xs
xsm
sm
md
lg

The Girl Next Door : แอบดูข้างบ้าน

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

ตุลาคม 1965 เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญขึ้นคดีหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา

สถานที่เกิดเหตุตั้งอยู่บนถนนอีสต์นิวยอร์ก เมืองอินเดียนาโพลิส เหยื่อคือ ซิลเวีย ไลเคนส์ เด็กสาววัย 16 ปี ส่วนผู้ก่อเหตุนั้น มี เกอร์ทรูด แบนนิเชฟสกี้ ม่ายลูก 7 วัย 36 เป็นหัวหน้าแก๊ง และเด็กวัยรุ่นอีกหลายคน -ทั้งลูกๆ ของเธอเองและเด็กที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น- เป็นลูกทีม

ตามประวัติบอกว่า ซิลเวีย ไลเคนส์ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดใดๆ กับนางเกอร์ทรูด เธอเพียงแต่รู้จักบุตรสาวคนหนึ่งของนาง และเนื่องจากพ่อแม่ของซิลเวียมีอาชีพเป็นคนงานในคณะคาร์นิวาลซึ่งต้องออกเดินสายร่วมกับชาวคณะบ่อยครั้ง หนหนึ่งทั้งคู่จึงตัดสินใจพาซิลเวียกับ เจนนี่ น้องสาวของซิลเวียซึ่งขาข้างหนึ่งพิการลีบเล็กด้วยโรคโปลิโอ มาฝากให้นางเกอร์ทรูดเลี้ยง โดยตกลงกันว่า นายและนางไลเคนส์จะให้เงินค่าจ้างนางเกอร์ทรูดสำหรับการนี้เป็นจำนวน 20 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ผลที่สุดทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง เด็กสาวทั้งสอง นอกจากจะไม่ได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์พูนสุขแล้ว พวกเธอยังถูกปล่อยปละละเลยทิ้งขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับซิลเวียแล้ว เธอกลายเป็นเป้าระบายความวิปริตบ้าคลั่งของนางเกอร์ทรูด และความห่ามอย่างวิบัติของแก๊งเด็กวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุป ซิลเวียถูกทั้งตบ ต่อย เตะ กระทืบ ถูกข้าวของสารพัดขว้างปา ถูกบุหรี่ร้อนๆ จี้ตามเนื้อตัว ถูกบังคับให้ดื่มกินของเสียของตัวเอง ถูกนำสิ่งแปลกปลอมยัดใส่อวัยวะเพศ (เท่าที่ทราบ เธอไม่ได้ถูกข่มขืน) ถูกตีตราบนหน้าอก ถูกของมีคมสลักข้อความ “ฉันเป็นกะหรี่ และฉันโคตรภูมิใจ” บนหน้าท้อง ฯลฯ

ในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบศพของเธอที่ห้องใต้ดินบ้านนางเกอร์ทรูด พบว่าบนร่างไร้ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำจำนวนนับไม่ถ้วน มีรอยไหม้จากการถูกบุหรี่จี้ถึงกว่าร้อยรอย นอกจากนั้นผิวหนังของเธอในหลายส่วนยังถูกฉีกทึ้งเป็นแผลเหวอะหวะ

นางเกอร์ทรูดและแก๊งเด็กปีศาจถูกจับกุมทันที และในเวลาต่อมา คดีนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นคดีทารุณกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐอินเดียนาเลยทีเดียว

ในปี 2007 กว่า 4 ทศวรรษหลังเกิดเหตุ มีหนังอเมริกันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของซิลเวีย ไลเคนส์ ออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน 2 เรื่อง

หนึ่งคือ An American Crime ผลงานกำกับของ ทอมมี่ โอฮาเวอร์ (Ella Enchanted) มี เอลเลน เพจ รับบทซิลเวีย ไลเคนส์ และ แคเธอรีน คีเนอร์ รับบทเกอร์ทรูด แบนนิเชฟสกี้ และอีกหนึ่งคือ The Girl Next Door ผลงานของ เกรกอรี่ วิลสัน ซึ่งดิฉันหยิบยกมาพูดถึงในคราวนี้ (ใจจริงดิฉันอยากเขียนควบ 2 เรื่อง แต่ปัญหาคือ ดิฉันหาแผ่น An American Crime ไม่ได้เลย)

เท่าที่ทราบ หากเปรียบเทียบหนังทั้ง 2 เรื่องในแง่ของความถูกต้องเที่ยงตรงต่อเหตุการณ์จริงแล้ว An American Crime ตรงกว่ามาก ทั้งชื่อเสียงเรียงนาม พื้นเพปูมหลัง ความสัมพันธ์ของตัวละคร และเรื่องราวการทารุณทำร้าย ถอดแบบมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแทบจะทุกส่วน

ขณะที่ The Girl Next Door นั้น เป็นการดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ แจ็ก เคทชัม ซึ่งออกวางจำหน่ายในปี 1989 อีกที และนิยายเล่มดังกล่าว แม้จะอิงอยู่กับเรื่องราวของซิลเวีย ไลเคนส์เป็นหลัก ทว่ารายละเอียดต่างๆ ก็ถูกปรับและเปลี่ยนไปหลายอย่าง

