xs
xsm
sm
md
lg

CONTROL ‘จุดอ่อนของฉัน อยู่ตรงที่หัวใจ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จากโปสเตอร์ของหนังที่มีภาพเด็กหนุ่มคนหนึ่งวางมาดเต๊ะจุ๊ยปากคาบบุหรี่ เชิดหน้า แววตาหยิ่งทะนง รวมไปถึงชื่อเรื่องที่ให้ความรู้สึกถึงความไร้อิสระ (เพราะถูกควบคุม-บังคับ) นั้น ทำให้ผมคิดล่วงหน้าไปถึง “เนื้อหาที่น่าจะเป็น” ของ Control ว่าถ้าไม่เกี่ยวกับเด็กหนุ่มหัวดื้อสักคนที่กำลังคิดจะแข็งข้อต่ออะไรสักอย่าง เช่น กฎเกณฑ์อันน่าเบื่อของโรงเรียน หรืออะไรทำนองนั้น ก็คงเป็นเรื่องของคนกบฏบางคนซึ่งกำลังหันหน้าหนีจากอะไรบางอย่างที่ตนเองไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียง “ความรู้สึกล่วงหน้า” และเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้จริงๆ ผมกลับพบว่า มันไม่ได้พูดถึงการก่อกบฏอะไรของใครทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดทั้งเรื่องก็ไม่มีใครที่จะไปข่มขู่คุกคามหรือแม้กระทั่งบังคับควบคุมใคร

แต่ถ้ามันจะมีเรื่องของการ “คอนโทรล” เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การคอนโทรลที่ว่านั้นก็คงเกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตของตัวละครหลักที่ถูกสถานการณ์บางอย่างฉุดกระชากลากถูให้พลัดตกเข้าไปสู่ภาวะที่ยากจะ “คอนโทรล”...

Control เป็นผลงานการกำกับโดย Anton Corbijn หนังออกฉายเมื่อปีที่แล้ว พร้อมเสียงตอบรับและคำชื่นชมหนาหูทั้งจากคนดูและสื่อต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองผู้ดีอย่าง The Independent ที่เขียนคำสรรเสริญผ่านหน้ากระดาษของตัวเองว่า “นี่คือหนังสัญชาติอังกฤษที่เจ๋งที่สุดแห่งปี 2007”

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้อ้างอิงมาจากหนังสือชื่อ Touching from a Distance ของ “เดบอราห์ เคอร์ติส” ภรรยาของนักร้องหนุ่มผู้ล่วงลับ “เอียน เคอร์ติส” (Ian Curtis) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีแนวพังก์ร็อกที่ชื่อ Joy Division ในช่วงปลายยุค 70s ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น New Order และโด่งดังไปทั่วโลก มีงานเพลงเด่นๆ อย่างเช่น CRYTAL, 60 Miles an Hour ฯลฯ (แต่เพลงที่เราจะได้ฟังในหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพลงในยุคเก่าๆ เมื่อพวกเขาแรกเริ่มฟอร์มวง)

อย่างไรก็ดี หนังไม่ได้ต้องการเน้นให้เห็นความเป็นมาหรือตัวตนของวงดนตรีวงนี้แต่อย่างใด (และหนังก็เล่าส่วนนี้แบบผ่านๆ) เพราะสิ่งที่ Control ให้ความสำคัญมากที่สุดนั้นอยู่ที่ชีวิตส่วนตัวของ “เอียน เคอร์ติส” หนุ่มนักร้องนำของวง Joy Division ซึ่งกำลังจะไปได้สวยบนถนนสายดนตรี แต่ทว่าในท้ายที่สุด กลับเดินไปไม่ถึงดวงดาว พร้อมกับถนนชีวิตที่สิ้นสุดระยะทางลงไปอย่างกะทันหัน

