xs
xsm
sm
md
lg

“หงา-จรัล” ใครกันแน่ที่ควรกลับตัว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาจนได้สำหรับการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของ “หงา คาราวาน” (สุรชัย จันทิมาธร) อาจารย์ใหญ่ของวงการเพลงเพื่อชีวิต ที่ศิลปินทั้งในและนอกสายดนตรีที่ว่าต่างให้ความเคารพนับถือ หลังถูกสหายเก่าคนเดือนตุลาฯ อย่าง “จรัล ดิษฐาพิชัย” หนึ่งในแกนนำ นปช.ออกมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์
หงา คาราวาน บนเวทีพันธมิตรฯ
บทความดังกล่าวมีชื่อว่า...“หงา คาราวาน” ร้องเพลงนี้หน่อย...ตีพิมพ์ในคอลัมน์ สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ของหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม 2551 โดยมีเนื้อหาที่ต่อว่าต่อขานไปยังนักร้องรุ่นใหญ่ที่มาร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า กำลังหลงทางในความคิดและอุดมการณ์ของตนเอง

สำหรับเหตุผลที่ จรัล ยกขึ้นมาอ้าง ก็คือ เนื่องจากที่ผ่านมา หงา คาราวาน เคยเคลื่อนไหว และแต่งเพลงเรียกร้องเกี่ยวกับสันติภาพ โดยเฉพาะสันติภาพของประเทศในแถบในอินโดจีน ทว่า วันนี้ทำไม หงา กลับมาขึ้นเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กำลังปลุกกระแสรักชาติแบบล้าหลังคลั่งชาติกระหายสงครามในกรณีของเขาพระวิหาร

นอกจากนี้ ในข้อเขียนของ จรัล ยังได้ถามในทำนองท้าทายว่า ทำไมบนเวทีพันธมิตรฯ หงา ถึงไม่ร้องเพลงที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า...โอ้. สันติภาพ สันติภาพ สันติภาพ ฝันถึงสันติภาพ อาบให้โลกงดงาม ความจริงก็คือความจริง ความจริงคนเราฆ่ากัน บ้านเมืองมีความเป็นมา สังคมตีตราแบ่งชั้น...ซึ่งเป็นเพลงที่คาราวานเคยร้องระหว่างแสดงคอนเสิร์ตที่นครวัด

รวมถึงเพลงอย่าง “สุรชัย 3 ช่า” ที่มีเนื้อร้องเกี่ยวข้องกับคนเขมรอย่าง...เพื่อนฉันขะแมร์ รักจริงไม่แพ้ลาวญวน น้ำคำคร่ำครวญ ชอบชักชวนร้องรำทำเพลง...ซึ่ง จรัล ระบุว่า เป็นเพลงที่ หงา คาราวาน แต่งขึ้นมา และต่อมาได้กลายเป็นเพลงฮิต มีผู้คนนำไปร้องรำทำเพลง รำวง กันทั่วประเทศ

ก่อนจะจบคอลัมน์ด้วยประโยคว่า...กลับตัวเถิด ยังไม่สาย

เรื่องเศร้า ก็คือ จรัล โง่หรือแกล้งโง่กันแน่ ว่า เพลงสุรชัย 3 ช่านั้น เป็นหนึ่งในเพลงของอัลบัม “ทำมือ” ของ “แอ๊ด คาราบาว” และทั้งสองเพลงที่ จรัล ระบุมาทางคาราวานเองก็ได้นำมาขึ้นร้องบนเวทีพันธมิตรอยู่บ่อยครั้ง

“ทั้งๆ ที่ เราเองก็ไม่อยากให้มันเกิดเรื่องแบบนี้ ถูกมั้ย ไม่อยากให้มันเกินสถานภาพอย่างนั้นในภาวะอย่างนั้น เราเองยังรู้สึกว่าเพื่อนก็คือเพื่อน ถึงแม้ความความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็น่าจะยังคุยกันได้...” หงา คาราวาน บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังรับรู้ว่าเพื่อนเก่าตนเองเขียนวิพากษ์วิจารณ์

“ในขณะเดียวกัน เราไม่เคยไปเขียนด่าเพื่อน หรือว่าไปเขียนวิจารณ์เพื่อน เราไม่แตะตรงนี้ เราเป็นนักเขียนเหมือนกัน ซึ่งในขณะเดียวกันเพื่อนเขียนด่าเรา ซึ่งมันไม่แฟร์ เรารู้สึกอย่างนั้น เราไม่ได้โต้ตอบ เราไม่คิดจะเขียนที่ไหนเลย เรามีโอกาส เรามีสื่ออย่างนี้ เราก็บอกความรู้สึกไปอย่างนั้น”

“ประเด็นเอาง่ายๆ เขาก็บอกว่า ทำไมไม่ร้องเพลงสุรชัย สามช่า วันนี้เราก็ร้อง มันไม่เห็นมีปัญหาอะไร ประเด็นมันมีอยู่ว่า เขาหาว่าเราเป็นลัทธิคลั่งชาติ ในเรื่องไทย-เขมร ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ ความจริงเราไม่ใช่เป็นคนปลุกลัทธิข้ามชาติ ไม่ใช่อย่างนั้น”

