xs
xsm
sm
md
lg

"หย่อง" รับ ผิดพลาดข่าวตำรวจฆ่าปชช. ยัน TPBS เสนอแต่ความจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เทพชัย หย่อง” แถลงจุดยืนหลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอส โต้ข่าวไม่ให้ความสนใจกรณีข่าวตำรวจฆ่าประชาชน ยอมรับเกิดความผิดพลาดด้านการประสานงาน ไม่ได้จงใจปิดหูปิดตาประชาชน ยันจะนำเสนอความจริงทุกด้านของสังคม

เมื่อครั้งที่นปก.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) ลากดาบลากไม้และอาวุธครบมือเดินขบวนจากสนามหลวงมาทำร้ายพันธมิตรที่สะพานมัฆวาน หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่ตำรวจบุกสลายม็อบที่มัฆวาน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องเดียวที่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาและรอบด้านมากที่สุด จนได้รับคำชมและการยอมรับจากประชาชนทั่วประเทศ

แต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคมที่ตำรวจเปิดฉากสลายม็อบฆ่าประชาชนตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน มีประชาชนเสียชีวิตแขนขาขาดพิการและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ไทยพีบีเอสและฟรีทีวีทุกช่องกลับไม่ให้ความสนใจ ยังคงแพร่ภาพออกอากาศรายการปกติ และรายงานข่าวต้นชั่วโมงเป็นระยะๆ เท่านั้น

มีเพียงสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็นและเคเบิ้ลทีวีอย่างเนชั่น และ เอเอสทีวีเท่านั้นที่เผยแพร่ภาพข่าวสดตลอดทั้งวัน ซึ่งเคเบิ้ลนั้นไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงและมากเท่ากับฟรีทีวี นั่นย่อมหมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องดูการรายงานข่าวสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมจากเอ็นบีทีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า เอ็นบีทีมีจุดยืนในการนำเสนอข่าวเข้าข้างรัฐบาล

ฉะนั้นการที่ฟรีทีวีพร้อมใจกันไม่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ตำรวจฆ่าประชาชนในครั้งนี้ จึงทำหลายๆ คนเข้าใจได้ว่า เป็นการจงใจบีบบังคับให้ประชาชนจำต้องรับข้อมูลข่าวสารจากเอ็นบีที ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารด้านเดียว

งานนี้ช่อง 3 , 5 , 7 , 9 โดนฟีดแบคไปเต็มๆ ในฐานะที่ไม่ทำหน้าที่สื่อเท่าที่ควร แต่ที่โดนหนักสุดเห็นจะเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเคยได้รับเครดิตอย่างล้นหลามในการนำเสนอข่าวต่างๆ คงต้องตอบคำถามประชาชนว่า เกิดอะไรขึ้นกับไทยพีบีเอส ? มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า ?

งานนี้ “เทพชัย หย่อง” ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) ที่พึ่งจะได้รับตำแหน่งไปหมาดๆ ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เกิดจากความผิดพลาด ไม่ได้เจตนา”

“ในการนำเสนอข่าวสารเราต้องให้ความสำคัญเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะตอนนี้บ้านเมืองมีความสับสนมีการเผชิญหน้ากันเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีความไม่ไว้วางใจกันและกันสูงมาก ค่อนข้างมีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน แม้แต่สื่อเองก็มีจุดยืนที่ถูกตั้งคำถาม”

“เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าสังคมก็คงอยากเห็นสื่อที่ไว้ใจได้เชื่อถือได้ว่า แต่ละวันที่รายงานหรือติดตามมาแต่ละด้านมันไม่เอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญของไทยพีบีเอสก็คือความเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ เราต้องนำเสนอความจริงให้มากที่สุด อาจจะเป็นสองด้านสามด้านก็แล้วแต่ และต้องมั่นใจว่าข่าวที่นำเสนอออกไปต้องสะท้อนความเป็นจริงที่รอบด้านและหลากหลายจริงๆ”

“ซึ่งการทำงานของเราที่ผ่านมาผมคิดว่าเราค่อนข้างมั่นใจว่าเรามาในทิศทางที่ถูกต้อง ผมคิดว่าเราได้รับความเชื่อถือ ได้รับการพูดถึงในแง่ของการชื่นชมไม่น้อย แต่แน่นอนก็ยอมรับว่าเราก็มีจุดบกพร่องในหลายๆ ส่วนเพราะที่นี่คือองค์กรใหม่ นักข่าวเกินครึ่งที่ไปรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ก็เป็นนักข่าวใหม่ หลายๆ คนไม่เคยเป็นนักข่าวมาก่อน เพราะฉะนั้นมันก็อาจเกิดความผิดพลาดในการทำหน้าที่ แต่ผมเชื่อมั่นว่าทิศทางของเรามันค่อนข้างชัดเจน”

