xs
xsm
sm
md
lg

Burn After Reading : นี่มันเรื่องบ้าอะไรเว้ยเฮ้ย !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

หลังจากคว้าตุ๊กตาทองไปสองตัวใหญ่ๆ (ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม+ผู้กำกับยอดเยี่ยม) เมื่อหลายเดือนก่อน จาก No Country for Old Men สองพี่น้องตระกูลโคเอ็นก็กลับมาอีกวาระกับ Burn After Reading หนังตลกร้ายเจ็บปวดหัวใจที่ยังคงเอกลักษณ์ลายเซ็นแบบ Coen Brothers ไว้อย่างครบถ้วน...

ก้าวแรกของเรื่องราวใน Burn After Reading เปิดฉากขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ซีไอเอ สหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์ข้อมูลชื่อ “ออสบอร์น ค็อกซ์” (จอห์น มัลโควิช) กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติอย่างหนักหนาสาหัส เพราะไม่เพียงแค่เขาจะถูกเจ้านายสั่งให้ออกจากงานอย่างงงๆ โดยไม่ทันได้ตั้งตัวแล้ว ฝ่ายภรรยาของเขา (เคธี่ รับบทโดย ทิลดา วินสตัน) ก็กำลังสวมเขาให้กับค็อกซ์อย่างเงียบๆ ด้วยการแอบไปเล่นชู้กับ “แฮร์รี่ ฟาร์เรอร์” (จอร์จ คลูนี่ย์) นายทหารคนหนึ่งซึ่งก็มีครอบครัวแล้วเช่นกัน

ยัง...ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะต้นตอแห่งความปั่นป่วนในหนังเรื่องนี้ยังมีตัวละครสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราวอีกสองคนคือ แช้ด เฟลด์ไฮเมอร์ (แบรด พิทท์) และ ลินดา ลิทซ์เก้ (ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์) สองพนักงานโรงยิมย่านชานกรุงวอร์ชิงตัน ดีซี และเรื่องราวอันน่าปวดเศียรเวียนเกล้าคงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเพียงแต่แช้ดกับลินดาจะไม่ได้จ๊ะเอ๋เข้ากับแผ่นดิสก์แผ่นหนึ่งซึ่งบรรจุข้อมูลลับสุดยอดของออสบอร์น ค็อกซ์ ที่กลายมาเป็นต้นทางของเรื่องยุ่งๆ อีกมากมายในเวลาต่อมา

เหมือนผลงานชิ้นก่อนหน้าหลายๆ เรื่องของพี่น้องตระกูลโคเอ็น ความโดดเด่นของ Burn After Reading อยู่ที่เรื่องราวอันซับซ้อนของตัวละครที่แม้จะอยู่กันคนละทิศคนละทาง แต่ก็ต้องมาเกี่ยวข้องผูกร้อยกันเป็นลูกโซ่กันอย่างไม่คาดคิด (ชนิดที่คนดูหรือแม้แต่ตัวละครในเรื่องอาจจะต้องหลุดคำอุทานออกมาโดยไม่รู้ตัวว่า “เว้ยเฮ้ย มันเป็นไปได้ไงเนี่ย!!”) พร้อมกับเฉลี่ยความเจ็บปวดไปคนละอย่างสองอย่างในตอนท้าย

แน่นอนครับ ผมเชื่อว่า คนที่ติดตามผลงานของพี่น้องคู่นี้ (โจเอล-อีธาน โคเอ็น) มาอย่างต่อเนื่อง คงจะไม่ประหลาดใจสักเท่าไหร่กับพล็อตทำนองนี้ที่พูดถึงจุดเล็กๆ หรือเรื่องเล็กๆ บางเรื่องก่อนจะทำให้เราเห็นถึงผลพวงที่แผ่ขยายลุกลามจากจุดเล็กๆ หรือเรื่องเล็กๆ ที่ว่านั้น ซึ่งอันที่จริง พล็อตทำนองนี้ จะว่าไป ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้วสำหรับคนดูหนัง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายปีมานี้ มันมีหนังที่เล่นกับแง่มุมแบบนี้มาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง Babel เอย elevenforteen หรือ 11.40 น.เอย หรือแม้กระทั่ง Before the Devil Know You are Dead ก็มีประเด็นแบบนี้ให้มองเห็นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ขณะที่โลกภาพยนตร์อาจจะเพิ่งมาตระหนักถึงผลพวงแบบ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ Butterfly Effect เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (อย่าง Babel ของผู้กำกับกอนซาเลซ อินาร์ริทู ก็แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าได้อิทธิพลมาจากแรงเหวี่ยงของภาวะโลกาภิวัตน์ของยุคสมัยใหม่ที่สรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน แม้จะอยู่ห่างคนละขั้วโลก) แต่ทว่าพี่น้องตระกูลโคเอ็นกลับเคยพูดประเด็นแบบนี้ไว้เป็นสิบๆ ปีแล้ว อย่างน้อยที่สุด งานชิ้นแรกๆ ของพวกเขาอย่าง Fargo (ปี 1996) หรือแม้กระทั่ง O Brother, Where Art Thou? (ปี 2000) ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า พี่น้องตระกูลโคเอ็นคิดเรื่องทำนองนี้ได้ตั้งนานแล้ว ก่อนจะกลายเป็น “แนวทางที่ถนัด” สำหรับพวกเขาไปโดยปริยาย

