xs
xsm
sm
md
lg

You, the Living : พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


รอย แอนเดอร์สสัน เคยมีหนังมาเข้าฉายในโปรแกรมปรกติในบ้านเราเรื่องหนึ่ง คือ Songs from the Second Floor

ดิฉันไม่ได้ดูหนังเรื่องดังกล่าว แต่สอบถามเพื่อนที่ดูแล้วสรุปความได้ว่า มันเป็นหนังที่ ‘เย้ยหยัน’ และ ‘แสบสันต์’ เป็นหนังมึนๆ ที่ผองเพื่อนของดิฉันให้ความเห็นว่า “ไม่เข้าใจทั้งหมดหรอกนะ แต่...โคตรชอบเลยว่ะ!”

ประวัติโดยสังเขปของรอย แอนเดอร์สสัน คือ เขาเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1943 ที่เมืองกอเธนบัวร์ก ประเทศสวีเดน จบการศึกษาจากสถาบันภาพยนตร์สวีดิชในปี 1969 ปีถัดมาเขามีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรก ชื่อ A Swedish Love Story ซึ่งไปคว้ารางวัลพิเศษจากเทศกาลหนังเบอร์ลินถึง 4 ตัว และยังได้รับรางวัลกุลด์บักก์ –ซึ่งถือเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์สวีเดน- ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเอาดีทางงานสายภาพยนตร์ต่อ แอนเดอร์สสันกลับผันตัวไปทำหนังโฆษณาแทน ข้อมูลใน wikipedia.com ระบุว่า ในช่วงเวลาเกือบ 40 ปีนับตั้งแต่นั้นจนกระทั่งปัจจุบัน เขากำกับหนังโฆษณารวมแล้วร่วม 400 เรื่อง ทุกเรื่องล้วนเด็ดสะระตี่และเป็นที่จดจำของผู้ชมอย่างกว้างขวาง ครั้งหนึ่ง อิงก์มาร์ เบิร์กแมน บรมครูแห่งวงการภาพยนตร์ชาวสวีเดน ถึงกับออกปากชมเปราะว่า หนังโฆษณาฝีมือรอย แอนเดอร์สสันนั้น “ถือเป็นหนังโฆษณาที่ดีที่สุดในโลก”

คงเพราะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทุ่มให้หนังโฆษณาเสียหมด ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวของแอนเดอร์สสันจึงมีอยู่น้อยมาก คือ เพียง 4 เรื่องเท่านั้น (A Swedish Love Story, Galiap, Songs from the Second Floor และ You, the Living)

You, the Living เป็นผลงานกำกับล่าสุดของเขา หนังออกฉายในปี 2007 ห่างจากเรื่องก่อน คือ Songs from the Second Floor ถึง 7 ปีเต็ม

หนังมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วย เสียงตอบรับของผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เคยชื่นชอบ Songs from the Second Floor มาก่อนแล้ว บางคนให้ความเห็นว่า หากเปรียบเทียบกันระหว่างทั้งสองเรื่อง You, the Living ยังไม่แสบและสะใจเท่า

You, the Living เป็นหนังที่ไม่มีโครงเรื่องเนื้อหาเป็นเรื่องเป็นราวให้จับต้อง หนังเพียงแต่หยิบยก ‘ฉากหนึ่งในชีวิต’ ของหลากหลายผู้คนซึ่งแทบไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กัน มาบอกเล่าต่อๆ กันไป โดยที่แต่ละเหตุการณ์ไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน และเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่ออีกเหตุการณ์หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทุกเหตุการณ์ที่หนังจับมาเล่าล้วนมีจุดร่วมประการหนึ่ง กล่าวคือ มันพูดถึงมนุษย์ที่กำลังเป็นทุกข์ กลัดกลุ้ม งุ่นง่าน หงุดหงิด กับสถานการณ์บางอย่างในชีวิตของตนทั้งสิ้น

เด็กสาววัยรุ่นว้าวุ่นใจเพราะไปหลงรักนักร้องเพลงร็อกคนหนึ่ง แต่เขาไม่มีทีท่าว่าจะรู้สึกอย่างเดียวกันตอบ

ชายสูงวัยหงุดหงิดรำคาญเหลือกำลังที่นักดนตรีที่อาศัยอยู่ชั้นบนขยันซ้อมอยู่นั่น จนเสียงดนตรีแผดดังลอดมาถึงห้องพักของตน

หญิงอ้วนตัดพ้อถึงชีวิตที่ไม่น่าพึงพอใจของตน โดยที่ตัวเองก็หาสาเหตุไม่ได้ว่ามันขาดพร่องในส่วนใดและไม่น่าพอใจตรงไหน

ชายคนหนึ่งฝันร้ายว่าตนกระทำความผิด และถูกศาลตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า วันรุ่งขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมา เขาก็ร้องไห้ร้องห่มต่อว่าต่อขานทำนอง “ใครกันนะที่ช่างใจร้าย ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์เหี้ยมโหดอย่างเก้าอี้ไฟฟ้าขึ้นมาได้!”

