xs
xsm
sm
md
lg

MONGOL : หนังของผู้นำ กับวาทกรรม ‘ความกลัว ทำให้เสื่อม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

MONGOL เป็นหนึ่งในหนังที่โด่งดังพอสมควรในช่วงการประกาศผลรางวัลออสการ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการได้มีโอกาสเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ก่อนจะพ่ายให้กับหนังดราม่าที่ข้นคลั่กด้วยแง่มุมของความเป็นมนุษย์อย่าง The Counterfeiters ซึ่งติดอยู่ใน 10 อันดับหนังยอดเยี่ยมประจำปีในลิสต์ของผมอย่างแน่นอนแล้ว

เหนืออื่นใด ถ้าเทียบกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ ผมเห็นว่า สมควรแล้วที่ The Counterfeiters จะมีชัยเหนือกว่า MONGOL แต่เพราะเหตุผลอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยดีกว่า...

ว่ากันที่เนื้อหาหลักๆ MONGOL โดยการกำกับของเซอร์จิโอ โบดรอฟ เดินเรื่องด้วยการนำเสนอภาพชีวิตของวีรบุรุษในตำนานนามว่าเจงกิสข่าน (รับบทโดยทาดาโนบุ อาซาโน่) ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมา จะมีหนังหลายๆ เรื่องเคยหยิบยกเอาประวัติชีวิตของนักรบผู้ยิ่งใหญ่คนนี้มาบอกเล่าบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ MONGOL ดูมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไปก็คือ การเฉพาะเจาะจงนำเสนอช่วงวัยแห่งชีวิตของเจงกิสข่านก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่โลกต้องจารึก นับตั้งแต่คืนวันที่เขายังเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ ไปจนถึงวัยเติบใหญ่และพยายามก่อร่างสร้างตัวในฐานะนักรบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งหนึ่งซึ่งหนังให้ความสำคัญมากยิ่งกว่าก็คือเรื่องราวความรักระหว่างเจงกิสข่านกับ “บอร์เต้” หญิงคนรักที่นอกจากจะเป็นคู่ชีวิตซึ่งยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่นักรบหนุ่มอย่างเหนียวแน่นแล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่า ในหลายๆ สถานการณ์ เธอคนนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยให้คนรักรอดพ้นอุปสรรคปัญหามาได้ (เห็นชีวิตของเจงกิสข่านในหนังเรื่องนี้ทำให้คิดไปถึงประโยคคลาสสิคที่ว่า “เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษ ย่อมมีสตรีอยู่เบื้องหลังเสมอ”)

แน่นอนครับว่า นอกเหนือไปจากนี้ สิ่งที่คนดูจะได้เห็นเกือบทั้งเรื่องก็คือฉากชีวิตอันแสนจะทุลักทุเลซึ่งต้องประสบพบพานกับชะตากรรมที่เลวร้ายและการถูกกระทำอันดิบเถื่อนนานัปการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังดูจะจงใจและตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำให้คนดูได้รับรู้ถึงคืนวันอันยากลำบากของนักรบคนหนึ่ง (กว่าจะก้าวมาถึงจุดที่ยิ่งใหญ่ได้) แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำหล่นหายไปอย่างน่าเสียดายก็คือ อารมณ์ความรู้สึก

ไม่รู้ว่า หลายๆ คนที่เคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้วจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าว่า หนังมันไม่มีจุดที่พีคสุดๆ เลยแม้แต่จุดเดียว เหมือนชีวิตของเจงกิสข่านที่ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยมีอุปสรรค 1-2-3-4 ให้ต้องฝ่าฟันและผ่านพ้น ซึ่งเมื่อดูจากทิศทางของหนังที่ตั้งใจจะให้เป็นดราม่า และเชื่อว่าคงคาดหวัง “ความรู้สึกสะเทือนใจ” จากคนดูอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

เพราะอะไรน่ะหรือ?

ผมคิดว่า ที่เป็นเช่นนี้ คงเนื่องมาจากคนทำไม่อยากแต่งแต้มต่อเติม “สีสันอารมณ์” อะไรลงไปมาก แต่ขณะเดียวกัน มันก็ส่งผลให้หนังดู “จืดๆ” ตามไปด้วย และบางช่วงขณะดูเหมือนหนังจะเร่งรีบเกินไปด้วยซ้ำ อย่างตอนถูกทำร้ายย่ำยีหลายๆ ครั้ง ผมว่าหนังควรจะชะลอให้ช้าลงเพื่อเล่นกับอารมณ์ปวดร้าวของตัวละครบ้าง แต่หนังก็ปล่อยให้มันผ่านเลยไปอย่างง่ายดาย