ดังนั้น หากจะพูดถึง “ความสดใหม่” ในหนังของพี่น้องคู่นี้ จึงไม่น่าจะใช่เนื้อหา (Content) หากแต่เป็นเรื่องราว (Story) ที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่เพื่อรับใช้เนื้อหาเดิม (แต่อาจจะมียกเว้นบ้างใน No Country for Old Men ที่นอกจากจะแตะประเด็นเกี่ยวกับความยุ่งยากหรือสูญเสียที่งอกตัวมาจากกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์เหมือนกับหนังทุกๆ เรื่องของพวกเขาแล้ว มันยังโยงใยไปถึงการล้มหายตายจากไปของวัฒนธรรมเก่าๆ ที่ถูกแทนที่ด้วยคัลเจอร์ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนนี้ สันนิษฐานว่า แรงหนุนหลักๆ น่าจะมาจากต้นฉบับนวนิยายของคอร์แม็ค แม็คคาร์ธี่ ซึ่งพี่น้องโคเอ็นหยิบยืมมาแปลงร่างเป็นบทหนัง)

อย่างไรก็ตาม แม้ในส่วนของ Content หรือ Theme ของหนัง จะยังดิ้นอยู่ในกรอบเดิมๆ ที่สลัดไม่หลุดจากงานชิ้นก่อนๆ มากนัก เหมือนเป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องราวที่พวกเขาสองพี่น้องคิดกันขึ้นมาใหม่นั้นสามารถเรียกความสนใจจากคนดูได้เสมอๆ และหากไม่นับรวมมุกตลกร้าย (Black Comedy) ที่แจกจ่ายให้กับผู้ชมอย่างเสมอต้นเสมอปลายแล้ว Turning Point หรือการหักมุมแบบพลิกล็อกเหนือความคาดหมาย ซึ่งทยอยเปิดเผยออกมาตามจุดต่างๆ ของเนื้อเรื่อง ก็ถือเป็นจุดแข็งอีกจุดที่อุ้มชูให้ผลงานของ Coen Brothers รักษาระดับ “ความน่าดู” ไว้ได้มาโดยตลอด

สรุปก็คือ เรายังไม่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ใน Burn After Reading โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงว่า บทของลินด้า ลิทซ์เก้ หรือแม้แต่ แช้ด เฟลด์ไฮเมอร์ แท้ที่จริงก็คือ ลูเวลลีน มอสส์ ใน No Country for Old Men ที่อยากได้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ควรจะได้ และออสบอร์น ค็อกซ์ ก็คือ แอนตัน ไชการ์ (ในเรื่อง No Country Old Men อีกเช่นกัน) ที่สูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวและต้องตามไปเอาคืน (นั่นยังไม่ต้องพูดถึงการใส่ซาวน์จังหวะลุ้นระทึกแบบหนัง Murder ก็ยิ่งทำให้คิดถึงตอนที่แอนตัน ไชการ์ ตามล่าลูเวลลีน มอสส์ เข้าไปใหญ่)

และสุดท้าย ไม่ว่าหนังจะพาเราเดินทางผ่านความซับซ้อนของเรื่องราวมากมายแค่ไหน แต่หากสังเกตให้ดี ผมคิดว่า เนื้อหาทั้งหมดมันถูกตอบอย่างหมดจดแล้วตั้งแต่ชื่อเรื่อง เพราะหากลินดาและแช้ดจะเพียงแค่ “อ่าน” (Reading) ข้อมูลลับของออสบอร์น ค็อกซ์ แล้ว “กำจัดทิ้ง” หรือ “เผาทิ้ง” (Burn) ซะ ความยุ่งยากต่างๆ ก็ไม่น่าจะตามมาอย่างที่เห็น

เรื่องบางเรื่อง รู้แล้ว ลืมได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะถ้าขืนดื้อดึงไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะเละตุ้มเป๊ะอย่างคาดไม่ถึง...
กำลังโหลดความคิดเห็น