ครูสาวที่ปล่อยโฮต่อหน้าเด็กนักเรียน เพราะถูกสามีตัวดีเรียกว่า “นังแร้งทึ้ง!”
ฯลฯ

เหล่านี้คือเรื่องราวบางส่วนที่ปรากฏใน You, the Living และแม้หนังจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ทว่าท่าทีและวิธีการนำเสนอ –ที่ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องตลกขบขัน- ก็ดูเหมือนจะเป็นการบอกกล่าวกับผู้ชมอย่างอ้อมๆ ว่า ต้นเหตุแห่งความทุกข์ในทุกๆ เหตุการณ์นั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงเรื่องที่ไร้แก่นสาร หาสาระอันใดไม่ได้ ด้วยกันทั้งสิ้น

พูดอีกแบบก็คือ มนุษย์ในหนังของรอย แอนเดอร์สสันเรื่องนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทั้งน่าเวทนาและน่าขันไปพร้อมๆ กัน เราวิตกกังวลกับปัญหาที่ไม่อาจแก้ไข โกรธเกรี้ยวกับเรื่องเล็กน้อยขี้ประติ๋ว หวาดกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงและอาจไม่แม้แต่จะเกิดขึ้น

ร้ายที่สุด บ่อยครั้งเรากลัดกลุ้มเป็นทุกข์เสียมากมาย โดยที่ตอบตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เราทุกข์ด้วยเรื่องใดแน่

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันไม่คิดว่ารอย แอนเดอร์สสันจะทำหนังเรื่องนี้โดยมุ่งหมายจะเสียดสีเย้ยหยันความขลาดเขลาของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว ทว่าในขณะเดียวกัน เขาก็ส่งสารในเชิงปลอบประโลมและให้กำลังใจมนุษย์ผู้วิตกจริตไปพร้อมๆ กันด้วย

ถ้อยความในส่วนหลัง ปรากฏอยู่ในสองจุดใหญ่ๆ

หนึ่งคือ ข้อความตัวหนังสือตอนต้นเรื่องที่ว่า “จงพึงใจเถิด...พวกเจ้าเหล่ามนุษย์ ในเตียงอันอบอุ่นของเจ้า ก่อนที่คลื่นน้ำแข็งแห่งลำน้ำลีธี* จะโลมเลียฝ่าเท้าของเจ้าที่กำลังเคลื่อนขยับถอยหนี”

และอีกหนึ่งคือคำพูดประโยคหนึ่งที่ตัวละครหลายคนในเรื่อง พากันพูดมันออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง นั่นคือ “พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว”

ใครจะว่าอย่างไรไม่ทราบ แต่ดิฉันเอง ตีความข้อความทั้งสองว่า มันคือการบอกกับเราว่า จงตักตวงความสุขให้เต็มที่ขณะที่ยังมีโอกาส เพราะชีวิตนั้นแสนสั้น และความตายก็อาจมาเยือนโดยที่เราไม่คาดฝัน

ชาติหน้ามีจริงไหม-ไม่รู้ ใครจะได้เกิดใหม่หรือไม่-ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ โอกาสที่เราจะได้เป็นคนคนนี้...คนที่เราเป็นอยู่นี่ มีอยู่แค่ครั้งเดียวเท่านั้น

อาจจะดูเป็นสูตรสำเร็จอยู่สักหน่อย แต่ดิฉันก็เชื่อของดิฉันจริงๆ ว่า ความทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหากเรามีชีวิตโดยที่ไม่มีความทุกข์ มันก็เหมือนเรามีชีวิตที่ไม่ครบ

คำพูดที่ว่า “พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว” ใน You, the Living จึงเป็นเสมือนหนึ่งการตบหลังตบไหล่ปลอบใจ...

ไม่ว่าวันนี้จะทุกข์ร้อนสาหัสสักเพียงใด แต่พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันใหม่ และปัญหา เหตุขัดข้อง ความไม่สะดวกใจใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นแค่ ‘อีกเรื่องที่จะผ่านไป’ เท่านั้นเอง
...
* ลีธี (Lethe) เป็นชื่อแม่น้ำที่ปรากฏในเทพปกรณัมป์กรีก ตามตำนานบอกว่า มันเป็นแม่น้ำแห่งการลืมเลือนที่ตั้งอยู่ในยมโลก ดวงวิญญาณของผู้ที่ได้รับการพิพากษาแล้วว่าจะได้ไปเกิดใหม่ จะต้องดื่มน้ำจากลีธีเสียก่อน เพื่อลบล้างความทรงจำจากชาติภพที่แล้วให้หมดสิ้นไป




กำลังโหลดความคิดเห็น