อุปมาอุปไมยให้เห็นภาพ ก็คงเหมือนกับคนคนหนึ่งซึ่งลากพาตัวเองก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อเผชิญกับความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ดูเหมือนว่า เขาจะไม่เคย “รู้สึก” เจ็บปวดกับอะไรจริงๆ จังๆ เลยสักอย่าง (ไม่สนับสนุนให้ใคร “เจ็บปวด” นะครับ ก็แค่อยากจะชี้แนะว่า ไหนๆ หนังก็ว่าด้วยเรื่องราวความขื่นขมเจ็บปวดของชีวิตคนอย่างถึงที่สุดแล้ว มันจะเป็นไรไปล่ะ ถ้าจะมีช็อตที่แสดงถึงความทุกข์เศร้าปวดร้าวสะเทือนอารมณ์บ้าง)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอารมณ์ในส่วนนี้จะขาดหายไป แต่สิ่งที่ผมเห็นว่า พอจะเข้ามาทดแทนกันได้ก็คือ ขณะที่หนังอาจจะไม่อนุญาตให้เรา “รู้สึก” กับเรื่องอะไรๆ อย่างลึกซึ้งจริงจัง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพอจะจับต้องได้ก็คือ มุมมองแง่คิดหลายๆ ข้อที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เฉพาะหน้า นั่นหมายความว่า เวลาที่ตัวละครอย่างเจงกิสข่านต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์สำคัญๆ นอกจากเขาจะได้เรียนรู้อะไรๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนของคนดูก็จะได้รับ “บทเรียนเชิงความคิด” เช่นเดียวกัน นั่นยังไม่นับรวมถึง Dialogue ของหนังที่หลายๆ ครั้ง ฟังดูเหมือนสุภาษิตคมคายชวนให้เก็บมาขบคิดต่อ

และสิ่งที่ต้องชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ เทคนิคด้านภาพที่ยอมรับว่าถ่ายทำออกมาได้งดงามมาก ไม่ว่าจะเป็นแสงเงาของฉากหรือมุมกล้อง เช่นเดียวกับซาวด์เอฟเฟคต์ที่รับใช้ฉากแอกชั่นและดนตรีประกอบที่จัดวางจังหวะจะโคนในการเข้า-ออกได้ดี

แต่ถึงแม้จะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอย่างที่ว่ามา ถึงกระนั้น ผมก็ยังเห็นว่า MONGOL เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเล่าเรื่องซึ่งกระตุ้นให้คนดูอยากติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะเดียวกัน ก็มีจุดเด่นสำคัญที่การถ่ายทอดแง่มุมชีวิตหลายๆ ด้านซึ่งคนยังไม่ค่อยรู้ของนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเจงกิสข่านแล้ว และเราก็จะได้เห็นว่า คนคนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้ แต่มันเป็นผลพวงของหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งสิ่งที่หนังนำเสนอไว้ค่อนข้างเด่นชัดก็คือ สภาพสังคมแบบนิยมเลือดนักสู้ รวมทั้งความคับแค้นประดามีซึ่งตอกตีชีวิตนั่นเองที่หล่อหลอมให้เด็กน้อยคนหนึ่งเติบโตมาเป็น “นักรบ” และ “ผู้นำ” ที่ยิ่งใหญ่ได้ในเวลาต่อมา

มากไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้ยังพยายามนำเสนอให้เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว เสรีภาพอาจจะไม่ได้เพิ่งจะมาเบ่งบานเอาเมื่อตอนอเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง แต่มันถูกพูดถึงมาแล้วหลายร้อยปีก่อนหน้า ตั้งแต่ดินแดนมองโกลยังอุดมด้วยทุ่งหญ้าโน่นแล้ว โดยความจริงประการหนึ่งซึ่ง MONGOL บอกกล่าวกับคนดูก็คือ ชาวมองโกลทุกคนมีสิทธิ์เสรีเต็มที่ที่จะเลือกหรือไม่เลือก “หัวหน้า” ของตัวเอง เมื่อไม่ชอบหัวหน้าคนนี้ก็เลือกคนอื่นเป็นหัวหน้าได้เลย โดยที่หัวหน้าคนเดิมไม่สามารถบีบบังคับหรือบงการอะไรได้ (มันทำให้ผมนึกถึงคนแถวๆ นี้บางคนที่ชอบตะโกนใส่คนอื่นๆ เหลือเกินว่าให้ “เลือก” ข้างนั้นข้างนี้ ทั้งที่ตามความจริง มนุษย์เรามีเสรีภาพที่จะเลือกหรือไม่เลือกอะไรมานับร้อยนับพันปีโน่นแล้ว ว่าไหม?)

มีตอนหนึ่งในหนังซึ่งผมชอบเป็นพิเศษ คือตอนที่พี่ใหญ่ของเตมูจิน (นามเดิมของเจงกิสข่าน) ถามเขาว่า ชาวมองโกลทั้งหมดต่างก็เกรงกลัวเสียงฟ้าร้องด้วยกันทั้งนั้น แล้วเหตุไฉน เขาถึงไม่กลัวเลย?

คำตอบนั้นเรียบง่าย แต่ทว่าลึกซึ้งถึงแก่น

“ข้ากลัวจนเลิกกลัวแล้วล่ะ”

ไม่ใช่ถ้อยคำที่เกินเลยความจริงแต่อย่างใดเลยครับ เพราะที่ผ่านมา เตมูจินถูกจับทรมานให้อยู่กลางฟ้ากลางฝนมาจนชิน และเชื่อแน่ว่า เตมูจินคงมิอาจก้าวมาเป็นเจงกิสข่านผู้ยิ่งใหญ่เยี่ยงที่เป็นอยู่นี้แน่นอน หากเพียงแต่เขามิอาจขจัดความหวาดกลัวให้สูญสิ้นไปจากจิตใจได้

กำลังโหลดความคิดเห็น