกมา (แน่นอน มันเป็นเรื่องที่ “อ่อนไหว” อย่างไม่อาจปฏิเสธ)
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในมุมมองของผม ผมเห็นว่าหนังก็สามารถตอบโจทย์ของตัวมันเองอย่างเต็มที่แล้วในการเป็นหนังตลกที่เพียงแค่ใช้ช่วงเวลาเกิดเหตุคาบเกี่ยวกับยุค 6 ตุลา ดังนั้น ก็อย่าได้ไปคาดหวัง “ความสมจริง” จริงจังอะไรมาก หนังนำเสนอแบบนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์แบบนั้นมันไม่ได้มีแค่เรื่องเครียดๆ อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องขำๆ แทรกอยู่ด้วย ซึ่งคนทำเขาก็บอกไว้ว่าได้ศึกษาหาข้อมูลมาแล้วก่อนที่จะเขียนบท อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ ผมนึกไปถึงเรื่องราวบางเรื่องที่ อ.เสกสรรค์ เขียนไว้ในหนังสือของท่านที่เราอ่านแล้วก็..อืมม..มันไม่ได้มีแค่เสียงปืนหรือเสียงตวาดของอุดมการณ์อย่างเดียวนะในสนามรบน่ะ เพราะเรื่องราวความรักเอย หรือเรื่องชวนหัวเอย ก็งอกเงยขึ้นมาในสถานการณ์เช่นนั้นได้เช่นกัน (แต่จริงๆ เรื่องราวในหนัง ว่าฮาแล้ว ผมว่าในชีวิตจริง ก็ฮาไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็ดูสิครับ เดี๋ยวนี้ “คนเดือนตุลา” หลายๆ คนกำลัง “เล่นตลกบื้อตาใส” ให้เราดูด้วยการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่าใครดีใครโกงซะงั้นแหละ หรือว่าไม่จริง?)
และอย่างมากที่สุดที่ผมเห็นว่าเป็นคุณูปการของหนังเรื่องนี้ก็คือ มันอาจจะสะกิดให้คนบางคนที่ได้ดูเกิดประกายความอยากรู้ หรือกระทั่งอยากจะเข้าไปสืบค้นทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์หน้านี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นเตือนสติให้เราได้เหมือนกันว่า เหตุการณ์ทำนองนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก)
นั่นทำให้ผมนึกไปถึงตอนที่ท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทำหนัง สุริโยไทย ที่แม้จะเข้มข้นจริงจังด้วยแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ แต่ท่านก็ไม่ได้บอกนะครับว่า ดูหนังเรื่องดังกล่าวแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปอ่านประวัติศาสตร์กันอีก สรุปก็คือว่า “ฟ้าใส...ใจชื่นบาน” ดูเอาความสำราญได้เต็มที่ครับ แต่คนไทย อย่างไรเสีย ก็ยังคงต้องอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์กันต่อไป...