ฉากหลังของ The Girl Next Door ขยับจากกลางยุค 60 ในเรื่องจริง กลายมาเป็นยุค 50 / ซิลเวีย ไลเคนส์วัย 16 กลายเป็น เม็ก ลาฟลิน วัย 14 / เกอร์ทรูด แบนนิเชฟสีกี้ ม่ายลูก 7 เปลี่ยนเป็น รูธ แชนด์เลอร์ ม่ายลูก 3 ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรูธกับเม็กนั้น หนังจับให้มาเป็นป้า-หลานกัน และสาเหตุที่ซิลเวียกับน้องสาวต้องมาอยู่กับรูธนั้น หนังเล่าว่าเป็นเพราะพ่อแม่ของทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และทั้งสองก็ไม่มีญาติมิตรอื่นให้พึ่งพา จึงต้องจูงมือระเห็จกันมาอยู่กับป้าแท้ๆ ของตน

The Girl Next Door เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ เดวิด มอแรน เด็กชายวัย 12 ปี (เป็นตัวละครที่ไม่มีอยู่จริง) ซึ่งอาศัยอยู่บ้านติดกันกับครอบครัวแชนด์เลอร์ และเป็นเพื่อนเล่นกับลูกๆ ของรูธ แชนด์เลอร์มาตั้งแต่เด็ก

หนังเปิดเรื่องในช่วงเวลาปัจจุบัน เดวิดในวันนี้อยู่ในวัยกลางคน ผ่านการแต่งงานและการหย่าร้างมาแล้ว วันหนึ่ง ขณะเขาเดินอยู่บนถนน เขาพบชายคนหนึ่งถูกรถชนโครมอาการสาหัส เดวิดรีบรุดเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ในเวลาต่อมา เสียงจากความคิดของเขาก็ดังขึ้น เดวิดบอกตัวเองและผู้ชมว่า ในเสี้ยววินาทีก่อนที่รถจะพุ่งชนชายแปลกหน้าผู้นั้น หากเขาสามารถกระโดดเข้าขวางได้ทัน เขาก็จะทำ โดยไม่ลังเลแม้แต่นิดเดียว

จากนั้นหนังพาผู้ชมเดินทางสู่อดีตในห้วงคำนึงของเดวิด ในวัย 12 เขาได้พบเม็ก หลงรักเธอ มีความทรงจำดีๆ ร่วมกับเธอ อย่างไรก็ตาม การรู้จักเด็กสาวผู้นี้ก็นำมาซึ่งฝันร้ายสุดชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อเดวิดกลายเป็นประจักษ์พยานต่อการทารุณกรรมอันโหดเหี้ยมที่รูธกับลูกๆ และเด็กวัยรุ่นในละแวกใกล้เคียง กระทำต่อเธอ

และการที่เขาได้แต่ทนดูโดยไม่อาจช่วยเหลือใดๆ ได้ ก็เป็นต้นเหตุของความรู้สึกผิดบาปถาโถมที่ไม่อาจเยียวยาและลบเลือนชั่วชีวิต

แม้รายละเอียดของหนังจะผิดเพี้ยนจากเรื่องจริงหลายส่วน ทว่าโดยรวมแล้ว ครั้งแรกที่อ่านพบเรื่องของซิลเวีย ไลเคนส์ ดิฉันรู้สึกเช่นไร ระหว่างดู The Girl Next Door ดิฉันก็รู้สึกแบบเดียวกันไม่มีผิด มันมืดหม่น ทารุณ ไร้แสงสว่าง ไร้ความหวัง เป็นความร้ายกาจที่คนปรกติธรรมดา ไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากแค่ไหนและสมองส่วนใดขบคิดพิจารณา ก็ไม่อาจทำความเข้าใจกับมันได้เลยจริงๆ

เช่นกันกับเรื่องจริงของซิลเวีย ไลเคนส์ - หนังไม่ได้ให้คำอธิบายว่า เพราะเหตุใดรูธ แชนด์เลอร์จึงจงเกลียดจงชังหลานสาวของตัวเองนัก และชีวิตเคยผ่านพบประสบการณ์วิปริตอันใดเธอจึงมีจิตใจเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ถึงเพียงนั้น ปูมหลังเพียงคร่าวๆ ที่หนังเล่าถึงผู้หญิงคนนี้ไว้ก็คือ เธอมีชีวิตคู่ที่ไม่ราบรื่น และดูเหมือนจะขมขื่นเคียดแค้นชีวิตคู่ที่ล้มเหลวของตนไม่น้อย

แทบทุกครั้งที่ลงไม้ลงมือกับเม็ก เหตุผลหนึ่งที่รูธมักหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง ก็คือ เม็กทำตัวเลวทรามต่ำช้าสำส่อนไม่สมกับเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’ และในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง รูธก็เห็นว่าตัวเองมีหน้าที่ต้อง ‘สั่งสอน’ และ ‘กำจัด’ ความโสมมบนเรือนร่างของเม็กให้สิ้นซาก

