xs
xsm
sm
md
lg

หัวหลุดแฟมิลี่ : โก๊ะตี๋ ตลกแหลก !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่ว่าจะถูกดุถูกด่าหรือได้รับคำชมอย่างไร แต่นั่นก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถปิดกั้นกระแส “ตลกกำกับหนัง” และล่าสุด กับ “หัวหลุดแฟมิลี่” โดยตลกร่างเด็กแต่หุ่นอวบ “โก๊ะตี๋ อารามบอย” ก็ถูกปล่อยสู่สายตาคนดูเป็นที่เรียบร้อย โดยมีเสียงตอบรับสองเสียงยืนคอยอยู่ข้างหน้า คือ “ด่า” และ/หรือ “ชม” ตามเคย (หรือบางที อาจจะมี “เฉยๆ” แทรกแซมอยู่ส่วนหนึ่ง)

ยังไม่ต้องไปพูดถึงเนื้อเรื่องหรือบทหนัง, ทิศทางหรือรูปแบบของ “หัวหลุดแฟมิลี่” ยังคงหนักแน่นในอุดมการณ์ “หนังตลก โดยตลก และเพื่อตลก!!” แบบเดียวกับที่ตลกรุ่นพี่เคยทำไว้ก่อนหน้า นั่นก็คือ การเน้นขายความฮาอารมณ์ขันซึ่งเสิรฟ์ส่งมุกตลกแทบจะทุกๆ สองนาที ส่วนจะขำหรือไม่ขำ ก็ถือเป็น “เรื่องส่วนตัว” ที่ต้องว่ากันไปเป็นรายบุคคล

แต่โดยส่วนตัว ก็บอกได้แบบไม่ต้องกลัวเสียภาพลักษณ์เลยครับว่า ที่ผ่านๆ มา ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเคยขำกับการเล่นมุกตลกหลายๆ มุกของคุณโก๊ะตี๋ แต่ไม่รู้เป็นยังไง กับงานชิ้นนี้ “หัวหลุดแฟมิลี่” ทั้งๆ ที่คุณโก๊ะตี๋ขยันหยอดมุกแทบจะไม่มีพักยก แต่ผมกลับรู้สึกว่า “ต่อมตลก” ของผมกับโก๊ะตี๋จะจูนกันไม่ติดเอาเสียเลย!! (หมายเหตุ : ที่บอก “ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์” นั้น เพราะผมเห็นอย่างนี้ครับว่า มันมีคนบางประเภทที่ยังคิดว่า ถ้าดูหนังตลก ชอบตลก แล้วไร้คลาส เหมือนพวกที่เข้าใจว่า ถ้าฟังเพลงลูกทุ่งหรือคันทรี่แล้วดูเชย ซึ่งผมยืนยันเลยว่าไม่จริง เพราะถ้าคุณ Happy กับมันได้ ไม่ว่าหนังตลกหรือหนังอาร์ต หรือไม่ว่าเพลงแจ๊ซหรือลูกทุ่ง เหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรเลย)

...นอกเหนือไปจากรับหน้าที่กำกับหนังเป็นครั้งแรก “โก๊ะตี๋ อาราบอย” (เจริญพร อ่อนละม้าย) พ่วงตำแหน่งแสดงนำในบทของ “บราซิล” เด็กหนุ่มที่ไม่เพียงมาพร้อมกับความเก่งอย่างร้ายกาจ (ประมาณ “อับดุล” ที่ถามอะไรรู้หมด) แต่ยังเป็นหนุ่มฮอตประจำโรงเรียนที่สาวๆ ต่อแถวเข้ามาขอเป็นคนรัก ก่อนจะอกหักกลับไปทีละคน ขณะที่สถานะทางครอบครัว ก็จัดได้ว่าบราซิลเป็นคนที่ค่อนข้างมีอันจะกิน โดยมีพ่อ (จตุรงค์ ม๊กจ๊ก) เป็นพนักงานบริษัทนักออกแบบที่กำลังจะได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นผู้จัดการ ส่วนแม่ (เมทินี กิ่งโพยม) เป็นแม่บ้านทันสมัยที่แต่งตัวสวยเริ่ดเฉิดฉายทุกวัน

