xs
xsm
sm
md
lg

A Girl Cut in Two + The Headless Woman : ในฝัน…

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี

โคล้ด ชาโบรล ไม่เคยปล่อยให้แฟนๆ ของตนเองรอนาน หรืออีกนัยหนึ่ง เขาไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างเลย ตลอดอาชีพการทำหนังเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา

หลังจากสร้างงานระดับสุดยอดในปีที่แล้ว A Comedy of Power – หนัง Corporate Thriller ที่นำแสดงโดย อิซาแบล อูแปรต์, ชาโบรลกลับมาหาทางถนัดของตนเองอีกครั้งกับ A Girl Cut in Two หนังที่ว่าด้วยความรักและอาชญากรรม เช่นเคย มันเป็นหนังระทึกขวัญที่เหนือชั้นมากๆ

ในฐานะ “ราชาแห่งหนังระทึกขวัญฝรั่งเศส” โคล้ด ชาโบรล มีโครงสร้างการเล่าเรื่องเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นโครงสร้างที่ไม่ตายตัว คาดเดาไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถคาดหวังขนบเดิมๆ ของหนังแนวนี้ที่เราเคยชินได้เลย (ผมเคยเขียนหนังของชาโบรลเรื่อง The Bridesmaid ลงใน ผู้จัดการ เมื่อปีก่อนโน้น คุณโสภณาก็เคยเขียน The Flower of Evil หนังอีกเรื่องของผู้กำกับคนเดียวกันนี้เหมือนกัน ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมดูได้ครับ)

A Girl Cut in Two เป็นเรื่องราวรักสามเส้าของชาย 2 หญิง 1 โดยอิงมาอย่างหลวมๆ จากคดีฆาตกรรมสถาปนิกชื่อดังในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กวาดตามองอย่างผ่านๆ แล้ว นี่เป็นหนักรักที่วางตำแหน่งกันไม่ลงตัว ศูนย์กลางของเรื่องคือ กาเบรียล เดอนาจ (ลูดิวีน ซาจนิเยร์) ผู้ประกาศข่าวแสนสวยที่มีผู้ชายมาติดพันหลายคนในเวลาเดียวกัน

แต่ชาย 2 คนที่ขับเคี่ยวกันมากที่สุด คือ ชาร์ลส์ แซงต์-เดอนีส์ (ฟรองซัวส์ แบร์ลีอองด์) และ ปอล โกดังส์ (เบอนัวร์ มาฌิเมล) คนแรกเป็นนักเขียนวัย 70 ที่มีเมียอยู่แล้ว คนหลังเป็นหนุ่มโสดทายาทมหาเศรษฐีวัย 30 ผู้เอาแต่ใจ

ภาพของกาเบรียล (หรือจริงๆ คือ ซาจนิเยร์) คือผู้หญิงสวย ใส ร่าเริงตลอดเวลา เธอมองโลกในแง่ดีกระทั่งกับความรัก เมื่อตอนที่เธอเข้าใจว่าชาร์ลส์เริ่มจริงจังกับตัวเธอ เธอก็ยอมรักเขาเต็มหัวใจ เบิกบานราวกับอยู่ในฝัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ชาร์ลส์เป็นตาแก่ที่หวังแอ้มเธอเป็นครั้งคราว เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองเท่านั้น

ปอลเข้ามาหากาเบรียลด้วยเหตุผล 2 ประการ หนึ่งคือ หน้าตาของหญิงสาวถูกใจเขายิ่งนัก โดยเฉพาะท่าทางเล่นตัวของสาวเจ้า เขาจึงต้องการเอาชนะตามสันดาน สาเหตุที่ 2 เลวร้ายกว่านั้นมาก เขาเคยมีเรื่องบาดหมางกับชาร์ลส์ และหวังแก้แค้นชายชราด้วยการแย่งผู้หญิงของเขามาครอง

คนที่ต้องช้ำใจเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก กาเบรียล ผู้ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสงครามโง่ๆ ของผู้ชาย 2 คน และมันน่าช้ำใจมากขึ้นไปกว่าเดิม เมื่อกาเบรียลต่างหาก ที่เป็นฝ่ายมอบ รักแท้ ให้กับพวกเขา

ชาโบรลยังคงจิกกัดชีวิตของชนชั้นกลางอย่างเจ็บแสบ การแสวงหาความสุขของพวกที่คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง โดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน ตัวละครในเรื่องสามารถทำให้ชีวิตและความสัมพันธ์ของตนเองง่ายขึ้นได้ไม่ยากเลย แต่พวกเขาก็ดิ้นรนอย่างเหลือเชื่อในการทำลายล้างความสุขเหล่านั้น