“แต่เพราะว่าข้อตกลงตามสัญญามันไม่แฟร์ ไม่ถูกต้อง เรื่องมันเกิดขึ้นแค่นั้นเอง ผมว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นไทยเขมรก็ยังไปมาหาสู่กันเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่คนที่ทำให้เกิดความบาดหมาง ความขัดแย้ง ก็คือ รัฐบาลทั้งสองฝ่าย ก็คือ รัฐบาลสมัครกับรัฐบาลฮุนเซน ผมก็อยากให้คนเขียนประเด็นนี้ คือ ไม่ใช่ว่าเพราะพวกเรานะ”

นักร้องเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ยังบอกต่อไปด้วยว่า ตนมั่นใจว่า สิ่งที่ตนเองกระทำอยู่ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ผิด และยืนยันว่า ไม่เคยแค้นเพื่อนแต่อย่างใด เพราะรู้สึกว่าทุกคนโตๆ กันแล้ว
ไม่ได้มาคนเดียวแต่พาลูกชายมาขึ้นด้วย
“ไม่เคยแค้นใครนะ ยังพร้อมจะให้อภัยเพื่อน แต่ว่าเซ็งนิดเดียวว่า เพื่อนหาว่าเราผิดทาง หรือหลงทาง นั่นไม่ใช่ เราก็ถูกทางของเราเพราะเราคิดอย่างนี้ แต่เพื่อนอาจจะหลงทาง เพื่อนอาจถูกทางของเพื่อนก็ได้ เราก็ถูกทางของเรา ทำไมต้องมาว่ากัน”

“แล้วเขียนมาชี้นำเราทำไม เพราะชีวิตเราล่วงเลยมาถึงป่านนี้แล้ว เราคงไม่ไปโดยไม่รู้ทางนะ ชีวิตเราหรือว่างานเรามีทิศทางอยู่ตลอด มันเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล เขาไม่ควรมาก้าวก่ายความคิดหรือว่าอุดมคติ อุดมการณ์ของเราไม่มายุ่งกันดีกว่า”

ออกปากยอมรับเรื่องในทำนองนี้ตนระวังมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
“คือ ตอนนี้สังคมมันเป็นอย่างนี้ ครอบครัวเดียวกันก็ยังแตกแยกนะ คนนึงชอบอย่างนั้นคนนึงชอบอย่างนี้นะครับ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราวิตกกับเรื่องอย่างนี้พอสมควร ไม่อยากให้เกิดความแตกร้าวในสังคมไทย เพราะมันไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้องนะ ใครถูกใครผิดมาคุยกันซิ ไม่ใช่เอาไม้มาตีกัน”

เคยเป็นสัญลักษณ์ในฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ครั้นพอมาขึ้นเวทีของพันธมิตรฯ ที่ถูกมองว่าเข้าข้างทหาร, เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ หงา คาราวาน เลยถูกตั้งคำถามมากมายถึงอุดมการณ์

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ หงา อธิบายว่า ตนยังเหมือนเดิม ยังคงใช้เพลงต่อสู้เพื่อสันติ สู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อปากเพื่อท้องของคนยากจน เพียงแต่ทุกคนจะต้องตามสถานการณ์ให้ทัน ประชาธิปไตยที่มาจากการซื้อเสียงเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้มั้ย?

“แต่ก่อนมีซ้ายมีขวา ก็ชัดเจน ซ้ายก็ต่อสู้เพื่อประชาชน ฝ่ายขวาก็เป็นรัฐบาล แต่ปัจจุบันนี้ซ้ายขวามันอยู่แทบไปทั่วเลย ในฝ่ายรัฐบาลก็มีทั้งซ้ายทั้งขวา ในฝ่ายของเราก็ยังมีขวากะซ้ายอยู่ด้วยกัน ลักษณะมันเป็นอย่างนั้น เราต้องตามให้ทันในจุดนี้”

“แล้วก็เราจะปรับตรงนี้จูนเข้าหากันได้อย่างไร ให้มันเป็นขบวนการ ให้มันเป็นรูปการ มันเป็นความขัดแย้งใหญ่ๆ ของสังคม เราต้องแก้ปัญหาจากความขัดแย้ง จากความคิด เราแก้ปัญหาด้วยความคิดแก้ปัญหาที่ความคิดต่อกัน เราก็มองเห็นหนทางอย่างนี้”

“ตอนนี้เราไม่ควรแยกซ้ายแยกขวา เราควรจะแยกฝ่ายที่เป็นธรรมกับฝ่ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแน่นอนอดีตฝ่ายซ้ายไปอยู่ฝั่งรัฐบาลก็มีและนั่นมันก็คือผลประโยชน์ อดีตฝ่ายซ้ายในขบวนการฝ่ายซ้ายสมัยโน้นก็มาอยู่กับฝ่ายพันธมิตรฯก็เยอะ ก็ไม่ย่อยไปกว่ากัน พอฟัดพอเหวี่ยวกันน่ะ”