หลังจากใช้เวลาประมาณสิบนาทีในการแนะนำตัวละครและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง หัวหลุดแฟมิลี่ก็พาตัวเองเดินเข้าสู่ Turning Point เมื่อครอบครัวของบราซิลไปเที่ยวเมืองกาญจนบุรีด้วยการเดินทางโดยรถไฟ แต่ในระหว่างทางได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น สมาชิกครอบครัวทั้งสามเดินทางกลับบ้านในกลางดึกพร้อมความงุนงงในเสียงสุนัขที่เห่าหอนต้อนรับกันอย่างพร้อมเพรียง และถัดจากนั้น ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แต่ละคนก็เริ่มพบว่า ศีรษะของตัวเอง “หลุด” แต่สามารถเก็บมาต่อใหม่ได้ และที่น่าเซอร์ไพรส์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พวกเขายังไม่ตาย!!

เนื่องจากเป็น “หนังตลกทำ” จุดแข็งของหนังย่อมหนีไม่พ้นความตลก (แต่จะขำหรือไม่ขำนั่นก็อีกเรื่อง) ดังที่เราจะเห็นว่า ตั้งแต่เปิดเรื่องมา หนังพยายามอัดมุกตลกใส่คนดูอยู่ตลอดแทบจะทุกช็อตทุกฉาก แต่พ้นไปจากนี้ ผมคิดว่า โก๊ะตี๋มีไอเดียสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ ให้มองเห็นอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยที่สุด การพูดเรื่อง “คนหัวหลุดแต่ยังไม่ตาย” ก็คือของใหม่ชิ้นหนึ่งซึ่งหนังหยิบมาเล่นได้ไม่ซ้ำใคร (แม้ลึกๆ เราจะรู้สึกว่า มันก็คือสปีชี่ส์เดียวกันกับพวก “ผีหัวขาด” ก็ตามที) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังนำเสนอภาพของนักข่าวที่มารุมล้อมห้อมบ้านของบราซิลเพื่อรอจับภาพ “คนหัวหลุด” หรือแม้กระทั่งการที่ครอบครัวของบราซิลได้ไปออกรายการทีวีดังๆ ของต่างประเทศ ไม่ว่าจะโก๊ะตี๋จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่มันก็มีนัยยะที่โยงใยไปถึงสังคมที่เป็นอยู่จริงได้เช่นกัน...มันคือสังคมที่บ้าจี้และพร้อมจะแตกตื่นฮือฮาไปกับของแปลกๆ ประหลาดๆ ทุกๆ อย่างได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน อีกจุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังเกือบจะไปได้สวยก็คือ การตั้งชื่อตัวละครคนข้างบ้านของบราซิลว่า “สังคม” (ค่อม ชวนชื่น) ผู้คอยแอบด้อมๆ มองๆ สังเกตการณ์ความเป็นไปในบ้านของ “ครอบครัวหัวหลุด” ก่อนจะเอาเรื่องไปบอกนักข่าว โดยในบางจังหวะ ดูเหมือนว่าหนังมีความพยายามพอสมควรที่จะทำให้ “คุณสังคม” เป็นตัวส่งสะท้อนถึง “สังคม” (หมายถึง สังคมที่เราสังกัดโดยมีผู้คนอันหลากหลายรวมกันอยู่) ว่ามีส่วนสร้างผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อชีวิตของ “ปัจเจกบุคล” หรือ “ชีวิตส่วนตัว” ของคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง แต่หนังก็แตะประเด็นนี้แค่เพียงผ่านๆ ทำให้สารในส่วนนี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระทบความรู้สึกของคนดู หรือสร้างแรงสะเทือนใจได้อย่างที่ควรจะเป็น

เหนืออื่นใด ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้มีต้นทุนดีพอสมควรในแง่ของชื่อเรื่องซึ่งมีคำว่า “แฟมิลี่” (Family) รวมอยู่ด้วย และน่าจะเป็นโอกาสให้หนังแสดงไอเดียเกี่ยวกับครอบครัวได้บ้าง แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ หนังกลับไม่ได้พูดถึงแง่มุมอะไรที่เป็นแฟมิลี่ๆ เลย โอเคว่า สมาชิก พ่อ แม่ ลูก มีครบตามลักษณะของแฟมิลี่ทั่วๆ ไป แต่อะไรล่ะที่หนังต้องการจะบอกผ่านครอบครัวนี้ ความรักหรือ? ความเข้าใจหรือ? ความอบอุ่นหรือ? หรือปัญหา? ไม่มีเลย