อันที่จริง ชีวิตของศิลปินนักร้องนักดนตรีส่วนใหญ่ต่างก็มีวงจรไม่ต่างกันเท่าไรนัก นั่นก็คือ พอสามารถพาตัวเองก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงระดับหนึ่งแล้ว ก็มักจะกลายเป็น “ศูนย์กลาง” ให้อะไรหลายสิ่งหลายอย่างหลั่งไหลเข้ามาหา ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง โอกาส (ที่เปิดกว้างมากขึ้น) รวมไปถึงนักฉวยผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งผู้หญิง

แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีด้านลบของมันอยู่อย่างไม่อาจปฏิเสธ ตำนานแจ๊ซอมตะอย่าง “เรย์ ชาร์ลส์” หรือแม้แต่ “จอห์นนี่ แคช” ต่างก็เคยรู้ซึ้งและผ่านพบความเจ็บปวดกับสิ่งเหล่านี้มาแล้วเหมือนๆ กัน

และ เอียน เคอร์ติส ก็หนีไม่พ้นวงจรที่ว่านี้...

ก่อนหน้าที่วง Joy Division จะเริ่มฟอร์มวงอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงปลายยุค 70s นั้น เอียน เคอร์ติส ได้แต่งงานแล้วกับสาวน้อยเดบอราห์ หนังเดินเรื่องช่วงแรกนี้อย่างรวบรัด เพื่อรีบนำคนดูเข้าสู่ช่วงสำคัญเมื่อวง Joy Division เริ่มมีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนุ่มนักร้องนำได้รู้จักกับสาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “อันนิค” ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็ไม่เคยไปไหนไกลจากชีวิตของเอียน เคอร์ติส เลย (จากแฟนคลับ เธอขยับมาเป็นคนรัก ก่อนจะร่วมเดินทางไปในทุกๆ ที่ที่วงดนตรีไป ราวกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวง)

อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่ความผิดของอันนิคที่มาขโมยคนรักของคนอื่น แต่เป็นนักร้องหนุ่มนั่นต่างหากที่กำลังลุ่มหลงในตัวเธอ...

ความเจ็บปวดร้าวฉานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเดบอราห์จับได้ว่า สามีของตัวเองกำลังนอกใจ ทั้งคู่มีปากเสียงกันรุนแรง ก่อนจะจบลงด้วยคำสัญญาของสามีที่ให้คำมั่นว่าจะตัดขาดจากชู้สาว แต่นั่นก็เป็นเพียง “คำสัญญาที่ว่างเปล่า” เพราะเอียน เคอร์ติส ไม่เคยลืมอันนิคได้เลย

ศิลปินหนุ่มตกอยู่ในภาวะของคนที่ห่วงหน้าพะวงหลัง และรู้สึกลังเล ใจหนึ่งเขาหลงใหลอันนิคและอยากออกเดินทางร่วมไปกับเธอสู่โลกที่กว้างกว่า ใหญ่กว่า (อย่างน้อยที่สุด เขาก็กำลังจะได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกาพร้อมๆ กับเธอและสมาชิกในวง) แต่ “โลกใบเดิมๆ” ของเดบอราห์ก็กวักมือเรียกและรอคอยเขาอยู่เสมอที่บ้าน และที่มากกว่านั้นคือ เขารู้สึกผิดต่อเธอเสมอมา

สิ่งนี้ก่อเกิดเป็นความขัดแย้งและซับซ้อนที่สู้รบกันอยู่เงียบๆ ภายในใจของศิลปินหนุ่ม เขารู้สึกว้าวุ่นสับสนเหมือนมีเหตุจลาจลปั่นป่วนอยู่ในตัวตนของตัวเอง ซึ่งไม่อาจจะสยบให้มันสงบนิ่งลงได้

และก็คล้ายหลายๆ คนที่พอชีวิตส่วนตัวมีปัญหา ชีวิตการงานก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยเช่นกัน (ครั้งหนึ่ง เอียน เคอร์ติส อาการหนักถึงขั้นไม่ยอมขึ้นเวที เป็นเหตุให้แฟนเพลงไม่พอใจและก่อจลาจลจนคอนเสิร์ตพัง)