“มันคือความคิดใหม่ ถ้าจะเรียกว่า ซ้ายขวา ขวาจะเป็นความคิดเก่า ซ้ายจะเป็นความคิดใหม่ ก็เก่ากะใหม่รวมกัน ปัจจุบันนี้มันออสโมซิสใส่กัน มันเป็นสองส่วนซึ่งเขาเรียกว่าฝ่ายยุติธรรมและฝ่ายอยุติธรรม ฝ่ายไหนจะเป็นธรรมฝ่ายไหนไม่เป็นธรรม เราต้องพิสูจน์ด้วยกาลเวลา”
จรัล
เพลงเพื่อชีวิต (ที่ระยะหลังถูกถามบ่อยมากว่าเพื่อชีวิตใครกันแน่) ในปัจจุบัน ยังคงมีส่วนในการรับใช้สังคมอยู่มั้ย?...“ก็น่าจะมีส่วนอยู่นะโดยบทบาทของมัน ก็ต้องสัมพันธ์กับประชาชนไม่มากก็น้อยไม่ว่าจะเป็นเพลงรักเพลงใคร่มันอยู่บนพื้นฐานของชาวบ้านอยู่แล้ว”

“แต่ว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ละวง แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไรให้เสรีตรงนี้ มันเป็นแนวทางเดียวกัน เพราะถ้าไม่มีประชาชนก็คงไม่มีเพลงเพื่อชีวิต เพราะนี่คือการต่อสู้ของประชาชนเพลงเพื่อชีวิตจึงเกิดขึ้น เพราะเราไม่เกิดความสัมพันธ์กับคนตัดเทปมาก่อน เพราะเราไม่มีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง มันเกิดขึ้นจากใจมันเริ่มต้นอย่างนั้น”

“ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะมีเรื่องธุรกิจเข้ามามีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของวงต่างๆ แต่ต้นเหตุของเพลงมันมาจากใจ มาจากชีวิตของชาวบ้าน อันนี้ก็ยังดำรงอยู่ ยังมองให้เห็นภาพกว้างๆ”

ยันการขึ้นเวทีของตนนั้นผ่านการคิดมาแล้ว และเชื่อว่ามาถูกทางแน่นอน
"ก็ฟังอยู่อันไหนผิดไหนถูกก็ค่อยๆ ขัดเกลากันไป แก้ไขกันไป เราคิดว่าเราถูกต้อง ไม่อย่างนั้นเราไม่มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะถ้าเราอยู่ซีกฝั่งรัฐบาลเราคิดว่าเรามีผลประโยชน์ร่วม และก็ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก”

“ทุกวันนี้เราว่าไม่เห็นจะเกี่ยวกับเรื่องฆ่าศัตรูเรื่องฆ่าประชาชนตรงไหน เพราะว่ามันไม่แฟร์ แล้วเรื่องการเมืองเรื่องฆ่าประชาชนไม่ควรจะบวกเข้ากับผลประโยชน์เข้าไปปน ปัจจุบันนี้มันปนเข้าไปหมดเลย เป็นรัฐมนตรีก็ต้องรวยและมีลายเซ็นที่เป็นราคาขึ้นมา เป็นนายกก็ต้องมีเงินมากขึ้นอะไรอย่างนี้ ความเชื่อของสังคมมันเป็นอย่างนั้น”
...
“จรัล ดิษฐาภิชัย” อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่ต้องเข้าป่ารุ่นเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง, บุญส่ง ชเลธร, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ฯลฯ เคยเป็นหนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยบทบาทในปัจจุบันก็คือการเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

ที่ผ่านมา เจ้าตัวประกาศตนอย่างชัดเจนว่ายืนอยู่ในฟากของคนรัก “ทักษิณ” และต่อต้านในทุกๆ รูปแบบ สำหรับคนที่ยืนอยู่คนละข้างกับอดีตนายกฯ แม้จำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรง!

ไม่ว่าจะในบทบาทของการเป็นแกน นปก.ร่วมกับ จักรภพ เพ็ญแข, หมอเหวง นำสมาชิก นปก.ไปปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ กระทั่งเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนมีตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายราย ทรัพย์สินทางราชการเสียหายอีกหลายรายการ

รวมไปถึงก่อนหน้านี้กับการยกมือเห็นด้วยกับ “เหตุผล” ในเรื่องของ “สถาบัน” ที่กลุ่มคาราวานคนจนหยิบยกขึ้นมาในการพากันไปปิดล้อมเนชั่น ด้วยพฤติกรรมคุกคามข่มขู่

ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า ความคิดตลอดจนพฤติกรรมของเขากับพรรคพวกที่แสดงออกมามันชัดเจนเพียงใดว่าเขาคิดอย่างไรต่อสถาบันเบื้องสูง!
กำลังโหลดความคิดเห็น