ฉากสุดท้ายในหนัง เป็นฉากกึ่งจริงกึ่งฝัน กาเบรียลขึ้นไปบนเวทีของนักแสดงมายากลหลังจากที่ปมต่างๆ ของเธอได้รับการคลี่คลายไปหมดแล้ว นักมายากลคนนั้นก็ตัดร่างของเธอออกเป็นสองท่อน และกาเบรียลยังคงหันมายิ้มให้กับกล้องอย่างเย้ยหยัน
...
The Headless Woman ฉายให้คอหนังชาวไทยได้ชมไปแล้วในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดที่กำลังจัดอยู่ในขณะนี้ และเป็นหนังที่ผมสนุกสนานมากระหว่างดู และหนังของ ลูเครเชีย มาร์เตล ผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนติน่าคนนี้ ก็ทำให้ผมคิดถึงโคล้ด ชาโบรล มากทีเดียว

หนังเรื่องนี้ควรจะเป็นหนังระทึกขวัญ พล็อตของมันว่าด้วย เวโร (มาเรีย โอเนตโต) หญิงวัยกลางคนนางหนึ่งระหว่างที่กำลังขับรถกลับบ้าน รถของเธอไปชนเข้ากับอะไรบางอย่าง และหลังจากนั้นพฤติกรรมของเธอก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นต้นว่า เธอไม่พูดจาอะไรอีก อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่หืออือกับคนรอบข้าง ราวกับเธอจำอะไรไม่ได้ เลอะเลือนเหมือนอยู่ในความฝัน

หลังจากนั้นปริศนาบางอย่างก็โปรยให้ผู้ชมเกิดความสงสัย เวโรบอกกับสามีของเธอว่า อุบัติเหตุในวันนั้นเธอได้ขับรถชนคนตาย แต่เมื่อค่อยๆ สืบค้นไปก็พบว่า สันนิษฐานของเธอเป็นเพียงความคิดลมๆ แล้งๆ และไม่มีทางเป็นไปได้

ที่บอกไปว่า “ควรจะเป็นหนังระทึกขวัญ” นั้น เพราะมันไม่ได้เดินตามทางของหนังแนวนี้เลย มันมีเรื่องให้พูดมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องปัจเจกไปจนถึงชนชั้น

มาร์เตล ถ่ายหนังเรื่องนี้ของเธอที่เมืองซอลต้า ทางตอนเหนือของอาร์เจนติน่า ภูมิทัศน์ดูแปลกตา ยังมีคนพื้นเมืองอาศัยกันอย่างหนาแน่น ปะปนกับคนผิวชาว อย่างไรก็ดี กล้องของ บาร์บาร่า อัลวาเรซ – ผู้กำกับภาพ ก็ให้ซอลต้าเป็นฉากหลังจริงๆ โดยไม่พยายามขับเน้นมันให้เกิดอารมณ์หรือความหมายอื่นที่เด่นชัดเกินเลย

กล้อง (แทนสายตาคนดู) จึงตามติดเวโรในระยะประชิด เราได้เห็นแววตาและสีหน้าของเธอในทุกสถานการณ์ ทุกแรงกดดันต่างๆ กระทั่งสิ่งแวดล้อมที่ดูแปลกแยกกับเธอ

ในฐานะหนังเขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา The Headless Woman แสดงออกน้อยมากเท่าที่มันสามารถทำได้ มันยืดจุดหักเลี้ยวของพล็อตไปไกลกว่าปกติ นั่นเป็นเหตุให้หนังนิ่งและช้า รวมถึงปล่อยให้ผู้ชมขี้หงุดหงิดต้องคอยเก้อ

ตรงกันข้าม หากเราไม่ต้องสนใจอะไรเทือกนั้น การจับจ้องมองปฏิกิริยาของเวโร กลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าหลายเท่า มันขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีตรรกะรองรับ และชวนให้เกิดข้อสงสัยมากมาย

เราเคยเข้าใจกันมาว่า หนังที่ดี อาจจะต้องเป็นหนังที่มีเหตุผลรองรับทุกๆ ส่วน อันส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อถือ และโน้มน้าวผู้ชมได้ แต่การจะบอกว่าหนังที่ไร้เหตุผล และไม่ยอมอธิบายที่มาที่ไป เป็นหนังที่เลว ก็เป็นความคิดที่ผิดและใจแคบ

หนังของลูเครเชีย มาร์เตล เรื่องนี้ หาเหตุผลมาอธิบายได้ลำบากมาก ทั้งนี้เทคนิคการเล่าเรื่องอันซับซ้อน – ไม่ได้ถูกทำขึ้นอย่างเลื่อนลอย มันมีแนวคิดบางอย่างอยู่ตรงไหนสักแห่ง ส่วนจะคืออะไร คงเป็นหน้าที่ของผู้ชมในการหาคำตอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น