อย่างไรก็ตาม การที่หนังแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แท้จริงแล้วเม็กไม่ได้มีพฤติกรรมใดๆ อย่างที่รูธกล่าวอ้างเลยแม้แต่น้อย ก็ถือเป็นการบอกกล่าวกับผู้ชมว่า การกระทำของรูธนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นแต่เพียงความวิกลจริตของผู้หญิงที่รังเกียจความผิดพลาดในชีวิตตัวเองแล้วไปลงกับคนอื่นเท่านั้น ไม่ได้มีความปรารถนาดีใดๆ แฝงปนอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อครั้งที่คดีซิลเวีย ไลเคนส์ปรากฏต่อสาธารณชนในปี 1965 ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนสงสัยกันมากก็คือ การทารุณกรรมจนเธอเสียชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่นางเกอร์ทรูดกระทำต่อเหยื่ออย่างต่อเนื่องนานเป็นหลักเดือน คำถามคือ เพื่อนบ้านหายไปไหน? ไม่มีใครสังเกตเห็นความผิดปรกติที่เกิดขึ้นใต้จมูกของตัวเองเลยหรืออย่างไร?

คุณคงยังไม่ลืมคดีที่พ่อจอมหื่นขังลูกสาวในห้องใต้ดินไว้ทำบัดสีนานเป็นสิบปีที่เกิดขึ้นไม่กี่เดือนก่อน ตอนนั้นใครก็ตามที่รู้ข่าวก็ต้องถามกัน... เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นสิบปีโดยที่เพื่อนบ้านหรือกระทั่งเมียของชายผู้นั้น ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยแม้แต่นิดเดียว

ดิฉันไม่ได้ตามข่าวนี้ละเอียด แต่คาดว่าคงคล้ายคลึงกับกรณีของซิลเวีย ไลเคนส์ นั่นคือ คำตอบของเพื่อนบ้านเวียนวนอยู่แถวๆ “ไม่รู้ไม่เห็น” “ไม่อยากสอด” “ไม่อยากซวย” “ไม่รู้จะช่วยอย่างไร” “ไม่เป็นไรมั้ง” ฯลฯ

ไม่ว่าใครจะมีเหตุผลอย่างไร ผลสุดท้ายก็ลงเอยเหมือนกัน คือ มนุษย์คนหนึ่งถูกทำร้ายจนตาย โดยไม่มีใครยื่นมือยับยั้งเลยแม้แต่คนเดียว

The Girl Next Door แตะต้องแง่มุมดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แม้จะเบาบางมาก (ซึ่งส่วนตัวแล้ว ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง เพราะประเด็นนี้น่าสนใจกว่าเรื่องที่ว่า เม็กถูกทรมานทรกรรมอย่างไรมากนัก) อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในส่วนนี้ที่หนังนำเสนอ ก็ชวนให้ดิฉันคิดต่อไปได้เหมือนกันว่า บ่อยครั้ง คนเราก็มักจะหาเหตุผลชอบธรรมเพื่อจะได้ไม่ต้องสนใจความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์คนอื่นอยู่เสมอ

แน่นอนว่า การไม่อยากสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเหตุผลที่ฟังดูดีพอ ขณะเดียวกัน ในหลายๆ กรณี เส้นแบ่งระหว่าง ‘การไม่สอดรู้’ กับ ‘การไม่แยแสสนใจ’ ก็บางจนแทบมองไม่เห็น

หลายคนอธิบายว่า การไม่สน ไม่แคร์ ไม่ใส่ใจคนอื่น เป็นลักษณะของสังคมห่างเหินแบบ ‘สังคมเมือง’ ยุคปัจจุบัน ที่วิถีชีวิตรีบเร่งทำให้ทุกคนมัวแต่หมกมุ่นวุ่นวายกับเรื่องของตัวเองจนไม่สนใจใครอีกแล้วในโลก แม้กระทั่งคนที่อยู่บ้านรั้วติดกับตัวเองแท้ๆ

บอกคุณอย่างตรงไปตรงมา ดิฉันไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวเท่าใดนัก

เหตุการณ์ใน The Girl Next Door เกิดขึ้นที่เมืองเล็กๆ หนึ่งในอเมริกา ทว่าตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นเดวิด เด็กชายตัวเล็กๆ ที่พละกำลังอ่อนด้อยและหวาดกลัวเกินกว่าจะยืดอกปกป้องเม็กเต็มตัว และตำรวจคนหนึ่งซึ่งเข้ามาตรวจตราในบ้านแชนด์เลอร์แบบผ่านๆ -เพราะเม็กไปฟ้อง คราวที่รูธแสดงความเหี้ยมโหดให้เห็นในครั้งแรก- แล้ว เราไม่ได้เห็นใครที่ไหนเอาตัวเข้ามาพัวพันกับเรื่องนี้อีก

ในความเห็นส่วนตัว ดิฉันคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับ ‘คน’ เป็นสำคัญ คนมันจะไม่แยแส ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่แยแส

ส่วนสภาพสังคมและวิถีชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นอะไรอื่น นอกเสียจากตัวช่วยให้เรา ‘หาเหตุ’ ไม่แยแสสนใจใครได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น