มีรายละเอียดที่น่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอียน เคอร์ติส ก็คือ เขาป่วยเป็นโรคลมบ้าหมู ซึ่งฤทธิ์เดชของโรคชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการชักกระตุกอย่างรุนแรงในบางครั้งบางหนราวกับคนกำลังขาดใจตาย และก็คล้ายจะเป็นเรื่องบังเอิญอย่างยิ่งที่อาการของความเจ็บป่วยทางร่างกายนี้ไปสัมพันธ์กันพอดีกับ “ความป่วยไข้ทางใจ” ของเขา

นั่นก็คือ ในขณะที่ร่างกายของเอียน เคอร์ติส ชักดิ้นชักงอทุรนทรายอย่างไม่อาจ “ควบคุม” (ยุคนั้น วงการแพทย์ยังสุ่มหาตัวยารักษาโรคนี้กันอยู่) จิตใจของเขาก็กำลังดิ้นพล่านกระสับกระส่ายอย่างไม่อาจ “คอนโทรล” เช่นเดียวกัน

หนังมีฉากสำคัญฉากหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามันอธิบาย “ตัวตนภายใน” ของเอียน เคอร์ติส ได้ดีพอสมควร คือตอนที่กล้องซูมถ่ายภาพเสาไฟฟ้า และแช่นิ่งไว้เช่นนั้นร่วมๆ 3 นาที ราวกับจะตอกย้ำถึงสภาวะจิตใจของนักร้องหนุ่มซึ่งแตกซ่านไปหลายทิศทาง ไม่แตกต่างจากสายไฟฟ้าระโยงระยางซึ่งโยงออกไปสู่ที่ต่างๆ

ขณะเดียวกันนั้น หนังยังมีการเอ่ยอ้างถึงบทกวีชื่อ “The Hollow Men” ของที.เอส.อีเลียต ซึ่งพูดถึงการต่อสู้กันระหว่างสติสัมปชัญญะ (ความรู้สึกสำนึกตัวในเรื่องผิดชอบชั่วดี) กับหัวใจของมนุษย์ (ที่มักจะอ่อนไหวไปตามอำนาจของสิ่งเร้าภายนอกและแรงปรารถนา) ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นสิ่งที่นักร้องหนุ่มกำลังผจญอยู่ในใจได้ดีเช่นเดียวกัน

อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอียน เคอร์ติส จนกระทั่งบานปลายไปสู่โศกนาฏกรรมในท้ายที่สุดนั้น จะว่าไป ก็เป็นปรากฏการณ์สามัญที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนที่ต้องผจญกับ “ความขัดแย้งภายใน” เมื่อเสียงเรียกร้องของหัวใจกับเสียงแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่สอดคล้องต้องกัน

ที่ผมชอบก็คือ หนังรักษา “ท่าทีที่เป็นกลาง” ในการเป็นผู้เล่าเรื่องได้ค่อนข้างดี ไม่มีการกล่าวร้ายให้โทษเอียน เคอร์ติส เช่นเดียวกับที่ไม่ได้มีน้ำเสียงประณามสาวอันนิค ราวกับจะบอกว่านี่คือเหตุการณ์ธรรมดาๆ รูปแบบหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ (แต่หนังไม่ได้บอกว่าการทำตัวเจ้าชู้หลายใจเป็นเรื่องธรรมดานะครับ แต่ที่บอกว่า “ธรรมดา” นั้นคือธรรมดาในความหมายที่มันอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นทั้งผมและคุณ)

แน่นอนครับว่า กับความขัดแย้งแบบนี้ หลายๆ คนอาจจัดการและหาจุดลงเอยที่ดีให้กับตัวเองได้ในที่สุด แต่สำหรับเอียน เคอร์ติส เขาดูเหมือนจะติดอยู่ในกับดักแห่งความว้าวุ่นนั้นแบบมือมน หาทางออกไม่เจอ ก่อนจะตกอยู่ในสภาพของคนที่สูญสิ้นความสามารถในการ “คอนโทรล(จิตใจ) ตัวเอง” อย่างสิ้นเชิง...




กำลังโหลดความคิดเห็น