“ถ้าจะเกิดความผิดพลาดไปบ้าง ก็คงไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดจากเจตนา แต่เป็นการผิดพลาดที่เกิดจากประสบการณ์ความไม่พร้อมในบางช่วง การรายงานแบบไม่รอบด้านเพียงพอ ความรีบร้อน หรือเพราะแรงกดดันจากสถาการณ์ก็เลยทำให้การรายงานข่าวออกมาไม่สมบรูณ์ พอออกอากาศไปแล้วก็อาจจะเกิดคำถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ไม่เป็นอย่างนั้น แต่ว่านี่คือสิ่งที่เราจะต้องแก้ไข”

ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสค่อนข้างได้รับคำชมในการรายงานข่าวอย่างเป็นกลางทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นข่าวปก.บุกพันธมิตร และตำรวจสลายม็อบอย่างตรงไปตรงมา
“ผมคิดว่าเหตุการณ์บ้านเมืองวิกฤตแบบนั้นมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสื่อรายงานความจริงให้กับประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่องและรอบด้านที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราต้องเกาะติดสถานการณ์ทั้งวัน และยอมที่จะยกเลิกรายการปกติไป”

ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ตำรวจฆ่าประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลับไม่มีการรายงานข่าวสดหรือตัดรายการประจำทิ้ง ทั้งที่มีการสูญเสียมากกว่าเหตุการณ์อื่น
“ก็ยอมรับว่าในระยะต้นเราอาจจะมีการผิดพลาดในแง่ของการประสานงานก็เลยเข้าไปช้าหน่อย แต่พอเราตั้งตัวได้เราก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ตั้งแต่บ่ายจนกลางคืน เราก็มีข้อมูลที่รอบด้านมีเวทีที่เอาคนที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายมาช่วยกันระดมหรือแก้ไขความผิดพลาด”

“ก็ยอมรับว่ามันเป็นความผิดพลาด มีปัญหาในการประสานงาน เราไม่ได้มีเจตนาที่เป็นแบบนั้น แต่มีปัญหาทางด้านการประสานงานและด้านเทคนิคด้วยทำให้ไม่ได้รายงานสดมากเท่าที่ควรจะทำ แต่เจตนาของเราหรือนโยบายคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบนั้นขึ้นจำเป็นต้องติดตามและรายงานอยางรวดเร็ว”

แม้จะยืนยันว่าเกิดจากความผิดพลาด แต่ก็คงหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามจากสังคมอยู่ดีว่า เกิดอะไรขึ้นกับไทยพีบีเอส ? แรงกดดันทางการเมืองมีผลต่อการทำงานหรือไม่

ก็มีคำถามกลับมาอยู่แล้วครับ มีคนวิจารณ์ แต่ผมขอยืนยันได้เลยว่า ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือเป็นนโยบายจะไม่รายงาน แต่เป็นความผิดพลาดที่ยอมรับเลย ทางฝ่ายข่าวเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาทางการประสานงาน ผมเองก็ได้มีการเรียกเข้ามาคุยและมีการตำหนิเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดขึ้นอีก”

ยอมรับอาจถูกมองในแง่ไม่ดีจงใจปิดหูปิดตาประชาชน
“เราถูกมองอยู่แล้วล่ะ คือสถานการณ์ตอนนี้มันแหลมคมมาก และความเห็นของคนในสังคมมันแตกแยก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่มันปรากฏบนจอจะถูกตีความอยู่ตลอด ฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังมากขึ้นว่า การเสนอข่าวการละเว้นการเสนอข่าวเราจะต้องอธิบายให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งครั้งนั้นรายงานสดมันพลาดไม่ได้เจตนา ก็มีการสังคายนาไปเรียบร้อยแล้ว”

ยันนโยบายต่อจากนี้คือจะนำเสนอข่าวสารต่อสังคมอย่างเกาะติดใกล้ชิด
“ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลต่อสังคมโดยกว้าง เราจะต้องเกาะติดจะต้องรายงานอย่างใกล้ชิด ก็ต้องทำความจริงให้ปรากฏมากขึ้น และนอกจากนั้นแล้วเราก็ยังมีการเจาะลึกที่แทรกอยู่ตามรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวหรือสัมภาษณ์”

“อย่างรายการที่ทีวีไทยก็จะเป็นรายการที่จะเอาคนมาระดมสมอง และอาทิตย์หน้าเป็นต้นไปก็จะมีรายการกลางคืนคือรายการเปลี่ยนประเทศไทย จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็น และสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ อย่างตอนเลือกตั้งผู้ว่า มีรายการชื่อเปลี่ยนกรุงเทพ และพอจบก็เป็นเปลี่ยนประเทศไทย ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องระดมสมองจากคนทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย เพื่อทำให้อนาคตทางการเมืองของไทยมีแสงสว่าง มีทางเลือกมากขึ้น”

“เราก็พยายามเกาะติดสถานการณ์ด้วย และมีความเห็นจากทุกส่วนหรือองค์กรทั้งหลาย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีรายการที่ช่วยเหลือประชาชนเช่น รายการสถานีประชาชน ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาเราก็ช่วยคนได้เยอะเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น