ดังนั้น แม้ว่า “หัวหลุดแฟมิลี่” จะทำเก๋ด้วยการวางจุดหักมุมไว้เซอร์ไพรส์คนดูในตอนท้ายเรื่อง แต่ก็เป็นการหักมุมที่ไร้จุดหมาย (เหมือนนิยายเล่มละห้าบาทที่หลอกคนอ่านให้ลุ้นไปเรื่อยๆ ก่อนจะเฉลยในตอนจบว่า เออ เรื่องที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น เค้าแค่ฝันไปนะ ตัวเอง!!) การหักมุมควรจะมีเป้าหมายของมัน ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ผมลองคิดเล่นๆ เผื่อคุณโก๊ะตี๋จะสนใจว่า ถ้าหนังจะวางคาแรกเตอร์ของบราซิลให้เป็นเด็กไม่เอาไหน เกเรดื้อด้าน แล้วใช้สอยการหักมุมนั้นเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาหันมามองตัวเองหรือครอบครัวด้วยสายตาแบบใหม่ ผมว่า เท่านี้ก็คงพอที่จะทำให้หนังมี “ประเด็นหลัก” ที่แข็งแรงขึ้นมาได้บ้างล่ะ และแน่นอน มันจะทำให้ภาพของความเป็นหนังครอบครัวชัดเจนขึ้นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องไปคิดสเกลเนื้อหาที่มันลึกซึ้งอะไรมากมาย

สรุปก็คือ “หัวหลุดแฟมิลี่” มีเรื่องราว (Story) ที่จะบอกเล่าอยู่จริง และหนังก็เล่าไปได้จนจบ (อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่า “หนังตลกทำ” ยุคแรกๆ ส่วนใหญ่ ที่สักแต่ว่าเอามุกฮาๆ มาร้อยต่อกันโดยไร้ความเชื่อมโยงต่อเนื่องของเรื่องราว) อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผลงานชิ้นนี้ของคุณโก๊ะตี๋ขาดไปก็คือ “ประเด็นหลัก” หรือ “แก่นเรื่อง” (Theme) ที่จะสื่อสาร ก็อย่างที่ผมบอกว่า หนังเรื่องนี้สามารถเข้าไปแตะประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวได้ แต่หนังก็ไม่ทำ ดังนั้น การหัวหลุดของคนในครอบครัวบราซิล จึงเป็นอะไรไม่ได้มากไปกว่าการ “หัวหลุด” เพื่อเรียกเสียง “หัวเราะ” แต่ไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้อะไรเลย (อย่าบอกนะครับว่า ฉากที่บราซิลและพ่อแม่ของเขาร้องห่มร้องไห้ในตอนใกล้ๆ จบนั้นสื่อสะท้อนถึงความรักความผูกพันของคนในครอบครัว เพราะฉากนั้นน่ะ ดูยังไง ผมว่า มันก็น่า “อเนจอนาถ” และ...“สยึ๋มกึ๋ยส์” มากกว่า)

อีกส่วนหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องพูดถึงก็คือ การแสดงของนักแสดงหลายๆ คนที่โอเว่อร์แอ็กติ้งจนทำลายความสมจริงไปอย่างไม่น่าจะเป็น เช่น เลขาฯ ของคุณดิ่ง ตอนที่เธอทำท่าวี้ดว้ายนั้น ดูยังไงก็ไม่น่าจะใช่วิสัยที่คนปกติทั่วๆ ไปเขาทำกัน ซึ่งจุดนี้ จะโทษนักแสดงไม่ได้เด็ดขาด เพราะมันขึ้นอยู่กับ “สายตา” ของคนกำกับว่าจะปล่อยมากน้อยแค่ไหน

และสุดท้าย ถ้าหากตลกรุ่นใหญ่อย่างโน้ต เชิญยิ้ม เคยล้มไม่เป็นท่ามาแล้วกับ “คนปีมะ” ก่อนจะพยุงกายลุกขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จกับ “หลวงพี่เท่ง” ผมคิดว่ามันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากโก๊ะตี๋อาจจะต้องทำใจยอมรับกับผลลัพธ์ที่จะตามมาจาก “หัวหลุดแฟมิลี่” เพื่อแข็งแรงขึ้นในผลงานชิ้นต่อไป...
กำลังโหลดความคิดเห็น