xs
xsm
sm
md
lg

WALL•E หุ่นยนต์โรแมนติกพลิกวิกฤติโลก หนังดีๆ ที่มนุษยชาติต้องดู!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว แอนิเมชั่นกวนโอ๊ยเหลือรับประทานอย่าง The Simpsons Movie พาตัวเองเข้าไปคลุกวงในกับปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมสื่อสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากการกระทำอันไร้จิตสำนึกของมนุษย์ มาปีนี้ ผลงานแอนิเมชั่นใหม่เอี่ยมจากชายคาพิกซาร์อย่าง WALL•E ก็ไม่ยอมน้อยหน้า และดูท่าว่าจะ “ไปไกล” ยิ่งกว่าเดอะ ซิมป์สันส์หลายช่วงตัว ด้วยประเด็นเนื้อหาที่คาดการณ์ล่วงหน้าถึงวันที่โลกใบนี้ถึงจุดหายนะอย่างสมบูรณ์แบบชนิดที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” ไม่อาจอยู่อาศัยได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับครับว่า นี่คือหนึ่งในแอนิเมชั่นแห่งปีที่มีผู้คนรอชมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันนั้นก็มีคำทำนายล่วงหน้าจากหลายๆ คนแล้วว่า นี่อาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ค่ายหนังชื่อดังอย่างพิกซาร์ (ใต้หลังคาของวอลท์ ดิสนี่ย์) มีโอกาสได้ครอบครองถ้วยรางวัลออสการ์ในสาขาแอนิเมชันติดต่อกันสองสมัยซ้อน (หลังจาก Ratatouille คว้าชัยมาได้เมื่อครั้งที่ผ่านมา)

เห็นด้วยครับว่า WALL•E มีโอกาสเข้าไปยืนอยู่แถวแรกๆ บนเวทีประกวดออสการ์ปีหน้าแน่นอน เพราะต่อให้เราแกล้งทำลืมๆ ไปก่อนว่า นี่เป็นหนังที่สร้างโดยสำนักแอนิเมชันยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า WALL•E สามารถแตะประเด็นร่วมยุคร่วมสมัยได้ตรงจุดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ออสการ์มีหรือจะมองข้ามผลงานแบบนี้ไปได้ เพราะโดยปกติ ออสการ์ก็ “พยายาม” ทำตัวเองให้ร่วมสมัยไม่ตกเทรนด์อยู่แล้วเช่นกัน

ถ้ายังนึกภาพไม่ออกก็ลองคิดถึง There Will Be Blood ที่แม้จะพลาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปเมื่อครั้งที่แล้ว แต่การที่ออสการ์ปล่อยให้หนังเรื่องนี้หลุดเข้าไปจนถึงโค้งสุดท้ายก็มีนัยยะที่บ่งบอกถึงความเป็นออสการ์ได้ระดับหนึ่งว่า พวกเขาไม่ละเลยประเด็นปัญหาร่วมสมัยที่กำลังขย่มโลกอยู่ (ซึ่งก็คือวิกฤติเกี่ยวกับเรื่องพลังงานน้ำมัน)

แต่เอาเถอะ เส้นทางออสการ์นั้นยังอีกไกล และในตอนนี้ ไปดูความน่าสนใจของ WALL•E กันก่อนดีกว่า...

แน่นอนครับว่า ถ้าพูดถึงค่ายหนังชื่อดังอย่างพิกซาร์ อย่างแรกเลยที่ต้องยกเครดิตให้ก็คือ ความช่างคิดในการสร้างตัวละครที่ทำให้คนดูรู้สึกประหลาดใจได้เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสกสร้าง “สิ่งไร้ชีวิต” (ส่วนใหญ่เป็นของเล่นสำหรับเด็ก) ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตและมีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกับมนุษย์นั้นถือเป็นมุกเด็ดอย่างหนึ่งซึ่งพิกซาร์ทำได้ดีเสมอมา

มาคราวนี้ พิกซาร์ก็ทำเก๋อีกครั้งด้วยการสร้างตัวละครที่แม้จะเป็นหุ่นยนต์ แต่ก็มีสัดส่วนของ “ความเป็นคน” อยู่ในตัวเองค่อนข้างสูง ถ้าไม่ติดที่ว่าร่างกายของมันเป็นเหล็กแล้ว ส่วนที่เหลือนอกจากนี้ก็แทบไม่มีอันใดแตกต่างจาก “มนุษย์” คนหนึ่ง

เรื่องราวของหุ่นยนต์หนุ่มน้อยที่มีชื่อว่า วอลล์อี (WALL•E) เริ่มต้นขึ้นในวันที่โลกรกล้นไปด้วยขยะจนกระทั่งมนุษยชาติไม่อาจอยู่อาศัยได้ และต้องพากันอพยพไปอยู่ในยานอวกาศ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เหล่ามนุษย์รุดหน้าสู่ “บ้านหลังใหม่” นั้น พวกเขาไม่ทันสังเกตเห็นเลยว่าตนเองได้ทอดทิ้งหุ่นยนต์น้อยตัวหนึ่งเอาไว้เพียงลำพัง

อันที่จริง เจ้าหุ่นยนต์ตัวน้อยนี้เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์หลายพันตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจเก็บขยะโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้ว่า “เขา” จะถูกทิ้งไว้อย่างนั้น แต่ทุกๆ วัน เจ้าวอลล์อีก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่ลดละ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันตามมาอีกมากมาย เมื่อหุ่นยนต์สาวน้อยอีกตัวหนึ่งปรากฏกายขึ้นมา...

ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นครับว่า เนื้อหาหลักๆ ของหนังเรื่องนี้เกี่ยวโยงถึงสถานการณ์วิกฤติโลกที่ถือเป็น “ความเป็นความตาย” ของมนุษยชาติ และคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า WALL•E กำลังส่งเสียงเตือนบางอย่างใส่หูและจิตสำนึกของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน

ภาพของเจ้าหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวไปมาท่ามกลางเศษขยะที่กองเกลื่อนระเกะระกะท่วมบ้านท่วมเมืองนั้น นอกจากจะเป็นการทำนายถึงโลกในอนาคตได้อย่างเห็นภาพแล้ว ขยะเหล่านี้แท้ที่จริงก็คือผลพวงอันเลวร้ายอีกแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากความมักง่ายในการใช้ชีวิตของคนเรานั่นเอง

ฟังๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องเครียด แต่เปล่าเลยครับ เพราะถึงแม้ WALL•E จะมีประเด็นที่ค่อนข้างจริงจังซีเรียส แต่วิธีการเล่าเรื่องก็ยังคงความเป็นการ์ตูนที่ดูสนุกเอาไว้อย่างครบถ้วนเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ดี ถ้าจะมองว่าหนังเรื่องนี้มีปัญหาอยู่บ้างก็คงเป็นในช่วงแรกๆ ที่เดินเรื่องค่อนข้างช้าและวนเวียนอยู่กับการนำเสนอภาพหุ่นยนต์น้อยทำงานเก็บขยะนานไปหน่อย และกว่าจะปล่อยบทพูดคำแรกออกมาก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งชั่วโมง (ประมาณนาทีที่ 27!)

ผมเข้าใจว่า ที่หนังทำแบบนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึง “ภาวะโดดเดี่ยว” ของเจ้าหุ่นยนต์วอลล์อี แต่ก็อีกนั่นแหละ ถึงตอนนี้ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรนักว่า มันจะน่าเบื่อแค่ไหนสำหรับคนดูหนังชาวไทยส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะ “เข้าใจ” และ “ยึดมั่นถือมั่น” ว่า หนังที่ดีต้องมี “บทพูด” (ไม่แปลกใจเลย ถ้าใครสักคนจะชิงงีบหลับไปก่อนแล้วตั้งแต่ช่วง 10 นาทีแรก!)

ดังนั้น ขออนุญาตแนะไว้ก่อนเลยครับว่า ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ให้สนุกอาจจะต้องทำใจเย็นๆ สักหน่อย ค่อยๆ ละเลียดและเก็บเกี่ยวความรู้สึกไปทีละเล็กละน้อย เพราะถ้าผ่านช่วงแรกที่ผมพูดถึงนี้ไปได้ ถัดจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว

มีอีกส่วนหนึ่งซึ่งหนังทำได้ดีและผมเชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในใจคนดูไปอีกนาน นั่นก็คือ การดีไซน์คาแรกเตอร์ของเจ้าหุ่นยนต์วอลล์อีให้มีความช่างคิดช่างฝันและโรแมนติก ดังที่เราจะได้เห็นว่าในขณะที่ “เขา” ทำหน้าที่เก็บกวาดและย่อยสลายเศษขยะอยู่ทุกวี่วันนั้น ลึกลงไปในใจ หุ่นยนต์หนุ่มน้อยก็เฝ้าฝันว่าจะมี “ใครสักคน” ที่เข้ามาช่วยปัดกวาดและย่อยสลายความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาให้หมดไปจากใจเขาเช่นเดียวกัน (ดูๆ ไปก็ไม่ต่างอะไรกับคนเหงาหลายๆ คนที่โหยหาเพื่อนและต้องการรัก)

นอกเหนือไปจากความโรมานซ์น่ารักน่าชังของหุ่นยนต์ตัวน้อยๆ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งคนดูน่าจะรู้สึกได้คล้ายๆ กันก็คือ WALL•E เป็นหนังอีกเรื่องที่เหน็บแนมสังคมมนุษย์ได้ตรงจุดที่สุด แม้จะไม่ก่อให้เกิดบาดแผลเหวอะหวะอะไรมาก แต่ก็แสบๆ คันๆ พอประมาณ

ผมชอบตอนที่มนุษย์คนหนึ่งพูดขึ้นมาประมาณว่า “นี่เราต้องยืนด้วยขาของตัวเองแล้วหรือ แย่จังเลย!!” (หลังจากที่ให้เครื่องยนต์กลไกทำแทนตัวเองทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งหยิบอาหารเข้าปาก!) ซึ่งมันทำให้คนดูอดคิดต่อไม่ได้ว่า ที่โลกของเราย่ำแย่และก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติในหลายๆ เรื่องอย่างทุกวันนี้อย่างทุกวันนี้ บางที สาเหตุสำคัญก็อาจจะมาจากควากอยากสะดวกสบายอย่างไม่ลืมหูลืมตาของคนเรานี่เอง

แน่นอนครับว่า เหตุการณ์ใน WALL•E ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอนาคตกาล แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างล่ะว่า เหตุการณ์แบบในหนังเรื่องนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ในเมื่อหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันก็เริ่มส่อเค้าลางที่เลวร้ายบางอย่างให้เห็นบ้างแล้วอย่างชัดเจน จริงไหม?

เหนืออื่นใด ถึงแม้ WALL•E จะมีตัวละครหลักเป็นหุ่นยนต์ แต่เนื้อหาของมันพูดถึงคนเป็นหลักใหญ่ใจความ เหมือนหนังอีกหลายๆ เรื่องที่เล่นกับประเด็นวิกฤติของโลกที่มักจะบอกกล่าวกับคนดูว่า โลกจะถึงกาลหายนะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงข้อเดียว นั่นก็คือการใช้ชีวิตของคน

กำลังโหลดความคิดเห็น